ในช่วงกักตัวแบบนี้ นอกจากจะดูภาพยนตร์และซีรี่ส์วนลูปกันแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะขุดการ์ตูนเก่าออกมารำลึกอดีตกันอีกด้วย  “คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้นิยมเรื่องราวแนวสืบสวนสอบสวนไม่ควรพลาด

“คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” เป็นมังงะยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว และโด่งดังในบ้านเราอย่างมากในช่วงยุค 90s จะเรียกว่าเป็นนักสืบผู้พี่ ผู้กระตุ้นกระแสการ์ตูนแนวนักสืบ ปูทางให้โคนันมาดังเปรี้ยงก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ความต่างคือ คดีฆาตกรรมในเรื่องราวของ ‘คินดะอิจิ ฮาจิเมะ’ หนุ่มนักเรียนมัธยมปลายท่าทางทะเล้น มักสร้างปริศนาหลายชั้นระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน มีความเข้มข้นของปริศนาและอารมณ์ร่วมมากกว่า ทั้งยังสร้างบรรยากาศลึกลับเกี่ยวพันกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติให้มีความเหี้ยมโหดปนสยอง ชวนให้ตามติด ‘คดี’ มากกว่า แทนที่จะเน้นโฟกัสไปที่เส้นเรื่องของตัวเอกอย่างในโคนัน

นอกจากนี้ สาเหตุเบื้องลึกของการฆาตกรรมส่วนใหญ่กลับเกิดจากปมสูญเสียของบรรดาฆาตกรที่สุดแสนสะเทือนใจ และหลายครั้งก็น่าสงสารกว่าผู้ถูกฆาตกรรมเสียอีก ‘คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา’  จึงถือเป็นการ์ตูนสืบสวนชั้นครู ที่ดึงเอากลิ่นอายที่เต็มไปด้วยด้านมืดในใจคน ตามสไตล์ คินดะอิจิ นักสืบผู้เป็นปู่มาได้แบบไม่เสียเกียรติ

‘ขอเอาชื่อเสียงของคุณปู่เป็นเดิมพัน’ วลีนี้ท่านได้แต่ใดมา

หากใครเป็นแฟนนิยายสืบสวนสอบสวน คงคุ้นเคยกับ ‘คินดะอิจิ โคสุเกะ’ เป็นอย่างดี คินดะอิจินั้นเป็นนักสืบชื่อดังในนิยาย ‘คินดะอิจิยอดนักสืบ’ ผลงานชิ้นเอกของ โยโคมิโซะ เซชิ ปรมาจารย์แห่งนิยายสืบสวนสอบสวนสไตล์สยองขวัญของญี่ปุ่น ด้วยบุคลิกที่แปลกประหลาดของคินดะอิจิที่ไม่ได้เท่ หล่อเหลา หรือดูฉลาดล้ำกว่าคนอื่น ซ้ำยังออกจะติดตลก พูดติดอ่าง ผมเผ้ายุ่งเหยิง แถมยังใจดีขี้สงสารมีอารมณ์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง แต่นั่นก็กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้อ่านเอาใจช่วยและติดตามนักสืบผู้นี้

 

การจะสร้างการ์ตูนที่ ‘ขอเอาชื่อคุณปู่ (คินดะอิจิ โคสุเกะ) เป็นเดิมพัน’ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้ฉบับการ์ตูน ความสยองโหดเหี้ยม อาจไม่ถึงกับทำให้ผู้ชมสั่นเทาได้เท่า แต่การ์ตูน “คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” ทั้งแบบมังงะและฉบับอนิเมะ ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี อย่างในฉบับอนิเมะนี้ แม้หลายครั้งจะดูพยายามขยี้อารมณ์ จังหวะโดด ตัดภาพมึน ๆ ไปบ้าง แต่ก็ถือว่าดูได้เพลิน ชวนลุ้นได้ดีทีเดียว ยิ่งดูในบรรยากาศฝนพรำ ก็ยิ่งได้ฟีลไปกันใหญ่ ทั้งเพลงประกอบและแฟชั่นสไตล์ในเรื่องก็ทำให้เราหวนนึกถึงวันคืนเก่า ๆ ยามที่อ่านมังงะเรื่องนี้ในวัยเยาว์เป็นครั้งแรกได้เป็นอย่างดี

 

ปู่คินดะอิจิ VS หลานคินดะอิจิ

ในนิยายออริจินัล คินดะอิจิมักเกี่ยวพันกับคดีที่มีความซับซ้อนมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย คดีมักเกิดในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนเกาะ ในถ้ำ หมู่บ้านในหุบเขา ซึ่งมีตำนานความเชื่อสยองซ่อนเร้น และฆาตกรมักใช้จุดนี้ ทำให้คนคล้อยตามเชื่อว่าเป็นฝีมือของสิ่งลี้ลับในธรรมชาติ และยิ่งสืบลึก หลายครั้งก็เหมือนจะเจอกับทางตันให้เราต้องลุ้นกันตัวโก่ง

นิยาย “คินดะอิจิยอดนักสืบ” ผลงานชิ้นเอกของ โยโคมิโซะ เซชิ

ขณะที่คินดะอิจิรุ่นหลาน มีข้อกำจัดมากกว่าเพราะยังเรียนอยู่มัธยมปลาย หลายคดีจึงเกิดขึ้นในโรงเรียนหรือเกิดกับเพื่อนในโรงเรียน แต่เพื่อคงสไตล์และให้ความเคารพแก่ต้นฉบับ หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์พิเศษที่คินดะอิจิได้รับเชิญไปสถานที่ต่าง ๆ ให้ได้อารมณ์หลอนระทึกแบบในนิยายบ้าง บางครั้งก็ใช้เส้นสายช่วยสืบ แถมบางตอนผู้เคราะห์ร้ายก็เป็นคนใกล้ชิดกับทีมพระเอกด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนได้อิทธิพลมาจากนิยายทั้งสิ้น

“คินดะอิจิ กับคดีคดีฆาตกรรมปริศนา” การ์ตูนนักสืบที่เล่าเรื่องราวของคินดะอิจิผู้ (ได้รับการสมมติว่า) เป็นรุ่นหลานของคินดะอิจิ โคสุเกะ จากนิยาย “คินดะอิจิยอดนักสืบ”

บอกแบบนี้อาจเหมือนกับอนิเมะลอกนิยายมา ทว่าหากจะเทียบกันก็ดูไม่สมควร เรียกว่า อนิเมะนำกลิ่นอายของนิยายมาใช้ได้ดีจะดีกว่า เพราะอย่างไรระดับของความรุนแรงในอนิเมะก็เจือจางกว่า (ก็เพราะเป็นอนิเมะที่จับกลุ่มผู้ชมกว้างกว่านี่เนอะ) และคินดะอิจิคนหลานก็ตลกโปกฮา และทะลึ่งตึงตังมากกว่า การชมอนิมเมะจึงเหมาะกับคนที่ยังไม่ได้เป็นแฟนนิยาย หรือไม่ก็ไม่ซีเรียสนำมาเปรียบเทียบกันมากนัก และพอดูจบแล้ว คนที่ยังไม่เคยอ่านนิยายก็อาจจะเกิดความรู้สึกอยากไปตามนิยายต่อ การอ่านมังงะหรือชมอนิเมะเรื่องนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เตรียมพร้อมผู้อ่านให้รับฉากรุนแรงและด้านมืดสุดกู่ในนิยายด้วย

 

เราจะเจออะไรในคินดะอิจิ ฉบับอนิเมะบ้าง

“คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” ฉบับอนิเมะ ออกอากาศในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2540-2559 มีทั้งสิ้น 3 ภาค คือภาคแรก ภาครีเทิร์น (R) และตอนพิเศษ โดยในช่วงเกือบ 20 ปีนี้ มีช่วงที่ว่างเว้นไปสิบกว่าปี แล้วจึงกลับมาทำใหม่ สำหรับในประเทศไทยเคยฉายทางช่อง ยูบีซี ฟิล์มเอเชีย พ.ศ. 2546-2547 และช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี พ.ศ. 2559-2561

ด้วยช่วงเวลาการผลิตและฉายที่ยาวนาน เราจึงจะเห็นรายละเอียดของเสื้อผ้าหน้าผมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ให้ความรู้สึกเหมือนคินดะอิจิและตัวละครอื่น ๆ ได้เติบโตเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาไปด้วย (ซึ่งในจุดนี้อาจจะไม่ต่างจากโคนันฉบับมังงะเท่าไหร่นัก แต่ไม่รู้ทำไมเราถึงรู้สึกอัดอึดกับความไม่คืบหน้าและไม่เติบโตของโคนันมากกว่ากันนะ) หน้าตารูปร่างของทุกคนจะค่อย ๆ เข้าที่ ดูหล่อสวยขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังได้เห็นบรรยากาศหม่น ๆ ปนความสยอง หลอน ๆ แบบโบราณคล้ายในคินดะอิจิฉบับนิยายที่ไม่ค่อยมีในมังงะ “คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” หรือ “คินดะอิจิ กับแฟ้มคดีพิศวง” ที่ผลิตในช่วงหลังด้วย

ภาพจากอนิเมะ “คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” ตอน คฤหาสน์กลไกฮิดะ

ภาพจากอนิเมะ “คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา” ตอน เกาะมหาสมบัติ

นอกจากนี้ เรายังจะได้เห็นต้นกำเนิดและบุคลิกของตัวละครสำคัญอื่น อาทิ ‘ซากิ ริวตะ’ (คนพี่) เพื่อนตากล้องที่ชื่นชมความสามารถของคินดะอิจิ ผู้นำพา ‘ซากิ ริวจิ’ (คนน้อง) หรือซากิเบอร์ 2 มาให้คินดะอิจิได้พบเจอ หรือตัวละครอย่าง ‘อาเคจิ เคนโก’ นายตำรวจหนุ่มแห่งญี่ปุ่น หัวหน้าของผู้หมวดเคนโมจิ หนุ่มหล่อมาดนิ่งสุขุมรอบคอบ ผู้ที่เป็นทั้งคู่อริและผู้ช่วยเหลือคินดะอิจิในคดีต่าง ๆ และอาจเพราะเป็นอีกหนึ่งตัวละครยอดนิยมของเรื่อง จึงมีตอนพิเศษเฉพาะแยกให้ชมในฉบับอนิเมะอีกต่างหาก (แต่น่าจะต้องรอหน่อยนะ เพราะรีรันรอบนี้ยังปล่อยไม่ถึง) ทั้งยังน่าจะเป็นต้นกำเนิดบุคลิกของตัวละคร อามาคุสะ ริว เพื่อนรักและคู่แข่งของตัวเอก ในโรงเรียนนักสืบ Q ที่ผู้นิยมการ์ตูนสายนักสืบรุ่นใหม่น่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นการ์ตูนสืบสวนอีกเรื่อง ผลงานชิ้นถัดมาของคนแต่งเรื่องและผู้วาดทีมเดียวกัน

คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา 

ผู้แต่ง : โยซาบุโร่ คานาริ และ เซย์มารุ อามางิ  วาดภาพ : ฟุมิยะ ซาโต้

“คินดะอิจิ ฮาจิเมะ” จากคดี บทเพลงปีศาจ

“อาเคจิ เคนโก” จากคดี บทเพลงปีศาจ

 

เร็นโจ คิว และอามาคุสะ ริว สองตัวเอกจากโรงเรียนนักสืบ Q ที่น่าจะได้รับอิทธิพลด้านบุคลิกมาจากคินดะอิจิและอาเคจิ ผู้แต่ง : เซย์มารุ อามางิ  วาดภาพ : ฟุมิยะ ซาโต้

 

อยากดูแล้ว จะไปตามดูเรื่องนี้ได้ที่ไหนดี

ปัจจุบัน LINE ได้นำอนิเมะเรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้ง ผ่านทาง LINE TV การฉายครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมหรือรีรัน ให้เราได้ดูกันได้ทุกที่ทุกเวลากันอย่างจุใจ โดยตอนที่มีฉายในปัจจุบันคือราว ๆ 70 กว่าตอน หรือครึ่งทางของภาคแรก หนึ่งคดีใช้เวลาเล่าประมาณ 2-3 ตอนขึ้นไป สามารถดูไล่เรียงตามลำดับ หรือจะดูกระโดดข้ามคดีไปมาก็ได้ ไม่ค่อยส่งผลต่อเนื้อเรื่องมากนัก แต่หากดูตามลำดับก็จะได้รู้จักตัวละครเป็นค่อยเป็นค่อยไปดี กว่าเราจะปลอดจากภัยโควิด ก็น่าจะเคลียร์กันไปได้หลายตอนเลยทีเดียว

แฟน ๆ อนิเมะสายสืบสวนหรือลี้ลับ ที่ยังกักตัวอยู่บ้าน หรือ WFH นี่ถือเป็นโอกาสทองที่เราจะได้ย้อนมาชมการ์ตูนยอดฮิต รำลึกอดีตกันอีกครั้ง พร้อมแล้วตามไปดูกันได้ที่ LINE TV เลยครับบบบ

 

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส