จากความนิยมของซีรีส์ไทยอย่าง ‘เด็กใหม่’ ที่ดำเนินมาถึงซีซันที่ 2 พร้อมกับการฝากชื่อ แนนโน๊ะ ให้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง นั่นยังทำให้การกล่าวถึง โทมิเอะ ตัวละครในมังงะดังจากการสร้างสรรค์ของอาจารย์ อิโตะ จุนจิ ในเชิงเปรียบเปรยกันนั้นก็กลับสู่วงสนทนาของแฟนผลงานทั้งสองอีกครั้งเช่นกัน น่าสนใจว่าเมื่อผ่านมาถึงซีซัน 2 นั้นเราเห็นมุมคล้าย มุมต่าง ระหว่างสองตัวละครนี้เปลี่ยนไปอย่างไร และยังสมควรเปรียบเทียบสองตัวละครนี้กันอีกหรือไม่

โทมิเอะ

โทมิเอะ (富江) มีชื่อเต็มว่า คาวาคามิ โทมิเอะ ชื่อ โทมิเอะ มาจากคำว่า ร่ำรวย รวมกับ แม่น้ำ แต่ตัวคันจิหลังยังพ้องเสียงกับความหมายว่า ความรัก และ กิ่งก้านสาขา ได้ด้วย นับเป็นความฉลาดในการตั้งชื่อที่สื่อถึงคุณสมบัติตัวละครได้หลายอย่างพร้อมกัน ทั้งมีคนรักมากมาย และมีการแตกสาขาได้มากมาย ส่วนนามสกุล คาวาคามิ ของเธอนั้นเป็นการประกอบจากคำว่า ผิวหนัง และ พระเจ้า อันบอกเป็นนัยยะถึงความสวยงามผุดผ่องดั่งสวมผิวของพระเจ้า และยังคงมีชีวิตนิจนิรันดร์ด้วย ตัวละครดังกล่าวปรากฏตัวครั้งแรกในนิตยสารมังงะผู้หญิงรายเดือนที่ชื่อ Gekkan Halloween และได้รับความนิยมตั้งแต่ปี 1987 จนถึงปี 2000

Tomie

อาจารย์อิโตะเคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่เขียนโทมิเอะ (ตอนแรก) ขึ้นมา เกิดจากความรู้สึกแปลกประหลาดเมื่อทราบว่าเพื่อนผู้ชายร่วมห้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การที่เพื่อนคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่ ๆ ก็มาหายไปเป็นมวลความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย นั่นจึงเกิดเป็นไอเดียว่าแล้วถ้าเพื่อนที่คิดว่าตายไปแล้วกลับมาล่ะจะเป็นอย่างไร และอาจด้วยมีโจทย์ที่จะเขียนลงนิตยสารผู้หญิง อาจารย์อิโตะจึงให้ตัวละครเอกอย่างโทมิเอะเป็นเด็กสาวแสนสวยแทน และยังเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของเพื่อนสาวที่สนิทอีกคนที่ชื่อว่า เรย์โกะ ด้วย

Tomie

อาจด้วยความน่าสนใจของพลอตปลายเปิดที่ไม่ได้บอกว่า โทมิเอะ คืออะไรและฉากปิดตอนสุดท้ายที่ขยายไอเดียอย่างกว้างขวางของชิ้นส่วนหัวใจที่กำลังงอกอวัยวะอื่นขึ้นมาเพื่อกลายเป็นตัว โทมิเอะ อีกคนได้ ทำให้โทมิเอะกลายเป็นซีรีส์ยาวที่มีความเชื่อมโยงของแต่ละตอนแบบหลวม ๆ ผ่านบางตัวละครเช่น ทาคางิ ที่เป็นอาจารย์ประจำชั้นในตอนแรกซึ่งกลายมาเป็นวายร้ายผู้ร่วมทดลองและกระจายชิ้นส่วนของโทมิเอะในหลายตอนให้หลัง

แต่สำหรับบางตอนนั้นก็เป็นตอนที่โดดแยกออกมาและขายความประหลาด รวมถึงแสดงความสามารถสุดสยองของโทมิเอะที่ทำให้ผู้คนที่เข้ามาพัวพันต้องพบจุดจบสุดสยอง

Tomie
ภาพเดียวในฉากจบของตอนแรก ที่ขยายเรื่องราวของโทมิเอะออกไปได้อีกมากมาย

น่าสนใจว่ามีข้อสังเกตสำคัญคือ โทมิเอะเป็นผู้นำความตาย แต่เธอไม่เคยลงมือฆ่าใครด้วยตนเอง ความสามารถของเธอคือการแบ่งร่างไม่รู้จบ ไม่รู้จักตาย และมีพลังการฟื้นสภาพของเซลล์ที่สูงผิดปกติ โดยในตอนที่ 2 ของเรื่องมีการเปรียบเปรยว่าความสามารถเธอเหมือนพวกหนอนตัวแบนพลานาเรีย ในตอนแรกเชื่อว่าโทมิเอะจะตายได้ด้วยการเผาเท่านั้น ทว่าในตอนที่ชื่อ นิ้วก้อย นิ้วทั้ง 4 ของโทมิเอะที่กลายเป็นเถ้าก็กลับมาแบ่งเซลล์จนกลายเป็นโทมิเอะ 4 คนได้อีกครั้งอยู่ดี เท่ากับว่ายังไม่มีข้อมูลวิธีฆ่าโทมิเอะจริง ๆ เลย

และอีกความสามารถของเธอคือการควบคุมจิตใจผู้ชาย (ส่วนใหญ่) ให้ลุ่มหลงในความงามจนยอมอยู่ใต้อำนาจของเธอ ทว่าเมื่อผู้ชายหมกมุ่นจนเสียสติจะเกิดความต้องการฆ่าหั่นศพเธอ ซึ่งพิจารณาแล้วน่าจะเป็นกระบวนคล้ายการลอกคราบเพื่อเติบโต หรือเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นช่วยขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งตัว (Mitosis) ของเธอ เธอจึงมักต้องยั่วยวนผู้ชายให้หลงรักแล้วป่วยประสาทใส่พวกเขาเสมอ

Tomie

นอกจากนี้ลักษณะนิสัยจำเพาะของเธอคือความหยิ่งจองหอง อวดดี หลายครั้งเธอมักหัวเราะบ้าคลั่งเพื่อเย้ยหยันผู้คน และอีกหนึ่งนิสัยคือความริษยา โทมิเอะแต่ละคนหลงใหลในความยามอันเป็นที่สุดของตนเองและไม่ยอมให้โทมิเอะคนอื่นมีชีวิตอยู่เด็ดขาด โดยรวมก็เหมือนเป็นการดึงนิสัยด้านไม่ดีของผู้หญิงออกมาขยายให้เกินจริง น่าแปลกว่าอาจารย์อิโตะมองว่า บุคลิกเช่นนี้ทำให้กลุ่มผู้อ่านหญิงของเขาหลงใหลมากกว่ารังเกียจ เขาอ้างอิงว่ามีจดหมายจากแฟนผลงานรุ่นเด็กหลายคนเขียนมาบอกเขาว่า อยากโตไปเป็นโทมิเอะด้วย

ทางฝั่งผู้อ่านตะวันตกมักตีความว่า โทมิเอะ เป็นพวก ซักคิวบัส (Succubus) ปีศาจที่ปรากฏตัวในความฝันด้วยรูปหญิงสาวสวยงามเพื่อล่อลวงผู้ชายให้สังวาสกับนาง หรือบางตอนที่โทมิเอะมักมีฉากหลังเกี่ยวเนื่องกับทะเล ก็ทำให้มีการอิงกับปีศาจจำพวก ไซเรน (Siren) ปีศาจสาวเสียงหวานที่ลวงคนเดินทะเลผู้ชายให้เรือล่มด้วย

เมื่อมองโดยรวม อาจสรุปได้ว่า โทมิเอะอิงกับความเป็นวิทยาศาสตร์ได้มากกว่าพลังเหนือธรรมชาติ ทั้งการขยายพันธุ์แบบแบ่งตัว และการมีภาพลักษณ์สวยงามดึงดูดผู้ชายให้มาช่วยขยายพันธุ์คล้ายดอกไม้สีสันสวยงามเพื่อดึงดูดแมลงให้มาช่วยผสมเกสร หากแต่การขยายพันธุ์ของเธอคือการถูกหั่นเป็นหลายส่วนนั่นเอง

และการเลือกเหยื่อของโทมิเอะก็อิงจากนิสัยแบบผู้หญิงเป็นหลัก ทั้งอยากให้พวกผู้ชายทุกคนหลงรัก ใครไม่มีที่ท่าสนใจเธอยิ่งอยากยั่วให้มาเป็นของตนเองให้ได้ สำหรับเหยื่อผู้หญิงเองก็เป็นเป้าหมายได้หากเธอรู้สึกถึงความเป็นศัตรู หรือถูกทำให้เสียหน้าอับอาย โดยจุดจบของเหยื่อของโทมิเอะมักลงเอยด้วย การถูกเรื่องราวของโทมิเอะหลอกหลอน บ้างเป็นบ้าเสียสติ บ้างฆ่าตัวตาย บ้างถูกคนที่อยู่ใต้อำนาจโทมิเอะฆ่า

Tomie

แนนโน๊ะ

แนนโน๊ะ (หรือที่ตามหลักควรต้องสะกดว่า แนนโนะ) มีชื่อเต็มว่า มารา อมราตยกุล จากชื่อจริงนี้แสดงถึงที่มาเชิงศาสนาเป็นหลักทั้ง มารา ที่มาจากรากศัพท์ มรฺ ที่แปลว่าตาย เมื่อเป็น มาร จึงแปลว่า ผู้ทำให้ตาย หรือหมายถึง เทวดาจำพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันคนจากการทำความดี นามสกุล อมราตยกุล มาจาก อมรฺ มีความหมายตรงข้ามกับ มรฺ หมายถึง ผู้ที่ไม่ตาย มีนัยยะถึง พระเจ้า ด้วย สำหรับชื่อเล่น แนนโน๊ะ เป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ให้ตัวละครชื่อแปลกติดหูมาตั้งแต่ยังไม่มีการคิดเนื้อเรื่องทั้งหมดด้วย

เธอเป็นตัวละครในซีรีส์ ‘เด็กใหม่ The Series’ เป็นผลงานไอเดียตั้งต้นของทีมครีเอทีฟสาวจาก เอเจนซีโฆษณา SOUR Bangkok ที่โดดเด่นเรื่องข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเพศหญิง จึงเข้าใจทั้งความอิจฉา ริษยา และความดำมืดในจิตใจของหญิงสาว โดยสบโอกาสเมื่อ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจของแกรมมี่ต้องการคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ลงทางช่อง GMM25 จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ร่วมกัน โดยมีหัวใจสำคัญ 2 อย่างคือ คอนเทนต์กลุ่มผู้หญิง และประเด็นข่าวดังในสังคม

พลอตตั้งต้นของโปรเจกต์นี้มีว่า ‘แนนโน๊ะเป็นเด็กใหม่ของทุกโรงเรียน วันแรกที่เธอแนะนำตัวกับวันสุดท้ายที่เธอจากไป โรงเรียนแห่งนั้นจะไม่เหมือนเดิม เธอคือเด็กสาวที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงทุกรูปแบบจากทุกยุคทุกสมัย ความเป็นเธอจะเข้าไปก่อกวนให้คนรอบข้างเผยตัวตนอีกด้านที่แม้แต่เขาเองก็อาจจะยังไม่รู้จัก บางคนรักเธอ บางคนอยากเป็นเธอ บางคนอยากฆ่าเธอ แต่ไม่ว่าจะจบยังไง เปิดตอนใหม่จะมีแนนโน๊ะเป็นเด็กใหม่เสมอ’


เหมือน

จะเห็นว่าแนนโน๊ะมีส่วนประสมของ โทมิเอะ อยู่บางส่วน ซึ่งทาง คงเดช จาตุรันต์รัศมี หนึ่งในทีมเขียนบทก็ไม่ได้ปฏิเสธ โดยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ‘เราอ้างอิงคาแรกเตอร์บางอย่างของแนนโน๊ะมาจากตัวละคร (โทมิเอะ) นี้ โทมิเอะจะหลอนอีกแบบ แต่แนนโน๊ะจะว่าด้วยเรื่องสังคมไทย’ ซึ่งแฟนจากทั้ง 2 ผลงานย่อมเห็นชัดจากทั้ง 2 ซีซันของ เด็กใหม่ ว่ามีส่วนเหมือนโทมิเอะตรง ตำแหน่งไฝใต้ตาข้างซ้ายที่เหมือนกันพอดี ดีไซน์วิธีการหัวเราะคล้ายบ้าที่ปั่นประสาทคนได้ การที่แนนโน๊ะหายจากบาดแผล และฟื้นจากความตายได้ รวมถึงเรื่องของการแบ่งร่างออกมาได้มากมายด้วยก็เช่นกัน

แนนโน๊ะ

ซึ่งส่วนตัวแนนโน๊ะกับโทมิเอะ เหมือนกันเพียงเท่านี้จริง ๆ ส่วนคอนเซ็ปต์การเป็นเด็กสาวมาเรียนใหม่ในทุกตอนนั้น อาจไปคล้ายมังงะเรื่องอื่นอย่าง Nehan Hime Midoro หรือ ‘เจ้าหญิงอาถรรพ์ มิโดโระ’ ที่เริ่มเรื่องใหม่ในโรงเรียนใหม่ทุกตอนเสียมากกว่า

ละม้าย

ส่วนที่แนนโน๊ะคล้ายโทมิเอะแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียวคือ เสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หลงใหล สำหรับแนนโน๊ะนั้นไม่จำกัดเพศ ทั้งในบางโอกาสที่เธอไม่อยากเป็นจุดเด่นเธอจะเป็นคนที่ไม่มีใครสนใจเลยก็ได้เช่นกัน และพลังการแบ่งร่างจำนวนมากของแนนโน๊ะก็ไม่ได้อิงมาจากแนวคิดการขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เป็นคล้ายพลังคาถาแยกเงาพันร่างของนินจานารุโตะยังดูคล้ายกว่า และในขณะที่โทมิเอะแต่ละร่างมีความคิดที่จะกำจัดร่างอื่นเหมือนคนละคนกัน แนนโน๊ะแต่ละร่างกลับเป็นแนนโน๊ะคนเดียวกันทั้งหมดคิดแบบเดียวกัน ไม่หักหลังกัน

แนนโน๊ะ

แตกต่าง

ส่วนที่ไม่เหมือนโทมิเอะอย่างสิ้นเชิง คือ แนนโน๊ะยังมีพลังเหนือธรรมชาติอื่น เช่น สร้างความเป็นจริงใหม่ บันดาลสิ่งใดให้เป็นจริงก็ได้ อันจะเห็นได้จากบางตอนที่เหมือนเป็นอีกมิติหนึ่งมากกว่าเป็นแค่อีกโรงเรียนหนึ่ง ตรงนี้ คงเดช ได้อ้างอิงแนวคิดการเล่าเรื่องแบบซีรีส์ ‘Black Mirror’ เป็นหลักด้วย นอกจากนี้ในแต่ละตอนแนนโน๊ะยังล่วงรู้ถึงความคิดและการกระทำของตัวละครอื่น ราวกับทุกอย่างวิ่งอยู่ในอุ้งมือเธอแต่แรก ซึ่งจะเห็นชัดมากในซีซันแรก จนกระทั่งซีซัน 2 จึงได้เห็นความประหลาดใจบนใบหน้าแนนโน๊ะบ้าง หลังจากมีตัวละครอื่นที่มาแทรกแซงโลกของแนนโน๊ะได้อย่าง ยูริ

แนนโน๊ะ

นอกจากนี้ว่าด้วยพัฒนาการตัวละคร โทมิเอะถูกปั้นมาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอยู่รอดด้วยการถูกฆ่าเท่านั้น บุคลิกนิสัยทั้งหลายเรียกว่ามีเพียงรูปแบบเดียวไม่ว่าสิ่งแวดล้อมที่มากระทำจะเป็นอย่างไร เธอจะตอบโต้ด้วยรูปแบบเดิม แต่สำหรับแนนโน๊ะจะเป็นตัวละครที่มีบุคลิกนิสัยที่คล้ายคนมากกว่า กล่าวคือถึงภายนอกจะฉาบด้วยความไม่แยแสและการกระทำที่เกินจริงอย่างการหัวเราะ ยิ้มหลอน ๆ หรือเต้นรำประหลาด ๆ แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมที่มากระทำกับตัวละครมีความเปลี่ยนแปลง แนนโน๊ะจะเปลี่ยนวิธีการตอบสนอง และหลายครั้งแนนโน๊ะยังแสดงถึงความขัดแย้งสับสนต่อหลักการภายในใจที่ไม่อยากแสดงออกมาเสียด้วย ยิ่งในซีซันที่ 2 เราจะยิ่งเห็นมุมนี้ชัดขึ้น

การเลือกเหยื่อของแนนโน๊ะ ยังอิงวิธีคิดแบบกรรมตามแนวคิดศาสนามากกว่าแรงกระตุ้นทางธรรมชาติอย่างโทมิเอะ ตามที่ วรุณพร ตรีเทพวิจิตร ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ SOUR Bangkok ได้อธิบายคอนเซ็ปต์ตัวละครนี้ไว้ในการบรีฟทีมงานให้เข้าใจตรงกันว่า ‘จริงๆ แล้วหญิงสาวผู้มากับผมหน้าม้าผู้นี้ เป็นลูกสาวของซาตานแห่งโลกมืด ที่มายังโลกมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนของกรรมในชุดนักเรียน’ ซึ่งคงไม่มีอะไรต้องถกเถียงว่าแนนโน๊ะคืออะไรกันแน่อีกต่อไป จึงยิ่งทำให้เห็นว่าการกระทำที่ยากจะเข้าใจเหตุผลหลาย ๆ อย่างในการลงโทษตัวละครอื่นนั้น ให้คิดอิงตามรูปแบบคนชั่วก่อกรรมต้องโดนลงทัณฑ์ โดยแนนโน๊ะเป็นผู้มาออกแบบวิธีการลงโทษให้ในแต่ละตอน

แนนโน๊ะ

แต่อีกกรณีที่เรามักขัดใจเวลาชม คือกรณีคนดีที่ปล่อยใจให้หลงใหลไปกับความชั่ว ทั้งที่เป็นการล่อลวงให้ทำผิดจากแนนโน๊ะเอง ในความหมายว่าถ้าแนนโน๊ะไม่เข้ามายุ่งกับเขา เขาก็อาจยังเป็นคนดีอยู่ต่อไป หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำชั่วเกินเลยแบบในเรื่อง แต่กระนั้นผลกรรมก็ต้องตกแก่คนผู้นั้นเอง ซึ่งแนวคิดนี้หากมองไปที่คอนเซ็ปต์ของ มาร หรือ ซาตาน ในแต่ละศาสนาตามที่แนนโน๊ะเป็นแล้ว มันก็มีหน้าที่ในทางล่อลวงมากกว่าลงโทษอยู่แล้ว ก็อาจพอยอมรับในบางกรณีขึ้นได้บ้าง

แนนโน๊ะ
อีกหนึ่งตอนที่ซีรีส์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่แนนโน๊ะลงโทษคนหนัก ๆ มา 2 ซีซันเนี่ยมันไม่มากเกินความผิดไปเหรอ

แต่บางตอนก็ต้องยอมรับว่าชวนสับสนจริง ๆ กับเรื่องกรรม อย่างตอน Lost & Found ในซีซันแรกที่บุคลิกและการตัดสินใจของแนนโน๊ะอยู่นอกมาตรฐานปกติของตัวเธอไปไกลมาก (กลายเป็นหนังรักวัยรุ่น ที่คนกระทำผิดไม่โดนลงโทษแบบหนัก ๆ ซะงั้น) หรือหลายกรณีเราก็มักต้องขบคิดว่าแล้วตัวละครประกอบที่เหมือนแนนโน๊ะควบคุมให้ช่วยลงโทษคนทำผิดนั้น ไม่ถือว่าทำกรรมด้วยหรือ หรือแท้จริงทั้งหมดคือ นรก ที่คนอื่นที่ไม่ใช่ตัวละครหลักนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง ๆ ดีไม่ดียูริเองก็อาจติดอยู่ในนรกที่เธอเข้าใจไปเองว่ามีอำนาจเท่าแนนโน๊ะอยู่ก็ได้ (รอยยิ้มของแนนโน๊ะในตอนจบซีซัน 2 อาจหมายความเช่นนั้น)

โดยสรุป

เราควรเลิกพูดเรื่องความใกล้เคียงของแนนโน๊ะกับโทมิเอะไปได้เลย เพราะทั้งพื้นฐานแนวคิดการสร้างตัวละครแบบวิทยาศาสตร์ และแบบเหนือธรรมชาติก็เรียกว่ามาคนละฐานแล้ว พัฒนาการของตัวละครแนนโน๊ะเองก็ยิ่งชัดเจนขึ้นในซีซัน 2 ว่าไม่ใกล้เคียงกับความเป็นโทมิเอะเลยด้วยซ้ำ ตรงนี้ถ้าส่วนตัวยังรู้สึกมีความใกล้เคียงมังงะเรื่อง ‘EMMA เอ็มม่า’ ที่เป็นเด็กสาวที่มัจจุราชสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ไปลงทัณฑ์เอาดวงวิญญาณของคนชั่วในแต่ละยุคมากกว่า และในนาทีนี้ก็คงต้องบอกว่า แนนโน๊ะ เองก็มีเอกลักษณ์ในแบบตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งความคล้ายคลึงหรือแรงบันดาลใจจากเรื่องใดแล้วเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

อ้างอิง1
อ้างอิง2
อ้างอิง3
อ้างอิง4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส