หลังประสบชัยชนะในสงครามครั้งก่อน ๆ หน้า ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รวมไปถึงสงครามเกาหลี ‘สงครามเวียดนาม’ คือสงครามแรกที่ประเทศมหาอำนาจ ‘ตำรวจโลก’ อย่างสหรัฐอเมริกา ต้องพ่ายแพ้ หลังใช้เวลาร่วม 2 ทศวรรษในการส่งกำลังทหาร กำลังเงิน และกำลังอาวุธ เข้าไปสู่เวียดนามใต้ เพื่อรับมือพวกเวียดกงที่มีเวียดนามเหนือหนุนหลัง ซึ่งไม่ใช่แค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่ยังดึงพันธมิตรเข้ามาวุ่นวายด้วย และไม่ต่างไปจากสงครามครั้งก่อน ๆ หน้า ที่เรื่องราวการรบ ความเป็นไปของสงคราม ผู้คนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบจากสงครามจะถูกนำมาบอกเล่าบนจอภาพยนตร์ และนี่คืองานหนังสงครามเวียดนามที่บอกเลยว่า ‘ห้ามพลาด’ และ ‘ต้องหามาชม’

Apocalypse Now (Credit: Zoetrope Corp.)

APOCALYPSE NOW (1979)

ผู้กำกับ: ฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโพลา (Francis Ford Coppola)

จากหนังสือ ‘Heart of Darkness’ ของ โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) แต่เปลี่ยนที่เกิดเหตุจากเบลเจียน คองโก เป็นเวียดนาม ที่นำเสนอภาพความเลวร้ายของสงคราม ซึ่งเกาะกินผู้คนได้อย่างดิ่งลึก มาร์ติน ชีน (Martin Sheen) เป็นทหารอเมริกันที่ไปปฏิบัติภารกิจลับในป่าลึกของเวียดนาม ด้วยการ ‘เก็บ’ ผู้พันเคิร์ตซ์ (Kurtz) ทหารกรีนเบเรต์ (Green Beret) ที่รับบทโดยมาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ซึ่ง ‘หลุด’ จากความเป็นไปของโลก และทำตัวเหมือนพระเจ้าของผู้คนใต้การปกครอง หนังครบเครื่องทุกด้าน การแสดงโดดเด่น โปรดักชันเนี้ยบ การบอกเล่าประเด็นต่าง ๆ ทั้งสภาพจิตใจของผู้คน ความวิกลจริตและไร้สาระของสงคราม รวมทั้งวิธีคิดแบบจักรวรรดินิยม ถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ จนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพสงครามแบบแอบสแตร็กต์ (Abstract)

ห้ามพลาดเพราะ: แม้ออสการ์จะเมิน แต่นี่คือมาสเตอร์พีซของทั้งค็อปโพลาและหนังสงครามเวียดนาม

The Deer Hunter (Credit: Universal Pictures)

THE DEER HUNTER (1978)

ผู้กำกับ: ไมเคิล ชิมิโน (Michael Cimino)

หนัง 5 รางวัลออสการ์ ซึ่งรวมถึงหนัง, ผู้กำกับ และสมทบชายเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ วอลเคน – Christopher Walken) เรื่องของเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ไปสงครามเวียดนาม โดยหวังจะได้เกียรติยศกลับมา แต่หลังจากโดนเวียดกงจับตัว และตกเป็นผู้เล่นในเกมรัสเซียนรูเล็ตต์ (Russian Roulette) เพื่อความบันเทิงของพวกมัน พวกเขาก็ถูกทำลายโดยสมบูรณ์จากสงคราม ขณะที่หนังสงครามเวียดนามเรื่องอื่นจะมีภาพสงครามที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่หนังเรื่องนี้ซึ่งบางส่วนถ่ายทำในบ้านเรา ‘แตกต่าง’ เมื่อเผยจิตใจที่ถูกทำลายโดยสงครามของคนธรรมดา ๆ จากเมืองเล็ก ๆ ที่ยากจะหาพื้นที่ของตัวเองในโลก เมื่อกลับมาบ้านพร้อมการสูญเสีย สิ้นหวัง และหดหู่ ที่บางคนก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเพื่ออะไร และบางรายก็รับไม่ไหว

ห้ามพลาดเพราะ: งานขึ้นหิ้งที่แสดงให้เห็นว่า สงครามทำความเสียหายให้สังคม หรือศีลธรรมของผู้คนได้ขนาดไหน และยังเปิดทางให้หนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเรื่องต่อ ๆ มา

Full Metal Jacket (Credit: Warner Bros.)

FULL METAL JACKET (1987)

ผู้กำกับ: สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)

การเล่าเรื่องของหนังแบ่งแยกจากกันชัดเจน ครึ่งแรกคือเหตุการณ์ในค่ายฝึก ที่ทารุณทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของเหล่าทหารหน้าใหม่ จนหนึ่งในจำนวนนั้นกลายเป็นฆาตกร ส่วนครึ่งหลังเป็นเรื่องของพลทหารเดวิส (รับบทโดย แมทธิว โมดีน – Matthew Modine) หนึ่งในผู้เข้ารับการฝึกจากครึ่งแรก ที่เผชิญหน้ากับข้าศึกในสงครามเวียดนาม ที่เล่นงานพวกเขาซึ่งผ่านการฝึกให้เป็นนักฆ่าได้อยู่หมัด ทั้งที่… (หาคำตอบได้ในหนัง) ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ความล้มเหลวของการเข้าสู่สงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกาถูกนำเสนอ ครึ่งหลังของหนังไม่ใช่แตกต่างแค่เรื่องราว แต่โทนยังผิดแผกจากกัน จากบรรยากาศเหนือจริงในครึ่งแรก สู่ความสมจริงในครึ่งหลังที่เหมือนตอกย้ำว่า ชัยชนะที่หวังถึงของมหาอำนาจอเมริกัน มันคือเรื่องเพ้อฝัน เพราะความจริงมันโหดร้ายยิ่งกว่า

ห้ามพลาดเพราะ: ความแข็งแรงของครึ่งแรกส่งให้เป็นหนังสงครามเวียดนามคลาสสิก ส่วนประเด็นที่รับต่อโดยครึ่งหลัง ก็ทำให้เห็นว่าสงคราม ‘ฆ่า’ หรือ ‘ทำลาย’ คน ตั้งแต่ยังไม่อยู่ในสนามรบ

Platoon (Credit: Orion Pictures)

PLATOON (1986)

ผู้กำกับ: โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone)

การเล่าเรื่องของตัวละครที่รับบทโดยชาร์ลี ชีน (Charlie Sheen) ไม่ต่างไปจากการเล่าประสบการณ์ตรงของสโตน ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกเวียดนาม หนังเผยสภาพที่ทหารอเมริกันต้องเจอ ในเวียดนามและกลายเป็นสาเหตุความล้มเหลว เมื่อต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้รู้ว่า ศัตรูของตัวเองคือใคร? อยู่ที่ไหน? และจุดมุ่งหมายที่ทำให้ตัวเองต้องมาอยู่ที่นี่? ที่เมื่อรวมเข้ากับความตึงเครียดของเหตุการณ์ มันก็นำไปสู่ความขัดแย้งทั้งระหว่างทหารอเมริกันกับชาวเวียดนาม และระหว่างทหารอเมริกันด้วยกันเอง ความดีกับความเลว ที่กัดกร่อนความเป็นมนุษย์ในตัวไปเรื่อย ๆ จนเกิดโศกนาฏกรรมของผู้บริสุทธิ์ และการฆาตกรรมความบริสุทธิ์ของตัวละคร

ห้ามพลาดเพราะ: คว้าออสการ์หนังเยี่ยมกับผู้กำกับเยี่ยม เป็นหนังเรื่องแรกในไตรภาคสงครามเวียดนามของสโตน ที่ตามมาด้วย ‘Born on the Fourth of July’ และ ‘Heaven & Earth’ และติดทุกลิสต์ของหนังสงครามเวียดนามยอดเยี่ยมหรือต้องดู

Born on the Fourth of July (Credit: Universal Pictures)

BORN ON THE FOURTH OF JULY (1989)

ผู้กำกับ: โอลิเวอร์ สโตน

จากเรื่องของตัวเอง (‘Platoon’) สโตนหยิบเอาเรื่องของรอน โควิก (Ron Covic) ‘คอหนัง’ (ฉายาของนาวิกโยธิน ที่ได้มาเพราะมีการสอดแผ่นหนังลงในเครื่องแบบบริเวณคอเสื้อ) ในสงครามเวียดนาม ที่กลายมาเป็นพวกแอนตี้สงคราม มาขึ้นจอ ที่ทำให้ได้ออสการ์กำกับเยี่ยมตัวที่ 2 และ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ในบทโควิกที่ไม่ใช่โควิดได้ชิงนำชาย หนังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมอเมริกัน ปฏิบัติต่อทหารหาญได้อย่างถึงแก่น โดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม ผ่านชีวิตและประสบการณ์ของโควิก นับตั้งแต่จากปลุกเร้าจนเหมือนเป็นฮีโรในตอนเริ่มต้น และเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งเมื่อกลับมาอย่างผู้แพ้ ในสงครามที่มีผู้คนไม่เห็นด้วย แล้วเมื่อต้องอยู่ในสภาพของคนพิการ อัมพาตท่อนล่าง ต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต (พวก) เขาก็เหมือนกับถูกหักหลัง และกลายเป็นแรงขับให้เจ้าตัวไปอยู่ขั้วตรงข้าม

ห้ามพลาดเพราะ: หนังยังชิงออสการ์หนังกับบทดัดแปลงยอดเยี่ยม ส่วนบทรอน โควิกก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการแสดงที่ ‘ดี’ ที่สุด ที่ทอม ครูซ มอบให้กับโลกใบนี้

Good Morning, Vietnam (Credit: Buena Vista Pictures)

GOOD MORNING, VIETNAM (1987)

ผู้กำกับ: แบร์รี เลวินสัน (Barry Levinson)

เด่นด้วยการแสดงที่เป็นการด้นสดของโรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ในบทแอเดรียน โครนาวร์ (Adrian Cronauer) ดีเจสถานีวิทยุกล่อมขวัญทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม ที่มีตัวตนอยู่จริง หนังนำเสนอมุมมองของสงครามผ่านสายตาคนที่ไม่ได้อยู่ในสนามรบ ทำให้ได้เห็นภาพใหม่ ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องการนำเสนอข่าวสาร ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่บางครั้ง ‘ความจริง’ ก็ควรพูดในตอนปิดไมค์ และในความโหดเหี้ยมของสงคราม ก็มีความอบอุ่นและสวยงามให้สัมผัส แต่ก็อาจถูกทำลายได้ในพริบตา หลังความรุนแรง อัปลักษณ์ของสงคราม ก้าวเข้ามา เช่นที่โครนาวร์ได้รับรู้ และทำให้ความคิดต่อสงครามของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ห้ามพลาดเพราะ: หากบอกว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุด เต็มไปด้วยพลังที่สุดของวิลเลียมส์ก็คงได้ หนังก็นำเสนออีกด้านของสงครามและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้คนได้อย่างลงตัว เป็นขั้นเป็นตอน และมี … จินตหรา สุขพัฒน์ในบทสาวเวียดนาม ที่วิลเลียมส์ตามตื๊อ

Casual of War (Credit: Sony Pictures)

CASUALTIES OF WAR (1989)

ผู้กำกับ: ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma)

ได้แรงบันดาลใจจากบทความของ แดเนียล แลง (Daniel Lang) ในนิวยอร์กเกอร์ เมื่อปี 1968 ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ในปี 1966 ที่สาวเวียดนามคนหนึ่งถูกพาตัวไปจากหมู่บ้านโดยทหารอเมริกัน ก่อนที่จะถูกข่มขืนแล้วฆ่า หนังแสดงด้านมืดของสงครามได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาเลือกจะใช้อำนาจตามความพอใจของตัวเอง และความเห็นแย้งจากทหารชั้นผู้น้อย กลายเป็นการท้าทายสายการบังคับบัญชา และสร้างความวุ่นวาย เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนล้วนได้รับบาดแผลจากสงครามเช่นที่ชื่อหนังว่าเอาไว้

ห้ามพลาดเพราะ: นอกจากภาพชีวิตทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม ที่ไม่ได้สวยงาม และต้องต่อสู้กับตัวเอง และพวกเดียวกันเอง เมื่อการละเมิดศีลธรรมเกิดขึ้น ยังเป็นการขึ้นจอในบทหนัก ๆ ของ ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ (Michael J. Fox) ที่เล่นเป็นพลทหารที่รักความถูกต้อง ประกบกับนายอย่าง ฌอน เพนน์ (Sean Penn) อีกด้วย

Rescue Dawn (Credit: MGM)

RESCUE DAWN (2006)

ผู้กำกับ: เวอร์เนอร์ เฮอร์ซ็อก (Werner Herzog)

เรื่องของดีเทอร์ เดงเลอร์ (Dieter Dengler) นักบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เครื่องถูกยิงตกในลาว ปี 1966 ระหว่างปฏิบัติภารกิจในสงครามเวียดนาม เขาถูกจับขังและทรมานอยู่นานหลายเดือน ก่อนจะหนีออกมา โดยต้องเดินทางผ่านป่าทึบ และหาทางรอดจากการตามล่าถึง 3 สัปดาห์ ถึงได้รับความช่วยเหลือ หนังได้ คริสเตียน เบล (Christian Bale) มาเป็นเดงเลอร์ ซึ่งอุทิศตัวให้กับบทอย่างเต็มที่ ทั้งการแสดงและภาพลักษณ์ที่ต้องกลายเป็นคนขาดอาหาร และถูกทรมานในสถานที่คุมขัง

ห้ามพลาดเพราะ: นี่คืองานที่นำเสนอภาพเชลยศึกในสงครามได้อย่างน่าพรั่นพรึง ขณะที่การเดินทางสู่อิสรภาพของตัวละคร ก็เป็นอีกหนึ่งการต่อสู้ครั้งสำคัญ ทั้งกับตัวเอง และสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเฮอร์ซ็อกสามารถสร้างบรรยากาศเฉพาะที่น่าทึ่ง จากงานด้านภาพและดนตรีประกอบ จนกลายเป็นอีกตัวละครหรือองค์ประกอบสำคัญของเรื่องได้สำเร็จ

Hamburger Hill (Credit: Vestron Video)

HAMBURGER HILL (1987)

ผู้กำกับ: จอห์น เออร์วิน (John Irvin)

เพราะออกฉายในปีเดียวกับหนังสงครามเวียดนามเรื่องเยี่ยม ๆ อย่าง ‘Good Morning, Vietnam’ และ ‘Full Metal Jacket’ เลยที่ถูกมองข้าม เพราะไม่ใช่งานของผู้กำกับใหญ่ ไม่มีนักแสดงดัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นงานที่อยู่ในลิสต์หนังสงครามเวียดนามที่ห้ามพลาด โดยมีที่มาจากเหตุการณ์จริงสมรภูมิเลือดในวันที่ 10-21 พฤษภาคม 1969 ที่เนินแฮมเบอร์เกอร์ หรือเนิน 937 ซึ่งกองทหารอเมริกันเสียกำลังพลไปไม่น้อย ว่ากันว่าถึงราว ๆ 500 นาย และบาดเจ็บอีกนับร้อย สภาพจิตใจและร่างกายของทหารแต่ละรายก็ถูกเล่นงานอย่างหนัก กว่าจะบุกยึดสำเร็จ แต่ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ถอนหารออกไป

ห้ามพลาดเพราะ: แสดงให้เห็นความไร้สาระ หรือการวางกลยุทธ์แบบไม่มีจุดหมาย ในสมรภูมิครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกาอย่างเด่นชัด รวมถึงนำเสนอภาพการรบได้อย่างดุเดือดสมจริง

Coming Home (Credit: United Artists)

COMING HOME (1978)

ผู้กำกับ: ฮัล แอชบี (Hal Ashby)

งานดรามาที่อยู่ใต้เงาแห่งความสำเร็จของ ‘The Dear Hunter’ ที่ออกฉายในปีเดียวกัน แม้จะทำให้จอน วอยต์ (Jon Voight) และเจน ฟอนดา (Jane Fonda) คว้ารางวัลออสการ์นำชายและหญิงก็ตาม ฟอนดารับบทเป็นหญิงสาวที่ระหว่างสามีไปรบในเวียดนาม ก็มาเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก และได้เจอทหารผ่านศึกเวียดนามที่กลายเป็นอัมพาตท่อนล่าง (วอยต์) และมีความสัมพันธ์กัน โดยฝ่ายชายยังต้องหาสมดุลของชีวิตอีกครั้ง หลังผ่านประสบการณ์ในสงคราม แล้วมาเจอกับการไม่เป็นที่ต้อนรับของประเทศบ้านเกิดเมืองนอน

ห้ามพลาดเพราะ: ไม่ใช่แค่ได้รางวัลนำชายและหญิง หนังยังเข้าชิงรางวัลแกรนด์สแลมของออสการ์ครบอีกด้วย

BONUS:

ยังมีหนังสงครามเวียดนามที่น่าสนใจ และน่าหามาชมอีกหลายเรื่อง อาทิ ‘We Were Soldiers’ การรบครั้งแรกของทหารอเมริกันกับเวียดนามเหนือในสมรภูมิที่ลาดรัง (La Drang) ซึ่งได้รับคำชมสำหรับการสร้างฉากรบ, ‘First Blood’ หนัง ‘Rambo’ เรื่องแรก ที่แสดงให้เห็นการปฏิบัติที่คนอเมริกันบางกลุ่ม กระทำต่อทหารผ่านศึกเวียดนาม ซึ่งนำเสนอได้อย่างสุดขั้วแบบหนังแอ็กชัน ที่แม้จะมีหนังภาคต่อตามมา แต่ก็เพื่อความบันเทิงมากกว่าจะมีหมายเหตุทางสังคม เช่นเรื่องนี้, ‘Birdy’ ผลพวงจากสงครามที่เกิดกับร่างกายและจิตใจของทหาร ที่บอกเล่าผ่านตัวละคร 2 คน ที่รับบทได้อย่างยอดเยี่ยมโดย แมทธิว โมดีน และนิโคลาส เคจ (Nicolas Cage), หนังเอเชียก็มี ‘Bullet in the Head’ ของจอห์น วู (John Woo) ซึ่งนำเสนอภาพความวุ่นวายช่วงสงครามพีกสุด ๆ ที่หลาย ๆ คนเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจเทา ๆ ดำ ๆ ที่เมื่อรวมเข้ากับการเอาตัวรอด ก็สามารถทำลายมิตรภาพของใครหลาย ๆ คนได้ รวมถึงหนังสงครามเวียดนาม ‘Da 5 Blood’ ของสไปก์ ลี (Spike Lee) ที่เหมือนจะประกาศออกมาว่า นอกจากคนผิวขาวที่ไปรบในสงครามเวียดนาม คนผิวดำก็มี แล้วก็เสียชีวิต และได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน

อ้างอิง:
01 02 03 04 05

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส