ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้นักวิจัยกลุ่มนี้หันมาศึกษาในเรื่องนี้กันนะ แต่กลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัยลอนดอนก็ได้มีการทำวิจัยกันอย่างจริงจังไปแล้วในเรื่องที่ว่า กลุ่มผู้ชายที่มีข้อด้อยอะไรบางอย่าง มักจะขับรถสปอร์ตราคาแพงหรือมีพฤติกรรม ‘อวดรวย’ เพื่อเป็นการชดเชยบางสิ่งที่เขามีในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

กลุ่มนักวิจัยได้ทำการการเก็บข้อมูลจากชาย 200 คน อายุตั้งแต่ 18 จนถึง 74 ปี แต่การวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับขนาดจุ๊ดจู๋นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้ชายด้วยกันรู้กันดีว่า ถ้าจะให้กรอกข้อมูลบอกขนาดของจุ๊ดจู๋ของตัวเอง พวกที่มีจุ๊ดจู๋ขนาดเล็ก คงไม่กรอกข้อมูลตามความจริงเป็นแน่ นักวิจัยเลยขบคิดหาวิธีการหาข้อมูลแบบอ้อม ๆ มา ดังนี้ ด้วยการแบ่งตัวอย่างอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มชายที่ยังไม่พอใจขนาดจุ๊ดจู๋ของตัวเอง อีกกลุ่มที่พอใจว่าจุ๊ดจู๋ของพวกเขานั้นบิ๊กเบิ้มแล้ว จากนั้นให้สมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม มาเลือกภาพรถยนต์ที่ตัวเองชอบและในนั้นก็มีรถสปอร์ตราคาแพงด้วย

นักวิจัยตั้งสมมติฐานแรกว่า ถ้าอาสาสมัครรายใดเชื่อว่าเขามีจุ๊ดจู๋ขนาดเล็กเขาจะเลือกรถสปอร์ต สมมติฐานที่ 2 คือการหาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อความมั่นใจในตัวเอง ทดลองด้วยการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ ที่น่าจะส่งกระทบต่อความมั่นใจในตัวเองของอาสาสมัครแต่ละคน ทั้งนี้ก็พิจารณาถึงอายุของอาสาสมัครด้วย เพราะวัยที่มากขึ้นการให้ความสำคัญต่อขนาดของจุ๊ดจู๋ในการมีเพศสัมพันธ์และท่าทางในขณะมีเพศสัมพันธ์ก็แปรเปลี่ยนไป

ในการทดลองนั้น นักวิจัยจะแกล้งบอกข้อมูลเท็จไปว่า ขนาดเฉลี่ยของจุ๊ดจู๋เมื่อแข็งตัวเต็มที่จะอยู่ที่ 18 ซม. กลุ่มที่มีจุ๋ดจู๋สั้นกว่านี้จะเริ่มเสียความมั่นใจในตัวเองแล้ว อีกกลุ่มจะถูกบอกข้อมูลว่าขนาดเฉลี่ยของจุ๊ดจู๋เมื่อแข็งตัวเต็มที่จะอยู่ที่ 10 ซม. กลุ่มที่มีจุ๋ดจู๋ยาวกว่านี้จะเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองสูงแล้ว พอผ่านพ้นขั้นตอนนี้ นักวิจัยก็จะให้เหล่าอาสาสมัครเลือกภาพรถยนต์ที่ตัวเองชอบ นักวิจัยทำการทดลองแบบเดียวกันนี้กับอาสาสมัครกลุ่มเดิมถึง 4 ครั้ง และแต่ละครั้งก็จะบอกตัวเลขขนาดเฉลี่ยของจุ๊ดจู๋เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ผลการทดลองพบว่า เมื่ออาสาสมัครได้รับข้อมูลที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีจุ๊ดจู๋ที่เล็กและทำให้ขาดความมั่นใจ พวกเขาจะเลือกภาพรถสปอร์ตกันมากขึ้น แต่ผลกระทบนี้จะเห็นชัดในกลุ่มชายที่มีอายุตั้งแต่ 29 ปีขึ้นไป ซึ่งการตอบสนอง และให้ความสนใจต่อรถสปอร์ตในกลุ่มอาสาสมัครนั้น มีมากกว่าจากที่คาดการณ์ไว้ จึงเป็นการตอกย้ำสมมติฐานของเหล่านักวิจัยว่า การขาดความมั่นใจกับการเลือกซื้อรถสปอร์ตนั้นมีการเชื่อมโยงกันจริง ไม่ใช่เหตุบังเอิญ เป็นไปได้ว่าการที่พวกเขาเลือกซื้อรถสปอร์ตนั่นก็เพราะต้องการชดเชยข้อด้อยบางอย่างในตัวเอง

ย้อนไปเมื่อทศวรรษก่อน นักวิจัยในสหรัฐฯ ก็เคยทำการศึกษาในเรื่องผู้ชายที่ให้ความสำคัญกับรถสปอร์ตเวลาจีบสาว พวกเขาเชื่อว่าถ้าใช้รถสปอร์ตแล้วจะชวนหญิงออกเดตได้ผล เพราะผู้ชายกลุ่มนี้ไม่ได้หวังผลในการคบหาระยะยาว พวกเขาเชื่อว่าการมีรถสปอร์ตไว้ใช้มีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย แต่นักวิจัยในเรื่องนี้ก็ยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ถ้าเลือกใช้ของมีค่าราคาแพงประเภทอื่น ๆ แทนรถสปอร์ตจะดูเป็นตัวเลือกที่ฉลาดกว่า แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าของมีค่านั้นคืออะไร ซึ่งคงจะมีการเปิดเผยหลังการวิจัยครั้งต่อไป

ที่มา