เมื่อเพลงร็อกสุดแมนอินสไปร์บายเพลงแดนซ์ !!

หลังจากปล่อยอัลบั้มชุดที่ 9 ‘Concrete and Gold’ ออกมาในปี 2017 และออกทัวร์ตลอดปี 2018 วงร็อกรุ่นเก๋า ‘Foo Fighters’ ก็ออกมาประกาศว่าขอเบรกสักพักนึงก่อนในช่วงปลายปีนั้น เดฟ โกรล (Dave Grohl) แม่ทัพของวงบอกว่านอกจากจะอยากพักแล้วยังอยากหาไอเดียใหม่ ๆ มาทำอัลบั้มต่อไปด้วย แต่แล้วด้วยความเป็นคนมีไฟจะหยุดพักนาน ๆ ไปก็คงทำไม่ได้สุดท้ายในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2019 เดฟก็ส่งเดโมที่ทำเล่น ๆ มาให้เพื่อน ๆ ฟังดูและจากนั้นงานเพลงอัลบั้มใหม่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นและเริ่มบันทึกเสียงกันเลยตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีนั้นโดยเดฟได้ออกมาบอกว่างานเพลงชุดนี้ ‘แม่มโคตรจะเพี้ยนเลย’ !

‘Medicine at Midnight’ บันทึกเสียงกันในบ้านเก่าจากยุค 40s ในเมือง Encino ในลอสแอนเจลิส การบันทึกเสียงเป็นไปอย่างเงียบ ๆ เรียบร้อยผิดวิถีชาวร็อกแบบที่เคยเป็นมา อย่างตอนทำอัลบั้ม Concrete and Gold หลังบันทึกเสียงเสร็จในแต่ละคืนก็มักจะจบลงด้วยการทำอะไรกินกันและปาร์ตี้กันเต็มพิกัด แต่ด้วยคราวนี้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยแถมมีเรื่องชวนเสียวสันหลังเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ เช่น มีเสียงกุกกักแปลก ๆ หรือ อยู่ดี ๆ ตื่นเช้ามาก็พบว่าเมื่อคืนมีใครไปปรับแผงมิกเซอร์ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่น่าจะมีใครแอบไปทำอะไรแบบนั้น สุดท้ายแล้วด้วยความรวดเร็วอัลบั้มนี้ก็เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เข้ามาจังหวะนั้นพอดีทำให้มีอันต้องโดนโรคเลื่อนมาอีกปีจนเราได้ฟังอัลบั้มนี้กันในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้นั่นเอง  

เดฟ โกรล ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในอัลบั้มนี้ไว้ว่าเกิดขึ้นจากวงร็อกและเพลงของพวกเขาที่มีความร้อนเร่าชวนแดนซ์ และเดฟอยากให้ซาวด์เพลงของอัลบั้มนี้มีความละม้ายคล้ายกับอัลบั้ม ‘Let’s Dance’ ของ David Bowie ที่โกรลนิยามมันว่ามันไม่ใช่ทั้ง EDM ดิสโก้ หรือว่าเพลงแดนซ์สมัยใหม่ แต่มันเป็น ‘เพลงมันส์ ๆ’ ที่เปี่ยมไปด้วยความยิ่งใหญ่และเป็นเพลงร็อกที่ร้องตามได้นั่นเอง

เมื่อได้ฟัง ‘Medicine at Midnight’ เราจะพบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ สัมผัสแรกที่ได้รับจากอัลบั้มนี้ก็คือมันมีความ ‘พอป’ ที่มากขึ้นกว่าชุดที่ผ่าน ๆ มาที่มีความโพสต์กรันจ์เต็มพิกัด ทำให้งานเพลงในอัลบั้มนี้กลายเป็นเพลงร็อกที่มีกรูฟแบบเพลงแดนซ์ในยุค 80s และมีองค์ประกอบบางอย่างที่วงไม่เคยทำมาก่อนอย่างการใช้ลูปกลองหรือการใส่เสียงร้องประสานเข้ามาอย่างมาก นอกจากนี้เดฟ โกรลยังได้มีโอกาสเอาริฟฟ์กีตาร์ที่ตัวเองคิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อนแต่หาโอกาสใช้ไม่ได้สักทีมาใช้ในอัลบั้มนี้ ผนวกด้วยการโพรดิวซ์จาก เกร็ก เคอร์สติน (Greg Kurstin) ผู้เชี่ยวชาญการโปรดิวซ์เพลงให้ติดหู และ ยังได้ โอมาร์ ฮาคิม (Omar Hakim) มือกลองที่ทำงานอยู่ในอัลบั้ม ‘Let’s Dance’ ของ David Bowie ยิ่งทำให้อัลบั้มนี้มีความแปลกใหม่สมใจ Foo Fighters จริง ๆ

เปิดอัลบั้มด้วย “Making a Fire” เชื่อแล้วว่าพี่อยากพอปจริง เปิดด้วยริฟฟ์ร็อกเท่ ๆ  แต่มาในกรูฟชวนโยกและเสียงร้องประสานจากกลุ่มนักร้องหญิงว่า ‘นา-นา-นา’ ฟังดูรื่นหูขึ้นมาเลย พอมาถึงท่อนฮุคก็มีเมโลดี้นุ่มนวลชวนฟังแบบสไตล์เพลงฮิตติดหูกันเลยทีเดียว

ต่อด้วย “Shame Shame” เข้ามาด้วยบีทกลองเท่ ๆ ติดกลิ่นอาร์แอนด์บี และเสียงร้องโทนต่ำที่ทำให้รู้ว่าเดฟ โกรลนั้นก็ร้องโทนนี้ได้นุ่มดีทีเดียว ท่อนฮุคเพิ่มด้วยเสียงเชลโล่เศร้า ๆ เติมความหม่นแบบกำลังดีคลอไปกับเสียงร้องโอ โอ้วววของพี่เดฟเพราะเลยทีเดียว

เพลงนี้มีความโจ๊ะ ! กับ “Cloudspotter” เพลงที่เราเห็นอิทธิพลของ ‘Let’s Dance’ ของ David Bowie ได้เป็นอย่างดี ในกรูฟชวนโยก บีทกลองแบบขัด ๆ และอารมณ์เพลงร็อกเท่ ๆ  แบบงานเพลงจากร็อกแบนด์รุ่นใหญ่ในช่วงปี 80s แดนซ์ตามกันไปได้เลยคร้าบ !

“Waiting on a War” หนึ่งในไฮไลท์ของอัลบั้มที่เปิดมาได้อย่างนุ่มด้วยเสียงร้องของเดฟที่เคล้าไปกับกีตาร์อะคูสติก คลอบรรยากาศจากเสียงเครื่องสาย และเนื้อร้องเฉียบ ๆ อย่าง “Never really wanted to be number one / Just wanted to love everyone” ก่อนที่จะใส่ความเร่าร้อนลงไปในท่อนท้ายเพลงอย่างเดือดและเท่มาก ๆ  นึกภาพตามเลยว่าถ้าเพลงนี้เล่นในคอนเสิร์ตแล้วมันจะมันส์แค่ไหน

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ชัดเจนจาก ‘Let’s Dance’ ปรากฏอยู่ในไตเติลแทร็ก “Medicine at Midnight” อีกหนึ่งเพลงโจ๊ะของอัลบั้มนี้ ที่มาพร้อมกับกรูฟชวนโยก เสียงเพอร์คัสชันกริ๊กแกร๊กจากโอมาร์ ฮาคิม เสียงร้องประสาน ‘ฮูว์’ และเครื่องสายที่เติมเข้ามาในท่อนฮุค โยกหัวและโยกตัวตามไปได้เลยเพลงนี้

ใน “No Son of Mine” เราจะได้พบกับริฟฟ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Lemmy มือกีตาร์ของวง Motörhead ที่บรรเลงไว้ในเพลง ‘Ace of Spades’ เป็นริฟฟ์ร็อกเท่ ๆ ในท่วงทำนองของร็อกแบบคลาสสิกบนเนื้อหาของเพลงที่มีสาระสำคัญเป็นการต่อต้านสงคราม “No son of mine will ever do The work of villains, the will of fools” เป็นอีกเพลงที่โดนใจสายร็อกแน่

“Holding Poison” อีกหนึ่งเพลงร็อกมันส์ ๆ ของอัลบั้ม ไม่ได้ใส่อะไรลงไปเป็นพิเศษแต่ก็ฟังเพลิน ๆ ไปได้

นี่คือเพชรแท้ที่ซ่อนไว้ในอัลบั้ม “Chasing Birds” คือเพลงบัลลาดสุดนุ่มนวล ที่ทุกสิ่งอย่างคือความลงตัวอันไพเราะ เสียงกีตาร์อะคูสติกที่คลอไปกับเสียงซึ้งโศกของเดฟ โกรลที่ซัพพอร์ตด้วยเสียงร้องประสาน กลุ่มเครื่องสาย และกีตาร์ไฟฟ้าที่ซึมแทรกเข้ามาอย่างลงตัว ตัวเมโลดี้และอารมณ์เพลงชวนให้คิดถึงงานเพลงของ The Beatles เหมือนกันนะ

ปิดท้ายด้วย “Love Dies Young” เพลงร็อกในลายเซ็นแบบ Foo Fighters ร็อกแมน ๆ เท่ๆ  ยิ่งในช่วงท้ายเพลงนี่จบได้อย่างเฉียบไปเลย เป็นท่อนละเลงอารมณ์ได้สมความเป็น Foo Fighters จริง ๆ เป็นอีกเพลงที่จะมันส์มากหากได้ฟังในคอนเสิร์ต

‘Medicine At Midnight’ ถือเป็นอัลบั้มที่มีความหลากหลายในสไตล์และกลิ่นอายทางดนตรี เป็นอัลบั้มที่ครบเครื่องครบครันทั้งความมันส์และความไพเราะ เป็นการต่อยอดความสร้างสรรค์ให้กับวงการเพลงร็อกในวันที่หลายคนเกิดคำถามว่า ‘Rock Never Dies จริงหรือ?’ การได้ฟังงานเพลงร็อกดี ๆ จาก Foo Fighters เหมือนจะเป็นคำตอบไปในตัวแล้วว่า พวกตรูชาวร็อกยังไม่ไปไหนยังผลิตงานเพลงดี ๆ ออกมาให้กำซาบหูกันอยู่เว้ยยย !!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส