เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา The New York Times ได้รายงานข่าวที่อ้างอิงข้อมูลจาก Daily NK ว่ามีเอกสารภายในของเกาหลีเหนือรั่วไหลออกมาโดยเนื้อหาในเอกสารนี้มีใจความว่าท่านผู้นำ ‘คิม จอง-อึน’ แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหรือเกาหลีเหนือได้กล่าวว่าวัฒนธรรม ‘K-Pop’ ของเกาหลีใต้นั้นเปรียบเหมือนกับ “มะเร็งร้าย” ที่ทำลายชีวิตคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีเหนือและทำให้เขาสูญเสียการปกครองไป โดยมีข้อห้ามการเปิดรับวัฒนธรรมเคพอปโดยเด็ดขาดหากใครฝ่าฝืนยังฟังเพลงเกาหลี ชมซีรีส์ ดูหนังหรือทำอะไรที่มาจากวัฒนธรรมเกาหลีใต้แล้วล่ะก็จะต้องถูกลงโทษให้ใช้แรงงานในค่ายกักกันจากเดิม 5 ปีเพิ่มเป็น 15 ปีเอาให้เข็ดหลาบกันเลยทีเดียว

จากข่าวนี้ทำให้เราได้เห็นว่าเกาหลีเหนือนั้นกลัวการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมเกาหลีใต้เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมามีวัยรุ่นเกาหลีเหนือหลายคนที่ได้เสพสื่อจากเกาหลีใต้ผ่านทางแฟลชไดรฟ์เถื่อนที่มาจากทางจีนทำให้พวกเขาได้เห็นโลกกว้างและได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเคยได้รับรู้มาก่อนนั้นไม่เป็นความจริงเลย บทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ  มาดูกันว่าวัยรุ่นเกาหลีใต้นั้นมีความพยายามในการเสพสื่อจากเกาหลีใต้ได้อย่างไรและมันได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขามากมายยังไงบ้าง และในส่วนที่ 2 ของบทความเราจะพูดถึงว่าหากท่านผู้นำไม่อยากให้ประชาชนฟังเพลงเคพอปดูหนังดูซีรีส์เกาหลีแล้วสื่อในประเทศมีอะไรให้พวกเขาได้เสพกันบ้างโดยเราจะมุ่งไปดูที่เพลงพอปแบบเกาหลีเหนือกันว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร

K-POP บทเพลงแห่งการปลดแอก

สถานะของเพลงเคพอปที่มีต่อเกาหลีเหนือนั้นดู ๆ ไปแล้วก็คล้าย ๆ กับเมื่อครั้งในอดีตในยุคที่เบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกแยกออกจากกันและเดวิด โบวี่ (David Bowie) ได้ร้องเพลง “Heroes” ในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นใกล้ ๆ กับกำแพงเบอร์ลินทางฝั่งตะวันตกทำให้วัยรุ่นชาวเบอร์ลินทางฝั่งตะวันออกพยายามเงี่ยหูฟังใกล้ ๆ กับกำแพงเพื่อสัมผัสกับบทเพลงที่ลอยข้ามผ่านกำแพงมา สำหรับเพลงเกาหลีใต้นั้นก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ เป็นบทเพลงที่เปิดโลกให้วัยรุ่นชาวเกาหลีเหนือได้รู้ว่าโลกภายนอกนั้นเป็นอย่างไรบ้างซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้นำเกาหลีเหนือจึงทำให้ต้องออกมาประกาศกร้าวออกกฎที่เข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ในเว็บไซต์ของ The Washington Post ได้เคยลงบทความที่สัมภาษณ์วัยรุ่นชาวเกาหลีเหนือที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เกาหลีใต้โดยถามถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเสพสื่อจากเกาหลีใต้ของพวกเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตัวอย่างแรกคือ ริว ฮี-จิน (Ryu Hee-Jin) นักเต้นสาวชาวเกาหลีเหนือที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีใต้ ตั้งแต่เด็กเธอมักจะได้ร่วมแสดงร้องเพลงรักชาติเชิดชูเกียรติของชาติและท่านผู้นำมาตั้งแต่สมัยของ ‘คิม จอง-อิล’ หลังจากนั้นเมื่อเธอได้เติบโตขึ้นเธอก็ได้มีโอกาสฟังเพลงอเมริกันและเพลงจากเกาหลีใต้ซึ่งเธอได้บอกว่าตอนที่ฟังเพลงเกาหลีเหนือนั้นเธอจะไม่มีอารมณ์อะไรเลยแต่ตอนที่ได้ฟังเพลงอเมริกันและเพลงเกาหลีใต้มันได้ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย เนื้อเพลงก็ให้ความรู้สึกสดใหม่และเชื่อมโยงกับชีวิตเธอ เธอบอกว่าเวลาเห็นคนที่ฟังเพลงเหล่านี้แล้วจะเห็นได้เลยว่าการแสดงออกผ่านทางสีหน้าของพวกเขาจะเปลี่ยนไป ฮีจินยังได้บอกอีกว่าเพลงเคพอปกับเพลงจากตะวันตกได้เปิดโลกทัศน์ให้กับเธอและทำให้เธอได้รู้ว่าเกาหลีเหนืออันเป็นประเทศมาตุภูมิบอกเธอนั้นไม่ใช่แดนสวรรค์อย่างที่เคยถูกพร่ำสอนมาโดยตลอด ในทุก ๆ วันเธอนั่งดูมิวสิกวิดีโอเพลงเคพอปซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยที่หวาดกลัวว่าวันนึงตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านและจับเธอ เธอเคยถูกสอนว่าอเมริกานั้นคือหมาป่าและเกาหลีใต้นั้นเป็นหุ่นเชิดของอเมริกาแต่เมื่อเธอได้ฟังเพลงเคพอปแล้วเธอจึงได้รู้ว่าความจริงนั้นเป็นเช่นไร และในที่สุดเมื่อเธออายุได้ 23 ปีเธอก็ตัดสินใจหลบหนีไปอยู่ที่เกาหลีใต้

วัยรุ่นชาวเกาหลีเหนือจะได้รับชมได้ฟังเพลงเคป็อป ดูเอ็มวีเพลงเคป็อป ดูหนัง ดูซีรีส์จากเกาหลีใต้รวมไปถึงหนังจากทางฝั่งฮอลลีวูดผ่านทางแฟลชไดร์ฟ อาทิ แฟลชไดร์ฟที่มาจากโครงการเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า Flash Drives For Freedom ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนและความช่วยเหลือจากผู้คนทั่วโลกในการบริจาคแฟลชไดร์ฟที่รวมเอาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหนังฮอลลีวู้ด รายการทีวีจากอเมริการวมไปถึงภาพยนตร์ ซีรีส์และบทเพลงจากเกาหลีใต้ใส่เอาไว้เข้าไปในนั้น รวมไปถึงแฟลชไดร์ฟที่ขายโดยกลุ่มพ่อค้าที่ข้ามพรมแดนไปมาระหว่างจีนกับเกาหลีเหนืออีกด้วย

โครงการ Flash Drives for Freedom

ตัวอย่างต่อมาคือ คัง นา-รา (Kang Na-ra) วัยรุ่นสาวชาวเกาหลีเหนือที่มีความฝันอยากจะทำสีผมและใส่ชุดมินิสเกิร์ตหรือกางเกงยีนส์บ้าง มีวันหนึ่งเธอเคยใส่กางเกงยีนส์ไปเที่ยวตลาด เธอถูกบังคับให้ถอดชุดออกตรงนั้นและยีนส์ตัวนั้นก็ถูกเผาต่อหน้าต่อตาของเธอ นาราผู้ซึ่งเรียนร้องเพลงอยู่ที่โรงเรียนสอนศิลปะในเมืองชองจิน (Chongjin) ของเกาหลีเหนือ ได้บอกว่าศิลปะได้เปิดโลกให้กับเธอและทำให้เธอตัดสินใจย้ายไปอยู่เกาหลีใต้ในปี 2014 โดยทำงานเป็นนักแสดงโดยบทบาทที่เธอได้รับส่วนใหญ่ก็คือบทบาทของตัวละครชาวเกาหลีเหนือนั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ฮัน ซอง-อี (Han Song-ee) ที่ได้เปิดโลกเมื่อตอนอายุ 10 ขวบตอนที่ได้ดูวิดีโอของวง Baby V.O.X แสดงในงานคอนเสิร์ตรวมชาติเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวที่จัดขึ้นที่เปียงยาง (Pyongyang) ในปี 2003 แต่ตอนแรกเธอรู้สึกช็อกและกระอักกระอ่วนใจที่จะต้องชมบทเพลงของ ‘วายร้ายทุนนิยม’ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเธอได้ฟังจริง ๆ เธอกลับพบว่ามันเป็นอะไรที่น่ารักมากและตั้งแต่นั้นเธอก็รู้สึกประทับใจใน ความเป็นเคพอปมาโดยตลอดทำให้พ่อแม่ของเธอโกรธเธอมากที่เธอทำผมเลียนแบบสาว ๆ เคป็อปหลังจากนั้นเธอและเพื่อนของเธอก็เริ่มใส่กางเกงรัดรูปสีสันจัดจ้านแบบเดียวกันกับที่สาว ๆ วง Girls’ Generation ใส่แล้วในที่สุดเธอก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่เกาหลีใต้ในปี 2013 ส่วนวัยรุ่นอีกคนหนึ่งก็กล่าวถึงตอนที่ Red Velvet มาแสดงคอนเสิร์ตในเปียงยางเธอบอกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตลกที่พวกเธอต้องแอบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อที่จะดูวิดีโอคอนเสิร์ตครั้งนั้นในขณะที่ท่านผู้นำไปนั่งอยู่แถวหน้าตบมือเฮฮาและมีความสุขกับโชว์ของสาว ๆ มันช่างย้อนแย้งกันเสียนี่กระไร

https://www.youtube.com/watch?v=vMnPSellGiE

‘NK-POP’ ? มารู้จักกับเพลงพอปแบบเกาหลีเหนือกัน

จริง ๆ แล้วเพลงยอดนิยมหรือเพลงพอปในเกาหลีเหนือไม่ได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการแต่เราคิดว่าถ้าเกาหลีใต้มี ‘K-POP’ เกาหลีเหนือเองในวันหนึ่งก็อาจจะพัฒนาเป็น ‘NK-POP’ บ้างก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเกาหลีเหนือเองเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังทางวัฒนธรรมบ้างแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้มีการส่งเสริมและจัดตั้งวงดนตรีขึ้นมา แต่เป็นไปเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์และแนวคิดแบบชาตินิยมเท่านั้น ถึงจะมีเรื่องราวของคนสามัญธรรมดาบ้างแต่ก็ยังไม่แข็งแรงในระดับที่จะเป็นวัฒนธรรมแบบ K-POP ได้

สำหรับเพลงที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของเพลงพอปเกาหลีเหนือซึ่งเราได้รวบรวมมาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นมีข้อมูลระบุว่าเป็นเพลงที่มักจะเปิดบนรถทัวร์หรือตามสถานที่ต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสในเกาหลีเหนือ เพลงเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความรักชาติ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมไปถึงคำทักทายในแบบเกาหลีเพื่อกระตุ้นให้รู้สึกรักในความเป็นเกาหลีเหนือ ส่วนนักร้องนักดนตรีหรือวงดนตรีในเกาหลีเหนือนั้นก็ไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่มีในเกาหลีใต้เรียกว่าเหมือนเป็นวงเฉพาะกิจหรือบางทีก็เป็นวงจัดตั้งจากท่านผู้นำเลยด้วยซ้ำ ต่อไปนี้คือตัวอย่างของเพลงพอปจากเกาหลีเหนือที่เราอยากให้เพื่อน ๆ ลองฟังกันดู

ARIRANG (아리랑)

มาเริ่มจากเพลงที่เชื่อว่าเราน่าจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างเนื่องจากว่ามีเพลงไทยหลายเพลงที่แต่งขึ้นจากทำนองเพลงพื้นบ้านเกาหลีโดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “อารีดัง” (คาดว่าน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการออกเสียงเลยเพี้ยนจาก “อารีรัง” มาเป็น “อารีดัง” เริ่มจากภาพยนตร์ในปี 2523 ที่ใช้ชื่อนี้ซึ่งมีเพลง “เสียงครวญจากทหารไทย” เพลงไทยทำนองเกาหลีที่ครูเบญจมินทร์เป็นคนแต่งจากประสบการณ์ในการเป็นทหารไทยในเกาหลี จากนั้นก็มีเพลงไทยที่มีแรงบันดาลใจมาจากทำนองเกาหลีออกมาและเป็นที่โด่งดังซึ่งทุกบทเพลงล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่​ ”อารีดัง” เช่นเพลง “เสียงครวญจากเกาหลี” ที่เป็นเรื่องรักระหว่างหญิงสาวที่หมู่บ้านอารีดังกับหนุ่มทหารไทยที่ไปร่วมรบในเกาหลี เพลงนี้จะร้องจากมุมมองของสาวเกาหลีร้องโดย ‘สมศรี ม่วงศรเขียว’ และอีกเพลงคือ “รักแท้จากหนุ่มไทย” เพลงนี้ครูเบญจมินทร์ร้องเอง เป็นเรื่องเดียวกันกับเพลงก่อนแต่เล่าผ่านมุมมองของหนุ่มทหารไทย ท่อนแรกของเพลงร้องเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมด) สำหรับเพลง “อารีรัง” นี้จะเรียกว่าเป็นเพลงชาติของเกาหลีแบบไม่เป็นทางการก็ว่าได้ ซึ่งไม่เพียงแต่มีความสำคัญกับเกาหลีเหนือเท่านั้นแต่รวมไปถึงเกาหลีใต้ด้วย “อารีรัง” เป็นเพลงพื้นบ้านของเกาหลีที่มีลักษณะคล้าย ‘นิราศ’ ของไทยอันมีเนื้อหาว่าด้วยการลาจากคนรักเพื่อไปเข้าร่วมรบในสงครามและต้องเดินทางผ่านช่องเขาซึ่งคำว่า “อารีรัง” ก็เป็นชื่อของช่องเขานั่นเอง เพลงนี้มีการบันทึกเสียงครั้งแรกตั้งแต่ปี 1896 และมีมากกว่า 60 เวอร์ชัน รวมไปถึงการปรับแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมแล้วกว่า 3,600 เวอร์ชัน แต่เดิมวัตถุประสงค์ของเพลงนี้คือเพลงที่ไว้ร้องปลุกใจเพื่อต่อต้านการรุกรานจากประเทศญี่ปุ่น เพลง “อารีรัง” นี้นับว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่งและถูกรวมไว้ในรายชื่อ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้’ ขององค์การยูเนสโกด้วย

THE WHISTLE SONG (휘파람) – HYE YEONG JEON

เสน่ห์ของเพลงนี้ก็เป็นไปตามชื่อเพลงเลยคือจะใช้การ ‘ผิวปาก’ เป็นเมโลดี้หวีดหวิวบนท่วงทำนองที่สนุกสนานพอตัว แถมท่อนฮุกยังร้องแค่ฮาฮาฮ้าฟังดูแล้วคิดไปถึงเพลง “7th Element” ของ “Vitas” นักร้องเสียงแปดหลอดชาวรัสเซียเลย สำหรับ “เพลงผิวปาก” ของเฮ ยอง-จอนนี้มีข้อมูลระบุว่าเป็นบทเพลงยอดฮิตบนรถทัวร์ท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือที่คุณอาจจะตกใจเมื่อเห็นคนเกาหลีพร้อมใจกันผิวปากตามทำนองของเพลงนี้ในขณะที่รถพาคุณท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ของเมืองเปียงยาง เป็นเรื่องที่น่าตลกดีที่เกาหลีเหนือต่อต้านวัฒนธรรมจากต่างชาติแต่ฟัง ๆ ดูแล้วเพลงนี้ก็คล้ายเพลง “Gimme! Gimme! Gimme!” ของวง ABBA อยู่เหมือนกัน ส่วนเอ็มวีก็มีความโรแมนติกแบบรักใส ๆ ดูมีระเบียบเรียบร้อยตามสไตล์เกาหลีเหนือ

PLEASE LET THE SNOW FALL ON NEW YEARS DAY (설눈아 내려라) – THE MORANBONG BAND

ถ้าพูดถึงวง ‘โมรันบอง’ (The Moranbong Band) อาจจะเรียกได้ว่านี่คือวงที่ดังที่สุดในเกาหลีเหนือแล้ว Fortune Magazine เคยกล่าวถึงวงนี้ไว้ว่า “เป็นการตอบโต้กลับจากเกาหลีเหนือที่มีต่อวง Spice Girls” หรือจะเรียกว่าเป็น Spice Girls เวอร์ชันเกาหลีเหนือก็ได้ วงดนตรีหญิงล้วน ‘โมรันบอง’ เป็นวงที่ก่อตั้งขึ้นโดยคิม จอง-อึนในปี 2012 หนึ่งปีให้หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของคิม จอง-อิล วงเปิดตัวต่อสาธารณะชนชาวเกาหลีเหนือด้วยการเล่นคัฟเวอร์เพลงดิสนีย์และเพลงคลาสสิก ๆ อย่าง “My Way” ของแฟรงก์ ซินาตรา ความสามารถอันโดดเด่นของสมาชิกวง (ซึ่งว่ากันว่าเป็นเจ้าหน้าที่สาวที่ทำงานอยู่ในกองทัพด้วย) ทำให้คิม จอง-อึนได้เห็นช่องทางใหม่ในการเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองและการใช้ดนตรีในการดึงดูดความสนใจจากประชาชนในวาระพิเศษต่าง ๆ

วงโมรันบองเดินทางไปเปิดการแสดงที่ประเทศจีน

ด้วยว่าวงนี้เป็นวงที่มีความยิ่งใหญ่อลังการที่สุดด้วยการมีสมาชิกวงมากมายและแต่ละคนก็เล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลายเมื่อมาผสานกันก็เป็นงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่แถมยังมีนักร้องหลายคนอีกด้วยพอถึงท่อนประสานเสียงเมื่อไหร่แล้วก็ขนลุกเลยทีเดียว สำหรับเพลง “PLEASE LET THE SNOW FALL ON NEW YEARS DAY” ดูเหมือนจะเป็นเพลงประจำปีใหม่แบบไม่เป็นทางการกลาย ๆ หากชมคลิปการแสดงสดของเพลงนี้แล้วจะเห็นได้เลยว่าการแสดงของพวกเธอนั้นดูยิ่งใหญ่มาก ๆ สมาชิกแต่ละคนมีความสามารถในการเล่นดนตรีที่ไม่ธรรมดาและมีลีลาที่เร้าใจไม่ว่าจะเป็นโซโล่ซินธ์สุดพลิ้ว โซโลกีตาร์อย่างร็อก รวมไปถึงลีลาสแล็ปเบสและการตีกลองที่หนักแน่นเร้าใจต่อด้วยโซโลแซ็กบาดใจ ยิ่งเจอท่อนตอนหลังที่ร้องประสานเสียงแล้วล่ะก็สุดยอดไปเลย

WE WILL GO TO MT. PAEKTU (가리라 백두산으로) – THE MORANBONG BAND

อีกหนึ่งเพลงฮิตของ ‘โมรันบอง’ หรือพูดให้ถูกก็คือเพลงฮิตถล่มทลายที่สุดของเกาหลีเหนือที่คุณจะต้องได้ยินอย่างแน่นอนเมื่อย่างกรายเข้าไปในดินแดนแห่งนี้ เพลงนี้มีเมโลดี้ที่ฟังแล้วติดหูบนท่วงทำนองอันชวนเบิกบาน จังหวะชวนขยับไปด้วยเบา ๆ  เสียงดนตรีที่ประสานกันแสดงถึงความเป็นหนึ่งพร้อมกับเสียงร้องประสานเสียงที่หวานใสแต่ก็ผสานไปกับพลังอันหนักแน่น แถมในท่อนท้ายยังเพิ่มคีย์เพลงให้สูงขึ้นไปอีกเรียกว่าปลุกพลังกันสุด ๆ ในคลิปนี้จะเห็นสมาชิกวงโมรันบองใส่ชุดในเครื่องแบบดูคล้าย ๆ กับชุดที่ Girls’ Generation ใส่ในเพลง “Genie” เลย เพลง “WE WILL GO TO MT. PAEKTU”นี้เคยถูกเอาไปคัฟเวอร์โดยวง Laibach วงร็อกจากสโลวีเนียตอนที่พวกเขาเดินทางมาเยี่ยมเยือนเมืองเปียงยางในปี 2015 แต่บทเพลงของพวกเขานั้นคงดูน่ากลัวเกินไปสำหรับชาวเกาหลีเหนือเห็นนั่งฟังกันเงียบเลย

NICE TO MEET YOU (반갑 습니다) – RI KYONG SUK (POCHONBO ELECTRONIC ENSEMBLE)

เป็นบทเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องสาว ‘รี ยอง-ซุก’ แห่งวง ‘โพชอนโบ อิเล็กทรอนิก อองซอมเบิล’ (Pochonbo Electronic Ensemble) ซึ่งเป็นอีกวงหนึ่งที่โด่งดังในเกาหลีเหนือ (ดูเหมือนว่าจะมีดังกันอยู่ 2 วงนี่แหละ) เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่เป็นที่จดจำและเป็นต้นแบบของเพลงพอปเกาหลีเหนือที่เป็นตัวอย่างได้ดีที่สุด เสียงกีตาร์กับเสียงซินธ์ที่เฟี้ยวฟ้าวไปมานั้นมันน่าเร้าใจดีเหลือเกิน รวมไปถึงเสียงร้องอันอ่อนหวานนั้นก็ไพเราะจับจิตจับใจ ในท่อนฮุกของเพลงที่ร้องย้ำซ้ำไปมานั้นคือคำว่า “반갑습니다 (พันกับซึมนิดา)​” ซึ่งแปลว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก”นั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หากคนไปเที่ยวเกาหลีเหนือแล้วจะต้องได้ยินเพลงนี้เพราะมันคล้าย ๆ กับเป็นการต้อนรับอันอบอุ่นจากดินแดนแห่งนี้นั่นเอง

สำหรับวง ‘โพชอนโบ อิเล็กทรอนิก อองซอมเบิล’ นั้นก่อตั้งโดยท่านผู้นำคิม จอง-อิลในยุค 80s ในขณะที่งานดนตรีมีความเป็นอิเล็กทรอนิกแต่เนื้อหาของเพลงก็ยังคงมีความเป็นการเมืองในแบบฉบับของเกาหลีเหนือ โดยเนื้อหาของเพลงมักจะเป็นเพลงที่เชิดชูท่านผู้นำแต่ก็มีเพลงที่พูดถึงชีวิตประจำวันและเรื่องราวความรักความรู้สึกคนทั่ว ๆ ไปด้วยเหมือนกัน บทเพลงเหล่านี้ถือเป็นสิ่งใหม่ในยุคนั้นและมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายชาวเกาหลีเหนือจากการทำงานหนักในแต่ละวัน การร่วมร้องไปกับบทเพลงเหล่านี้ทำให้ชาวเกาหลีเหนือรู้สึกผูกพันกับเสียงดนตรีและทำให้รู้สึกว่าการมีความสามารถทางดนตรีนั้นจะนำพาพวกเขาให้พบกับความสำเร็จในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น จอง เฮ-ยอง (Jeon Hye-yeong) หนึ่งในสมาชิกของวงโพชอนโบ อิเล็กทรอนิก อองซอมเบิลซึ่งมาจากเขตชนบทยากจนแต่สุดท้ายแล้วเธอก็เรียนรู้ดนตรีและกลายมาเป็นครูสอนดนตรีจนมีความสามารถอันโดดเด่นและกลายเป็นนักร้องชื่อดังในที่สุด แม้กระทั่งรี ซอล-จูภรรยาของคิม จอง-อึลก็เช่นกันเธอก้าวขึ้นมาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งด้วยความสามารถทางดนตรีและเธอเคยเป็นสมาชิกวงอึนฮาซูและโมรันบองมาก่อน รวมไปถึงฮยอน ซอง-อูล (Hyon Song-wol) อดีตสมาชิกวงโพชอนโบ อิเล็กทรอนิก อองซอมเบิลที่กลายเป็นหัวหน้าวงโมรันบองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นทางด้านดนตรีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

Source

เลิศชาย คชยุทธ.(2538).ไทยลูกทุ่ง.กรุงเทพ ฯ : มติชน.

1 / 2 / 3 / 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส