‘จรัล มโนเพ็ชร’ คือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของไทยผู้ได้รับฉายาว่า “ราชาโฟล์กซองคำเมือง” ผู้ทำให้วัฒนธรรมและบทเพลงล้านนาโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วประเทศผ่านบทเพลงที่จรัลได้เรียงร้อยถ้อยภาษาและท่วงทำนองของดนตรีลงไปกว่า 200 เพลงในช่วงเวลากว่า 25 ปีของชีวิตศิลปินกับบทเพลงอันงดงามราวบทกวีที่เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังได้อย่างตรงตรึง

3 กันยายน คือวันครบรอบการจากไปของ “ราชาโฟล์กซองคำเมือง” ท่านนี้ ที่ล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว ถึงแม้กายจะจากไปแต่จิตวิญญาณและความงดงามที่จรัลได้สร้างสรรค์ไว้ยังคงอยู่ในบทเพลงทั้งหลายของเขา และยังคงร่ายมนต์สะกดใจผู้ฟังให้ตราตรึงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลัง 9 บทเพลงอันเป็นอมตะของราชาโฟล์กซองคำเมือง ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ที่คุณอาจไม่เคยได้รู้มาก่อน

อุ๊ยคำ

อุ๊ยคำคือหญิงชราที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดพันแหวนใกล้บ้านจรัล มโนเพ็ชรและเก็บผักบุ้งอยู่ที่หนองจรินซึ่งอยู่ในละแวกวัดนั้น แกปลูกกระท่อมอยู่เพียงลำพังเพราะผัวแกตายจากไปก่อน และลูกสาวก็หนีตามผู้ชายไป ชาวบ้านมักมองว่าแกเป็นคนแก่ที่มีความทุกข์ใกล้จะแก่ตาย ลูกหลานก็ทิ้ง ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ จรัลในวัยเด็กชอบไปวิ่งเล่นแถว ๆ นั้นเลยได้มีโอกาสคุยกับแกอยู่บ่อย ๆ และด้วยความที่แกเป็นช่างซอคือช่างขับร้องเพลงทางเหนือมาก่อน แกก็มักจะซอให้กับจรัลฟังสร้างความประทับใจให้จรัลเลยไปหาแกบ่อย ๆ ในสายตาของจรัลแกคือหญิงชราที่มีความสุข มีก็กิน ไม่มีก็ไม่เป็นไร ทำงานด้วยความสบายใจไม่น้อยเนื้อต่ำใจ มีกิจกรรมภายในหมู่บ้านอะไรแกก็ไปช่วยจนเป็นที่รักของชาวบ้าน

วันหนึ่งจรัลไปหาแกก็ไม่พบ อีกวันสองวันมาอีกก็ไม่พบจึงตามไปดูที่กระท่อมจึงพบว่าอุ๊ยคำตายอยู่ในกระท่อมอย่างสงบ ตอนนั้นจรัลมีอายุเพียง 10 ปีเรื่องราวนี้ได้ฝังอยู่ในใจเขามาโดยตลอดจนกระทั่งได้มาเที่ยวกรุงเทพ ฯและเห็นคนแก่ผอมโซจึงนึกถึงอุ๊ยคำและเขียนเนื้อเพลงไว้บนซองบุหรี่ว่า ‘อุ๊ยคำคนแก่’ ก่อนที่จะกลับไปเชียงใหม่และเขียนเรื่องนี้ออกมาให้กระชับและใกล้เคียงกับชีวิตของแกมากที่สุด

ในเรื่องของเนื้อเพลงจรัลมีการผสมใช้คำเมืองผสมกับคำไทยกลางโดยคำเมืองที่ใช้ก็เป็นคำที่เข้าใจง่ายและจรัลได้พยายามแต่งเนื้อด้วยการใช้คำซ้ำใช้วิธีย้ำคำในแต่ละท่อนเพื่อให้คนฟังรับรู้ว่าอุ๊ยคำเป็นคนแก่ที่ใจดีแต่มีชีวิตที่น่าสงสารเพื่อให้คนฟังเกิดความสงสารสะเทือนใจแต่ไม่ต้องการให้เกิดความสลดสังเวชใจ พยายามจะให้คนมองเห็นถึงคนแก่คนหนึ่งที่มีความสุขในท่ามกลางสายตาของคนอื่นที่มองว่าแกมีความทุกข์

ทำนองของเพลงนี้จรัลเอามาจากเพลงสวดผสมเข้ากับเพลงของ Peter Paul and Mary และมีการดัดแปลงเติมตัวโน้ตเข้าไปตัดของเก่าออกไปเติมของใหม่เข้ามาจนลงตัว อีกเสน่ห์หนึ่งของเพลงนี้คือการเอาเสียงระฆังเข้ามาใส่ในตอนท้ายซึ่งจรัลได้ใช้เวลาในการเลือกระฆังหลายใบเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการจุดประสงค์ก็เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และสร้างความรู้สึกวังเวงให้กับบทเพลง ซึ่งเสียงระฆังนี้ก็ชวนให้ผู้ฟังตีความไปได้หลายทางอาจจะสื่อถึงความศรัทธาหรือว่าสื่อถึงความวังเวงของคนที่สิ้นหวังในชีวิตก็อาจจะเป็นได้ หรือในบางคนถ้าเชื่อมกับบริบทของชาวเหนือก็จะพบว่าการชักระฆังของพระนั้นมักจะใช้สำหรับคนแก่ที่สำคัญในหมู่บ้านในเวลาที่จะเอาศพของคนสำคัญคนนั้นไปเผาในแง่นี้ก็อาจจะสื่อได้ว่าอุ๊ยคำคือคนสำคัญสำหรับชาวบ้านก็เป็นได้

มิดะ

มิดะ บทเพลงโฟล์กซองคำเมืองสุดละมุนและไพเราะเพลงนี้คือบทเพลงที่มีประเด็นให้พูดถึงกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อร้องของบทเพลงนี้เล่าถึง ‘มิดะ’ หญิงสาวชาวอาข่าที่ ‘เป็นหมันและเป็นหม้าย’ ซึ่งได้ถูกคัดเลือกให้ทำหน้าที่ส่งมอบความรู้ทาง ‘กามวิธี’ ให้หนุ่มน้อยในหมู่บ้านนอกจากนี้ยังมีการพูดถึง ‘ลานสาวกอด’ ที่ในบทเพลงได้สื่อว่าเป็นเวทีสาธารณะสำหรับกิจกรรมทางเพศทำให้ชาวอาข่ามีการขอให้ห้ามเผยแพร่บทเพลงนี้เพราะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวอาข่า

ส่วนที่มาของคำว่า ‘มิดะ’ นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2492 ในหนังสือ 30 ชาติในเชียงรายซึ่งเขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และหลังจากนั้นก็มีหนังสืออีกหลายเล่มที่พูดถึงมิดะ และได้กลายมาเป็นบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชรในที่สุดทำให้เรื่องราวนี้มีความโด่งดังจนกลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมา และก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวอาข่าในหลายชุมชนที่ถูกล่วงละเมิดเพราะความเข้าใจผิดจากคนภายนอกที่คิดว่าสามารถกอดผู้หญิงอาข่าคนไหนก็ได้เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน ส่วนผู้หญิงชาวอาข่าที่ไปเป็นลูกจ้างหรือทำงานบริการก็ถูกเข้าใจผิดว่าสามารถทำได้แบบเดียวกันกับในบทเพลง บทเพลงนี้จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เห็นถึงมิติของความเป็นวาทกรรมของคำว่า ‘มิดะ’ และ ‘ลานสาวกอด ก่อให้เกิดความผิดพลาดของอัตลักษณ์ของชาวอาข่า ซึ่งจรัล มโนเพ็ชรไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้แต่เป็นด้วยความเข้าใจผิดที่สืบสานต่อกันมาผ่านข้อมูลที่มีความผิดพลาด

ในความเป็นจริงแล้วคำว่า ‘มิดะ’ มาจากคำในภาษาอาข่าที่ใช้ว่า ‘หมี่คะ’ หมายถึงหญิงสาวที่บริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อนเท่านั้นและในสังคมของชาวอาข่าก็ไม่เคยมีหญิงหรือชายที่ทำหน้าที่สอนเรื่องเพศด้วยส่วนลานสาวกอดนั้นเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นหมายถึงลานดินอันเป็นสถานที่สำหรับร้องรำทำเพลงตามประเพณีหรือเป็นลานวัฒนธรรมของหมู่บ้านที่ชาวอาข่าเรียกว่า ‘แดข่อง’ ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยว่าลานสาวกอดนั่นเอง ส่วนคำว่า ‘กะลาล่าเซอ’ ในภาษาอาข่า ‘กะลา’ หมายถึงคนนอกหรือฝรั่ง ‘ล่าเซอง หมายถึงชิงช้า กะลาล่าเซอจึงหมายถึงชิงช้าฝรั่งที่มีลักษณะเหมือนชิงช้าสวรรค์นั่นเอง

น้อยใจยา

น้อยใจยาคือบทเพลงจากอัลบั้มชุดที่ 2 ของจรัลที่เป็นการนำเอาเพลงพื้นบ้านล้านนามาเล่นด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกทำให้ชื่อเสียงของจรัล มโนเพ็ชรดังในชั่วข้ามคืน

น้อยใจยาคือบทละครที่ ‘พระราชชายาเจ้าดารารัศมี’ ต้องการแต่งขึ้นมาเพื่อไว้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะเสด็จประพาสเชียงใหม่ โดยผู้แต่งก็คือ ‘ท้าวสุนทรพจนกิจ’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกลอนจีบสาวที่เรียกว่า ‘แต่งค่าว’ ส่วนทำนองเพลงนั้นมีที่มาจากทำนอง ‘ล่องน่าน’ ซึ่งเป็นทำนองเก่าแก่ของไทลื้อซึ่งเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นทำนอง ‘ลานนา’ และกลายเป็นทำนองของคนพื้นบ้าน ดนตรีของจรัลในบทเพลงน้อยใจยามีการผสมผสานกันระหว่างดนตรีเก่าและดนตรีที่เขียนขึ้นใหม่ซึ่งโดยปกติรูปแบบดนตรีทางเหนือจะเหมือนดนตรีไทยเดิมคือเล่นซ้ำตอนกันให้ยาว ๆ  สำหรับเหมาะกับการใช้ฟ้อนรำ จรัลเลยตัดทำนองที่ซ้ำออกและเอาทำนองใหม่มาเสริมต่อเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องดนตรีสากลมาเล่นบทเพลงนี้ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนจรัลได้ใช้ขลุ่นฝรั่งเล่นแทนขลุ่ยไทยเพื่อให้ได้ลมที่แน่นอน โน้ตที่แม่นยำและคีย์เท่ากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้แมนโดลินมาแทนเสียงซึงซึ่งให้ขอบข่ายของเสียงกว้างกว่า นอกจากนี้จรัลยังเรียบเรียงเสียงประสานของดนตรีใหม่ด้วยการเอาขลุ่นสองตัวให้เป่าไปคนละทาง คนละทำนองแล้วเอามารวมกัน และใช้เสียงซึงจากแมนโดลินเป็นเมโลดี้ ทำให้คนฟังรู้สึกว่าเหมือนของเก่าทำให้ได้อารมณ์เหมือนกับเพลงพื้นบ้านเพียงแต่ใช้เครื่องดนตรีสากลเท่านั้นเอง เพลงนี้เป็นเพลงที่ทำให้จรัลถูกด่ามากที่สุดแต่ถึงอย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ได้รับหลังจากนั้นก็เป็นเครื่องยืนยันว่าจรัลได้มาถูกทางแล้ว

ในส่วนของเนื้อร้องนั้นผู้ฟังทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจในความหมายแต่จรัลนั้นมั่นใจว่าพวกเขาจะรับรู้และรู้สึกถึงบทเพลงได้เป็นอย่างดีเพราะผู้ฟังนั้นรับรู้ด้วยอารมณ์ ด้วยสำเนียง ด้วยการออกเสียง มากกว่าจะรับรู้ด้วยความหมายของเพลง

พี่สาวครับ

เป็นอีกหนึ่งในเพลงฮิตที่สุดของจรัล มโนเพ็ชรที่ผู้คนรู้จักกันอย่างมากมายร้องตามได้กันทั่วบ้านทั่วเมืองด้วยความน่ารักขี้เล่นของบทเพลงนี้ ที่มาของเพลงนี้แต่เดิมเป็นเพลงอยู่ในกองเชียร์ของวิทยาลัยเทคนิคที่จรัล มโนเพ็ชรศึกษาอยู่ เขาเลยเอาทำนองของเพลงนี้มาใช้แล้วเพิ่มเติมเข้าไปโดยตั้งใจจะแต่งขึ้นมาเพื่อกลุ่มจะได้เป็นเพลงของกลุ่ม ส่วนเนื้อเพลงนั้นจรัลได้แรงบันดาลใจจากตัวเองที่ตอนเรียนหนังสือไม่ว่าจะเรียนอะไรเพื่อนก็กลายเป็นพี่ไปหมด เพราะตัวเองอายุน้อยกว่าคนอื่นเสมอ ชีวิตเลยผูกพันกับคนอายุมากกว่า แต่จุดประสงค์ของเพลงไม่ได้ตั้งใจจะใช้เป็นเพลงจีบสาวอะไรแค่อยากให้เป็นเพลงสนุกสนานสำหรับกลุ่มเพื่อน ๆ นักศึกษา

สาวมอเตอร์ไซค์

เพลงสาวมอเตอร์ไซค์เป็นเพลงที่มีต้นฉบับมาก่อน จรัลได้ยินเพลงนี้จากการเป็นเพลงร้องกันอยู่ในโรงรำวง จรัลพยายามตามหาเจ้าของต้นฉบับเพลงนี้เพื่อที่จะให้เขามีสิทธิ์มีส่วนรับความภาคภูมิใจไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจหาพบ จรัลเริ่มต้นตามหาต้นฉบับของเพลงนี้ที่แม่กระจานซึ่งจรัลได้ยินเรื่องราวว่ามีชายคนหนึ่งเป็นคนหัวรุนแรงด้านดนตรีชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจและรุนแรงด้านการเมืองด้วย แต่พอติดเหล้าติดบุหรี่ติดยาอยู่บ้านไม่นานก็แขวนคอตาย หลายคนบอกว่าชายคนนี้คือผู้แต่งเพลงนี้แต่ด้วยความที่เจ้าตัวได้เสียชีวิตไปแล้วจรัลก็เลยไม่อาจรู้ได้ว่าเขาคือคนที่แต่งเพลงนี้จริงหรือเปล่าถึงแม้ชาวบ้านจะต่างยืนยันว่าใช่ก็ตาม จากนั้นจรัลเลยต้องตามไปที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งชาวบ้านที่นี่ก็บอกว่าได้มาจากบ้านคำ อำเภอแม่จัน สุดท้ายจรัลก็เลยตามไปที่บ้านแม่คำ ซึ่งคนที่นั่นก็บอกว่าเป็นเพลงของเขาแต่ไม่ได้แต่งเองทั้งหมดเอามาปรับแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกที จรัลเลยขอลิขสิทธิ์เพลงนี้จากชาวบ้าน และเอาเนื้อเก่าซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านมาใช้แต่ทำให้เรียบง่ายขึ้น

เอื้องผึ้ง-จันผา

จากตำนานโศกนาฏกรรมรักมาสู่บทเพลงโฟล์กซองคำเมืองที่เอาเสียงสะล้อ ซอ ซึงของดนตรีพื้นเมืองล้านนามาผสานกับดนตรีร่วมสมัยได้อย่างงดงามละมุนเศร้า บทเพลงนี้มีที่มาจากตำนานโศฏนาฏกรรมรักของเอื้องผึ้งและจันผาที่สัญญาว่าจะรักกันตลอดไป ถ้าหากแม้นคนหนึ่งตายไปอีกคนหนึ่งก็ไม่ขออยู่ต่อ แต่แล้วก็ได้เกิดเหตุเศร้ากับหนุ่มสาวคู่นี้เมื่อหนุ่มจันผาพาสาวเอื้องผึ้งไปเที่ยวที่ดอย เขาเห็นดอกไม้ชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอมงอกอยู่ที่ต้นไม้ริมผาจึงคิดจะเก็บมาให้สาวเอื้องผึ้งคนรักของตนจึงปีนไปเก็บดอกไม้ชนิดนั้นมา แม้เอื้องผึ้งจะห้ามแต่จันผาก็อยากจะทำให้ได้ตามปรารถนาเพื่อคนที่ตนรัก จนสุดท้ายจันผาได้พลาดตกลงไปในเหวและเสียชีวิต ณ ที่ตรงนั้น เอื้องผึ้งได้แต่ร่ำไห้หัวใจแตกสลาย นึกถึงคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อกันว่าหากแม้นคนหนึ่งตายไปอีกคนหนึ่งก็ไม่ขออยู่ต่อ จึงวิ่งเอาหัวชนกับแง่หินที่หน้าผาตายตามจันผาคนรักของเธอไป และในกาลต่อมาดอกไม้ที่จันผาพยายามจะเก็บนั้นจึงได้ถูกตั้งชื่อว่า ‘ดอกเอื้องผึ้ง’ ส่วนที่ ๆ จันผาตกลงไปก็มีต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกขึ้นมาซึ่งผู้คนได้เรียกว่า ‘ต้นจันผา’ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งคู่นั่นเอง

สาวเชียงใหม่

เพลงสาวเชียงใหม่เป็นบทเพลงที่ถูกแต่งและสร้างขึ้นมาเพื่อ ‘สุนทรี เวชานนท์’ นักร้องคู่ขวัญของจรัล มโนเพ็ชร ที่ทำให้ ‘จรัล มโนเพ็ชร-สุนทรี เวชานนท์’ กลายเป็นชื่อคู่ที่ถูกเรียกขานในฐานะนักร้องคู่ขวัญของวงการเพลงโฟล์กซองคำเมือง เมื่อสุนทรี เวชานนท์ได้มอบเสียงร้องอันไพเราะให้กับบทเพลงนี้ผ่านท่วงทำนองและถ้อยภาษาที่เรียงร้อยออกมาจากความเป็นกวีของจรัล เสน่ห์และความงามของสาวเชียงใหม่ก็ลอยออกมาสัมผัสใจของผู้ฟังในทันที

เพลงนี้นอกจากจะเป็นบทเพลงดังจากปลายปากกาของจรัลแล้วยังได้กลายมาเป็นบทเพลงประจำตัวของสุนทรี เวชานนท์เจ้าของร้านอาหาร ‘เรือนสุนทรี’ ที่เติบโตมาจากร้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำปิง ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปนานกี่ปีก็ตามเธอก็ยังคงร้องบทเพลงนี้อยู่เสมอ

มะเมียะ

อีกบทเพลงหนึ่งที่จรัลแต่งให้กับสุนทรีร้องและโด่งดังไม่แพ้กับเพลงสาวเชียงใหม่ก็คือ ‘มะเมียะ’ นั่นเอง เพลงนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าศุขเกษม ณ เชียงใหม่เจ้าชายรูปงามชาวเชียงใหม่กับมะเมียะแม่ค้าสาวชาวพม่า  ในสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ล้านนา ก่อนตะวันจะพรากฟ้าของวิลักษณ์ ศรีลำปาง นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับ 2884 วันที่ 26 มกราคม 2553 ได้กล่าวถึงเรื่องราวความรักสะเทือนใจของหนุ่มสาวคู่นี้เอาไว้ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ได้ส่งเจ้าชายรูปงามไปเรียนหนังสือที่เมืองมะละแหม่งประเทศพม่า ได้พบกับสาวงามเชื้อชาติศัตรูของแผ่นดินเป็นแม่ค้าขายหมากเมี้ยงบุหรี่ไร้ค่า เจ้าพ่อเจ้าแม่ไม่พึงใจเมื่อเจ้าชายพาภรรยากลับมาเชียงใหม่จำต้องให้แยกทางกัน ฝ่ายหญิงเสียใจบวชเป็นชีตลอดชีวิต ฝ่ายเจ้าชายผู้มีรักแท้ก็ตรอมใจตายในที่สุด ซึ่งเรื่องราวของมะเมียะนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายให้ได้ถกเถียงและตีความ บ้างก็มีการตีความในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสมระหว่างชาติตระกูล ทำให้เรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มสาวคู่นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่าเรื่องจริง ๆ  นั้นเป็นเช่นใดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

รางวัลแด่คนช่างฝัน

‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’ บทเพลงแห่งการให้ความหวังและกำลังใจอันงดงาม เพลงนี้จรัลแต่งขึ้นมาในช่วงที่กำลังมีความยุ่งยากในบ้านเราเมื่อประมาณปี พ.ศ.2527 ซึ่งจรัลได้สั่งสมความรู้สึกขัดข้องใจและกำลังมองหาจากสังคมว่าผู้คนที่เคยต่อสู้ ผู้คนที่กล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น ผู้คนที่เคยร่วมแรงร่วมใจกันนั้นหายไปไหนหมด หรือว่าลืมคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ไปนานแล้ว ด้วยความรู้สึกว่าความหวังยังมีอยู่ การต่อสู้ต้องใช้พลัง จรัลเลยเขียนบทเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นพลังให้แด่ผู้กล้าที่พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

ในตอนแรกไม่มีใครคาดคิดว่าบทเพลงนี้จะกลายเป็นเพลงเอกของชุด “เอื้องผึ้ง จันผา” แต่สุดท้ายแล้วบทเพลงนี้กลับดังยิ่งกว่าดัง ถูกนำไปคัฟเวอร์ซ้ำหลายต่อกลายเวอร์ชันแม้จนทุกวันนี้ก็ยังมีศิลปินรุ่นใหม่นำเอาเพลงนี้กลับมาทำใหม่เช่นเวอร์ชันของ INK WARUNTORN กับ SEASON FIVE

จรัลได้เคยกล่าวว่าพลังของเพลงนี้อยู่ที่ตัวคนร้องและหัวใจของมันคือความจริงใจและความรู้สึก เมื่อจะร้องเพลงนี้ ผู้ร้องจะต้องรู้สึกเพื่อผู้อื่น อย่าคิดถึงตัวเองเป็นอันขาด เพราะเป็นรางวัลแด่คนช่างฝัน ไม่ใช่รางวัลเพื่อผู้ร้องเพลง แต่ผู้ร้องต้องมอบต่อผู้อื่น

Source

สิเหร่.(2552).คือรางวัลแด่คนช่างฝัน จรัล มโนเพ็ชร. กรุงเทพ ฯ : ใบไม้ป่า

คีตา พญาไท.(2556).ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง. กรุงเทพ ฯ : แสงดาว

Silpa-mag

พร่างเพชรในเกร็ดเพลง

ChiangmaiNews

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส