แวดวงวิทยาศาสตร์มีอะไรมาให้เราได้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเชื่อว่าการศึกษา “เพนกวิน” อาจทำให้เราไขความลับของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จากนอกโลกได้ หลังจากพวกเขาตรวจพบฟอสฟีน (Phosphine – PH3) ซึ่งเป็นสารเคมีบนดาวศุกร์ในมูลของนกเพนกวิน

ก่อนอื่นขอเล่าถึงก๊าซฟอสฟีนก่อนสักนิด เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 14 กันยายน 2563 นักดาราศาสตร์ได้เผยว่า พวกเขาค้นพบโมเลกุลก๊าซฟอสฟีนบนดาวศุกร์และตีพิมพ์บทความการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Nature Astronomy ซึ่งก๊าซชนิดนี้เป็นสารชีวโมเลกุลที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต ถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ที่ต่อยอดการศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะสาเหตุนี้เองทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจว่าก๊าซชนิดนี้มาอยู่ในมูลของเพนกวินได้อย่างไร ในเมื่อโลกอยู่ห่างจากดาวศุกร์มากกว่า 38 ล้านไมล์หรือราว ๆ 61 ล้านกิโลเมตร

Penguin

ด็อกเตอร์เดฟ คลีเมนต์ส (Dave Clements) จากวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน เปิดเผยกับเว็บไซต์ the Daily Star ว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นว่าฟอสฟีนที่พวกเขาค้นพบเป็นของจริง อย่างไรก็ตามเขาก็ยอมรับว่าไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

“มีแบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic bacteria) บางชนิดเป็นตัวการทำให้เกิดฟอสฟีน ซึ่งเราพบมันในเครื่องในของแบดเจอร์และมูลนกเพนกวิน มันอาจเป็นกลไกการป้องกันตัวหรือสัญญาณของการต่อต้านแบคทีเรียก็ได้” เพื่อค้นหาคำตอบนี้ พวกเขาจึงวางแผนตามติดชีวิตของเพนกวินเจนทู (Gentoo penguin) ที่พบได้มากบริเวณหมู่เกาะฟอล์กแลนด์และจะทำการศึกษาพวกมันเพื่อไขความลับจักรวาลข้อนี้ต่อไป

อ้างอิง อ้างอิง 2