ด้วยรูปลักษณ์ ฟืนไฟที่กลายเป็นเปลวเพลิงเผาผลาญสิ่งต่าง ๆ มีเสน่ห์และความน่าสนใจเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะยามทำลายล้างสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะเอาชนะ ทำให้การต่อกรระหว่างเปลวไฟกับนักผจญเพลิง ไม่ต่างไปจากการต่อสู้ระหว่างสัตว์ประหลาดทรงพลังกับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ กลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นลุ้นระทึกบนจอภาพยนตร์ได้ไม่ยาก แล้วถ้าได้เรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครในแง่มุมต่าง ๆ หรือมีประเด็นปริศนาที่กลมกลืนลงตัว หนังเหล่านี้ก็จะกลายเป็นงานที่น่าจดจำ และนี่คือส่วนหนึ่งของหนังที่ว่าด้วยนักผจญเพลิงที่สนุกและเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ

LADDER 49 (เครดิต: Touchstone Pictures)

LADDER 49 (2004)

ผู้กำกับ: เจย์​ รัสเซลล์ (Jay Russell)

หนังที่เหมาะสำหรับคนที่อยากเป็นพนักงานดับเพลิง และคนที่อยากรู้ว่างานนี้ทำกันยังไง เรื่องราวจะเกาะติดภารกิจช่วยชีวิตแจ็ก มอร์ริสัน (Jack Morrison) ตัวละครของ วาควิน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) พนักงานดับเพลิงหน้าใหม่ของหน่วยดับเพลิงบัลติมอร์ ซึ่งติดอยู่ในตึกสูง 20 ชั้นที่ถูกเพลิงไหม้ โดยระหว่างนั้นเจ้าตัวก็ใช้เวลาขณะรอความช่วยเหลือ รำลึกถึงชีวิตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกจนได้เป็นนักผจญเพลิง หนังยังเผยให้เห็นความผูกพันของผู้คนในอาชีพนี้ ที่หล่อหลอมจากการทำงานเสี่ยงตายร่วมกัน แม้จะเน้นที่ความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่เป็นฮีโรรายวัน ผู้อุทิศตัวให้คนแปลกหน้า แต่หฉากไฟไหม้ของหนังก็ทำได้สมจริง จนชาวเมืองบัลติมอร์โทรแจ้งเหตุเพลิงไหม้ตอนถ่ายทำเพราะคิดว่ามีเหตุเพลิงไหม้ ฟีนิกซ์เองก็ไปรับการฝึกในโรงเรียนพนักงานดับเพลิงถึง 1 เดือนเต็ม และทำได้ดีจนได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในทีมดับเพลิงรถคันที่ 10 ของบัลติมอร์

BACKDRAFT (เครดิต: Universal Pictures)

BACKDRAFT (1991)

ผู้กำกับ: รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard)  

เรื่องของสองพี่น้องในหน่วยดับเพลิงของชิคาโก ที่รับบทโดยเคิร์ต รัสเซลล์ (Kurt Russell) และวิลเลียม บอลด์วิน (William Baldwin) ซึ่งอยู่ในครอบครัวที่ทำงานนี้มาตลอด แต่ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนัก แล้วก็มีการสืบหามือวางเพลิงโดยเจ้าหน้าที่สืบสวนที่เล่นโดยโรเบิร์ต เดอนีโร (Robert DeNiro) เข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงศูนย์กลางของหนังจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครและการสืบสวน ที่ปิดท้ายได้อย่างซาบซึ้ง และมีเซอร์ไพรส์จากการเฉลยตัวร้าย แต่ก็มีฉากเพลิงไฟม้ที่หนังนำเสนอความร้อนแรงของมันได้ราวกับมีชีวิต และน่าตื่นเต้นอยู่หลายครั้ง นักแสดงเองก็ต้องรับการฝึกจากหน่วยดับเพลิงของชิคาโก หนังมักถูกกล่าวถึงเป็นเรื่องแรก ๆ เมื่อพูดถึงหนังทำนองนี้ และเป็นงานเพื่อความบันเทิงที่ดูสนุก จนทำเงินได้ถึงกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ถูกตำหนิไม่น้อยเรื่องความถูกต้องของฉากไฟไหม้ และความดูดีของพี่น้องนักดับเพลิงในหนัง   

THE TOWERING INFERNO (เครดิต: Twentieth Century Film Corp)

THE TOWERING INFERNO (1974)

ผู้กำกับ: เออร์วิน อัลเลน (Irwin Allen), จอห์น กิลเลอร์มิน (John Guillermin)

หนังเพลิงไหม้สุดคลาสสิกของเจ้าพ่อหนังหายนะ ที่รวมซูเปอร์สตาร์ล้นจอโดยมีสตีฟ แม็กควีน (Steve McQueen) กับพอล นิวแมน (Paul Newman) เป็นหัวขบวน หนังว่าด้วยเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกสูง 180 กว่าชั้นในซาน ฟรานซิสโก ที่กำลังมีงานกาลาเปิดตึกสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ทั้งที่ระบบไฟยังไม่สมบูรณ์ และไม่อยู่ในมาตรฐานที่วางเอาไว้ แม้สถาปนิกผู้ออกแบบ (นิวแมน) พยายามเตือน แต่แน่นอน… ไม่มีใครเชื่อ และมันก็กลายเป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเริ่มแสดงให้เห็นจากชั้นที่ 81 แม็กควีนรับบทหัวหน้าทีมดับเพลิงของเมือง ที่รับหน้าที่คุมการต้องดับไฟและช่วยชีวิตผู้คนที่ส่วนใหญ่เป็นพวกเซเลบฯ และไฮโซ หนังเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่สมจริง ภารกิจช่วยชีวิตก็ดูเวอร์ ๆ ตัวละครก็ไม่มีพัฒนาการ การกระทำดูไม่สมเหตุสมผล แต่ในแง่ความบันเทิง โดยเฉพาะเมื่อ 4 ทศวรรรษก่อน บวกเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นตัวละครที่เล่นโดยซูเปอร์สตาร์เสียชีวิต ‘ตึกนรก’ (ชื่อไทยของหนัง) ตอบโจทย์สุด ๆ    

ONLY THE BRAVE (เครดิต: Sony Pictures)

ONLY THE BRAVE (2017)

ผู้กำกับ: โจเซฟ โคซินสกี (Joseph Kosinski) 

อาจจะเป็นหนังเกี่ยวกับหน่วยผจญเพลิงที่มีพลัง, ประทับใจ และ ’ถึง’ ที่สุดเท่าที่เคยสร้างกันมา หนังมีที่มาจากเรื่องจริงในปี 2013 ของทีมดับไฟป่า แกรไนต์ เมาเทน ฮ็อตช็อตส์ (Granite Mountain Hotshots) ที่ยอมเสี่ยงตายใช้ไฟดับไฟ เพื่อปกป้องเมืองจากหนึ่งในไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์ที่ยาร์เนลล์ ฮิลล์ส ซึ่งคร่าชีวิตนักผจญเพลิงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 หนังนำเสนอการทำงานของคนกลุ่มนี้ ด้วยความสมจริงและเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก จนผู้ชมได้สัมผัสกับชีวิตที่น่าทึ่งของคนธรรมดา ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ทำในสิ่งไม่ธรรมดา จนลืมไปว่า บนจอคือการแสดงของนักแสดง อย่าง จอช โบรลิน (Josh Brolin) ในบทหัวหน้าทีม, ไมลส์ เทลเลอร์ (Miles Teller) ที่เล่นเป็นลูกทีมเจ้าปัญหาและตัวละครศูนย์กลางของหนัง แล้วยังทำให้รับรู้การทำงาน, ความสำคัญ ของคนเหล่านี้มากขึ้น ขณะที่ลุ้นระทึกไปกับการปฏิบัติภารกิจ และชะตากรรมของพวกเขา  

FIREPROOF (เครดิต: Samuel Goldwyn Films)

FIREPROOF (2008)

ผู้กำกับ: อเล็กซ์ เคนดริก (Alex Kendrick)

หนังฮิตแบบเซอร์ไพรส์ ที่เป็นหนังอินดี้ทำเงินสูงสุดในปี 2008 ด้วยรายได้ 33 ล้านเหรียญสหรัฐจากทุนสร้างแค่ 500,000 เหรียญ และได้รางวัลมากมายจากเวทีรางวัลของหนังคริสเตียน แม้หนังจะมีความเป็นงานรอม-คอมมากกว่า แถมเรื่องราวยังว่าด้วยความพยายามรักษาชีวิตแต่งงาน ของพนักงานดับเพลิงหนุ่มที่เล่นโดยเคิร์ก คาเมรอน (Kirk Cameron) ซึ่งก่อนกระบวนการหย่าจะเริ่มขึ้น เขาตัดสินใจเข้ารับการทดลองที่กินเวลา 40 วัน ‘The Love Dare’ ที่ในแต่ละวัน เขาจะต้องปฏิบัติตัวตามหลักการที่ระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เช่น ไม่พูดเรื่องไม่ดีกับคนรัก เพื่อหาทางพยุงชีวิตคู่ให้เดินหน้าต่อไปได้เป็นครั้งสุดท้าย หนังเหมือนเกี่ยวข้องกับนักผจญเพลิงแค่ตัวเอกทำสัมมาอาชีพนี้แค่นั้น หากจริง ๆ แล้ว หนังยังเอากฎประจำใจของพนักงานดับเพลิงที่ว่า “อย่าทิ้งคู่หูไว้ข้างหลัง’ มาเปรียบเปรยกับชีวิตคู่ เมื่อตัวละครทำแบบนี้ได้ดีกับเพื่อนร่วมงาน แต่ล้มเหลวกับการนำมาใช้กับคู่ชีวิต

HELLFIGHTERS (เครดิต: Universal Pictures)

HELLFIGHTERS (1968)

ผู้กำกับ: แอนดรูว์ วี. แม็กลักเลน (Andrew V. McLaglen)

จอห์น เวย์น (John Wayne) เล่นเป็น แชนซ์​ บักแมน (Chacnce Buckman) หัวหน้าทีมดับเพลิงประจำฐานเจาะน้ำมัน ที่ต้องเดินทางไปทำงานเสี่ยงตายทั่วโลก กอปรกับการทำงานที่เต็มไปด้วยอันตราย ทำให้ชีวิตครอบครัวของเขาต้องพังทะลาย แต่ลูกสาวของเขากลับตกหลุมรักชายหนุ่มที่ชีวิตการทำงานเผชิญหน้าอันตรายจากเปลวเพลิงเหมือนกันกับเขา หนังมีที่มาจากชีวิตของ พอล “เรด” อแดร์ (Paul “Red” Adair) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบนฐานจุดเจาะน้ำมันตัวจริง และเป็นหนึ่งในงานที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและจดจำนักของเวย์น แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังหายนะเรื่องแรก ๆ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตอนแรกที่ออกฉายถูกวิจารณ์ว่า ่น่าเบื่อ พูดมาก พล็อตแย่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังถูกประเมินค่าใหม่ รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นหนังเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ทำออกมาได้ดีเรื่องหนึ่ง

ALWAYS (เครดิต: Universal Pictures)

ALWAYS (1989)

ผู้กำกับ: สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)

สปีลเบิร์กนำ ‘A Guy Name Joe’ หนังปี 1943 มาทำใหม่ เปลี่ยนพล็อตไปบ้าง มีการเปลี่ยนชื่อตัวละคร ริชาร์ด เดรย์ฟัส (Richard Dreyfuss) เล่นเป็นนักบินเครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ แต่เมื่อเสียชีวิตจากการปฏิบัติภารกิจ เขากลายเป็นวิญญาณกลับมาหาคนรัก (ฮอลลี ฮันเตอร์ – Holly Hunter) ที่จมเศร้ากับการจากไปของเขา แต่เมื่อนักบินรุ่นน้องพยายามเข้าไปในชีวิตเธอ เขากลับหึงหวง ก่อนบางอย่างจะทำให้คิดได้ว่า ที่สุดแล้วเขาต้องช่วยให้เธอ ‘ไปต่อ’ เมื่อตัวเองไม่สามารถเป็นคน ๆ นั้นของเธอได้อีกแล้ว หนังเป็นงานเรื่องสุดท้ายของออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) เป็นหนึ่งในงานไม่กี่เรื่องของสปีลเบิร์กที่เป็นเรื่องโรแมนติก และใช้ทุนต่ำ จนโดนบดบังโดยหนังบล็อกบัสเตอร์ของเขา แต่หากได้ชมจะไม่มีใครลืมเรื่องราวเล็ก ๆ แสนอบอุ่น ที่ว่าด้วยความเสี่ยงทั้งหลาย ที่นักผจญเพลิงและคนที่ใจสลายเมื่อคนที่รักจากไปต้องเผชิญ, ฉากเพลง “Smoked in Your Eyes” และสำหรับบ้านเรา ชื่อไทยเพราะ ๆ และเปี่ยมความหมาย ‘ไฟฝันควันรัก’

THE GUYS (เครดิต: Focus Features)

THE GUYS (2002)

ผู้กำกับ: จิม ซิมป์สัน (Jim Simpson)

หนังนักผจญเพลิงชั้นดี ที่ปราศจากเสียงไซเรนดังสนั่น ไร้รถดับเพลิง หรือกระทั่งไฟก็ไม่มีให้เห็น แต่ผู้ชมรับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นได้ ผ่านเรื่องราวและการแสดง หนังสร้างจากละครนอกบรอดเวย์ของ แอนน์ เนลสัน (Anne Nelson) ซึ่งอิงจากเหตุการณ์จริง ที่ว่าด้วยโจน (Joan) บรรณาธิการหญิงที่พยายามช่วยนิค (Nick) หัวหน้าหน่วยดับเพลิงนิวยอร์ก เขียนคำสดุดี 8 พนักงานดับเพลิงจากทั้งหมด 12 คนของหน่วย ที่เสียชีวิตในเหตุตึกเวิลด์เทรด เซนเตอร์ถล่ม ฉบับละครได้ ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) และ บิลล์ เมอร์เรย์ (Bill Murray) มาเล่นเป็น 2 ตัวละครที่ว่า ส่วนฉบับขึ้นจอวีเวอร์กลับมา และได้ แอนโธนี ลาพาเกลีย (Anthony LaPaglia) มาเล่นแทนเมอร์เรย์ นอกจากจะทำให้รู้สึกถึงการเสียสละ และการทำงานของพนักงานดับเพลิงโดยไม่ต้องแสดงให้เห็นแบบตรง ๆ แล้ว หนังยังแสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ และเผยหัวจิตหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาออกมาได้อย่างสวยงาม 

WORLD TRADE CENTER (เครดิต: Paramount Pictures)

WORLD TRADE CENTER (2006)

ผู้กำกับ: โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone)

เรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายที่เข้าไปในตึกเวิลด์เทรด เซนเตอร์ จากเหตุการณ์ 9/11 เพื่อช่วยเหลือผู้คนเป็นกลุ่มแรก ๆ แล้วต้องติดอยู่ในตึกที่ถล่มลงมา ปูมหลังของเหตุการณ์และการกระทำของตัวละคร มีความน่าสนใจเป็นทุนเดิม หนังเก็บเอาเรื่องราวจากปากคำของพยานและผู้อยู่ในเหตุการณ์ มาผูกเป็นเรื่องราวเพื่อสดุดีวีรกรรมพวกเขาที่รุดเข้าไปในตึก โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง แต่การนำเสนอแบบหนังดรามาช่องฮอลล์มาร์ก (Hallmark) การพยายามเร้าอารมณ์จนเกินเหตุ กับยกย่องตัวละครให้เป็นฮีโรจนเกินงาม บางฉากก็ดูซ้ำซาก เลยทำให้หนังดูปรุงแต่งจนเกินไป หากอย่างน้อยก็ทำให้ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณของคนที่ทำงานเพื่อคนอื่น จนลืมชีวิตตัวเองในวันนั้นได้เป็นอย่างดี แม้ตัวละครในหนังจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ด้วยทัศนคติของพวกเขา ทำให้เป็นงานที่ทรงพลังสำหรับนักผจญเพลิงทั้งหลายด้วยเช่นกัน 

ยังมีหนังนักผจญเพลิง คนสู้ไฟอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ‘Frequency’ หนังปี 2000 ที่พ่อพนักงานดับเพลิงจากอดีตที่เสียชีวิตไปแล้ว ติดต่อกับลูกชายที่เป็นตำรวจในปัจจุบันเพื่อไขคดีฆาตกรรม หนังประสบความสำเร็จจนถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์, ‘In Old Chicago’ หนังปี 1938 ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในชิคาโกเมื่อปี 1871 แต่เรื่องราวในหนังจะถูกแต่งขึ้นมา, ‘Trial By Fire’ หนังของเอ็ดเวิร์ด ซวิก (Edward Zwick) เมื่อปี 2008 ที่ให้ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง และยังทำงานเสี่ยงตายสุด ๆ เมื่อเป็นนักดิ่งพสุธาดับเพลิง หรือ Smoke Jumpers ที่จะโดดลงไปในพื้นที่ซึ่งเกิดไฟไหม้ปา เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือหรือดับไฟ  

งานสำหรับครอบครัวก็มีไม่น้อย อย่าง ‘Firehouse Dog’ ในปี 2007 ที่สุนัขเซเลบฯ หลงทางและไปอยู่ในการดูแลของหน่วยดับเพลิง ทำให้หน่วยกลายเป็นที่รู้จักขึ้นมา, ‘Playing with Fire’ หนังปี 2017 ที่จอห์น ซีนา (John Cena) เล่นเป็นหัวหน้าหน่วยดิ่งพสุธาดับเพลิง ที่ต้องดูแลเด็ก ๆ 3 คนที่พลัดหลงกับครอบครัว หลังเกิดเหตุไฟไหม้ป่า 

ในฟากหนังเอเชีย ‘The Tower’ หนังเกาหลีปี 2012 ที่ว่าด้วยการดับไฟในตึกระฟ้า ก็เป็นงานที่ได้ชื่อว่าตื่นเต้นระทึกใจเรื่องหนึ่ง ส่วน ‘Skyscraper’ หรือ ‘Deepwater Horizon’ ของดเวย์น “เดอะ ร็อก” จอห์นสัน (Dwayne “The Rock” Johnson) กับมาร์ค วอห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) แม้จะมีเหตุการณ์เพลิงไหม้เป็นฉากหลัง แต่หนังเป็นงานแอ็กชัน ที่นอกจากตัวละครไม่ใช่นักผจญเพลิงแล้ว ยังว่าด้วยการเอาตัวรอดเป็นหลัก และไม่ได้โฟกัสที่จิตวิญญาณของนักผจญเพลิงสักเท่าไหร่  

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4
อ้างอิง 5 อ้างอิง 6 อ้างอิง 7 อ้างอิง 8

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส