[รีวิว] One for the Road – เครื่องดื่มสำหรับคนหัวใจช้ำ ที่อยากกลับไปกอดคนสำคัญเป็นครั้งสุดท้าย

Release Date

10/02/2022

น13+, 2h 10m

ผู้กำกับ: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

[รีวิว] One for the Road – เครื่องดื่มสำหรับคนหัวใจช้ำ ที่อยากกลับไปกอดคนสำคัญเป็นครั้งสุดท้าย
Our score
7.6

[รีวิว] One for the Road – เครื่องดื่มสำหรับคนหัวใจช้ำ ที่อยากกลับไปกอดคนสำคัญเป็นครั้งสุดท้าย

จุดเด่น

  1. งานภาพและการนำเสนอที่ปราณีตช่วยให้เราดำดิ่งอยู่ในทุกห้วงอารมณ์ของหนัง แม้ว่าจเดินเรื่องช้าแต่เมื่อผสมกับการตัดต่อที่มีความกระชับ ก็ช่วยให้หนังมีจังหวะที่แทบไม่น่าเบื่อเลย 

จุดสังเกต

  1. หนังมีจุดที่ไม่ยังไม่เคลียร์อยู่หลายจุด และตัวละครหลายตัวก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอุปสรรคมีความแบนราบมาก ตัวละครที่ไม่ถูกโปรโมตหลายตัวยังน่าสนใจกว่าตัวละครสมทบอีก
  • ความสมบูรณ์ของบท

    6.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.0

  • การเล่าเรื่อง

    7.0

  • โปรดักชัน-การถ่ายทำ

    8.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชมตามแนวหนัง

    8.0

ผลงานเรื่องล่าสุดของบาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับ ‘เคาท์ดาวน์’ กับ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ที่คราวนี้พ่วงหว่องกาไว (Wong Kar-wai) โคจรข้ามโลกมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ พร้อมกับหนีบรางวัล World Dramatic Special Jury Award: Creative Vision จาก Sundance Film Festival มาเป็นเครื่องการันตีก่อนเข้าฉายในไทย

‘One for the Road’ เริ่มต้นเมื่ออู๊ด (ไอซ์ซึ – ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ได้โทรมาหาบอส (ต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร) ว่าตัวเขากำลังจะตายเพราะลูคีเมีย บอสจึงต้องข้ามน้ำข้ามทะเลจากนิวยอร์กกลับมาไทย และพาอู๊ดไปทำตามปณิธานสุดท้ายก่อนตาย ซึ่งก็คือการเดินทางกลับไปคืนของให้เหล่าบรรดาแฟนเก่า เรื่องราวการเดินทางครั้งสุดท้ายของชายป่วยใกล้ตายกับเพื่อนรักจึงเริ่มขึ้น

หากใครได้เห็นโปสเตอร์หรือดูเทรลเลอร์มาบ้าง คงพอมองออกว่า One for the Road เป็นหนังสไตล์  ‘Road Movie’ ซึ่งจะเป็นการพาตัวละครไปยังสถานที่ต่าง ๆ พร้อมพาคนดูดำดิ่งเข้าไปในความสัมพันธ์อันซับซ้อน ฉะนั้นแล้วหนังเรื่องนี้จึงมีบรรยากาศที่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ของบาส นัฐวุฒิ มากพอสมควร ในขณะที่หนัง 2 เรื่องก่อนจะเน้นสไตล์ทริลเลอร์ที่อัดความลุ้นระทึกจนแทบไม่ทันหายใจ แต่ในเรื่องนี้กลับเป็นบรรยากาศสบาย ๆ ที่ค่อย ๆ ใช้อารมณ์ภายในขับเคลื่อนตัวมู้ดของหนังออกมาแทน

ขณะที่หนังพาเราสำรวจเส้นทางที่อู๊ดและบอสได้ได้เดินทางผ่าน หนังก็ค่อย ๆ สอดแทรกแฟลชแบ็กกับหยอดปมไว้ตลอดทาง พร้อมย้อนความว่าพวกเขาเป็นใคร อะไรที่นำพาให้พวกคู่หูนี้ให้ต้องมาเจอกัน แต่ทว่าหนังก็ใช้ความเป็นโร้ดมูวี่ได้ไม่คุ้มนัก เพราะแต่ละโลเกชันที่พวกเขาไป มันกลับไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรไปมากกว่าการเป็นแค่จุดเช็กพอยต์ที่พาอู๊ดไปเจอกับแฟนเก่าแต่ละคนก็เท่านั้น

ถึงแม้ว่าหนังจะไม้ได้สลับซับซ้อนทางการนำเสนอ แต่ก็ทดแทนด้วยบทที่ซับซ้อนเข้ามาแทน จากปมปัญหาที่หนังแอบหยอดไว้ในแต่ละเส้นทางก็ค่อย ๆ ก่อตัวเป็นระเบิดเวลา และทำให้ซีนไคลแม็กซ์นั้นปะทุออกมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ แม้ว่าหนังจะรีดอารมณ์คนดูออกมาได้ถูกจังหวะ แต่น่าเสียดายปมใหญ่ของหนังที่ถูกชูไว้ กลับไม่ถูกให้น้ำหนักเท่าที่ควร และทำให้คนดูรู้สึก ‘หลงทาง’ ในบางครั้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยพยุงหนังไว้คือทัพนักแสดงที่คอยแบกเรื่อง ไล่ตั้งแต่นักแสดงหลักอย่าง ต่อและไอซ์ซึที่เคมีเข้ากันอย่างลื่นไหล ในแต่ละบทสนทนาของทั้งคู่แฝงไว้ด้วยความยียวนกวนทีนและเป็นห่วงกันตลอด จนเรารู้สึกได้เลยว่า นี่แหละความเป็นเพื่อนที่ไม่ประดิดปะดอย โดยเฉพาะไอซ์ซึ ที่ต้องขอชมมาก เพราะเขาใช้วิธีการแสดงแบบ Method Acting ในการดำดิ่งเข้าสู่ความเป็นอู๊ด ซึ่งไอซ์ซึต้องลดน้ำหนักถึง 17 กิโลกรัมและศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยลูคีเมียระยะสุดท้ายไปพร้อมกัน 

ด้านนักแสดงสมทบนั้นก็เล่นดีไม่แพ้กัน ไล่ตั้งแต่บรรดาแฟนเก่าของอู๊ดที่รับบทโดย พลอย หอวัง, ออกแบบ ชุติมณฑน์, นุ่น ศิรพันธ์ ที่ทยอยมาสร้างสีสันกันเป็นระยะ แต่น่าเสียดายที่หนังให้มิติพวกเธอเป็นแค่คนที่ผิดหวังจากอู๊ดและโผล่มาเพื่อด่ากับให้อภัยเท่านั้น แม้กระทั่งตัวละครอย่าง พริม (แสดงโดย วี วิโอเลต) ที่เป็นแฟนเก่าของบอส ซึ่งได้มิติและแอร์ไทม์มากกว่าแฟนเก่าคนอื่น ๆ ก็มีหน้าที่เพียงแค่ช่วยขับตัวตนจริง ๆ ของอู๊ดกับบอสออกมา และที่อดพูดถึงไม่ได้เลยก็คือบท พ่อของอู๊ด (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ที่แม้จะโผล่มาแค่เสียงและซีนสั้นๆ แต่ก็ทำหน้าที่ในการนำพาอู๊ดกับบอสให้ทำภารกิจไปจนสุดทาง

‘One for the Road’ พยายามอย่างมากที่จะพาเราไปสำรวจในทุกแง่มุมของความสัมพันธ์ ตั้งแต่คนแปลกหน้า เพื่อน คนรัก ไปจนถึงครอบครัว ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ช่วยดึงอารมณ์ให้คนดูมีจุดร่วมกับหนังไปได้อย่างดี

“แม้ว่าเราจะไม่อินกับอะไร แต่ก็ยังมีมุมที่สะกิดใจให้ได้หันกลับมามองตัวเองอยู่เหมือนกัน”

ด้านงานภาพที่กำกับโดย พาเกล้า จิระอังกูรกุล นั้นก็เป็นหนึ่งข้อดีของเรื่องนี้ รับรู้เลยว่าในแต่ละซีนค่อนข้างพิถีพิถันในการจัดวางเฟรม และการที่ได้หว่องกาไวมาช่วยดูภาพรวมของหนัง ก็ทำให้บรรยากาศ ‘สไตล์หว่อง’ ตลบอบอวลอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เมื่อผสมกับจังหวะการตัดต่อสไตล์มอนทาจอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว ก็ทำให้จังหวะของหนังถูกนำเสนอออกมาได้อย่างพอดี เป็นตรงกลางที่สมดุลและไม่น่าเบื่อจนเกินไป

โดยรวมแล้ว ‘One for the Road’ หรือชื่อไทย ‘วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ เปรียบเหมือนค็อกเทลแก้วทดลองของบาส มีทั้งรสชาติที่แปลกใหม่และส่วนที่อาจจะยังไม่อร่อยนัก แต่ด้วยการเชคที่ปราณีตและความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ ก็ช่วยให้เราดื่มด่ำกับมันได้ไม่ยาก พร้อมทั้งดีใจที่ได้เห็นเวย์ใหม่ ๆ ในการนำเสนอของบาส (และอีกก้าวของหนังไทย) ซึ่งชวนให้เราตั้งหน้าตั้งตารอว่า “ค็อกเทลแก้วต่อไปของบาสนั้นเป็นอย่างไร” และเราก็พร้อมจะยกขึ้นดื่มอย่างไม่ปฏิเสธ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส