[รีวิว] Drive My Car – การเดินทางอันยาวนานบนรถสีแดง เพื่อเผชิญกับความทุกข์ทรมานและการค้นพบ
Our score
9.5

Release Date

11/11/2021

แนว

ดราม่า

ความยาว

2.59 ชม. (179 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

'เรียวสึเกะ ฮะมะกุชิ' (Ryusuke Hamaguchi)

[รีวิว] Drive My Car – การเดินทางอันยาวนานบนรถสีแดง เพื่อเผชิญกับความทุกข์ทรมานและการค้นพบ
Our score
9.5

Drive My Car | สุดทางรัก | ドライブ・マイ・カー

จุดเด่น

  1. งานด้ดแปลงบทจากเรื่องสั้นทำได้ถึงและขยายเรื่องราวได้ไกลกว่าเรื่องสั้นต้นฉบับเสียอีก
  2. การแสดงเน้นเล่นน้อยได้มาก แสดงผ่านสีหน้าและมวลบรรยากาศได้ดี
  3. งานด้านโปรดักชันสมบูรณ์แบบมาก ทั้งด้านภาพและเสียง

จุดสังเกต

  1. อาจจะมีแง่มุมบางอย่างในหนังที่ดูวางท่าสั่งสอนไปนิด แต่ก็ถือว่าไม่ได้หนักหนาอะไร
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    8.6

  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    9.5

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    9.6

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    9.7

SF
สนับสนุนข้อมูลโดย SF Cinema

ณ ตอนนี้ หนังนอกกระแสญี่ปุ่นอย่าง ‘Drive My Car สุดทางรัก’ ก็ฉายมาได้กว่า 4 เดือนแล้วนะครับ (เข้าฉายครั้งแรก 11 พฤศจิกายน 2564) แม้ว่าจะไม่ใช่หนังกระแสกระหึ่ม แต่ก็นับว่าเป็นหนังนอกกระแสที่ได้รับกระแสชื่นชมไม่ขาดสาย และเดินสายกวาดมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2021 (Cannes Film Festival 2021) เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (Busan International Film Festival in 2021) และได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของเอเชีย เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 มากถึง 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

Drive My Car สุดทางรัก

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือการกำกับของ ‘เรียวสึเกะ ฮะมะกุชิ’ (Ryusuke Hamaguchi) เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น ‘Drive My Car’ ที่บรรจุอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘Men Without Women’ (ชายที่คนรักจากไป) ผลงานของนักเขียนชื่อดังระดับโลก ‘ฮะรุกิ มุระคะมิ’ (Haruki Murakami) ตัวเรื่องว่าด้วยเรื่องของ ‘คะฟุกุ’ (Hidetoshi Nishijima) นักแสดงและผู้กำกับละครเวทีวัยกลางคน ที่สูญเสียชีวิตแต่งงานอันแสนสุข หลังจากที่ ‘โอโต’ (Reika Kirishima) ผู้เป็นภรรยาจากไปอย่างกะทันหัน พร้อมกับทิ้งความลับและความเจ็บปวดบางอย่างเอาไว้ให้ เขาตัดสินใจรับข้อเสนอกำกับละครเวทีที่ฮิโระชิมะ และรับ ‘มิซะกิ’ (Tôko Miura) หญิงสาวผู้เงียบขรึม ให้มาเป็นคนขับรถสีแดง ซึ่งในที่สุด เธอและรถสีแดงคันนี้จะกลายเป็นสถานที่เผยความลับ เปลื้องเปลือย และเปลี่ยนชีวิตของคะฟุกุไปอย่างสิ้นเชิง

Drive My Car สุดทางรัก

แต่แม้ว่าตัวหนังเองจะโปรโมตหน้าหนังว่า เป็นการหยิบเรื่องสั้น ‘Drive My Car’ ที่อยู่ภายในเล่มมาเล่าในรูปแบบภาพยนตร์ แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ตัวโต ๆ ก่อนนะครับว่า ลำพังเรื่องสั้นความยาวต้นฉบับเพียง 40 หน้าคงไม่สามารถขยายออกมาเป็นเรื่องราวใหญ่ ๆ ขนาดนี้ได้แน่ ๆ แต่ผู้เขียนบทร่วมทั้ง ‘เรียวสึเกะ ฮะมะกุชิ’ และ ‘ทะกะมะสะ โอะเอะ’ (Takamasa Oe) ใช้วิธีการหยิบเอาจักรวาลเรื่องราวจากเรื่องสั้นเรื่องต่าง ๆ จากหนังสือ ‘Men Without Women’ ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มุระกะมิตั้งใจวางธีมเกี่ยวกับเรื่องของผู้ชายที่หญิงสาวจากไปด้วยเหตุต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ มาปรับเติม เสริมแต่ง ตีความใหม่ และดัดแปลงให้มาอยู่ร่วมชายคาของเส้นเรื่องภาพยนตร์เดียวกัน (แม้ว่าตัวหนังจะอ้างอิงชื่อจากเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียวก็ตาม)

Drive My Car สุดทางรัก

ทั้งเรื่องเล่าจินตนาการเกี่ยวกับหญิงสาวมัธยมปลาย ที่ชาติที่แล้วเกิดเป็นปลาแลมป์เพรย์ (ปลาไหลทะเล) เธอตกหลุมรักเพื่อนชายคนหนึ่ง จนกระทั่งเธอได้ย่องเข้าไปในบ้านของชายหนุ่มคนนั้น เพื่อแอบเข้าไปขโมยข้าวของ เรื่องราวส่วนตัว ช่วยตัวเอง พร้อมกับทิ้งผ้าอนามัยและเส้นผมไว้เป็นเครื่องหมายใน ‘เซเฮราซาด’ (แปลโดย อานนท์ สันติวิสุทธิ์) ซึ่งในหนังถูกจินตนาการต่อให้กลายเป็นเรื่องราวที่ ‘โอโต’ (Reika Kirishima) นักเขียนบทละครและภรรยา เล่าเรื่องนี้ให้ ‘คะฟุกุ’ (Hidetoshi Nishijima) นักแสดงละครเวทีวัยกลางคนฟังหลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จสิ้น และก็กลายมาเป็น Conflict เชือดเฉือนช่วงไคลแมกซ์ในภายหลัง

Drive My Car สุดทางรัก

และจากเรื่องสั้น ‘คิโนะ’ (แปลโดย มุทิตา พานิช) ที่ผู้เขียนบทร่วมหยิบเอา Vibe เกี่ยวกับฉากดื่มสุราในบาร์เคล้าเสียงเพลงจากแผ่นเสียง และฉากที่สามีแอบเห็นภรรยาร่วมรักกับชายชู้ในบ้านของตัวเอง จนต้องแอบหนีออกมาจากบ้านไม่ให้ระแคะระคาย รวมทั้งเรื่องเล่าเล็ก ๆ ของ ‘มิซะกิ’ (Tôko Miura) สารถีหญิงเกี่ยวกับแม่วัยกลางคน ผู้มีบุคลิกแบบเด็กสาวแอบแฝงอยู่ของเธอ ซึ่งหยิบเอามาจากเรื่องสั้น ‘พวกผู้ชายที่คนรักจากไป’ (แปลโดย มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์)

Drive My Car สุดทางรัก

หรือแม้แต่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครอ่านเรื่องสั้นแล้วก็น่าจะสังเกตได้คือ การเปลี่ยนสีรถจาก ‘Saab 900’ สีเหลืองของคะฟุกุ ซึ่งถือว่าเป็นรถที่เป็นจุดศูนย์กลางและเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวเกือบทั้งหมดในเรื่องสั้น กลายเป็น ‘Saab 900 Turbo’ สีแดงแปร๊ดแทน ซึ่งในทางภาพยนตร์ก็อย่างที่ทราบครับว่า รถสีแดงยังไงก็ขึ้นกล้องและ Iconic กว่ารถสีเหลืองอยู่แล้ว รวมทั้งการเพิ่มตัวละครใหม่ๆ และทำการเปลี่ยนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในหนังให้สอดคล้องไปกับความเป็นภาพยนตร์ มากกว่าจะยึดตามแบบต้นฉบับจากเรื่องสั้น

Drive My Car สุดทางรัก

สิ่งเหล่านี้น่าจะพอเป็นคำอธิบายแบบลวก ๆ ได้ว่าทำไมเรื่องราวของตัวหนังถึงได้ขยายใหญ่โตจากเรื่องสั้นเพียง 40 หน้า กลายเป็นหนังความยาว 3 ชั่วโมงได้ถึงขนาดนี้ ก็ต้องชื่นชมทีมเขียนบทล่ะครับ ที่สามารถหยิบเอาจักรวาลเรื่องราวภายในหนังสือ (ที่มีเนื้อหาธีมเดียวกัน) มาปะติดปะต่อเรื่องราว และกล้าที่จะดัดแปลง ตีความเรื่องราวจากเรื่องสั้น ให้มีมิติระหว่างทางได้อย่างกลมกลืนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งมิติของเรื่องราว และตัวละครที่มีอดีตและปัจจุบันร่วมกัน

Drive My Car สุดทางรัก

แต่ก็ยังคงรักษาแกนกลางของเรื่องราว ที่ว่าด้วยเรื่องของการโอบกอดและปลดปล่อยความทุกข์ ผ่านการเดินทางของคะฟุคุ สารถีหญิงสาววัยรุ่นลูก และรถสีแดงที่ล้วนแล้วแต่บรรจุความทุกข์หม่นเอาไว้อย่างซึมลึก ราวกับว่าจะไม่มีโอกาสได้สลัดทิ้งไปได้โดยง่าย รวมทั้งประโยคสำคัญที่ถือว่าเป็น Keyword ที่ว่า “ความจริงน่ากลัว แต่ที่น่ากลัวกว่า คือการไม่รู้ความจริง” ซึ่งถูกเล่าผ่านความหม่นของคะฟุคุ ที่โอบกอดทั้งความเศร้าสร้อยที่ภรรยาจากไปกะทันหัน และความจริงที่เขาล่วงรู้ว่า แม้เขาจะรักเธอ แต่เธอก็แอบมีชู้กับนักแสดงหนุ่ม ๆ ท่ามกลางการเก็บรักษามวลบรรยากาศความหม่นมัวอึมครึมตามแบบฉบับของมุระกะมิที่อวลอยู่ภายในเรื่องเอาไว้ได้อย่างครบครัน

Drive My Car สุดทางรัก

และแม้ว่าความยาวของหนัง 2 ชั่วโมง 59 นาทีนั้นออกจะทำให้คอหนังรู้สึกแหยง ๆ บ้าง รวมทั้งตัวบทที่ยาวและมีรายละเอียดเยอะ อีกทั้งยังเป็นหนังที่มีไดอะล็อก (ทั้งไดอะล็อกจากตัวละคร และไดอะล็อกจากบทละครเวที) รวมกันค่อนข้างยาวมาก ทำให้ตัวหนังเป็นหนังดราม่าลูกผสมหนังแนว Road Movie ที่ค่อย ๆ ขับเคลื่อนเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งเรื่อง แต่สิ่งที่ผู้เขียนถือว่าน่าสนใจมาก ๆ ก็คือ การที่ตัวหนังสามารถควบคุม Pace หรือจังหวะการเล่าเรื่องในช่วงต่าง ๆ ได้อย่างเป็นจังหวะสอดคล้องไปตลอดทั้งเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติมาก ๆ ตรงไหนที่ควรตัดเร็วก็เร็วเลย ตรงไหนที่ต้องทิ้งห้วงก็ปล่อยให้หน่วงช้าไปเลย โดยเฉพาะจังหวะที่ตัวละครสนทนา ที่เป็นตัวสื่อสารอารมณ์ของตัวละครในห้วงเวลานั้น ตัวหนังก็จะไม่พยายามไปตัดหรือเร่งเร้าอะไร ปล่อยให้บทสนทนา และช่องว่างระหว่างนั้นทำงานอย่างเต็มรูปแบบ

Drive My Car สุดทางรัก

อีกสิ่งที่ผู้เขียนถือว่าเป็นจุดเด่นที่คนที่จะดูหนังเรื่องนี้ต้องซึมซับให้ได้ก็คือ วิธีการเล่าเรื่องของหนัง ที่แม้ว่าในหนัง ตัวละครจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่ตัวหนังก็จะมีไดอะล็อกจากบทละครเวที ‘ลุงวานยา’ (Uncle Vanya) ของ ‘แอนตอน เชคอฟ’ (Anton Chekov) ตีคู่และซ้อนทับกับเส้นเรื่องไปด้วย เป็นการเกี่ยวกระหวัดเรื่องราวในหนัง เข้ากับบทละครเวทีที่คะฟุกุเคยแสดง และต้องรับหน้าที่กำกับ ทั้งหมดนี้มาปรากฏขึ้นทั้งในฉากการซ้อมบท ฉากแสดงจริง และที่สำคัญคือ เสียงอ่านบทจากเทปคาสเซ็ตต์ในรถ ที่ภรรยาอัดเอาไว้ให้คะฟุคุใช้ซ้อมบทพูดในรถ ราวกับว่าเป็นวิญญาณที่ตกค้างและหลอกหลอนของภรรยาผู้ล่วงลับก็มิปาน หรือแม้แต่การสะท้อนเรื่องราว และเป็นเสมือนตัวแทนความเจ็บปวด ความทุกข์ และความสงสัยทั้งหมดทั้งมวลที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ของคะฟุคุ ที่ยังคงคั่งค้างและลอยอวลอยู่ภายในรถไม่ยอมจางหายไป

Drive My Car สุดทางรัก

รวมทั้งการสะท้อนเรื่องราวจากเรื่องสั้นของมุระกะมิ ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า โลกก็ไม่ต่างจากละครเวที และเราก็ไม่ต่างจากตัวแสดง ทุกคนล้วนมีฉากหน้าและบทบาทเป็นของตัวเอง และจำต้องแสดงไปตามบทบาทของตัวเองตามแต่ที่พระเจ้า หรือใครสักคนกำกับเอาไว้อย่างไม่มีลดละ และต่างคนต่างก็ต้องการค้นหาคำตอบ เพื่อตอบคำถามบางอย่างในชีวิต ซึ่งบางครั้งความทุกข์ทรมานในชีวิตก็มาในรูปแบบของการมุ่งหาคำตอบที่ไม่มีวันจะล่วงรู้ จึงทำให้คนเราจำต้องทนทุกข์ทรมาน และโดนสิ่งเหล่านั้นหลอกหลอนไปจนกว่าม่านชีวิตจะปิดลง

Drive My Car สุดทางรัก

แต่ถึงกระนั้น พระเจ้าก็ดูจะไม่ใจร้ายเกินไปนัก เพราะคะฟุกุยังมีเซฟโซน นั่นก็คือรถ Saab 900 Turbo สีแดง และคนขับรถอย่างมิซะกิ ที่แม้ว่าคะฟุคุจะไม่ค่อยไว้วางใจเธอให้เข้ามายุ่มย่ามกับเซฟโซนของเขาในทีแรก แต่เธอกลับทำให้เขายอมหยุดขับรถเอง และเฝ้ามองชีวิตของตัวเขาเองผ่านเบาะหลัง พร้อม ๆ กับค่อย ๆ เปิดและปลดเปลื้อง รับฟังเรื่องราวความเศร้าสร้อย รู้สึกผิด ปลดปล่อยคำถามชีวิตอันเคว้งคว้างและทุกข์ทรมานของทั้งคะฟุกุ และมิซะกิ ราวกับว่าเป็นห้องจิตแพทย์เคลื่อนที่ และราวกับว่าทั้งคู่เป็นจิตแพทย์ของกันและกัน เผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวด ก่อนที่ทั้งคู่จะเก็บกอบทุกอย่าง เดินทางเอาไปทิ้ง ณ ที่อันไกลแสนไกลที่ถูกเรียกกันว่า ‘อดีต’

Drive My Car สุดทางรัก

ในแง่ของการแสดงก็เป็นอีกจุดที่ต้องชื่นชมครับ ตั้งแต่นักแสดงหลัก ๆ ทั้ง ‘ฮิเดะโตชิ นิชิจิมะ’ (Hidetoshi Nishijima) ผู้รับบท ‘คะฟุกุ’ ที่รับบทเป็นชายผู้แสดงความเจ็บปวดทางสีหน้า และการวางตัวเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ผู้โชกโชนได้อย่างเข้าถึงแบบไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ และที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษก็คือ ‘โตโก มิอุระ’ (Tôko Miura) ผู้รับบท ‘มิซะกิ’ สารถีสาววัย 23 ผู้ปราศจากอารมณ์บนใบหน้า ก็ต้องเรียกได้ว่าถอดแบบบุคลิก “ขวานผ่าซาก พูดน้อย ขี้เหร่ไร้เสน่ห์ สูบบุหรี่จัด” ได้ตรงตามเรื่องสั้นต้นฉบับเป๊ะ ๆ เลยครับ หรือแม้แต่ตัวละครสมทบที่เพิ่มเข้ามาในหนัง ก็ล้วนแต่มีเสน่ห์ และทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน เรียกได้ว่าเล่นน้อยแต่ได้มากจริง ๆ

Drive My Car สุดทางรัก

ที่ส่วนตัวผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ‘ลียุนอา’ (Park Yu-rim) นักแสดงละครเวทีชาวเกาหลีผู้เป็นใบ้ ที่ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสารตลอดเรื่อง ซึ่งตัวหนังเลือกที่จะปล่อยเธอให้ใช้ภาษามือในการถ่ายทอดบทสนทนา และเลือกที่จะทอดเวลาให้เธอได้สื่อสารโดยไม่แทรกแซงและตัดจังหวะใด ๆ โดยเฉพาะฉากการแสดงละครเวที ‘ลุงวานยา’ ที่อยู่ท้ายเรื่อง แม้เธอจะไม่ใช่คนที่มีบทบาทหลัก แต่เธอนี่แหละคือคนที่ขมวดสรุปเรื่องราวที่ทอดยาวตลอด 3 ชั่วโมงให้ขมวดกลมเป็นก้อนเดียวกันได้อย่างน่าทึ่งและทรงพลัง แม้เธอจะไม่ได้เอื้อนเอ่ยอะไรออกมาสักคำเลยก็ตาม

Drive My Car สุดทางรัก

อีกจุดที่ต้องชื่นชมมาก ๆ เลยก็คือ งานโปรดักชันที่ต้องใช้คำว่า ‘ประณีต’ และ ‘สมบูรณ์แบบ’ ครับ ไม่ว่าจะด้านภาพ ที่สามารถถ่ายทอดทิวทัศน์ของญี่ปุ่น ทั้งเมืองฮิโระชิมะ และฮกไกโด ได้ออกมาสวยงามวิจิตรมาก ๆ และมีการจัดองค์ประกอบภาพที่สวยงามชนิดที่ว่า เอามา Capture ช็อตไหนก็ได้ภาพที่สวยงามลงตัวมาก ๆ รวมทั้งงานด้านเสียง ที่ตัวหนังนั้นไม่ได้ใส่สกอร์เพลงประกอบลงไปมากเกินความจำเป็น ตรงกันข้าม ตัวหนังกลับใช้เสียงบรรยากาศรอบ ๆ ตัวที่บันทึกเอาไว้อย่างดี ทั้งเสียงรถ เสียงที่จอดรถอัตโนมัติ เสียงลมตีตอนรถวิ่งผ่านอุโมงค์ เสียงครางตอนมีเพศสัมพันธ์ เสียงปืนในละครเวที ฯลฯ หรือแม้แต่การใส่เสียงเงียบเพื่อเว้นจังหวะ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนเสริมของตัวหนังที่ช่วยขับเน้นมิติของเรื่องราวให้คมชัดและรู้สึกได้มากขึ้น

Drive My Car สุดทางรัก

โดยสรุป ‘Drive My Car สุดทางรัก’ คือภาพยนตร์นอกกระแสที่ประณีตและงดงามในทุก ๆ ส่วน จนแทบจะไม่ต้องมานั่งถามแล้วว่าทำไมถึงคว้ารางวัลโน่นนี่มาได้เป็นกอบเป็นกำ แถมได้เข้าชิงออสการ์ซึ่งจะประกาศผลปลายเดือนนี้อีกต่างหาก เพราะไม่ว่าจะเป็นบทดัดแปลงที่เติมเต็มเรื่องราว และสะท้อนเรื่องราวจากแก่นของเรื่องสั้นต้นฉบับได้อย่างสมบูรณ์แบบ การแสดงของนักแสดงที่เล่นน้อยแต่ได้มาก เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก และงานด้านโปรดักชันที่งดงามและเติมเต็มเรื่องราว ทำให้ความยาว 3 ชั่วโมง กลายเป็นประสบการณ์การเดินทางที่จะค่อย ๆ บ่มความรู้สึกได้อย่างซึมลึกและทรงพลังจริง ๆ


หมายเหตุ : ภาพยนตร์ ‘Drive My Car สุดทางรัก’ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub. สำหรับต่างจังหวัด มีการจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ขนาดย่อม ๆ หลากหลายเทศกาล สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจ Documentary Club และจะเข้าฉายอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ในวันที่ 24 มีนาคม และที่โรงภาพยนตร์ SF Cinema ในวันที่ 27 มีนาคม เป็นต้นไป

หมายเหตุ 2 : หนังสือ ‘Men Without Women’ (ชายที่คนรักจากไป) ฉบับแปลภาษาไทย ตีพิมพ์โดย ‘สำนักพิมพ์กำมะหยี่’ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2559 แล้ว สำหรับคนที่อยากหามาอ่าน หาตามร้านหนังสือน่าจะค่อนข้างยากแล้ว อาจต้องลองค้นหาในเว็บไซต์สำนักพิมพ์ หรือสอบถามกับสำนักพิมพ์โดยตรงครับ


Drive My Car สุดทางรัก

หนังสือประกอบการเขียนบทความ :-

มุระกะมิ, ฮะรุกิ. (2559). ชายที่คนรักจากไป [Men Without Woman] (กนกวรรณ เกตุชัยมาศ,ปาลิดา พิมพะกร,พรรษา หลำอุบล,อานนท์ สันติวิสุทธิ์,มุทิตา พานิช,ปาวัน การสมใจ,มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่ (ต้นฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 2014)


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส