ช่วงนี้มีเรื่องที่ทำให้หลายคนนึกอยากฟังเพลง “900 โรงจำนำ” ที่เปิดเพลงมาด้วยท่อนที่ร้องว่า “900 โรงจำนำมันมากมายจนเกินจำเลยนั่น ฉันเฟ้นมันเก็บเอามาจำนำเสียเกลี้ยงเอาเงินมาเลี้ยงเพื่อให้ชื่นในอก” บทเพลงแปลงจากยุค 70s ของ ‘สรวง สันติ’ ศิลปินลูกทุ่งไทยที่มีผลงานโดดเด่นในอดีตซึ่งได้แต่งเพลงแปลงเอาไว้มากมาย อาทิ “น้ำมันแพง” “ขึ้น ๆ ลงๆ” “เมาจนนึกไม่ออก” “ผู้ยิ่งใหญ่” เป็นต้น ในบทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ  มาทำความรู้จักกันกับสรวง สันติและบทเพลงแปลงของเขาที่ไม่เคยตกยุคตกสมัย แถมยังเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีอีกด้วย

‘สรวง สันติ’ ลูกทุ่งพันธุ์ร็อก !

สรวง สันติ มีชื่อจริงว่า จำนงค์ เป็นสุข เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2488 เป็นคนสุโขทัยโดยกำเนิด และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2525 เวลา 23.00 น.โดยประมาณ จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเดินทางไปจังหวัดปราจีนบุรี  สรวง สันติเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 37 ปี เส้นทางสายดนตรีของสรวง สันติ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2505 เมื่อครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ ได้นำวงไปทำการแสดงที่ จ.สุโขทัย ณ ตอนนั้นนาย จำนงค์ เป็นสุข ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 17 ปี ได้ลองไปสมัครดู ครูพิพัฒน์ได้ฟังเสียงก็รับเข้าอยู่ประจำวงและให้บันทึกเสียงเพลงชุดแรก คือ “มดแดงเฝ้ามะม่วง”และ “ลุงฉิ่ง” โดยตั้งชื่อให้ว่า “ดาว มรกต” แต่ยังไม่ดัง ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509  (เกือบจะครบ 55 ปีแล้ว) นาย จำนงค์ เป็นสุขไปสมัครอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์ของ ‘ครูมงคล อมาตยกุล’ ซึ่งแจ้งเกิดศิลปินลูกทุ่งชื่อดังมากมายหลายท่านมาแล้ว ใครได้มาอยู่กับครูมงคลนี่ถือว่ามีโอกาสดังไปกว่าครึ่งแล้ว จำนงค์เข้ามาอยู่ในฐานะนักแต่งเพลงซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมากแต่ด้วยใจรักอยากเป็นนักร้องมากกว่าจึงเข้าไปบอกกับครูมงคลว่าตนอยากขอเป็นนักร้อง เลยต้องเจอบททดสอบมากมาย ต้องยอมเป็นเบ๊รับใช้คนทั้งคณะ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงครูมงคลจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “สรวง สันติ” และได้ออกร้องเพลงเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ปัตตานี และต่อมาได้บันทึกเสียง อัดแผ่นเสียงเพลงแรกเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2509  เพลง ”แฟนใครแฟนมัน” ซึ่งได้รับความนิยมชมชอบจากแฟนเพลงทันที

แต่ไป ๆ มา ๆ สรวง สันติ ก็กลับไม่เกิดในฐานะนักร้องอีกนั่นแหละ แต่กลับดังในฐานะนักแต่งเพลงมากกว่า เขาอยู่กับวงจุฬารัตน์ 6 ปี อยู่จนยุบวงก็เลยออกมาตั้งวงเอง ชื่อวง ‘เดอะบัฟฟาโล่’ และมีชื่อเสียงในการนำดนตรีไซคีเดลิคและฮาร์ดร็อกไปใส่ในเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970  แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่ดังอยู่ดี แต่ภาพลักษณ์ของความเป็นร็อกเกอร์กลับเป็นที่ถูกใจแฟน ๆ เนื่องจากในเวลาแสดงสดนั้นสรวง มักจะเผาเสื้อ เผากีตาร์ เผากลอง ฟาดกีตาร์กับเวที เล่นจริง เผาจริง ฟาดจริง  (ชาวร็อกเต็มขั้นจริง ๆ)

ปกอัลบั้ม “Thai ? Dai ! : The Heavier Side of The Lukthung Undergroud” งาน compilation เพลงไทยลูกทุ่งที่มีส่วนผสมของดนตรีร็อก ฟังก์ ไซคีเดลิก

เขาตั้งวงอยู่ได้ประมาณ 3 ปีก็เลิก หันมาแต่งเพลงอย่างเดียว แต่คราวนี้กลับดังระเบิดระเบ้อ เพลงไหนเพราะ ๆ หวาน ๆ ซึ้ง ๆ สรวงให้คนอื่นร้องหมด เก็นอันที่ดิบ ๆ เถื่อน ๆ ฮา ๆ ไว้ร้องเอง และยังรักษาลายเซ็นตัวเองไว้คือ เผากีตาร์ เผากลองอยู่เหมือนเดิม เพลงดัง ๆ ที่สรวงแต่งให้คนอื่นร้องมีอยู่มากมาย อาทิ “สาว ต.จ.ว.” – ไพจิตร อักษรณรงค์, “รักสิบล้อต้องรอสิบโมง” และ “สวยในซอย”  – วงรอยัลสไปรท์ส, “ส่วนเกิน” – ดาวใจ ไพจิตร, “หนุนของต่างแขน” – พนม นพพร, “ข้อยเว้าแม่นบ่” – นันทิดา แก้วบัวสาย สรวงสันตินี่เก่งมากแต่งเพลงให้คนอื่นก็กลายเป็นเพลงฮิตเพลงดังทั้งนั้น ส่วนเพลงของตัวเองก็มีหลายเพลงที่ก็เป็นที่โด่งดังและยังฟังกันมาจนถึงทุกวันนี้มีทั้งเพลงที่เป็นของสรวงเองและก็เพลงที่เป็นเพลงแปลงอย่าง “900 โรงจำนำ” “น้ำมันแพง” หรือ “ขึ้น ๆ ลง ๆ” เนี่ยพอดนตรีขึ้นมาเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอรู้ว่าสรวงแปลงมาจากเพลงอะไร ซึ่งเราก็ได้คัดเพลงแปลงเด็ด ๆ ของสรวง สันติมาฝากกันในวันนี้พร้อมที่มาว่าแต่ละเพลงนั้นมาจากเพลงสากลฮิต ๆ เพลงใดบ้าง เราไปเริ่มกันที่เพลงแรกเลย

900 โรงจำนำ

“900 โรงจำนำ” พูดถึงการที่มีโรงรับจำนำเยอะจนทำให้รู้สึกว่าจะต้องเอาข้าวของที่มีอยู่ในบ้านไปจำนำมันซะให้หมดเลยแม้กระทั่งครกก็ยังอยากจะเอาไปจำนำด้วยแต่ไม่รู้ว่าเขาจะให้จำนำหรือเปล่า เป็นเพลงที่เสียดสีสภาพสังคมในตอนนั้นที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีแถมยังมีโรงรับจำนำเยอะมันช่างยั่วเย้าสายตาให้เอาข้าวของไปจำนำเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอยซะเหลือเกิน (ฟัง ๆ ดูแล้วเหมือนไม่ได้กำลังเล่าเรื่องในอดีตแต่กำลังเล่าเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้จริง ๆ แถมจำนวนโรงรับจำนำทั้งรัฐและเอกชนในปัจจุบันนี้ก็มีมากกว่า 800 แห่งแล้วและกำลังจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีกเผลอ ๆ ก็จะกลายเป็น 900 โรงจำนำแบบในเพลงนี้ เหมือนเป็นการพยากรณ์อนาคตยังไงยังงั้นเลย) เพลงนี้แปลงมาจากเพลง “9,999,999 tears” ของ ‘ดิ๊กกี ลี (Dickey Lee)’ เป็นเพลงพอปเนื้อหาเศร้าแต่ดนตรีสนุกในยุค 70s ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยในเวอร์ชันอื่นอีกด้วยเหมือนกันนั่นก็คือเพลง “เก้าล้านหยดน้ำตา” ที่มีท่อนร้องท่อนฮุกติดหูว่า “เก้าล้านความระกำ ช้ำชอกใจที่เธอทำไว้นั่น ฉันเค้นมันกลั่นออกเป็นน้ำตาล้นหลั่ง ให้ผิดหวังที่มันคั่งในอก” ขับร้องโดย ‘ดอน สอนระเบียบ’ เพลงนี้แต่งโดย ‘ครูจงรัก จันทร์คณา’ ที่ปกติแล้วจะเก่งด้านการเอาเพลงจีน เพลงญี่ปุ่นมาใส่เนื้อไทยแต่เพลงนี้เหมือนจะเป็นเพลงสากลเพลงแรกที่ครูต้องเอาทำนองมาแล้วใส่เนื้อไทยลงไปก็เรียกได้ว่าปราบเซียนซึ่งก็มาเสร็จเอาวันที่อัดเลย เพลงนี้ครูตั้งใจแต่งให้ดอน สอนระเบียบร้องปรากฏว่าดังเป็นพลุแตกนอกจากจะมีเพลงแล้วก็ยังมีภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันที่ดอน สอนระเบียบแสดงนำคู่กับเศรษฐา ศิระฉายาเป็นภาพยนตร์ระดับทะลุล้านเรียกได้ว่า “เก้าล้านหยดน้ำตา” นี่ดังแบบสุด ๆ ไปเลย

https://www.youtube.com/watch?v=IWxgLZ47vV0

เมาจนนึกไม่ออก

เมาจนนึกไม่ออกเพลงสุดฮาของสายเมาที่เล่าเรื่องของการดื่มจนเมามายตั้งแต่เช้าจรดค่ำจนนึกอะไรก็ไม่ออก ไม่ออกแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร หรือที่เมาหัวทิ่มบ่อขนาดนี้ก็เพราะจะดื่มเพื่อเลี้ยงส่งให้กับแฟนที่ทิ้งกันไปแต่ก็นึกไม่ออกว่าสาวที่ตัวเองดื่มเพื่อลืมเธออันคือใครกันแน่ เพลงนี้ได้ทำนองมาจากเพลง “Lightnin’ Bar Blues” ของ ‘Brownsville Station’ ต้นฉบับเองก็พูดถึงเรื่องเมา ๆ เหมือนกันนี่แหละแต่ไม่ได้ฮาแบบเวอร์ชันของสรวงนะ

สรวงแบล็กซุปเปอร์แมน

‘แบล็กซุปเปอร์แมน’ เป็นฉายาของนักมวยบันลือโลก ‘มูฮัมหมัด อาลี’ ซึ่งต้นฉบับแต่งโดย ‘จอห์นนี วาเกลิน (Johnny Wakelin)’ เพื่อเชิดชูมูฮัมหมัด อาลีซึ่งในเนื้อร้องก็จะบรรยายสรรพคุณความยิ่งใหญ่และลีลาการชกของอาลีเอาไว้เช่นท่อนหนึ่งที่บอกว่า “He floats like a butterfly and stings like a bee.” ส่วนในเวอร์ชันของสรวง เขาก็สวมบทบาทเป็นนักร้องหนุ่มชื่อสรวง สันติผู้รูปหล่อดำขลำเป็น ‘แบล็กซุปเปอร์แมน’ แถมยังเคยเป็นนักมวยบันลือโลกที่เคยขึ้นชกชนะน็อกแคสเซียส เคลย์ (มูฮัมหมัด อาลี) ก่อนที่จะพบว่าตัวเองแค่ฝันไป และตื่นมาครุ่นคิดว่าทำไมตัวเองหล่อขนาดนี้แล้วยังเมียไม่มี ก่อนที่จะบรรยายสรรพคุณความดีงามของตัวเองว่ามีอะไรบ้างเผื่อจะมีเมียกับเขาสักที

ผู้ยิ่งใหญ่

เป็นเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงประกอบหนังคาวบอยสปาเกตตีสุดคลาสสิกของ ‘เซอร์จิโอ เลโอเน (Sergio Leone)’เพลงนี้อารมณ์เลยมาแบบคาวบอยกันเลยทีเดียวมีทั้งเสียงควบม้า เสียงผิวปาก เสียงปืน เนื้อเพลงเล่าถึงชายลึกลับคนหนึ่งที่ “ขี่ม้าคาดปืน มายืนเด่น” มาอย่างเท่จนมีแต่คนสงสัยว่าเขาเป็นใคร เลยมีการเอานักแสดงรุ่นใหญ่ในตำนานที่รับบทพระเอกสุดเท่มารวมกันเพื่อเปรียบเทียบกับหนุ่มลึกลับคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นจอห์น เวย์น, ชาร์ล บรอนสัน, มอนโก ริงโก้ (มอนต์โกเมอรี วูด จากภาพยนตร์ชุด ริงโก้ ชุมเสือแดนสิงห์), อาแล็ง เดอลง, ไอ้ปืนโต สตีฟ แม็คควีน และคลินต์ อีสต์วูด ก่อนที่จะหักมุมตอนจบว่าที่แท้หนุ่มคนนี้ก็ไม่ได้เป็นคาวบอยมาจากไหน เป็นหนุ่มลาวที่มาซื้อลาบไปทานเท่านั้นเอง

ไปนะไป

“ไปนะไป” เป็นเพลงที่เอาทำนองมาจากเพลง “Gypsy” ของ ‘Uriah Heep’ ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกจากอัลบั้มชุดแรกของวง ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือเป็นเพลงที่ไม่มีท่อนฮุกมีแต่อินโทรเอาท์โทรและท่อนร้อง 3 ท่อนซึ่งสรวงเองก็เอาจุดเด่นของการเป็นเพลงที่มีแต่ท่อนร้องนี้มาแต่งเป็นเพลง “ไปนะไป” เพลงลูกทุ่งอารมณ์ร็อกที่เปิดแต่ละท่อนด้วยคำว่า​ “ไป ไป ไป ไปนะ ไป” เป็นเพลงร้องไล่คนรักเก่าที่ทิ้งไปมีใหม่ แต่ซมซานกลับมาหวังคืนดี แต่ไม่มีวันซะหรอก “ถึงจะร้องให้ก็ไม่สงสาร เค้าทิ้งหรือไงจึงได้ซมซาน  หวนคืนมาบ้าน กลับมาทำไม  ไปเถิด น้องขอให้ไป”

เซ็นสิ

“เซ็นสิ” เป็นเพลงที่ฮาใช้ได้เลยทีเดียวเล่าเรื่องของคนที่ชอบไปทานข้าวที่ร้าน ๆ หนึ่งเป็นลูกค้าประจำแต่ก็ไม่จ่ายประจำเหมือนกันเล่นเซ็นเอาไว้ก่อนลูกเดียวเลย ในเพลงนี้ชายเจ้าของเรื่องก็พยายามอ้อนวอนเฮียเจ้าของร้านเพื่อที่จะเซ็นและไม่ยอมจ่ายเงินอีกโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ “เราเคยเซ็นกันมาเป็นปีอย่ามาเซ้าซี้เป็นผีอำ” “ลงบัญชีก่อนนะเฮียอย่าให้เสียเราขาประจำ” เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่เอาทำนองมาจากวง Uriah Heep ซึ่งเป็นเพลงที่ดังที่สุดของวงแล้วนั่นก็คือเพลง “Free Me” ซึ่งสรวงก็แปลงคำว่า “free me” ให้มาเป็น “เซ็นสิ” และก็เล่าเป็นเรื่องเป็นราวอย่างฮา

https://youtu.be/lK45E6zfJeA

ขึ้นขึ้นลงลง

เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ฮิตติดหูของสรวง สันติเพลงนี้มีที่มาจากเพลง “Iron Man” ของ ‘Black Sabbath’ เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่สร้างไทม์แมชชีนและเดินทางไปยังอนาคตและพบว่าโลกในอนาคตนั้นกำลังล่มสลายเขาจึงแปลงสสารในร่างกายให้กลายเป็นเหล็กและย้อนกลับมายังโลกยุคปัจจุบันเพื่อที่จะบอกความจริงให้กับคนในโลกได้รู้เพื่อที่จะได้ปกป้องโลกเอาไว้ได้ทัน แต่ยิ่งพูดเท่าไหร่คนก็ยิ่งหัวเราะเยาะเขา ด้วยความโกรธเคืองและอยากจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นเรื่องจริงเขาก็เลยจัดการทำให้เกิดวันโลกสิ้นโลกเหมือนกับที่เขาได้พบเจอมาในอนาคตเพื่อเป็นการแก้แค้นชาวโลกซะเลย เพลงนี้สรวงไม่ได้เอาเนื้อหาของเนื้อร้องต้นฉบับมาใช้แต่ว่าเอาทำนองและไลน์กีตาร์มาจับเป็นคำว่า “ขึ้นขึ้นลงลง”ก็เลยเอาไอเดียนี้มาขยายเป็นเพลงซึ่งถือได้ว่าแต่งออกมาได้น่าสนใจและแบ่งเป็น 3 ท่อนร้องที่มีเนื้อชวนคิดว่าไอ้ที่ขึ้นขึ้นลงลง ลงลงขึ้นขึ้นนี่มันคืออะไรกันแน่โดยที่ก่อนที่จะมาท่อนสุดท้ายซึ่งพูดถึง “ไอ้อย่างที่สามเลวทรามร้ายกาจ มันขึ้นพรวดพราดขึ้นเเล้วไม่ลง” ซึ่งสุดท้ายก็เฉลยว่าคือ “สิ้นค้าเมืองไทย” นั่นเอง เพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งของสรวง สันติที่ทำหน้าที่ของเพลงลูกทุ่งซึ่งแต่ก่อนนั้นเรียกกันว่า ‘เพลงชีวิต’ หมายถึงเพลงที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนในสังคมและเพลงนี้ก็ได้สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้นให้เราได้รู้ว่าคนในยุคนั้นก็ประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพงกันนะ

น้ำมันแพง

เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงเด่นของสรวง สันติเลย มีชั้นเชิงการเขียนเนื้อร้องที่น่าสนใจทั้งฮา เจ้าชู้ แถมยังสะท้อนสภาพสังคมได้อีกด้วย เนื้อหาของเพลงนี้เป็นการอ้างเหตุผลของผู้ชายในเพลงที่บอกว่าเพราะน้ำมันมันแพงก็เลยต้องดับไฟคุยกันแล้วถ้าช่วงที่ดับไฟเผลอไปแตะโดนนู่นโดนนี่ก็อย่าถือสาแล้วกัน เป็นเพลงออกแนวเจ้าชู้แต่ก็แอบสะท้อนสังคมสะท้อนเศรษฐกิจในยุคนั้นไปด้วยเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่มีชั้นเชิงมาก ๆ เพลงนี้ต้นฉบับคือเพลง “Soul Sacrifice” ของ Santana ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงดังของเขาและมักจะถูกนำไปเล่นในการแสดงสดหลาย ๆ ครั้งซึ่งหนึ่งในครั้งที่ถือว่าฮอตและโด่งดังมากที่สุดก็คือเวอร์ชันการแสดงที่ Woodstock ในปี 1969

แค่นี้ยังไม่หมดจริง ๆ ก็ยังมีอยู่อีกหลายเพลงที่สรวง สันตินั้นแปลงมาจากทำนองเพลงต่างประเทศเพลงเหล่านี้มีคุณค่าทั้งในแง่ของวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของความมีอารมณ์ขันและสีสันของศิลปินไทยที่นำทำนองเพลงต่างประเทศมาแต่งใหม่ให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างไม่ขัดเขินทั้งตลกและก็มีความสำคัญในแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์หรือสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นไว้ด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่เข้ากับยุคสมัยนั้นแต่ก็ยังสามารถข้ามกาลเวลามาสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้อีกด้วยทำให้บทเพลงเหล่านี้กลายเป็นเพลงอมตะที่ไม่มีวันตายเลยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส