ในหลาย ๆ ครั้ง อุปสรรคด้านความไม่ถึงพร้อมในความสามารถ ก็ไม่ใช่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์จินตนาการ ขอเพียงกระบี่อยู่ที่ใจ เหมือนกับหญิงชราชาวอินเดียคนนี้ ที่มีความสามารถและจินตนาการด้านบทกวีอย่างเต็มเปี่ยม แต่ดันติดอยู่ที่เธอนั้นไม่รู้ภาษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลยสักตัวอักษร เธอจึงคิดค้นภาษาของตัวเองเพื่อใช้ประพันธ์บทกวีซะเลย!

เว็บไซต์ ‘Vice’ ได้ลงบทความเกี่ยวกับหญิงชราชาวอินเดียคนหนึ่งที่มีความสามารถทางด้านการประพันธ์บทกวี หญิงชราคนนี้มีชื่อว่า ‘ซารีฟา แจน (Zareefa Jan)’ วัย 65 ปี อาศัยอยู่ในเขต ‘บาติโพรา’ (Bandipora) ทางตอนเหนือของรัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย แม้ว่าเธอจะเป็นชาวมุสลิมนิกายซูฟี (Sufis) ที่อาศัยอยู่ในอินเดีย และสามารถพูดภาษาท้องถิ่นแคชเมียร์ได้ แต่ด้วยความที่เธอเองไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนเลยสักครั้ง ทำให้เธอไม่สามารถอ่านออกและเขียนได้

ภาษา บทกวี อินเดีย
‘ซารีฟา แจน (Zareefa Jan)’

แม้เธอจะไม่มีความสามารถด้านการอ่านและการเขียน แต่เธอก็ค้นพบพรสวรรค์ในด้านการแต่งบทกวีเมื่อตอนที่เธออายุประมาณ 30 ปี ช่วงที่เธอแต่งงานใหม่ ๆ เธอเล่าว่า เธอได้เดินไปตักน้ำในลำธาร ณ วันนั้น เธอเกิดความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในภวังค์ไปชั่วขณะ จนกระทั่งเมื่อเธอได้สติ เธอพบว่าเธอทำเหยือกน้ำหายไป แต่สิ่งที่เธอได้มาแทนที่ก็คือ ‘กาซาล’ (Gazal) หรือบทกวีที่มีต้นกำเนิดมาจากบทกวีภาษาอาหรับ มักเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความปรารถนา และความสูญเสีย

เธอเล่าว่า “ตอนนั้นที่ฉันได้สติ กาซาลก็หลุดออกมาจากปากของฉัน ณ ตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่ากวีนิพนธ์คืออะไร เพราะฉันไม่เคยอ่านมันมาก่อน แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา ฉันก็เริ่มเขียนบทกวีขึ้นมาหลายร้อยบท”

ภาษา บทกวี อินเดีย
ซารีฟา ขณะกำลังอ่านบทกวีที่จดด้วยภาษารหัสที่เธอคิดค้นขึ้นเอง

เธอใช้เวลานาน 2-3 ปีในการบอกเล่าเรื่องนี้ให้กับสามี และลูก ๆ ของเธอเกี่ยวกับบทกวี ครอบครัวรู้สึกซาบซึ้งกับบทกวี แต่เธอเองก็สามารถจดจำผลงานในหัวได้เพียงไม่กี่ชิ้น เพราะไม่เคยมีการบันทึกไว้ก่อน แม้ ‘ชาฟัต’ (Shafaat) จะพยายามบันทึกบทกวีของแม่ลงในเทป และ ‘กัลซัม’ (Kulsum) ลูกสาวจะช่วยจดบทกวีใส่มือด้วยภาษาแคชเมียร์แบบงู ๆ ปลา ๆ แต่แม่ของพวกเขาก็ไม่คอยชอบการบันทึกบทกวีด้วยวิธีเหล่านี้สักเท่าไหร่ เพราะคงไม่สามารถขอให้ลูก ๆ อยู่ช่วยได้ตลอดเวลาที่เธอนึกบทกวีใหม่ แถมคงไม่เวิร์กถ้าจะให้ทั้งคู่ไปเรียนภาษาแคชเมียร์ที่มีคนใช้น้อยลงเต็มที และในโรงเรียนก็มีแต่หลักสูตรภาษาอูรดูและภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดนี้จึงทำให้เธอยังไม่กล้าที่จะนำเอาบทกวีไปเผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ได้อ่านเสียที

ภาษา บทกวี อินเดีย
ชารีฟากำลังจดบทกวีด้วยภาษารหัสลงบนฝ่ามือ

ในวันหนึ่ง เธอจึงเกิดไอเดีย หยิบกระดาษและดินสอขึ้นมา และวาดทรงกลมไล่จากขวาไปซ้าย (แบบเดียวกับภาษาแคชเมียร์) ที่มีขนาดแตกต่างกันขึ้นแทน แน่นอนว่าไม่มีใครอ่านภาษานี้ออกนอกจากชารีฟาเท่านั้น เธอเล่าว่า ไม่ว่าเธอจะนึกถึงแอปเปิล หรือรูปหัวใจ หรืออะไรก็ตาม เธอก็จะเขียนและพรรณนาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยวงกลมทั้งสิ้นเท่ากับว่าเธอได้เข้ารหัสบทกวีด้วยภาษาที่เธอคิดค้นขึ้นเอง และมีแต่เธอที่อ่านออก เธอเล่าว่า การเขียนด้ววงกลมแบบนี้ ช่วยให้เธอสามารถบันทึกบทกวีที่เธอแต่งไว้ได้อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะอ่านบทกวีเพื่อให้กัลซัมเป็นผู้จดบันทึกเป็นภาษาทั่วไปที่คนอื่นสามารถอ่านได้อีกที

ภาษา บทกวี อินเดีย
ซารีฟากำลังแต่งบทกวีด้วยภาษารหัส

ชาฟัตกล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนต่างก็สงสัยในสิ่งที่แม่ของเขาทำว่าเป็นเพียงการเสแสร้งทำเป็นอ่านจากบทกวีที่จดจำเอาไว้ ในขณะที่กวีนิพนธ์หลายคนต่างก็ยกย่องเธอว่า เธอคือกวีที่มีความพิเศษ และเป็นกวีเพียงคนเดียวในโลกที่แต่งด้วยภาษาที่คิดค้นขึ้นเอง

ภาษา บทกวี อินเดีย
กระดาษจดบันทึกกวีภาษารหัส และบทกวีฉบับแปลที่ลูกสาวของเธอจดเอาไว้

แม้ว่ากัลซัมจะจากไปอย่างกะทันหัน จนทำให้ชารีฟาผู้เป็นแม่เกิดความเศร้าโศกจนไม่อาจแต่งกวีไปได้ระยะหนึ่ง แต่ชารีฟาและชาฟัตตัดสินใจที่จะนำบทกวีที่บันทึกเก็บไว้กว่า 300 บทนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์บทกวีจากต้นฉบับภาษารหัสที่ชารีฟาคิดค้นขึ้น และบทกวีที่แปลเป็นภาษาปกติควบคู่กันไป


อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส