“Move to Heaven” คือซีรีส์ชวนอบอุ่นหัวใจเรื่องใหม่จากเกาหลี เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ชวนเสียน้ำตาแห่งปี เป็นซีรีส์ที่พาเราไปตั้งคำถามถึงการจากลาและพาใจเราให้อ่อนโยนและมีความละเอียดอ่อนต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งรอบข้างมากขึ้น “Move to Heaven” เป็นชื่อบริการ “เก็บกวาดที่เกิดเหตุ” ของสองพ่อลูก ‘ฮันจองอู’ และ ‘ฮันกือรู’ ที่ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่เก็บและจัดการกับของในห้องของคนที่เสียชีวิตไปแล้วแต่พวกเขายังมีหน้าที่ในการค้นหาความปรารถนาสุดท้ายของผู้ตายเพื่อส่งต่อข้าวของและความปรารถนาที่ถูกทิ้งไว้ไปยังพ่อแม่ ญาติ หรือคนรักของพวกเขา

 ‘ฮันกือรู’ เป็นเด็กหนุ่มที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ซึ่งทำให้มีปัญหาในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคน และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่กือรูก็ได้รับพรมาด้วยเช่นกันนั่นคือเขามีความจำในระดับภาพถ่ายนั่นคือจดจำทุกสิ่งได้อย่างถูกต้องชัดเจนราวกับบันทึกไว้และยังสามารถเรียกความทรงจำกลับมาได้ราวกับเปิดไฟล์ในคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เพียงแต่ภาพเท่านั้นกือรูยังทำแบบเดียวกันนี้ได้กับข้อมูลทางเสียงอีกด้วย ในทุก ๆ อีพีของซีรีส์เรื่องนี้จะมีกิมมิคที่น่าสนใจด้วยการให้กือรูเปิดเพลงจากเครื่องเล่นสีขาวและสวมหูฟังสีขาวเพื่อดำดิ่งลงไปในห้วงอารมณ์ของบทเพลงและความปรารถนาของผู้จากไปที่ล่องลอยและซุกซ่อนไว้ในข้าวของที่อยู่ในห้อง ซึ่งเทคนิคการเปิดเพลงโดยตัวละครในภาพยนตร์หรือซีรีส์นั้นมีชื่อเรียกว่า ‘Diegetic Music’ หมายถึงเสียงเพลงที่ดังมาจากเรื่องราวในภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ตัวละครก็ได้ยินและผู้ชมก็ได้ยินไปพร้อมกัน เป็นกลยุทธ์ของผู้สร้างที่ต้องการเชื่อมโยงคนดูให้เข้าไปในความรู้สึกของตัวละคร โดยในแต่ละอีพีบทเพลงที่กือรูฟังก็จะเชื่อมโยงกับมู้ดและเรื่องราวในตอนนั้น ๆ

ฮันกือรูและฮันจองอู สองพ่อลูกนักเก็บกวาด

เราสามารถเรียนรู้ ‘ตัวตน’ จากข้าวของที่เขาคนนั้นใช้หรือเก็บรักษาเอาไว้ และเช่นเดียวกันกับการที่เราสามารถทำความรู้จักกับใครสักคนผ่านบทเพลงที่เขาฟัง ใน “Move to Heaven” บทเพลงคลาสสิกในเพลย์ลิสต์ของ ‘ฮันกือรู’ถูกใช้เป็นสะพานเชื่อม ‘ความรู้สึก’ ระหว่างตัวเขาและผู้ที่ได้จากโลกนี้ไป อีกทั้งยังเป็นการใช้บทเพลงประกอบซีรีส์ได้อย่างชาญฉลาดด้วยการ ‘เชื่อม’ ให้เราเข้าไปสู่ห้วงแห่งอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาสุดท้ายของผู้ที่เสียชีวิตในแต่ละอีพีได้อย่างคมคายและเปี่ยมไปด้วยสุนทรียภาพ

วันนี้เราจะมาส่องดูเพลย์ลิสต์ของกือรูและทำความรู้จักกับบทเพลงคลาสสิกสุดไพเราะทั้ง 7 บทเพลง เพื่อเชื่อมเราเข้าไปสู่เรื่องราวของ Move to Heaven ได้อย่างเต็มอิ่มและดื่มด่ำกับบทเพลงคลาสสิกเหล่านี้ในมิติใหม่ผ่านซีรีส์อันแสนประทับใจเรื่องนี้

[บทความนี้เปิดเผยเรื่องราวของซีรีส์]

“Träumerei Kinderszenen op. 15, No. 7” กับเด็กหนุ่มฝึกงานผู้เปี่ยมด้วยความหวังและความฝัน

ในอีพีแรกบทเพลงคลาสสิกที่กือรูฟังคือ “Träumerei Kinderszenen op. 15, No. 7” ของ ‘โรแบร์ท ชูมัน’ (Robert Schumann) เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองอันสงบงันและเปลี่ยวเหงาเศร้าสร้อย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ไปฝึกงานอยู่ในโรงงานแต่ต้องเสียชีวิตเพราะเป็นแผลติดเชื้อจากอุบัติเหตุ ความฝันที่จะดูแลพ่อแม่และมีชีวิตที่สวยงามแบบคนทั่วไปต้องดับสิ้นลงแต่ร่องรอยของความฝันอันยิ่งใหญ่นั้นยังคงล่องลอยอยู่ในห้องหับอันคับแคบที่เด็กหนุ่มได้จากโลกนี้ไปเพียงลำพัง

งานเพลงชุด “Kinderszenen” (เป็นภาษาเยอรมันซึ่งมีความหมายว่า “ช่วงฉากจากวัยเยาว์”) เป็นบทเพลงชุด 13 เพลงสำหรับบรรเลงด้วยเปียโนที่ชูมันเขียนขึ้นในปี 1838 บทเพลง “Träumerei” เป็นมูฟเมนต์ที่ 7 ในงานเพลงชุดนี้และเป็นหนึ่งในงานเพลงของชูมันที่ผู้คนรู้จักและชื่นชอบมากที่สุด เคยถูกใช้เป็นเพลงธีมของหนังเรื่อง “Song of Love” และนอกจากนี้ชื่อ Träumerei ยังถูกใช้เป็นชื่อของหนังชีวประวัติชูมันที่ออกฉายในปี 1944 อีกด้วย ในรัสเซียได้มีการนำเอาเพลงนี้ไปทำเป็นเวอร์ชันอะแคปเปลลาประสานเสียงเพื่อใช้เป็นเพลงไว้ทุกข์ซึ่งเล่นเป็นประจำทุกปีในช่วงเวลาแห่งความเงียบสงบเพื่อระลึกถึงผู้จากไปในวันแห่งชัยชนะของรัสเซีย (Victory Day)

ดังนั้นบทเพลง “Träumerei” จึงคล้ายเป็นเสมือนการไว้ทุกข์ให้แก่เด็กหนุ่มที่ต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจทั้ง ๆ ที่ยังเยาว์วัยและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการได้กลับไปดูแลพ่อแม่และการได้มีคนรักดี ๆ สักคนอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจให้กัน

“Clair De Lune” กับหญิงชราผู้ถูกทิ้งไว้อย่างเดียวดาย

หญิงชราถูกทิ้งให้เสียชีวิตในบ้านเพียงลำพังโดยมีลูกชายและภรรยาของลูกชายมาคอยรอดูว่าจะมีทรัพย์สมบัติอะไรถูกทิ้งเอาไว้อยู่บ้าง ความปรารถนาสุดท้ายของเธอถูกซ่อนไว้ในกองเงินที่ซ่อนไว้ใต้ที่นอนของเธอและสลิปธนาคารจำนวนมาก อันเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกจุกในหัวใจเมื่อได้รู้ความจริง บทเพลงที่กือรูฟังในห้องของหญิงชราผู้โดดเดี่ยวแห่งนี้คือ “Clair De Lune” จากคีตกวีชาวฝรั่งเศสนาม ‘โกลด เดอบูว์ซี’ (Claude Debussy) ผู้บุกเบิกดนตรีคลาสสิกในแนวอิมเพรสชันนิสม์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวี งานดนตรียุคบาโรก และขบวนการทางศิลปะที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในกรุงปารีสที่เรียกว่า ‘อิมเพรสชันนิซึม’ (impressionism) หรือ ลัทธิประทับใจ ซึ่งเป็นศิลปะการวาดภาพที่จับเอาความประทับใจในช่วงเวลา ณ ขณะปัจจุบันที่ปรากฏต่อสายตาของศิลปินมาถ่ายทอดบนพื้นผิวด้วยสีสันและฝีแปรงที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกมากกว่ารายละเอียด ดนตรีอิมเพรสชันนิสม์ก็เช่นเดียวกัน ดนตรีประเภทนี้จะถ่ายทอดความรู้สึกอันพลิ้วไหวออกมาในลักษณะที่ลึกลับและไม่กระจ่างชัด ใช้ทำนองแบบอิสระ ทางเดินคอร์ดและท่วงทำนองเป็นไปตามความต้องการของผู้ประพันธ์แต่ละคน (ซึ่งเรียกว่าเป็นการประพันธ์แบบ “Mon plaisir” (My pleasure) หรือ “ตามใจฉัน” นั่นเอง) บทเพลงของเดอบูว์ซีเคยถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องอาทิ All About Lily Chou-Chou (2001) และ Tokyo Sonata (2008)

ด้วยท่วงทำนองที่ล่องลอยฟุ้งฝันให้ภาพความรู้สึกที่เลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงและจินตนาการ ความหวังและความฝัน สะท้อนภาวะความทรงจำที่กำลังเลือนลับของหญิงชรา แต่ถึงอย่างนั้นหัวใจของเธอก็ยังคงทำงานเพื่อให้ความปรารถนาต่อคนที่รักของเธอนั้นสัมฤทธิ์ผล  ดังนั้นบทเพลง “Clair De Lune” เพลงนี้จึงเป็นเสมือนท่วงทำนองของแห่งความปรารถนาของหญิงชราที่ลอยออกมาจากกล่องสีเหลืองใบเล็กที่บรรจุความปรารถนาครั้งสุดท้ายของหญิงชราเอาไว้และพาเราไปอยู่ในห้วงแห่งความรักอันอบอุ่นแต่เปลี่ยวเหงาของเธอ

“Moonlight Sonata” กับโศกนาฏกรรมรักของครูสาว

ในอีพีนี้เป็นเรื่องราวของครูสาวผู้แสนดีที่น่าสงสารเพราะโดนชายหนุ่มที่คลั่งไคล้ในตัวเธอตามรังควานจนนำมาสู่จุดจบที่เป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด บทเพลงที่กือรูฟังในการเก็บกวาดที่เกิดเหตุฆาตกรรมนองเลือดครั้งนี้คือเพลง “Quasi una fantasia” หรือ เปียโนโซนาตาหมายเลข 14 ในบันไดเสียง ซี ชาร์ป ไมเนอร์ (Piano Sonata No. 14 in C # minor, Op. 27 No. 2) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Moonlight Sonata” ของ ‘ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน’ (Ludwig van Beethoven) คีตกวีชื่อก้องชาวเยอรมัน บทเพลงที่มีท่วงทำนองอันแผ่วเศร้าเร้าลงไปในจิตใจ สะท้อนความหม่นหมองและโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าที่เกิดขึ้นกับคุณครูผู้เป็นที่รักของเด็ก ๆ

บทเพลง “Moonlight Sonata” เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1801 มีเรื่องเล่าว่าเบโธเฟนอุทิศผลงานชิ้นนี้ให้แก่เคาน์เตสจูลีเยตตา กวิชชาร์ดี (Giulietta Guicciardi) ลูกศิษย์สาววัย 17 ปีที่เบโธเฟนหลงรัก ส่วนเหตุผลที่โซนาตาชิ้นนี้ได้ชื่อว่า “Moonlight Sonata” นั้นมาจากคำบรรยายของลูทวิช เร็ลชตาพ นักวิจารณ์ดนตรีชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1832 ที่กล่าวว่ามูฟเมนต์ที่หนึ่งของโซนาตาชิ้นนี้ มีท่วงทำนองเปรียบได้กับแสงจันทร์ที่ส่องสว่างเหนือทะเลสาบลูเซิร์นในเวลายามค่ำคืน

“Piano Trio No. 1 in B major Op. 8” กับความรักที่ถูกซ่อนไว้ของหมอหนุ่ม

มีชายคลั่งคนหนึ่งจับตัวนางพยาบาลไว้เป็นตัวประกัน ในความแตกตื่นและหวาดกลัวของผู้คนในโรงพยาบาล หมอหนุ่มรวบรวมสติและเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์แต่สุดท้ายกลับต้องเสียชีวิตเพราะโดนคมมีดของชายคลั่งบาดลงไปที่คอ ห้วงความคิดสุดท้ายของหมอหนุ่มคงกำลังล่องลอยไปถึงคนรักคนนั้นของเขาที่คงไม่มีวันได้บอกลาและบอกความในใจที่เก็บซ่อนไว้อีกต่อไปแล้ว ภารกิจในอีพีนี้ของกือรูคือการไปเก็บกวาดห้องของหมอหนุ่มจนพบกับความปรารถนาที่ซ่อนเอาไว้และความยากยิ่งของภารกิจนี้คือการตามหาคนรักของหมอหนุ่มทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร มีเพียงเบาะแสที่ซ่อนไว้ในโปสเตอร์การแสดงดนตรีคลาสสิกที่มีผู้แสดงเป็นนักเชลโล 3 สาว และ 1 หนุ่ม

บทเพลงที่กือรูฟังในตอนนี้คือ “Piano Trio No. 1 in B major Op. 8” ของ ‘โยฮันเนิส บรามส์’ (Johannes Brahms) คีตกวีชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคีตทายาทของเบโธเฟน ซิมโฟนีบทแรกของเขาถึงกับได้รับการยกย่องว่าเป็นซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบโธเฟนเลยทีเดียว สำหรับเปียโนทรีโอบทนี้บรามส์แต่งขึ้นเมื่อมีอายุได้เพียง 19 ปีสำหรับการบรรเลงดนตรี 3 ชิ้นโดยเปียโน ไวโอลินและเชลโล ทำให้ได้เห็นถึงความสามารถอันเอกอุของบรามส์เมื่อครั้งยังเยาว์ในช่วงเริ่มต้นเส้นทางอันรุ่งเรืองของเขา ความงามของบทเพลงนี้คือการสอดประสานกันของ 3 แนวทำนองจากทั้ง 3 เครื่องดนตรี เปียโนได้เริ่มวางรากฐานของบทเพลงก่อนที่เชลโลจะเข้ามาสร้างอารมณ์อันลุ่มลึกและตามมาด้วยไวโอลินที่สอดประสานกันได้อย่างงดงาม เปรียบเสมือนช่วงชีวิตของหมอหนุ่มที่ดำเนินไปอย่างสง่างามก่อนที่คนรักนักเชลโลจะเข้ามาในชีวิตเพื่อเติมเต็มบทเพลงแห่งความรักของคนทั้งคู่ให้ดำรงอยู่นิรันดร์กาล

“Nocturne, Op. 9, No.2” กับคู่รักวัยชราที่ตัดสินใจจากลาโลกนี้ไปพร้อมกัน

อีพีนี้เป็นอีกตอนหนึ่งที่ชวนเจ็บปวดรวดร้าวใจมากเมื่อสองคู่รักวัยชราตัดสินใจฆ่าตัวตายจากโลกนี้ไปพร้อมกัน บทเพลงที่กือรูฟังในตอนนี้คือหนึ่งในเพลงคลาสสิกที่หลายคนรู้สึกว่าโรแมนติกที่สุดแต่ก็แฝงไว้ด้วยความโศกเศร้านั่นคือ “น็อกเทินส์ โอพัสที่ 9 หมายเลข 2” (Nocturnes, Op. 9, No.2) ของ ‘เฟรเดริก ชอแป็ง’ (Frédéric Chopin) คีตกวีชาวฝรั่งเศสเชื่อสายโปแลนด์ผู้มีอารมณ์อันอ่อนไหว แน่นอนว่าคงไม่มีเพลงคลาสสิกบทใดเหมาะสำหรับอีพีนี้อีกแล้วกับคู่รักที่เปี่ยมไปด้วยความรักอบอุ่นอ่อนโยนและโรแมนติกแต่ในขณะเดียวกันการจากไปของทั้งคู่ก็สร้างความโศกเศร้ามาก ๆ ตอนนี้เป็นตอนหนึ่งที่สอนให้เราได้มีความละเอียดอ่อนต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นตอนที่ตัวละครคุณอา ‘โจซังกู’ ซึ่งเป็นคนบุคลิกแข็ง ๆ ได้เรียนรู้ถึงความอ่อนโยนของชีวิต และเป็นตอนแรกที่ตัวละครนี้เริ่มแสดงความอ่อนโยนออกมา รวมถึงเป็นตอนแรกที่มีมุมกุ๊กกิ๊กระหว่างเขาและตัวละครนักสังคมสงเคราะห์สาว

น็อกเทินส์ โอพัสที่ 9 (Nocturnes, Op. 9) เป็นชุดน็อกเทิร์น 3 ชิ้น ที่ชอแป็งแต่งขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1830–1832 ในขณะที่มีอายุเพียง 20 ปีเพื่ออุทิศแก่ มารี เพลเยล (Marie Pleyel) นักเปียโนสาวชาวเบลเยียมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีฝีมือการบรรเลงอันยอดเยี่ยมและเริ่มออกแสดงดนตรีตั้งแต่มีอายุได้เพียง 8 ปีเท่านั้น น็อกเทิร์นถือว่าเป็นหนึ่งในงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของชอแป็ง

“Gymnopédies No.1” กับเด็กอุปการะผู้แปลกแยกและโดดเดี่ยว

แมทธิว กรีนหนุ่มเกาหลีที่ถูกนำไปเลี้ยงดูที่อเมริกากลับบ้านมาที่เกาหลีใต้เพื่อตามหาแม่บังเกิดเกล้าของตัวเอง แต่กลับจบลงด้วยโศกนาฏกรรมแห่งความเปลี่ยวเหงาและความเศร้าที่เกิดจากความเข้าใจผิด แมทธิว กรีนเป็น Korean international adoptee (KAD) หรือเด็กชาวเกาหลีใต้ที่ถูกรับไปเลี้ยงดูในต่างประเทศ โดยผู้อุปถัมภ์จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีเชื้อชาติ ภูมิหลังและวัฒนธรรมต่างจากเด็กที่ถูกนำไปเลี้ยง เด็กชาวเกาหลีใต้ที่ถูกรับเลี้ยงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งกลายเป็นการมองข้ามถึงเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติและถิ่นเกิดของเด็กไป เด็ก ๆ KAD จึงเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่ได้รู้จักกับใครที่เป็นแบบตนเลยจึงต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว

บทเพลงที่กือรูเลือกฟังในตอนนี้คือ “ฌีมโนเปดี หมายเลข 1” (Gymnopédies No.1) อันมีท่วงทำนองที่บางเบาแต่ลุ่มลึกและสงบงัน บทเพลงนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคุ้นหู และอาจเคยเปิดฟังในเวลาที่เหนื่อยล้าเพราะท่วงทำนองอันเบาสบายของเพลงนี้ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายหรือนอนหลับสบายเลยทีเดียวเชียวล่ะ

“ฌีมนอเปดี” เป็นผลงานการประพันธ์สำหรับเปียโนจำนวน 3 ชิ้นที่แต่งโดย ‘เอริก ซาตี’ (Erik Satie) คีตกวีชาวฝรั่งเศส เผยแพร่ครั้งแรกในปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1888 ผลงานทั้ง 3 ชิ้นเขียนขึ้นในจังหวะ 3/4 โดยมีธีมและโครงสร้างดนตรีร่วมกัน คือเน้นบรรยากาศและสภาพแวดล้อมอันเป็นต้นแบบของดนตรีแอมเบียนต์ในปัจจุบันนั่นเอง โดยคำว่า “ฌีมนอเปดี” นั้นมีที่มาจากศัพท์ภาษากรีกว่า “gumnopaidia” มาจากคำว่า “gymnos” (เปลือย) และ “pais” (เด็ก) หรือ “paizo” (เล่น) เป็นชื่อเทศกาลเต้นรำเปลือยกายของนักรบสปาร์ตาเมื่อราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล

เพลง “ฌีมนอเปดี” นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดชื่อ “Jeunes filles au bord de la mer” ในปี 1879 ของจิตรกรนาม ‘Pierre Puvis de Chavannes’ ซึ่งภาพวาดชิ้นนี้ได้ให้บรรยากาศแบบเดียวกันกับที่ซาตีต้องการสร้างขึ้นในบทเพลงฌีมนอเปดีของเขา เอริก ซาตี เป็นผู้คิดค้นดนตรีที่เรียกว่า ‘Furniture music’ หรืองานเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อเล่นเป็นแบคกราวน์สร้างบรรยากาศไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟังซึ่งต่อมาได้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับดนตรีแอมเบียนต์และดนตรีแนวทดลองอาทิงานเพลงของจอห์น เคจ (John Cage)

ภาพวาด “Jeunes filles au bord de la mer” ของ ‘Pierre Puvis de Chavannes’ แรงบันดาลใจสู่ Gymnopédies ของเอริก ซาตี

“Prelude in C major” กับช่วงเวลาแห่งการบอกลา

ในอีพีสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่กือรูจะต้องตัดสินใจเพื่อนำเอาอัฐของพ่อไปฝังไว้ที่สุสานเคียงข้างแม่ของกือรู ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งสุดท้ายที่แทนตัวตนของฮันจองอูพ่อผู้เป็นที่รักของกือรู กือรูไม่สามารถตัดใจบอกลาจากพ่อได้จึงหนีออกจากบ้าน ซังกูได้ออกตามหากือรูและได้พบกับความจริงในอดีตเกี่ยวกับจองอูกับภรรยาและกือรู ในที่สุดกือรูได้ตัดสินใจกลับมาที่บ้านและปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญคือการเก็บกวาดที่เกิดเหตุซึ่งในครั้งนี้มันคือห้องของจองอูพ่อผู้เป็นที่รักของกือรูนั่นเอง กือรูได้ใช้เวลาในการบอกลาพ่อผ่านการเก็บกวาดข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันอบอุ่นพร้อมของขวัญชิ้นสุดท้ายที่พ่อได้มอบให้ไว้ บทเพลงที่กือรูใช้ประกอบการเก็บกวาดครั้งนี้คือเพลง “Prelude in C major” ของ ‘โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค’ (J.S. Bach) คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคบาโรก เป็นบทเพลงประเภท ‘เพรลูด’(Prelude) หรือบทเพลงสั้น ๆ ที่จะถูกเล่นก่อนที่การแสดงดนตรีแบบเต็ม ๆ จะตามมา ซึ่งคำว่า ‘เพรลูด’ หมายถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่นำเราเข้าสู่เรื่องราวที่สำคัญต่อ ๆ มานั่นเอง ซึ่งเพลงเพรลูดของบาคนั้นจะนำไปสู่ ‘ฟิวก์’ (Fugue) ที่มีการนำเอาท่วงทำนองหลักมาล้อซ้ำ ๆ วนไปมา

‘Prelude in C major’ ชิ้นนี้อยู่ในหนังสือรวมบทเพลงของบาคสำหรับบรรเลงด้วยคีย์บอร์ด Well-Tempered Clavier ซึ่งเป็นคีย์บอร์ดในยุคบาโรก เพลงชุดนี้ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 2 เล่มแต่ละเล่มมี 24 เพรลูดและฟิวก์รวมเป็นทั้งหมด 48 บทเพลงนั่นเอง โดยจะมีบทเพลงทั้งหมดทุกคีย์ไล่ตั้งแต่ C major เป็นต้นไปจึงเหมาะมากที่จะใช้ในการฝึกเล่นเปียโน

ความงามของบทเพลง “Prelude in C major” ชิ้นนี้อยู่ที่การเป็นเพลงที่เรียบง่ายฟังแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่นเบาสบาย โน้ตที่เล่นในเพลงนี้พูดง่าย ๆ ก็คือมีเฉพาะโน้ตตัวขาวที่อยู่บนคีย์เปียโนนั่นเอง Philipp Spitta นักวิชาการด้านบาคศึกษาคนแรกของโลกได้อธิบายบทเพลง “Prelude In C Major” ของบาคไว้ว่าเป็น “บทเพลงที่น่าตื่นใจและสรรหาคำมาบรรยายไม่ได้ ซึ่งมีเมโลดี้อันงดงามและยิ่งใหญ่ที่ล่องลอยผ่านเราไปเหมือนดั่งบทเพลงของเทพยดานางฟ้าที่เราได้สดับในห้วงแห่งความเงียบงันยามค่ำคืนผ่านเสียงพึมพำของหมู่มวลพฤกษานานาพรรณและลำธารไหลริน” บทเพลงชุดนี้ของบาคมีความเรียบง่าย งดงาม และให้อารมณ์ที่ล่องลอยซึ่งต่อมาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบทเพลงของชอแป็งและเดอบูว์ซีซึ่งบทเพลงของทั้งคู่ก็อยู่ในเพลย์ลิสต์ของกือรูด้วยเช่นกัน

Source

อ้างอิง 1 , อ้างอิง 2 , อ้างอิง 3 , อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส