‘Zack Snyder’s Justice League’ นอกจากจะกู้ชื่อทั้งของผู้กำกับ และหนังจักรวาลของดีซีที่แผ่ออกไปแล้ว ยังทำให้หนัง ‘ฉบับผู้กำกับ’ หรือ Director’s Cut ถูกพูดถึง ในอดีตหนังฉบับนี้ยากจะเกิดเพราะสิทธิ์ขาดในการตัดหนังอยู่กับผู้ออกเงิน บริษัทผู้สร้าง จัดจำหน่าย หรือสตูดิโอ ซึ่งชอบเปลี่ยนแปลงหนังเพื่อเพิ่มโอกาสทำเงิน เช่น ทำให้สั้นลงเพื่อให้ได้รอบฉายมากขึ้น เปลี่ยนตอนจบให้ถูกใจผู้ชม อธิบายอะไรต่าง ๆ นานา เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงเพื่อไม่ให้ได้เรตแรง ๆ

มาถึงยุคโฮมเอนเทอร์เทนเมนต์ หนังฉบับผู้กำกับเป็นแค่กลยุทธ์การตลาดช่วยขายวิดีโอ ในแง่การทำงานไม่ได้มีอะไรพิเศษ แค่ใส่ฉากที่ถูกตัดออกเข้ามาใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนการเล่าเรื่อง หรือสร้างมุมมองใหม่ จนยุค 70s ถือเป็นเรื่องเหตุผลทางศิลปะ เมื่อ ‘The Wild Bunch’ ฉบับผู้กำกับออกฉายในโรงหนังที่ลอส แองเจลิส ซึ่งใส่ฉากที่ถูกตัดออกเพื่อหนีเรตอาร์เข้ามายาวกว่าต้นฉบับถึง 10 นาที แต่ไม่ใช่หนังทุกเรื่องจะมีฉบับผู้กำกับ และบางเรื่องก็ต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ กว่าจะมีออกมา และนี่คือหนังฉบับผู้กำกับ 10 เรื่อง ที่ได้ชื่อว่า ‘เยี่ยม’

ภาพ: Paramount

Almost Famous – The Bootleg Cut (2017)

ผู้กำกับ: คาเมรอน โครว์ (Cameron Crowe) 

งานกึ่ง ๆ อัตชีวประวัติ ว่าด้วยการเกาะติดวงร็อกที่กำลังจะดังวงหนึ่งของเด็กหนุ่มที่ฝันอยากเป็นคอลัมนิสต์ดนตรีในยุค 1970s ต้นฉบับเมื่อปี 2000 ถึงจะคว่ำแต่ทำให้โครว์ได้ออสการ์บทหนังดั้งเดิมยอดเยี่ยม

The Bootleg Cut ยาวกว่าฉบับฉายโรงที่ยาว 122 นาที ราว 40 นาที ฉากที่เพิ่มเข้ามาช่วยให้หนังมีความลุ่มลึกเรื่องแวดวงดนตรี และการเติบโตของเด็กหนุ่มในเรื่องที่รับบทโดย แพทริก ฟิวกิต (Patrick Fugit) มากขึ้น หนึ่งในฉากสำคัญก็คือ ตอนที่เขาเปิดเพลง “Stairway to Heaven” ให้แม่ (ฟรานเซส แม็คดอร์แมนด์ – Frances McDormand) ฟัง ซึ่งการที่โครว์ไม่ได้สิทธิ์ในการใช้เพลง ผู้ชมจะถูกขอให้เปิดเพลงนี้ฟังระหว่างชม เพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น 

ภาพ: Chas Gerretsen/Nederlands Fotomuseum/Zoetrope Corp.

Apocalypse Now – Final Cut (2019)

ผู้กำกับ: ฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโพลา (Francis Ford Coppola)

ฉบับผู้กำกับครั้งแรกปล่อยมาในปี 2001 ซึ่งผู้ตัดต่อ วอลเทอร์ เมิร์ช (Walter Murch) และผู้กำกับภาพ – วิตทอริโอ สโทราโร (Vittorio Storaro) ของหนังต้นฉบับปี 1979 กลับมาร่วมงานด้วย หนังใช้ชื่อ ‘Apocalypse Now Redux’ นอกจากใส่ฟุตเทจเพิ่ม เช่น ฉากของผู้พันเคิร์ตซ์, ฉากกลุ่มทหารที่ตามหาเขาไปพบอาณานิคมคนฝรั่งเศส ยังเรียงบางเหตุการณ์ใหม่ แม้เจ้าตัวรู้สึกว่าหนังได้รับการเติมเต็ม แต่งานที่ยาวขึ้น 46 นาทีจากเดิม 147 นาที ก็ถูกมองเป็นแค่ฉบับปรับปรุงของงานที่แทบจะสมบูรณ์อยู่แล้ว และ ‘เฉื่อย’ กว่าเดิม 

‘Apocalypse Now Final Cut’ ปล่อยออกมาเมื่อเมษายน 2019 ในวาระหนังครบ 40 ปีพอดี มีการบูรณะภาพ-เสียง และเล็มฉบับ Redux ออกไป 20 นาที การเล่าเรื่องโดยรวมไม่แตกต่าง แต่ลื่นไหล และอารมณ์แบบงานเผาหัวช้าไม่สะดุด สมเป็น The Final Cut จริง ๆ

ภาพ: Warner Home Video

Blade Runner – The Final Cut (2007)

ผู้กำกับ: ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott)

นับจริง ๆ หนังเรื่องนี้มีไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ แต่ที่เป็นทางการมีแค่ 2 ฉบับ ฉบับแรกถึงจะเรียก Director’s Cut แต่จัดการโดยไมเคิล อะริก (Michael Arick) นักอนุรักษ์ภาพยนตร์ ปล่อยฉายในปี 1992 และสั้นกว่า 117 นาทีของต้นฉบับปี 1982 แค่นาทีเดียว การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ยกเสียงเล่าเรื่อง (ที่โคตรน่าเบื่อ) ของแฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) ทิ้ง ใส่ฉากยูนิคอร์นของสก็อตต์เข้ามาในตอนท้าย เปลี่ยนตอนจบจากแฮปปีเอนดิงที่สตูดิโอต้องการ เป็นดูคลุมเครือ

เพราะคำถามที่ว่า เด็กคาร์ด (ฟอร์ด) เป็นมนุษย์เทียมหรือไม่? ยังไม่กระจ่าง สก็อตต์เลยมาเองในปี 2007 ด้วย The Final Cut ที่ยาวกว่า Director’s Cut 1 นาที ใส่ฉากฝันถึงยูนิคอร์นที่ตอบคำถามเป็นนัย ๆ เข้ามา หนังรุนแรงกว่าต้นฉบับที่ต้องถูกตัดออกเพื่อลดเรต ทั้งที่แสดงความชืดชาของโลกยุคหลังหายนะ ซึ่งโดดเด่นมาก ๆ ในฉบับนี้เป็นอย่างดี

ภาพ: 20th Century Fox

Brazil (1985)

ผู้กำกับ: เทอร์รี กิลเลียม (Terry Gilliam)

งานอีกเรื่องที่แสนวุ่นวาย หนังฉบับแรกยาว 142 นาทีที่จบแบบหม่น ๆ ออกฉายในปี 1985 ที่ยุโรปและหลายประเทศ แต่พอมาถึงสหรัฐอเมริกา ยูนิเวอร์แซลผู้จัดจำหน่ายตัดหนังเหลือ 94 นาที เปลี่ยนตอนจบเป็นแฮปปีเอนดิง หนังฉบับนี้ถูกเรียกว่า “Love Conquers All” 

แต่เรื่องยังไม่จบ หนังยังเลื่อนฉายไปเรื่อย ๆ กิลเลียมเลยซื้อโฆษณาในนิตยสารกระตุ้นสตูดิโอให้ฉายหนังฉบับที่ควรจะเป็น แต่ถูกปฏิเสธ แถมเสนอขายให้ผู้จัดจำหน่ายรายอื่น พอหนังคว้ารางวัลหนัง บท และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ลอสแองเจลีส ‘Brazil’ ก็ได้ฉายในปี 1985 แต่เป็นฉบับประนีประนอม ความยาวแค่ 132 นาที ที่กิลเลียมเป็นคนดูแล หนังยังจบแบบหม่น ๆ แต่ก็ตัดฉากดาร์ก ๆ ออกไป 2-3 ฉาก ทำให้ฉบับฉายครั้งแรกคืองานที่ดีที่สุด 

ภาพ: Arrow Films

Donnie Drako – The Director’s Cut (2001)

ผู้กำกับ: ริชาร์ด เคลลี (Richard Kelly)

งานไซ-ไฟ อินดีว่าด้วยการเดินทางข้ามเวลา จักรวาลคู่ขนานที่กลายเป็นหนังคัลต์เรื่องนี้ ถูกถกเถียงอย่างมากว่า “ฉบับไหนดีกว่า ฉบับฉายโรงหรือฉบับผู้กำกับ” ฉบับหลังที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น ถูกมองว่า ‘ชี้นำ’ เกินไป และทำให้ความคลุมเครือที่เป็นเสน่ห์ของหนังลดลง แต่เรื่องชัดเจน มีความกระจ่างมากขึ้น งานนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมว่าชอบแบบไหน แต่ถ้าต้องการงานที่พูดถึงการย้อนเวลาแบบจำเพาะเจาะจงที่งานต้นฉบับมีให้ไม่มากนัก ฉบับผู้กำกับคือคำตอบ

สาเหตุที่ทำให้ต้องมีหนังฉบับที่สอง ก็เพราะเคลลีไปตกลงว่าหนังจะยาวไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้สร้าง ทำให้ฉบับฉายโรงยาวแค่ 113 นาที ก่อนจะเป็น 134 นาทีในฉบับผู้กำกับ

ภาพ: Warner Bros.

I Am Legend – Alternate Version (2007)

ผู้กำกับ: ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (Francis Lawrence)

ฉบับทางเลือกจบต่างจากฉบับฉายโรงเยอะ แต่ประเด็นใกล้เคียงกับนิยายชื่อเดียวกันของ ริชาร์ด แมธีสัน (Richard Matheson) มากกว่า เมื่อให้ตัวละครของวิลล์ สมิธ (Will Smith) ตระหนักว่า โลกที่เต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อร่างกายประหลาด จนเขา (กับผู้รอดชีวิตคนอื่น ๆ) เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม พวกเขาต่างหากที่เป็นตัวประหลาด โดยเฉพาะตัวเองที่จับผู้ติดเชื้อมาทดลอง จนดูเป็นตัวร้าย และ ‘ตำนาน’ อย่างที่ชื่อเรื่องว่าเอาไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่นิยายนำเสนอ

หนังฉบับทางเลือกยาวจากเดิม 96 นาทีอีกแค่ 3 นาที แต่ช่วยให้เรื่องราวและตัวละครซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นว่า พวกติดเชื้อยังมีอารมณ์ความรู้สึก แต่คนเราต่างหากที่ตัดสินพวกเขาแบบผิด ๆ และคุกคามการใช้ชีวิตของพวกเขา

ภาพ: 20th Century Fox

Kingdom of Heaven – Ultimate Edition (2006)

ผู้กำกับ: ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott)

สก็อตต์คือเจ้าพ่อหนังฉบับ “ผู้กำกับตัดเอง” และนี่ก็คืออีกเรื่องหนึ่ง หลังงัดข้อกับสตูดิโอ หนังสงครามครูเสดของเขาออกฉายด้วยความยาว ‘แค่’ 144 นาที ก่อนจะเพิ่มความยาวเข้าไปถึง 50 นาที สำหรับฉบับ Ultimate Edition ที่ทำเป็นดีวีดี หนังมีทุกอย่างที่งานมหากาพย์ต้องมี เรื่องราวชัดเจนต่างจากฉบับฉายโรงที่ดูสะเปะสะปะ ตัวละครหลักมีปูมหลัง ทำให้การกระทำมีแรงสนับสนุนที่เป็นเหตุเป็นผล และช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงตัวละครได้ดีกว่า 

นอกจากจะเป็นหนังฉบับผู้กำกับที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า การตอบรับของผู้ชมในรอบพรีวิว ซึ่งเป็นสาเหตุให้หนังถูกตัดเหลือแค่ 144 นาทีนั้น บางทีก็เชื่อไม่ได้  

ภาพ: New Line Cinema

The Lord of the Rings – Extended Editions (2001, 2002, 2003)

ผู้กำกับ: ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson)

ความยาวฉบับฉายโรงของหนังทั้ง 3 ภาคคือ 178, 179 และ 201 นาทีตามลำดับ ถูกขยายเป็น 208, 226 และ 252 นาที ในฉบับ Extended Edition ซึ่งนั่งชมกันได้ทั้งวันสบาย ๆ และมีรายละเอียดมากกว่าเดิม ฉากที่เติมเข้ามาทำให้เรื่องสมบูรณ์ ถูกต้องตามนิยายมากขึ้น โดยเฉพาะฉากพ่อมดซารูมานถูกลงโทษและโดนสังหาร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าถูกยกออกจากฉบับฉายโรงได้ยังไง จนคริสโตเฟอร์ ลี (Christopher Lee) ที่รับบทนี้ไม่พอใจ ถึงกับไม่ไปร่วมงานรอบปฐมทัศน์หนังภาคสุดท้าย

หนังทั้งสองฉบับควรค่ากับการชมไม่ต่างกัน อย่างน้อยงานต้นฉบับก็คืองาน Final Cut ที่สมบูรณ์ในตัว แต่เมื่อมีงานที่ ‘โคตร’ สมบูรณ์กว่า ยังมีใครแนะนำฉบับฉายโรงให้ชมกันอีกหรือ?  

ภาพ: Warner Bros.

Once Upon A Time in America – Extended Director’s Cut (2014)

ผู้กำกับ: เซอร์จีโอ เลโอเน (Sergio Leone)

หนังแก๊งสเตอร์ที่น่าจะยาวถึง 8-10 ชั่วโมง ถูกเลโอเนตัดเหลือ 6 ชั่วโมง โดยหวังออกฉายเป็นหนัง 2 ภาค แต่สตูดิโอปฏิเสธ จนต้องตัดใหม่เหลือ 229 นาทีสำหรับฉายในยุโรป ส่วนฉบับเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งเยี่ยมจนผู้ชมยืนปรบมือให้ถึง 20 นาทีอยู่ที่ 269 นาที แต่พอเข้าฉายในอเมริกาปี 1984 ผู้จัดจำหน่ายตัดหนังเหลือแค่ 139 นาที ส่งผลให้ “หนังเยี่ยมกลายเป็นหนังเยิน” เมื่อการเล่าเรื่องเละเทะ เลโอเนผิดหวังสุด ๆ ถึงขั้นเลิกทำหนังไปเลย

จนปี 2014 ถึงมีฉบับ Extended Director’s Cut ที่ยาว 251 นาที ออกมา ซึ่งถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงความต้องการของเลโอเนมากที่สุด การได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของผู้กำกับตำนานรายนี้ยืนยันได้ดี แต่เจ้าตัวไม่มีโอกาสรับรู้เพราะเสียชีวิตไปก่อนในปี 1989 

ภาพ: Warner Bros.

Superman II – The Richard Donner Cut (2006)

ผู้กำกับ: ริชาร์ด ดอนเนอร์ (Richard Donner)

ปัญหาเรื่องงบ, โทนเรื่อง และตารางการทำงาน ผู้กำกับดอนเนอร์ที่ถ่ายหนังภาคแรกและสองต่อเนื่องกันเลยโดนเด้ง ทั้งที่ถ่ายไปได้ 3 ใน 4 แล้ว ริชาร์ด เลสเตอร์ (Richard Lester) ที่รับงานต่อ ยกเครื่องหนัง ถ่ายเพิ่มจนได้เครดิตแทน แม้จะมีปัญหากับยีน แฮ็กแมน (Gene Hackman) และมาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ที่ไม่ยอมกลับมาถ่ายเพิ่ม จนฉากของแบรนโดที่ถ่ายไปแล้วถูกทิ้ง หนังที่ออกฉายในปี 1980 ก็ได้เงินและคำชม และเลสเตอร์ได้ทำภาค 3 ซึ่งโดนสับเละ 

เมื่อไบรอัน ซิงเกอร์ (Bryan Singer) มาทำ ‘Superman Returns’ ในปี 2006 มีการค้นพบฟุตเทจของดอนเนอร์ ซึ่งมากพอจะทำให้เกิดฉบับผู้กำกับ แม้ต้องใช้คลิปการซ้อม หรือฟุตเทจที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงฟุตเทจของเลสเตอร์อีก 20% ก็ได้รู้ว่าฉบับไหนที่เจ๋งกว่า 127 นาทีของเลสเตอร์ที่เน้นอารมณ์ขัน หรือ 116 นาทีของดอนเนอร์ที่จริงจังขึ้น 

ยังมีหนังฉบับผู้กำกับ หรือ Director’s Cut ที่ได้รับการยกย่องว่า ทำได้ดีกว่าต้นฉบับที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ได้แก่ Touch of Evil ของ ออร์สัน เวลล์ส (Orson Welles), Batman V Superman: Dawn Of Justice ของแซ็ค สไนเดอร์ (Zack Snyder), Alien 3 ของเดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher), Heaven’s Gate ของไมเคิล ชิมิโน, Metropolis ของฟริตซ์ แลง (Fritz Lang), The New World ของเทอร์เรนซ์ มาลิก (Terrence Malick), Doctor Sleep ของ ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan), Aliens ของเจมส์ คาเมรอน (James Cameron), Daredevil ของมาร์ก สตีเวน จอห์นสัน (Mark Steven Johnson)  

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6 อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9 อ้างอิง 10

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส