World Events 2021
World Events 2021

ย้อน 10 เหตุการณ์สำคัญของโลก ปี 2020: ปีร้าย ๆ ที่จะผ่านไปได้ด้วยกัน

ปี 2020 นับเป็นปีที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญกับเรื่องราวร้าย ๆ ในวิกฤตอยู่หลากหลายเรื่อง ทั้งโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไปเกินล้าน และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ ที่ศึกเลือกตั้งนั้นก็ลุ้นกันจนรดต้นคอทั้งคนเก่า (ที่อาจนับเป็นวิกฤตชนิดหนึ่ง) และคนใหม่ สงครามการค้าที่แทบจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและจีน ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและอุบัติเหตุครั้งใหญ่

ถึงอย่างนั้นข่าวดีก็มีอยู่ (แม้จะมีน้อย) และถึงจะมีเรื่องร้าย ๆ มากขนาดไหน วันหนึ่งเรื่องเหล่านี้ก็จะผ่านไปเหมือนกับทุกเรื่องและทุกปี ที่พวกเราจะร่วมเรียนรู้และผ่านไปได้ด้วยกัน วันนี้ Beartai ขอชวนย้อน 10 เหตุการณ์สำคัญของโลกในปีที่ผ่านมา เพื่อจดจำไว้เป็นบทเรียนว่ามีอะไรผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์หน้านี้

โควิด-19

เมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองของประเทศจีนโกลาหลตลอดช่วงต้นปี เพราะผู้คนแห่หนีตายจากเมืองต้นตอการระบาด (ภาพจาก CNN)

วิกฤตการณ์สั่นสะเทือนโลกชนิดที่หลาย ๆ คนก็ไม่เคยได้ประสบพบเจอในชั่วชีวิตของตัวเอง เพราะนอกจากชาวโลกทุกพื้นที่จะต้องเสี่ยงอันตรายกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แล้ว ความล่มสลายทางเศรษฐกิจก็ตามมาเป็นเงาตามตัวอย่างที่หลายคนพูดว่า ระหว่างตายเพราะเชื้อไวรัสกับตายเพราะไม่มีจะกิน ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถูกนิยามว่าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) หมายถึงโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ได้รับการบันทึกว่า เป็นสถานการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่วิทยาการทางการแพทย์ทันสมัย (หากเทียบกับโรคระบาดใหญ่ในอดีตที่การแพทย์ยังไม่เจริญมากนัก อย่างกาฬโรค (มีผู้เสียชีวิต 75-200 ล้านคนทั่วโลก) ฝีดาษ (มีผู้เสียชีวิต 5 ล้านคนทั่วโลก) และไข้หวัดสเปน (มีผู้เสียชีวิต 20-40 ล้านคนทั่วโลก ก็จะเห็นว่าความรุนแรงยังน้อยกว่ามาก และจะไปใกล้เคียงกับยอดผู้เสียชีวิตขากโรคไข้หวัดฮ่องกงเมื่อปี 1968 มากกว่า) หากไปดูสถิติล่าสุด (ณ 25 ธันวาคม) มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมแล้วเกือบ 80 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.7 ล้านคน

การระบาดเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 จากตลาดขายของป่าที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน มีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสปริศนาที่ติดต่อจากคนสู่คนอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกของการระบาดประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดเริ่มจากจีน อิตาลี สเปน เยอรมนี ก่อนจะเป็นสหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย และรัสเซีย ปัจจุบันประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ สหรัฐฯ ที่มียอดเกือบ 340,000 ราย และผู้ติดเชื้อสะสมใกล้ 20 ล้านคนเข้าไปทุกที

ภาพหลุมฝั่งศพผู้เสียชีวิตในประเทศบราซิล (ภาพจาก The Guardian)

ช่วงเดือนมกราคม 2020 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ พร้อมประกาศตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเชื้อไวรัส “โควิด-19” และต่อมาก็ยกระดับให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงไทย ออกมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ระงับเที่ยวบินและการเดินทางระหว่างประเทศทุกรูปแบบ รวมถึงสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน มนุษยชาติจึงได้รู้จักกับการสวมหน้ากากอนามัยไปทั่วทุกหัวระแหง คำว่ารักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home และธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์ที่บูมทุกประเทศ

ผลกระทบของเชื้อไวรัสมรณะครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก รวมไปถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ ธุรกิจสายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวของทุกประเทศแทบล่มสลาย บริษัททั้งขนาดเล็กใหญ่พากันล้มละลาย ปิดกิจการ ผู้คนตกงานจำนวนมากไปจนถึงฆ่าตัวตาย ถึงขั้นที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เผยว่าเหตุการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้จะทำให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวงนับจากการตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในปี 1929-1930 และถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศมหาอำนาจก็เข้าสู่ภาวะนี้พร้อมกันหมด

บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสและความเหนื่อยยากในการทำงาน (ภาพจาก The Guardian)

จนกระทั่งช่วงปลายปีที่เริ่มมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนที่จะใช้ฉีดเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทยาแห่งแรกที่ผลิตวัคซีนได้สำเร็จและผ่านการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขก็คือ วัคซีนของบริษัท Pfizer/BioNtech สัญชาติอเมริกัน ตามมาด้วยวัคซีนของบริษัท Moderna ซึ่งหลายประเทศได้สั่งซื้อและ เริ่มแจกจ่ายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มจากสหราชอาณาจักรที่ฉีดให้ประชาชนก่อนเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยสหรัฐฯ และสิงคโปร์ที่เป็นประเทศแรกของเอเชีย การสร้างภูมิต้านทานหมู่ในประชากรทั่วโลกจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อมีผู้ได้รับวัคซีน 70% ทำให้หลายประเทศและองค์กรระดับโลกพยายามส่งวัคซีนไปให้กับประเทศยากจน

Joe Biden ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

Joe Biden ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบันซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำโลกด้วย นับเป็นวาระสำคัญเสมอในทุก ๆ 4 ปี โดยเฉพาะกับปีนี้ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ก็มีวาระพิเศษและเหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ มากมายให้คอข่าวการเมืองระหว่างประเทศได้ติดตามกันอย่างสนุกสนาน เริ่มตั้งแต่เป็นการจัดการเลือกตั้งในช่วงของแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่ ตัดสินใจลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในชัยชนะของ Joe Biden ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เพราะฐานเสียงของเขาไม่ต้องการเสี่ยงต่อไวรัส คะแนนช่วงท้ายที่ทำให้ Biden ตีตื้นชนะ Trump

วาระพิเศษเรื่องที่สองก็คือการขับเคี่ยวกันชนิดรดต้นคอของ Donald Trump ที่อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาสร้างความช็อกและสีสันในทางลบ (บางเรื่องถึงกับเป็นหายนะ) ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และชาวอเมริกันสมกับที่หลายคนคาดการเอาไว้ตลอด 4 ปี ส่วน Joe Biden ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีสมัย Barack Obama ก็มาในมาดของผู้อาวุโสแห่งโลกเสรีขี่ม้าขาวปราบยุคเข็ญให้กับประเทศ พ่วงด้วยผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี Kamala Harris ที่จะเป็นผู้หญิงผิวดำเชื้อสายเอเชียคนแรก (คนแรกที่ทุกการจัดประเภททั้งเชื้อชาติ เพศ และสีผิว) ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 2 วันแรกที่มีการนับไป 90% ผลปรากฏว่า Biden ได้สร้างสถิติใหม่กลายเป็นผู้ที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันถึง 72,125,883 เสียง คิดเป็น 50.35% ของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีการนับ ทำลายสถิติเดิมของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่เคยได้รับคะแนนเสียงมากถึง 69,498,516 เสียงจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 ขณะที่ Trump เองก็ได้คะแนนเสียงไปสูสี อยู่ที่ 68,780,928 เสียง หรือคิดเป็น 48.02%

ขณะเดียวกัน Donald Trump ไม่ยอมรับผลการนับคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะคะแนนจากบัตรเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ และสร้างความปั่นป่วนด้วยการทวีตข้อความให้ “หยุดนับคะแนน!” ในหลายรัฐ Swing State ที่ทั้งสองพรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของคะแนนของประชาชนอย่างชัดเจน ผ่านมาเกือบ 2 เดือนตัวแทนพรรครีพับลิกันได้เดินหน้าฟ้องศาลในหลายรัฐรวมทั้งศาลสูงเพื่อล้มผลการเลือกตั้ง แต่ศาลสูงก็ไม่ได้คล้อยตามแนวความคิดของฝ่าย Trump แม้ในองค์คณะ 9 คนจะมีผู้พิพากษาฝั่งรีพับลิกันถึง 6 คน และ 3 คนหลังสุดก็เป็น Trump ที่แต่งตั้งเข้าไปเองในช่วงวาระ 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เขาก็เคยคุยโวตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งว่า ถ้าหาก Biden เกิดชนะขึ้นมาจริง ๆ การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน

คณะรัฐบาลและดรีมทีมคณะรัฐมนตรีของ Biden ที่จะเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในวันเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนั้น จะเต็มไปด้วยผู้ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ เชื้อชาติ และสีผิว อีกทั้งยังมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเพศทางเลือก LGBTQ และผู้ทุพพลภาพ โดยจะมีดาวเด่นเช่นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯ Janet Yellen ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และ Adewale Adeyemo ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นผิวดำสัญชาติไนจีเรียเป็นคนแรก นอกจากนี้สิ่งที่น่าติดตามอีกด้านก็คือ ข่าวด้านลบของ Hunter Biden ลูกชายของ Biden ที่ถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นจากการทำธุรกิจในจีนและต้องตามดูกันว่า Biden จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยลูกหรือไม่

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เมื่อปี 2019

โลกอาจได้ผ่านสงครามโลกและสงครามตัวแทนไปแล้ว แต่สงครามการค้าเพื่อแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีนยังคงดุเดือดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีนโยบายเศรษฐกิจต่อต้านจีนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งเหตุการณ์ “ถูกแบน” ต่าง ๆ ของบริษัทเทคของจีนและแอปพลิเคชันสัญชาติจีนตลอดทั้งปีก็สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนผลัดกันเปิดเกมรุกและเกมรับบนกระดานเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2020

เริ่มตั้งแต่แอปพลิเคชัน TikTok ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกช่วงประชาชนล็อกดาวน์โควิด แอปพลิเคชันของบริษัท ByteDance สัญชาติจีนนี้ เปิดตัวเมื่อราวปี 2017 และในปี 2020 มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านบัญชีทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มีผู้ใช้งาน TikTok กว่า 30 ล้านคน ต่อมา Trump ได้ออกคำสั่งเมื่อ 7 สิงหาคม แบนการใช้งานแอปในประเทศ เพราะกังวลว่า TikTok อาจจะนำข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐไปมอบให้กับรัฐบาลจีนเพื่อใช้ในการสอดแนมหน่วยงานและประชาชนอเมริกัน ภายหลัง ByteDance ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ปธน.สหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งห้ามบุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ ByteDance และ Tencent เจ้าของแอปพลิเคชัน WeChat โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลภายในระยะเวลา 45 วัน ยกเว้นว่า ทั้ง 2 บริษัทจีนจะขายกิจการให้กับบริษัทอื่นของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หลายรายในสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Twitter, Private Equity และ Oracle ต่อมาภายหลังศาลมีคำสั่งเลื่อนวันครบรอบกำหนดไปเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน และมีคำสั่งว่า ByteDance ต้องจัดการทำลายข้อมูลผู้ใช้งานของชาวอเมริกันที่บันทึกไว้ทั้งหมด จนกระทั่ง 20 กันยายน ByteDance ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางเทคโนโลยีระหว่าง Tiktok, Oracle และ Walmart

นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี สหรัฐฯ ก็ริเริ่มในโครงการ 5G Clean Path ซึ่งมีจุดประสงค์ในการนำฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์โครงข่ายของจีนอย่าง Huawei และ ZTE ออกไปจากระบบเครือข่าย 5G ของสหรัฐฯ และโครงการ Clean Network ที่ตั้งใจจะล้างบางบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม, บริการคลาวด์, สายเคเบิลใต้ทะเล, แอปและร้านค้าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการคือ ไม่ให้มีเทคโนโลยีของจีนอยู่ในสหรัฐฯ แม้แต่อย่างเดียว

ทางด้านจีนก็ตอบโต้กลับเมื่อหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China (CAC) ได้ลบ 105 แอปพลิเคชันที่อ้างว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ที่น่าประหลาดใจคือรวมแอป TripAdvisor แอปท่องเที่ยวออนไลน์สัญชาติอเมริกันที่ใช้สำหรับจองโรงแรม การเดินทางและร้านอาหารเข้าไปด้วย ซึ่งเหตุผลที่มีการแบนไม่มีการเปิดเผยที่แน่ชัดว่าแอป TripAdvisor โดนแบนด้วยเหตุผลอะไร แต่หลายฝ่ายเชื่อมโยงว่า อาจจะมาจากการที่สหรัฐฯ สั่งแบน TikTok ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจีนเคยกล่าวว่าสหรัฐฯ ตั้งใจกลั่นแกล้งและจีนจำเป็นจะต้องใช้มาตรการตอบโต้กลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจีนเช่นกัน

และในข่าวที่เกี่ยวเนื่องกันกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจโลก ในแวดวงการจารกรรมข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปด้วยเช่นกัน เมื่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้ทำการจับกุมแฮกเกอร์ชาวจีนสองคนที่ลอบขโมยความลับของบริษัทรวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนาด้วย โดยก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสสะเทือนโลก ทั้งสองคนมีหน้าที่แฮกเข้าโปรแกรมของธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์เกม, ข้อมูลทางเภสัชกรรมและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อมีอยู่ในหลายประเทศ

FBI กล่าวในแถลงการณ์อย่างชัดเจนว่า การแฮกในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ส่วนรัฐมนตรียุติธรรมก็ได้ออกมาโจมตีจีนว่า ได้เข้ามาแทนที่ประเทศอย่างรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ในการเป็นชาติที่ให้แหล่งหลบซ่อนสำหรับเหล่าอาชญากรทางไซเบอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

(อ่านต่อหนัาถัดไป)