งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ขนาดวงดนตรีที่อยู่ด้วยกันมา 28 ปีก็มีอันต้องปิดตำนานลง

เป็นข่าวช็อกวงการดนตรีสำหรับปีนี้เลย เมื่อคู่หูดูโออิเล็กทรอนิกส์จากปารีสในชุดหุ่นยนต์สุดเท่ “Daft Punk” ได้ปล่อยภาพยนตร์สั้นความยาว 8 นาทีที่ชื่อ “Epilogue” (ปัจฉิมบท) ที่เป็นเสมือนคำตอบถึงการสิ้นสุดการเดินทางร่วมกันของคู่หูนักดนตรีคู่นี้

“Epilogue” เป็นเรื่องราวที่ถูกตัดออกมาจากภาพยนตร์ในปี 2006 เรื่อง “Electroma” ภาพยนตร์ที่เป็นผลงานการสร้างของ Daft Punk เอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีบทพูดใด ๆ เป็นเรื่องราวของ 2 หุ่นยนต์ที่ออกเดินทางเพื่อค้นหาวิถีทางของการได้ใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับ เขียนบท และอำนวยการผลิตโดย Daft Punk เอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้จะถ่ายทอดความรู้สึกของการแยกทางกันของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

กีย์ มานูเอล เดอ โฮเมม–คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และ โทมัส แบงกาลเตอร์ (Thomas Bangalter) สองเพื่อนซี้ที่รู้จักกันมาตั้งแต่อายุได้ 12 ปี ตัดสินใจทำวงดนตรีร่วมกันในนาม “Darlin” ซึ่งมี Laurent Brancowitz  (มือกีตาร์วง Phoenix ในปัจจุบัน) เป็นอีกหนึ่งสมาชิก ต่อมาเพลง “Cindy, So Loud” ของพวกเขาได้ถูก Dave Jennings นักวิจารณ์ดนตรีจากนิตยสารแห่งหนึ่งของอังกฤษ วิจารณ์เพลงของพวกเขาอยากสาดเสียเทเสียด้วยคำว่า “A Daft Punky Thrash” พูดง่าย ๆ ก็คือเพลง ‘ขยะ’ นั่นเอง และด้วยการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนคำเหยียดหยามเป็นพลัง ในที่สุดวงดนตรีที่มีชื่อว่า “Daft Punk” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993 และจากขยะทางดนตรีก็กลายเป็นตำนานแห่งโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์-แดนซ์ในที่สุด

Daft Punk ในวัยหนุ่มก่อนสวมชุดหุ่นยนต์ ซ้ายคือ กีย์ มานูเอล เดอ โฮเมม–คริสโต (หุ่นยนต์ทอง) ขวาคือโทมัส แบงกาลเตอร์ (หุ่นยนต์เงิน)

จากนั้นในปี 1997 อัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาที่มีชื่อว่า “Homework” ก็ได้ปักหมุดลงไปในแผนที่ของวงการดนตรีแดนซ์โดยมีซิงเกิลแนวหน้าอย่าง “Around the World” และ “Da Funk” และต่อมาในปี 2001 ทั้งคู่ก็ออกอัลบั้ม Discovery” และเริ่มสร้างเอกลักษณ์ด้วยการแต่งตัวเป็นหุ่นยนต์ตั้งแต่นั้นมาและซิงเกิลจากอัลบั้มนี้คือ “One More Time” และ “Harder, Better, Faster, Stronger” ก็ได้ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นซุปตาร์ในที่สุด

Daft Punk สองโรบอทแห่งโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์

ต่อมาทั้งคู่ก็ได้ปล่อยผลงานอันยอดเยี่ยมออกมาอย่างไม่หยุดยั้งทั้ง “Human After All”, อัลบั้มแสดงสด “Alive 2007” หรือว่าอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ “Tron: Legacy” จนมาในปี 2013 พวกเขาก็ยิ่งดังระเบิดเมื่อซิงเกิลแรกจากอัลบั้ม “Random Access Memories” ที่มีชื่อว่า “Get Lucky” ได้รับความนิยมอย่างสูงและมียอดขายหลายล้านก็อปปี้และทำให้ทั้งคู่และมิตรสหายนักดนตรีที่มาร่วมแจมในเพลงนี้นั่นคือ Nile Rodgers และ Pharrell Williams ต่างชื่นบานจากการได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 2 สาขาด้วยกันคือ  Record of the Year และ Best Pop Duo/Group Performance นอกจากนี้ตัวอัลบั้ม Random Access Memories เองก็ได้รับรางวัลอีก 3 สาขาคือ Album of the Year , Best Dance/Electronica Album และ Best Engineered Album นั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้แฟนเพลงจดจำทั้งคู่ได้เป็นอย่างดีนอกจากงานดนตรีอันมีเอกลักษณ์แล้วก็คือ ภาพลักษณ์สุดล้ำราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟ หรือ พวกภาพยนตร์ชุดตำรวจอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น โดยทั้งสองได้เล่าถึงที่มาของการแต่งชุดล้ำ ๆ นี้ว่า แต่เดิมพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะแต่งตัวเป็นหุ่นยนต์แบบนี้ แต่เหตุเกิดเพราะความบังเอิญตอนกำลังทำงานอยู่ในสตูดิโอ ตอนนั้นเป็นเวลา 9 นาฬิกา 9 นาทีในยามเช้าของวันที่ 9 เดือนกันยายน (เดือน 9) ปี 1999 (อะไรจะขนาดนั้น) “ทันใดนั้นเหมือนมันสว่างวาบขึ้นมา เราเกิดความตระหนักรู้ขึ้นมาในทันใดว่า ต่อจากนี้ไปพวกเราควรกลายเป็นหุ่นยนต์ และนี่แหละคือต้นกำเนิดของเรา”

ถึงแม้วันนี้ทั้งคู่จะปิดตำนานอันยาวนานกว่า 28 ปีลงแล้ว แต่เรื่องราวและบทเพลงของทั้งคู่ก็จะยังอยู่ในใจของแฟนเพลงตลอดไป.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส