นักดนตรีชาวญี่ปุ่น ‘เคอิโงะ โอยามาดะ’ (Keigo Oyamada) ลาออกจากทีมครีเอทีฟในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากยอมรับว่าเขาเคยรังแกเด็กที่มีความพิการเมื่อหลายปีก่อน

การลาออกของโอยามาดะซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งเพลงประกอบให้กับโอลิมปิกในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 23 นี้ หลังจากที่ได้มีการจุดประเด็นบนโซเชียลมีเดียถึงการกระทำที่ผ่านมาของเขา ซึ่งคำขอโทษก่อนหน้านี้ของโอยามาดะไม่สามารถกลบกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในบทบาทของเขาในโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่โตเกียว

โอยามาดะได้กล่าวในทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ว่าการยอมรับคำขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมเป็นสิ่งที่ “ขาดการพิจารณาจากหลาย ๆ คน” และเขาได้ “เสนอ (ให้เขาเอง) ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการจัดงาน”ส่วนทางผู้จัดงานได้กล่าวว่าจะไม่ใช้เพลงความยาว 4 นาทีที่โอยามาดะแต่งเพื่อใช้ในพิธีเปิด โดยขณะนี้กำลังมีการพิจารณาแผนทางเลือก

คณะกรรมการจัดงานกล่าวในแถลงการณ์ว่าการกระทำของโอยามาดะนั้น “ไม่สามารถยอมรับได้อย่างแน่นอน” แต่การที่พวกเขาตัดสินใจที่จะให้โอยามาดะยังทำงานอยู่ในตำแหน่งของเขานั้นเป็นเพราะโอยามาดะได้ออกมาขอโทษและและช่วงเวลาการจัดงานที่ใกล้จะมาถึง แต่ทางคณะกรรมการก็ได้พิจารณาแล้วว่าการตัดสินใจที่ผ่านมานั้นเป็น “การตัดสินใจที่ผิดพลาด” จึงได้ตัดสินใจยอมรับการลาออกของโอยามาดะ

“โอยามาดะจะไม่มีส่วนร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันพาราลิมปิกซึ่งจะเริ่มในวันที่ 24 สิงหาคมนี้” โทชิโร มูโตะ (Toshiro Muto) ซีอีโอของโตเกียว 2020 กล่าว

การลาออกของโอยามาดะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีคนหยิบยกเอาบทสัมภาษณ์ของเขาในช่วงทศวรรษ 90s ที่เขาเคยคุยโวเกี่ยวกับการรังแกผู้คนรวมถึงเพื่อนร่วมชั้นในวัยเด็กของเขา โอยามาดะยอมรับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Rockin’On Japan ฉบับเดือนมกราคม 1994 และนิตยสาร Quick Japan ฉบับเดือนสิงหาคม 1995 ได้ยกคำพูดของเขามาอย่างถูกต้องแล้วเมื่อเขาพูดถึงการรังแกเพื่อนร่วมชั้นในวัยเด็กที่มีความทุพพลภาพอย่าง “ไร้ซึ่งความรู้สึกสำนึกเสียใจ”

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดขึ้นโดยไม่มีผู้เข้าชมท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ผู้คนจึงใช้ทวิตเตอร์ในการระบายความรู้สึกโกรธและความคับข้องใจในช่วงเวลานี้ “ไม่มีทางที่บุคคลที่อวดดีเกี่ยวกับการรังแกเพื่อนร่วมชั้นที่มีความพิการจะได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในพาราลิมปิกเกมส์” ข้อความหนึ่งจากผู้ใช้ทวิตเตอร์

“การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวเต็มไปด้วยปัญหามากมายจนผมไม่สามารถจดไว้ได้หมด เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในตำนาน” ทวีตจากผู้ใช้อีกรายหนึ่ง ส่วนคนอื่น ๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้จัดงานว่าไม่ได้เรียนรู้จากเรื่องอื้อฉาวในอดีตเลย

ในทวีตของโอยามาดะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้กล่าวว่า “ผมรู้สึกอย่างแท้จริงว่าการกระทำและถ้อยคำที่ผมใช้นั้นควรที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้ว” และเขารู้สึก “เสียใจและรับผิดชอบอย่างสุดซึ้ง” สำหรับสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็นการกระทำที่ “ยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างยิ่ง” โอยามาดะเสริมว่าเขารู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว และเขาหวังว่าจะติดต่อคนที่เขาเคยรังแกเพื่อขอโทษเป็นการส่วนตัว

อาโออิ มาตามูระ (Aoi Matamura) เลขาธิการกลุ่มสนับสนุนที่ประกอบด้วยคนพิการทางจิตและผู้ปกครอง กล่าวว่า เรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ไม่ควรจบลงด้วยการลาออกของเขาและเรียกร้องให้โอยามาดะ “อธิบายตัวเองด้วยคำพูดของเขาเอง” และให้คณะกรรมการจัดงานชี้แจงกระบวนการคัดเลือกเขา

โฆษกรัฐบาลระดับสูงของญี่ปุ่น คัตสึโนบุ คาโตะ (Katsunobu Kato) กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “การกลั่นแกล้งและการล่วงละเมิดเป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความพิการหรือไม่ก็ตาม”

ส่วน โยอิจิโร ยามาซากิ (Yoichiro Yamazaki) บรรณาธิการบริหารของ Rockin’On Japan ก็ได้ออกมาขอโทษที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของโอยามาดะโดยกล่าวว่า “มันเป็นการกระทำที่ผิดในแง่ของศีลธรรมและความจริงใจ” “ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหยื่อทุกคนและครอบครัวของพวกเขา รวมถึงผู้ที่รู้สึกไม่พอใจหลังจากได้อ่านเรื่องนี้” ยามาซากิผู้สัมภาษณ์โอยามาดะในเรื่องที่เป็นปัญหานี้กล่าว

Filpper’s Guitar

เคอิโงะ โอยามาดะ เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกวง “Flipper’s Guitar” ร่วมกับ เคนจิ โอซาวะ (Kenji Ozawa) และกลายเป็นผู้บุกเบิกกระแสดนตรีอินดี้ของญี่ปุ่นแห่งทศวรรษ 90s ที่รู้จักกันในนาม Shibuya-Kei ซึ่งบทเพลง “Friends Again” ของ Flipper’s Guitar ได้ถูกนำมาทำเป็นเวอร์ชันไทยเป็นเพลง “กะหล่ำปลี” ของ ‘โจอี้บอย’ นั่นเอง หลังจากยุบวง Flipper’s Guitar โอยามาดะก็ผันตัวเองมาเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม Cornelius ตั้งแต่ปี 1990

Source

1

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส