จากที่เคยมีเพียงหนังภาคต่อ หรือ Sequel ใช้ตัวละครชุดเดิม ธีมเรื่องเดิม ๆ นำเสนอเรื่องราวเดียวกันที่มีทั้งต่อเนื่อง หรืออาจมีเวลาซ้อนทับกัน หรือเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เรียก Prequel ในระยะหลังเริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ที่เรื่องราวแตกหน่อต่อยอดออกไป โดยใช้ตัวละครบางรายของเรื่องเดิม เรื่องราวก็มีทั้งที่เชื่อมต่อหรือแยกเป็นเอกเทศเฉพาะตัวก็ได้ ซึ่งหนังกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าหนังตอนแยก หรือ Spin-off ที่หลาย ๆ เรื่องประสบความสำเร็จ หรือได้รับคำชื่นชมไม่แพ้หนังหลักเลยทีเดียว #แบไต๋ คัดหนังตอนแยก 13 เรื่องเยี่ยมที่คุณไม่ควรพลาดชม

Creed (2015) / เครดิตภาพ: Barry Wetcher/Metro Goldwyn Mayer Pictures/Warner Bros. Pictures

CREED (2015)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Rocky’ 
หนัง‘Rocky’ ภาคหลัง ๆ ทำให้ความคลาสสิกของภาคแรกที่ได้ออสการ์หนังเยี่ยม ด้อยค่าลงเรื่อยๆ แต่ ‘Creed’ นอกจากจะยืนได้ด้วยตัวเอง ยังกู้ชื่อหนังหลักกลับมาได้ โดยหนนี้ร็อกกี บัลบัว (Rocky Balboa) ต้องเทรนลูกชายของอพอลโล ครีด (Apollo Creed) อดีตคู่ปรับที่รับบทโดยไมเคิล บี. จอร์แดน (Michael B. Jordan) หนังดูสด ไม่พ้นสมัย และพาเรื่องของ ‘Rocky’ ไปสู่ทิศทางใหม่

ความสำเร็จ: ส่งซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ชิงออสการ์สมทบชาย หนังได้ตังค์และคำชม แล้วก็มีภาคต่อตามมา รวมถึงได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในหนังตอนแยกยอดเยี่ยมตลอดกาล 

Deadpool (2016) / เครดิตภาพ: Marvel/ 21st Century Fox

DEADPOOL (2016)

ต้นขั้ว: ‘X-Men Origins: Wolverine’ (2009) 
หนังตอนแยกของหนังตอนแยกอีกที เพราะต้นทางคือ ‘X-Men Origins: Wolverine’ ซึ่งไม่ได้ดีเด่นัก เป็นหนัง ‘X-Men’ ที่กึ๋ยที่สุดก็ว่าได้ แถมทำเดดพูลหนึ่งในตัวละครเจ๋ง ๆ เสียราคา และเอาอะไรไม่รู้ไปอุดปากเขาซ้ำ ดีที่ไรอัน เรย์โนลด์ส (Ryan Reynolds) ไฟต์สุดตัวเพื่อปลุกชีพตัวละครรายนี้ ในแบบที่ทำให้ถูกต้อง จนได้หนังซูเปอร์ฮีโรทุนต่ำ ที่ตัวเอกทั้งทะลึ่ง, เกรียน แต่ดันมีอารมณ์อ่อนไหว เป็นหนังภาคต่อชุดใหม่ ส่วนตัวเองก็แจ้งเกิดได้สักที ราวกับเกิดมาเพื่อบทนี้ 

ความสำเร็จ: ภาคต่อเคยเป็นหนังเรต-อาร์ ทำเงินสูงสุด ตอนดิสนีย์ซื้อฟ็อกซ์ไปอยู่ในมือ หลายคนคิดว่าอนาคตของหนังที่ดูไม่ได้ทั้งครอบครัวเรื่องนี้คงดับ แต่หนังได้ไปต่อแม้จะเป็นเรต-อาร์ก็ตามที  

Get Him To the Greek (2010) / เครดิตภาพ: Universal Pictures

GET HIM TO THE GREEK (2010)

ต้นขั้ว: ‘Forgetting Sarah Marshall’ หนังฮิตเซอร์ไพรส์เมื่อปี 2008
พนักงานค่ายเพลง (โจนาห์ ฮิลล์ – Jonah Hill เล่นคนละบทกับในต้นฉบับ) ต้องดูแลร็อกสตาร์ตัวแสบ รัสเซลล์ แบรนด์ (Russell Brand – กลับมารับบทเดิม) ที่การเดินทางจากลอนดอนไปแอลเอ. ซึ่งพวกเขายังแวะนิว ยอร์กกับเวกัส คือหายนะสุดแสนบันเทิง นักแสดงนำเล่นกันได้แสบ บวกกับตัวเสริมที่มีเพียบ เช่น ที.เจ. มิลเลอร์ (T.J. Miller), โรส เบิร์น (Rose Byrne) ที่ทั้งเป็นสีสัน ทั้งขโมยซีน จากงานรอม-คอมของต้นฉบับ กลายเป็นตลกเจ็บตัวที่มันและบ้าบอมาก  

ความสำเร็จ: ถึงไม่ใช่หนังตอนแยกที่ใครอยากชม หรือคิดว่าน่าจะทำออกมา แต่หนังก็ทำเงิน ได้คำชม และเติมเต็มบางอย่างที่หนังต้นฉบับไม่มีได้ด้วย

Logan (2017) / The Wolverine (2013) / เครดิตภาพ: Ben Rothstein/20th Century Fox

LOGAN (2017) / THE WOLVERINE (2013)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘X-Men’ 
ก่อน ‘Logan’ หนัง ‘The Wolverine’ ก็เป็นงานตอนแยกที่เยี่ยมอยู่ แต่การสานต่อที่ปิดฉากหนังชุดนี้ไปพร้อม ๆ กัน คือการยกระดับไปอีกขั้น ขณะที่ ‘The Wolverine’ ทำให้เรื่องเดินไปในทิศทางใหม่ ขายฉากแอ็กชั่นที่สด โลเคชันสะดุดตา นำเสนออีกด้านของตัวละคร ‘Logan’ เอาสูตรหนังตะวันตก – ตัวละครหมดสภาพ, ผิดบาปในใจ, ต้องช่วยใครสักคนไปอยู่ในที่ปลอดภัย มาแต่งตัวใหม่เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร ที่ไม่ลดเรต จนเป็นงานที่ดิบ, ดุ แล้วก็แข็งแรงเรื่องของอารมณ์ สมเป็นการบอกลาที่สวยงาม

ความสำเร็จ: ‘Logan’ ไปไกลถึงชิงออสการ์สาขาบท เป็นหนังชุดนี้ที่ทำเงินสูงสุด และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสำเร็จเหล่านี้นั้น เริ่มมาจาก ‘The Wolverine’

Rouge One: A Star Wars Story (2016) / เครดิตภาพ: 20th Century Fox/Marvel Entertainment)

ROGUE ONE: A STAR WARS STORY (2016) 

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Star Wars’
หนังใหญ่ ‘Star Wars’ ตอนแยกเรื่องแรก ที่รู้ตอนจบตั้งแต่ยังไม่สร้าง เมื่อตัวละครคือทีมฉกแผนที่ดาวมรณะ ซึ่งใน ‘Star Wars: New Hope’ (1977) บอกแล้วว่า ต้องสละชีพเพื่อให้ได้มา หนังต่างจากหนัง ‘Star Wars’ เรื่องอื่น ๆ เมื่อเป็นหนังสงครามในครึ่งหลังและเป็นงานสายลับในครึ่งแรก ตัวละครมีความซับซ้อน ทำให้ดูสด และเป็นสิ่งใหม่ของหนังชุดนี้ แล้วก็อุดช่องว่างที่หนัง ‘Star Wars’ เรื่องแรกที่ออกฉายทิ้งเอาไว้ 

ความสำเร็จ: ทั้งที่รู้ชะตากรรมตัวละคร คนยังไปดูกันจนหนังทำเงินถึงพันล้านเหรียญ เปิดทางให้หนังตอนแยกในชุดนี้ ส่วน ‘The Ewok Adventure’ (1984) ที่หลายคนคิดว่าคือหนังใหญ่ ‘Star War’ ตอนแยกเรื่องแรก จริง ๆ เป็นหนังทีวีที่เอามาลงโรงในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบ้านเรา

This Is 40 (2012) / เครดิตภาพ: Universal Pictures

THIS IS 40 (2012)

ต้นขั้ว: ‘Knocked Up’ (2007)
‘Knocked Up’ นอกจากสร้างความมั่นคงให้จัดด์ อะพาโทว์ (Judd Apatow) แล้ว ยังสร้างตัวละครที่คนดูอยากเห็นความเป็นไป พีท (Pete) กับเด็บบี (Debbie) ที่รับบทโดย พอล รัดด์ (Paul Rudd) กับเลสลี มานน์ (Leslie Mann) อีกด้วย และอะพาโทว์ก็ใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวละครและเรื่องจากที่เริ่มไว้ในต้นฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องของสายเขียวที่ต้องเติบโตขึ้นผ่านประสบการณ์แบบ ’คืนเดียว’ มาเป็นความพยายามรักษาชีวิตชีวาเอาไว้ในวัย 40 ที่มีครอบครัว มีลูกให้ดูแล และต้องใช้ชีวิตแบบจำเจ

ความสำเร็จ: หนังได้รับคำชมจากการนำเสนออารมณ์ขัน ผ่านชีวิตของตัวละครที่ดู ‘จริง’ มากขึ้น ในช่วงวัยที่ต้องเลือกว่าอะไรที่สำคัญและไม่สำคัญกับชีวิต 

The Lego Batman Movie (2017) / เครดิตภาพ: Warner Bros. Pictures

THE LEGO BATMAN MOVIE (2017)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘The Lego Movie’ (2012)
หนัง ‘The Lego Movie’ นำเสนออารมณ์ขัน และเป็นงานถวิลหาอดีต ในแบบเด็กสนุกได้ผู้ใหญ่เข้าถึงพอดีได้อย่างลงตัว โดยมนุษย์ค้างคาว ซึ่งวิลล์ อาร์เน็ตต์ (Will Arnett) ให้เสียง เป็นหนึ่งในตัวชูโรงที่คนดูรักจนมีหนังของตัวเอง โดยเขาจะปะทะกับโจ๊กเกอร์ ที่ให้เสียงโดยแซ็ก กาลิฟิอานาคิส (Zach Galifianakis) ในสไตล์ ‘The Lego Movie’ หนังฮาและสนุกไม่แพ้ต้นทาง โดยเฉพาะเหล่าร้ายที่เกินเบอร์มาก มีทั้งโวลเดอมอร์ต (Voldemort) ทั้งไดโนเสาร์แรปเตอร์ (Raptor) จาก ‘Jurassic Park’ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ในชุด

ความสำเร็จ: มีแผนสร้างภาคต่อ แต่เพราะสิทธิ์ในการสร้างเปลี่ยนมือ ทุกอย่างเลยชะงัก บางสื่อยกให้เป็นหนึ่งในหนังมนุษย์ค้างคาวที่ดีที่สุด และบางเจ้าบอกว่าเยี่ยมกว่าต้นฉบับ 

Bumblebee (2018) / เครดิตภาพ: Paramount Pictures

BUMBLEBEE (2018)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Transformers’
หลังความเละเทะและเลอะเทอะ หนังตอนแยกเรื่องแรกของ ‘Transformers’ มีทั้งความแข็งแรงและแตกต่าง นอกจากเหตุการณ์ในหนังจะเกิดขึ้นในยุค 80’s หากยังอิ่มด้วยอารมณ์ของงานในยุคนั้น โดยเฉพาะงานคู่หู ที่จับเด็กสาววัยรุ่นมาคู่กับหุ่นยักษ์รถแปลงร่างคันสีเหลืองอ๋อย หนังดูสดใส มีชีวิตชีวา และหยิบความสัมพันธ์ของตัวละคร สิ่งที่หนังต้นฉบับทำหายมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า แล้วค่อยใส่ฉากแอ็กชันที่รับกับเรื่องอย่างสมเหตุสมผลเข้ามา

ความสำเร็จ: เข้าชิงรางวัลแรซซีสาขาแก้ตัวยอดเยี่ยม ค่าความสดกับคะแนนเฉลี่ยจากนักวิจารณ์บนเว็บมะเขือเน่า และบนเว็บเมตาคริติก (Metacritic) มากกว่าที่หนัง ‘Transformers’ ทุกเรื่องทำได้  

Borat! (2006) / เครดิตภาพ: 20th Century Fox Home Entertainment

BORAT! (2006)

ต้นขั้ว: ซีรีส์ ‘Da Ali G Show’ 
จากซีรีส์เสียดสี ’Da Ali G Show’ ที่ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen) เล่นเป็นตัวละคร 3 ราย อาลี จี จอมกะล่อน, บรูโน (Bruno) เกย์ออสเตรียคลั่งแฟชัน และโบแร็ต นักข่าวคาซัคสถาน แตกหน่อเป็นหนังใหญ่ ‘Bruno’ และ ‘Borat!’ ที่เรื่องหลังประสบความสำเร็จมหาศาล กับการผจญภัยในโลกตะวันตกของโบแร็ต ที่นำไปสู่มุกฮาเถื่อน ๆ ที่อาจดูต่ำ แต่ก็เสียดสี ทั้งเรื่องความเชื่อ, วัฒนธรรม, สังคม, การเมือง และความเป็นมนุษย์อย่างแสบสัน

ความสำเร็จ: หนังทำเงินมโหฬาร และเข้าชิงออสการ์สาขาบทดัดแปลง ส่วนภาคต่อเมื่อปี 2020 ยังเข้าชิงออสการ์สาขาเดิม แล้วเติมมาเรีย บาคาโลวา (Maria Bakalova) ในสาขาสมทบหญิงอีกด้วย 

Fantastic Beasts and Where To Find Them (2016) / เครดิตภาพ: Warner Bros. Pictures

FANTASTIC BEASTS AND WHERE TO FIND THEM (2016)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Harry Potter’ 
จากเจ้าของหนังสือที่ใช้เรียนในฮอกวอร์ตส์ (Hogwarts) นิวต์ สคาแมนเดอร์ (Newt Scamander) กลายเป็นตัวละครเอกในหนังตอนแยกชื่อเดียวกับหนังสือ ซึ่งเอ็ดดี เรดเมย์น (Eddie Redmayne) มารับบท ส่วนเรื่องราวก็เป็นการเปิดโลกของแฮร์รี พอตเตอร์ออกไป ทั้งในเรื่องของความเป็นมา และพื้นที่ในการเล่าเรื่อง แล้วก็สร้างตัวละครใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ แม้จะยังมีความเกี่ยวพันกับ มักเกิลส์ (Muggles), ดัมเบิลดอร์ (Dumbledore) และฮ็อกวอร์ตส์ แต่ก็มีบรรยากาศและโทนเฉพาะ เช่นเดียวกับเรื่องที่มีแง่มุมแตกต่างจากหนังต้นฉบับ 

ความสำเร็จ: หนังเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวใหม่ ๆ ในโลกพ่อมด และภาคต่อที่ทรงคุณค่าอีกชุดหนึ่ง

Spider-Man: Into Spider-Verse (2018) / เครดิตภาพ: Sony Pictures Animation

SPIDER-MAN: INTO SPIDER-VERSE (2018)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Spider-Man’ 
ตอนแยกที่แตกต่างทั้งรูปแบบของหนังและการเล่าเรื่อง เพราะเป็นงานแอนิเมชัน ส่วนเรื่องราวแม้จะเกิดในโลกเดียวกันแต่ก็ต่างมิติ โดยตัวเอกเป็นเด็กวัยรุ่นผิวดำคนหนึ่งที่มีไอ้แมงมุมเป็นฮีโร หนังใช้ประโยชน์จากงานแอนิเมชันได้สุด ๆ โดยเฉพาะการนำไอ้แมงมุมจากมิติต่าง ๆ มาร่วมมือกัน ซึ่งแต่ละรายก็มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่าง ตัวเรื่องเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

ความสำเร็จ: ถ้าไม่ใช่หนังไอ้แมงมุมที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และอาจเป็นศูนย์รวมหนังชุดนี้ทุกเวอร์ชัน หรือนำไปสู่ทิศทางการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ให้หนังคนแสดง หรือเปิดทางให้ตัวเอกของหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แล้วอย่าลืมว่า นี่คือหนังออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยม 

Machete (2020) / เครดิตภาพ: 20th Century Fox

MACHETE (2010)

ต้นขั้ว: หนังชุด ‘Spy Kids’ และหนังตัวอย่างปลอม จากหนังควบ ‘Grindhouse’ (2007)
หนังตอนแยกต้นขั้วยุ่บยั่บ เพราะมาเชเตนั้นปรากฏตัวครั้งแรกใน ‘Spy Kids’ ซึ่งพิลึกอยู่ กับการเป็นตัวละครในหนังเรต-อาร์ แต่ดันเปิดตัวในหนังสำหรับครอบครัว ตามด้วยเป็นหนังตัวอย่างปลอมแทรกใน ‘Planet Terror’ ที่พ่วงกับ ‘Death Proof’ รวมเป็นหนัง ‘Grindhouse’ ที่สร้างเสียงฮือฮา จนแดนนี เทรโฮ (Danny Trejo) กลายเป็นพระเอกอย่างที่เห็น หนังมาพร้อมเรื่องราวง่าย ๆ สไตล์หนังเกรดบี ขายเลือด ความรุนแรง และอารมณ์ขันเสียดสี มุกแปลก ๆ ที่ได้ดาราดัง ๆ มาเล่นท่วมจอ

ความสำเร็จ: แม้จะสนุกแบบพิลึก ๆ ขำกับมุกที่ไม่น่าขำ แต่หนังก็ได้รับคำชมกระจายได้ตังค์กระเจิง จนมีภาคสอง ‘Machete Kills’ ตามออกมา    


ทั้งหมดคือหนังตอนแยกที่ทำออกมาได้ดี และบางทีก็ดีกว่าต้นทางของหนังอีกด้วยซ้ำ แล้วก็ยังมีหนังตอนแยกอีกหลายเรื่อง ที่น่าสนใจ เช่น ‘Hobbs & Shaw’ ตอนแยกในตระกูล ‘The Fast and Furious’, ‘Minions’ งานตอนแยกของ ‘Despicable Me’ ที่หากไม่ติดโควิด-19 เราคงได้ชมภาค 2 ของหนังแล้ว ไม่ใช่ต้องรอจนถึงปี 2022 หรือ ‘ฺBirds of Prey’ ตอนแยกของ ‘The Suicide Squad’ ที่ออกตัวได้ดี แต่ยังไม่ถึงกับ ‘ว้าว!’ ดัง ๆ ออกมาได้ 

ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไมไม่มี ‘Joker’ (2019) นั่นก็เพราะหนังวางตัวเองเป็นงานนำเดี่ยว (Standalone) ที่ว่าด้วยจุดกำเนิดอีกแบบหนึ่งของตัวละครจากหนังสือของดีซี คอมิกส์ ที่เป็นงานในแบบศึกษาตัวละคร ไม่ใช่งานที่มีความสืบเนื่องกับหนัง ‘Batman’ แต่อย่างใด  

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส