เมื่อพูดถึง ‘เพลงแหล่’น้อยครั้งนักที่จะไม่นึกถึง ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’

เพราะ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ราชาเพลงแหล่’ และเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540

ครูไวพจน์เป็นผู้ที่ทำให้เพลงแหล่กลายเป็น ‘เพลงแมส’ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ ลูกเด็กเล็กแดง ทุกบ้านทุกเรือน ทุกช่วงวัย ทุกยุคทุกสมัย ต่างก็เคยฟังเพลงของไวพจน์ เพชรสุพรรณกันมาแล้วทั้งนั้น

ไวพจน์สไตล์

เพลงแหล่ของครูไวพจน์นั้น ‘แมส’ และเข้าถึงคนฟังได้ดี เหตุผลหนึ่งคงไม่พ้นเสียงร้องและเทคนิคการร้องชั้นครูที่แคล่วคล่องลื่นไหลไพเราะเสนาะหูดีนัก อีกเหตุผลนั้นคงเป็นที่เนื้อหาซึ่งมีความหลากหลายมากมายทั้งเพลงแหล่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น เพลงแหล่นาค แหล่งานบวช แหล่ประวัติพระอริยสงฆ์ นิทานชาดก เป็นต้น และยังมีแหล่ที่เป็นเรื่องเล่าสอนคุณธรรมทั้งไม่ว่าจะมาจากชาดก นิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องราวที่เป็นเรื่องร่วมสมัยที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนทั่วไปอย่างเพลง “ห่วงลูก” “เจ็ดปีที่รอคอย” “ลาน้องไปแนวรบ” เป็นต้น

ส่วนเพลงลูกทุ่งในสไตล์ของครูไวพจน์ก็ ‘แมส’ ด้วยเช่นกันเพราะเจืออารมณ์ขันเข้าไปพร้อมทั้งใส่เรื่องราวที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันและมีการเล่าเรื่องที่สนุกชวนติดตาม หลายเพลงแสดงให้เห็นถึงความเจ้าชู้ของครูไวพจน์อย่างในเพลง “แตงเถาตาย” ครูไวพจน์ก็เล่าเรื่องของตัวเองที่ขับรถไปแถวคลองรังสิตและพบกับแม่ค้าขายแตงที่ “ฝานแตงแดงแดงเป็นแผ่น เหมือนหนึ่งเชิญแฟนให้ชิมลิ้มลอง” แถมรอยยิ้มของเธอยังหวานหยดย้อยเหมือน ‘น้ำผึ้งหยด’ ทำให้ “ผมไวพจน์ต้องจอดรถลงมามอง” แต่สุดท้ายหนุ่มไวพจน์จอมเช้าชู้ยังไม่ทันจะได้เชยชม ‘แตงน้องสองใบ’ ของแม่ค้าคนสวยก็เจอ ‘พ่อหนุ่มถือไม้พลอง’ เสียก่อนเลยต้องขอ ‘ลาก่อนละน้องชะโอ้แม่แตงเถาตาย’

นี่คือตัวอย่างหนึ่งจากเพลงดังของครูไวพจน์ที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะของการผสมผสานเอกลักษณ์เพลงลูกทุ่งไทยที่มักเล่าเรื่องราวการเกี้ยวพาราสีโดยแฝงนัยซ่อนเร้นเอาไว้ในสิ่งต่าง ๆ ตามขนบเพลงลูกทุ่ง เช่น “บัวตูมบัวบาน” ในบทเพลงชื่อเดียวกันที่แทนทรวงอกของหญิงสาว หรือ ‘เห็ดตับเต่า’ กับ ‘เถาย่านาง’ ในเพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่น่าจะพอจินตนาการออกว่าหมายถึงสิ่งใด อย่างในเพลง “แตงเถาตาย” นี้ภาพของ “แตงสองใบ” ก็ชัดเจนเหลือเกิน (โดยที่ไม่ต้องมี MV ประกอบ) โดยครูไวพจน์ได้นำเอาขนบนี้มาผสมผสานกับการเล่าเรื่องราวที่มีความร่วมสมัยเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันของครูและของผู้ฟังที่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์และอารมณ์ของตนเองเข้ามาในบทเพลงได้ไม่ยากนัก

จาก พาน สกุลณี’ สู่ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’

‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ลืมตามาสู่โลกใบนี้ด้วยชื่อ ‘พาน สกุลณี’ ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485  ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาคือนายจำปี และมารดาคือนางอ่ำ สกุลณี เป็นคนไทยเชื้อสายลาว ส่วนการเรียนนั้นก็จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวังน้ำเย็น

เหมือนอัจฉริยะทางดนตรีที่มีประสบการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ โมสาร์ตเล่นเปียโนได้ตั้งแต่ 3 ขวบ แต่งเพลงได้ตั้งแต่ 5 ขวบ ไวพจน์ก็เริ่มหัดร้องเพลง ‘อีแซว’ เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดตามมารดาของตนซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว ไวพจน์ในวัยเด็กได้ติดสอยห้อยตามคุณแม่ตลอด ไปไหนก็ไปกับแม่  และมีเรื่องเล่าว่าก่อนที่ไวพจน์จะเกิด แม่ได้ไปขอพรหลวงพ่อโต วัดป่าเรไร ขอ ‘ลูกเต้นกินรำกินสักคน’ จนในที่สุดก็ได้ลูกคนที่ 4 เป็น ‘พาน สกุลณี’ ผู้มาพร้อมพรสวรรค์ทางด้านดนตรี

ไวพจน์สามารถร้องเพลงอีแซวและเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปีและได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเก ‘ประทีป แสงกระจ่าง’ พออายุได้ 16 ปีเปลี่ยนจากเด็กชายกลายเป็นนาย ก็ได้มีโอกาสเข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ขึ้นเวทีครั้งแรกไวพจน์ก็ได้มีโอกาสแหล่ให้ครูบาร์อาจารย์พ่อเพลงแม่เพลงฟัง  โดยในคืนวันนั้นมีการประกวดรับนักร้องประจำวงเพื่อที่จะไปที่กรุงเทพ ฯ ด้วยกัน ซึ่งบทเพลงแหล่ที่ไวพจน์ร้องคือเพลง “จันทโครพ” เป็นเพลงของนักร้องเพลงลูกทุ่งเจ้าของรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ‘พร ภิรมย์’ ที่มีสไตล์การทำเพลงโดยใช้ดนตรีไทยเดิมเป็นพื้นฐานผสมผสานเนื้อเพลงแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะ มีบทเพลงดังคือ “น้ำตาลาไทร” “บัวตูมบัวบาน” และ “ดาวลูกไก่” ปรากฏว่าร้องได้ดีสะกดใจทั้งคนฟังทั้งกรรมการ คว้ารางวัลที่ 1 มาเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ชีวิต และครูบาร์อาจารย์ที่ฟังอยู่ก็ชวนนายพาน สกุลณีให้เข้าวงดนตรีและไปกรุงเทพ ฯ ในคืนวันนั้นเลย เป็นสัญญาณบ่งบอกความรุ่งในอนาคตบนเส้นทางสายนี้

จากนั้นโอกาสครั้งสำคัญก็ได้มาสู่ไวพจน์ เมื่อ ‘ชัยชนะ บุญนะโชติ’ นักร้องหนุ่มลูกทุ่งเสียงดี ที่อายุขวบปีเท่ากับไวพจน์พอดี (เกิดก่อนไวพจน์เพียง 2 เดือน)  แถมยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เหมือนกับไวพจน์ ในปี พ.ศ. 2541 (หนึ่งปีให้หลังจากไวพจน์ได้รับตำแหน่งนี้) ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง ชัยชนะมีความสามารถในด้านศิลปะการแสดงภาคกลางเช่นลิเก ลำตัด เพลงอีแซว และมีลูกศิษย์ลูกหามากมายอาทิ ชาย เมืองสิงห์, ไพรวัลย์ ลูกเพชร ไม่แปลกเลยที่เมื่อ ‘พาน สกุลณี’ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์จะได้รับชื่อใหม่เป็น ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ เพราะสังเกตได้ว่าชัยชนะ บุญนะโชติจะมีสไตล์การตั้งชื่อลูกศิษย์ด้วยการบอกถิ่นฐานบ้านเกิด

“ให้พี่บวชเสียก่อน” บทเพลงแจ้งเกิดของไวพจน์

จากนั้นครูคนสำคัญคนต่อมาของไวพจน์ก็คือ ‘ครูสำเนียง ม่วงทอง’ นักแต่งเพลงมากฝีมือชาวสุพรรณบุรีเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่รวมเอานักร้องดาวเด่นที่ออกจากวงดนตรีต่าง ๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันก็เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘รวมดาวกระจาย’ ซึ่งนักร้องดังของวงนั้นได้แก่ ผ่องศรี วรนุช,ไพรวัลย์ ลูกเพชร และ ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย เป็นต้น

เมื่อมาอยู่กับครูสำเนียง ไวพจน์ได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำและเป็นหนึ่งในดาวเด่นของ ‘รวมดาวกระจาย’ จากนั้นครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ไวพจน์ร้อง จนประสบความสำเร็จอย่างมากกลายเป็นเพลงแจ้งเกิดของไวพจน์ เพลงนั้นก็คือเพลง “ให้พี่บวชเสียก่อน” ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ในบทเพลงของไวพจน์ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการบวชอยู่เสมอ บทเพลงฮิตอื่น ๆ ในสไตล์การบวชก็เช่นเพลง “ไวพจน์ลาบวช” ที่แต่งโดย จิ๋ว พิจิตร

สู่การเป็นศิลปินระดับตำนานและครูผู้แจ้งเกิดราชินีเพลงลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’

ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นผู้มีความสามารถรอบตัว นอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ครูไวพจน์เป็น ” ราชาเพลงแหล่ ” เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังสามารถแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างไม่ติดขัด

ครูไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 2,000 เพลง ถือได้ว่ามากที่สุดในบรรดานักร้องลูกทุ่งอาวุโส มีทั้งผลงานที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง นอกจากนี้ครูไวพจน์ยังแต่งเพลงแจ้งเกิดให้กับลูกศิษย์ลูกหาจนโด่งดังมาแล้วมากมาย โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของครูไวพจน์มีทั้ง ขวัญจิต ศรีประจันต์ , เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่ , นักร้องบ้านนอก)

สำหรับพุ่มพวง ดวงจันทร์นั้น มีเรื่องเล่าที่น่าประทับใจในวันที่ครูไวพจน์ได้พบกับสาวน้อยที่วันหนึ่งจะกลายเป็น ‘ราชินีเพลงลูกทุ่ง’ ในเย็นวันหนึ่งขณะที่ครูไวพจน์นั่งอยู่หลังเวทีวงดนตรีเพื่อเตรียมตัวที่จะขึ้นเล่น พ่อแม่ของพุ่มพวงได้ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดหลังเวที จากนั้น ‘พุ่มพวง’ ซึ่งขณะนั้นคือสาวน้อยวัย 15 ปีจากชัยนาท ‘ผึ้ง – รำพึง จิตรหาญ’ ก็ได้วิ่งมากราบที่ตักแล้วบอกว่า “หนูจำพ่อไวพจน์ได้” จากนั้นสาวน้อยก็ไม่ยอมไปไหนเลย ครูไวพจน์เลยให้ผึ้งยืนขึ้นร้องเพลงให้ฟัง พอร้องไปได้เพียงสักนิดเดียวเท่านั้น คนหันมามองกันหมด ครูไวพจน์รู้ได้ในทันทีว่าตัวเองพบกับ ‘เพชรในตม’ เข้าให้แล้ว จึงรับผึ้งให้เข้าร่วมวงในคืนนั้นและให้ขึ้นเวทีด้วยกันเป็นครั้งแรก

บทเพลงที่ผึ้งร้องในวันนั้นคือเพลง “เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย” ของผ่องศรี วรนุช เสียงใส ๆ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความจริงใจของสาวน้อยที่มีชื่อว่าผึ้งคนนี้สะกดทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าเวทีดนตรีได้อยู่หมัด นายอำเภอถือแก้วค้าง ในงานคนเงียบกริบ ตั้งใจฟังสาวน้อยที่ในวันหนึ่งจะกลายเป็นราชินีเพลงลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’

อีกสิ่งหนึ่งที่วัดระดับความสำเร็จของการเป็นนักร้องลูกทุ่ง ลิเก ลำตัดก็คือการร้องแล้วมี ‘หมาหอนรับ’ ซึ่งในวันนั้นสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับผึ้งด้วยเช่นกัน ครูไวพจน์เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าร้องเพลงเมื่อไหร่ แล้วหมาหอนรับ จะหากินเส้นทางนี้ได้จนแก่ตาย เพราะพ่อเองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน”

แม้บทเพลงจะจบลง แต่เสียงแหล่ยังคงดังก้องในหัวใจ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาในเฟซบุ๊ก ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ได้มีข้อความโพสต์ถึงการจากไปของครูไวพจน์ระบุข้อความไว้ว่า ” ‘คุณพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ จากไปอย่างสงบที่ รพ. เวลาโดยประมาณ 15:24 น. คุณพ่อเริ่มป่วยเข้า รพ. ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่านอดทนและสู้มาก ตอนนี้จากพวกเราไปแล้ว แต่จะยังคงอยู่ในใจพวกเราตลอดไป”

ในช่วงท้ายของชีวิตครูไวพจน์ได้ป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกทับเส้นประสาทและทำการรักษามาโดยตลอด แต่จากข้อมูลที่ทางมติชนออนไลน์ได้สัมภาษณ์ “วรพล สกุลณี” ลูกชายของครูไวพจน์ ได้เปิดเผยว่าครูไวพจน์เสียชีวิตจากการมีอาการติดเชื้อในปอด

ครูไวพจน์ได้จากไปในวัย 79 ปี ท่ามกลางความอาลัยและการระลึกถึงสิ่งดี ๆ ที่ครูไวพจน์ได้เคยมอบให้ ซึ่งทุกคนต่างพร้อมใจกันเรียกครูไวพจน์ว่า “พ่อไวพจน์” ไม่ว่าจะเป็น ขวัญจิต ศรีประจันต์ ที่ได้ไปอยู่ในคณะของพ่อไวพจน์ ซึ่งได้ให้ที่พักที่กินที่อยู่ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา, ทศพล หิมพานต์ ที่เคยฟีเจอริ่งแหล่คู่กับพ่อไวพจน์ แม้แต่ศิลปินลูกทุ่งรุ่นใหม่อย่าง “จ๊ะ นงผณี” ก็โพสต์ข้อความอาลัยถึงพ่อไวพจน์ยอดขุนพลเพลงลูกทุ่งด้วยเช่นกัน

โดยปกติแล้วคำว่า “แหล่” นั้นหมายถึงการเทศน์ที่ใช้เสียงและทำนองที่มุ่งความไพเราะเป็นสำคัญ เช่นเทศน์มหาชาติ เรียกว่า เทศน์แหล่ มีทั้ง แหล่ใน คือเทศน์ตามคัมภีร์เทศน์มหาชาติ และ แหล่นอก คือเทศน์เรื่องนอกคัมภีร์มหาชาติ ส่วนในอีกความหมายหนึ่ง แหล่ หมายถึงตอนหนึ่งหรือบทหนึ่งของแต่ละกัณฑ์ในเทศน์มหาชาติ เมื่อเทศน์ไปได้ตอนหนึ่งก็เรียกได้ว่าแหล่หนึ่ง สองตอนก็สองแหล่ จบแต่ละตอนก็เรียกว่าจบแหล่ และในการจบการเทศน์มหาชาติทุกกัณฑ์ เมื่อจบตอนหนึ่งแล้วท่านจะลงท้ายด้วยคำว่า “นั่นแล” ทุกตอนไป เมื่อลากเสียงคำว่า แล ยาวออกไปจึงกลายเป็น “แหล่” ไปในที่สุด

วันนี้การแหล่ของครูไวพจน์ได้จบกัณฑ์แล้วแต่ดูเหมือนว่าเสียง “นั่นแล” นั้นจะยาวกลายเป็น “แหล่” ที่ยาวออกไปไร้สิ้นสุด แม้คนในยุคหลังจากนี้ก็ยังคงจะมีเสียง “แหล่” และบทเพลงของครูไวพจน์ให้พวกเขาได้สดับรับฟังกันอย่างซาบซึ้งตรึงอารมณ์แน่นอน

Source

1 / 2 / 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส