[รีวิว] Interceptor : Die Hard เวอร์ชันหญิงแกร่ง
Our score
5.4

1h 39m

Action, Adventure, Drama

Director Matthew Reilly

Writers Matthew Reilly, Stuart Beattie

Stars Elsa PatakyLuke BraceyAaron Glenane

[รีวิว] Interceptor : Die Hard เวอร์ชันหญิงแกร่ง
Our score
5.4

[รีวิว] Interceptor : Die Hard เวอร์ชันหญิงแกร่ง

จุดเด่น

  1. เอลซ่า พาทากี ฟิตหุ่นมาล่ำบึ้กมาก ดูสมกับเป็นนางเอกนักบู๊
  2. เลือกแง่มุมแปลกใหม่มาเล่า กับฐานปฏิบัติการยิงสกัดขีปนาวุธที่หนังฮอลลีวูด ยังไม่เคยหยิบมาเล่าเรื่อง

จุดสังเกต

  1. ตัวละครทั้งฝั่งร้าย ฝั่งดี แบนราบ ไม่มีเหตุผลรองรับในการปฏิบัติการภารกิจที่ดูหนักแน่น น่าคล้อยตาม
  2. หนังอยู่ในมือผู้กำกับ ที่ไร้ประสบการณ์ ทำให้หนังไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้ในทุก ๆ ด้าน
  3. ดนตรีประกอบในฉากแอ็กชัน บิลท์จนเกินเหตุ จนน่ารำคาญ
  4. เนื้อหามาตามสูตรสำเร็จเกิน ไม่มีอะไรเกินการคาดเดา
  • คุณภาพงานสร้าง

    6.0

  • บทภาพยนตร์

    4.0

  • คุณภาพนักแสดง

    4.9

  • ความบันเทิง

    6.9

  • คุ้มค่ากับเวลาในการรับชม

    5.0

นับว่าเป็นม้ามืดสำหรับนาทีนี้จริง ๆ สำหรับ Interceptor ที่มาแบบเงียบ ๆ ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่ต้องโปรโมตอะไรเลย และที่สำคัญหนังไม่มีจุดขายอะไรเลย ทั้งนักแสดงและผู้กำกับ แต่หนังก็ขึ้นอันดับ 1 ในตาราง Netflix เมืองไทยไปได้แบบฉลุย

Interceptor มีชื่อไทยง่าย ๆ ว่า “สงครามขีปนาวุธ” เปิดเรื่องมาด้วยคำบรรยายว่า สหรัฐอเมริกามีฐานตรวจจับและป้องกันขีปนาวุธนิวเคลียร์อยู่ 2 แห่ง หน้าที่ของฐานนี้คือ คอยตรวจับขีปนาวุธที่มุ่งหน้ามายังสหรัฐฯ และจะยิงขีปนาวุธออกไปทำลายก่อนเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ ฐานแรกคือ ฟอร์ตกรีลีย์ อยู่ในรัฐอะลาสก้า และฐานที่ 2 คือ SBX-1 เป็นฐานที่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก แต่แล้วฟอร์ตกรีลีย์ก็โดนกลุ่มบุรุษลึกลับติดอาวุธบุกจู่โจมสังหารเจ้าหน้าที่จนหมดสิ้น พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ออนไลน์ว่า พวกเขาได้เข้าชิงขีปนาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซียมาได้แล้ว 16 ลูก ตั้งจุดหมายปลายทางไว้ยัง 16 รัฐของอเมริกาไว้เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายต่อไปของกลุ่มก่อการร้ายก็คือฐาน SBX-1 ที่นางเอกของเรื่องคือ กัปตัน เจ.เจ. คอลลินส์ (รับบทโดย เอลซ่า พาทากี้ (Elsa Pataky) ภรรยาตัวจริงเสียงจริงของ คริส เฮมส์เวิร์ธ) เพิ่งถูกส่งไปประจำการ

ลุค เบรซีย์ รับบทหัวหน้าทีมวายร้าย

หนังเปิดเรื่องและเดินเรื่องอย่างรวดเร็วฉับไว หลังแนะนำตัวนางเอกหญิงแกร่งของเรื่องได้ไม่ทันไร กลุ่มคนร้ายก็เปิดตัวทันที กำลังจะเริ่มแผนการบุกเข้ายึดห้องควบคุม พอดีที่คอลลินส์แก้ไขสถานการณ์ได้ทัน รีบขังตัวเองและเจ้าหน้าที่อีก 2 นายไว้ในห้องควบคุม ทางกองทัพสหรัฐฯ ทราบเรื่องก็รีบส่งหน่วยซีลมาสมทบ แต่ต้องใช้เวลาเดินทางมายัง SBX-1 ถึง 90 นาที จึงเป็นภาระหน้าที่ของคอลลินส์ ที่ต้องยับยั้งการบุกรุกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายไว้ไม่ให้บุกเข้ามาได้ก่อนที่หน่วยซีลจะมาถึง ซึ่งระหว่างนี้ อเล็กซานเดอร์ เคสเซิล หัวหน้าทีมก่อการร้ายก็พยายามหาทางบีบบังคับให้คอลลินส์ยอมเปิดประตู ทั้งจับตัวประกันขู่ฆ่า ทั้งเสนอเงินรางวัลก้อนโต ขณะเดียวกันก็ส่งลูกสมุนให้บุกเข้าห้องมาช่องทางนั้น ช่องทางนี้ ทำให้หนังได้สอดแทรกฉากต่อสู้เป็นระยะ ๆ

ไม่รู้ว่าฝ่ายก่อการร้ายมีอยู่กี่คนกัน เห็นโผล่มาให้นางเอกจัดการทีละคน ทีละคน ไปเรื่อย ๆ ก็เห็นได้ชัดว่าหนังเน้นขายฉากต่อสู้เป็นหลัก มีการออกแบบฉากต่อสู้ที่ผ่านกระบวนการคิด วางแผน ให้ใช้ทั้งอาวุธ มือเปล่า และข้าวของรอบตัว แต่ก็มองเห็นได้ชัดว่าเล่นกันตามคิว ซึ่งในวันนี้วิทยาการงานสตันท์ในวงการหนังฮ่องกงได้ถ่ายทอดไปถึงฮอลลีวูดแล้ว ฉากต่อสู้ในหนังช่วงหลัง ๆ จึงออกมาสมจริงหนักหน่วงกันอย่างมาก พอเรื่องไหนทำได้ไม่ถึง จึงเห็นได้ชัด อย่างใน Interceptor นี่ก็เช่นกัน ที่น่ารำคาญมากก็คือดนตรีประกอบซึ่งพยายามบิลท์เหลือเกิน ดังและล้ำหน้าความตื่นเต้นของภาพในฉากนั้น ๆ ไปมาก ดูแล้วไม่เข้ากัน คุณภาพอย่างกับละครหัวค่ำบ้านเรา ที่มักขโมยดนตรีประกอบต่างชาติมาใส่แบบเวอร์วัง

จะว่าไป Interceptor ก็มาในสูตรสำเร็จของหนังแอ็กชันฮอลลีวูดนะ กับการเขียนให้พระเอกจำเป็นไปอยู่ผิดที่ผิดเวลาในสถานที่ปิดล้อม แล้วก็เป็นสูตรที่มักจะประสบความสำเร็จเสียด้วย อย่างเช่นใน Die hard 1, Die Hard 2, Sudden Death, Under Siege 2: Dark Territory แต่ที่สำคัญหนังจะต้องมีบทที่ดี และผู้กำกับที่มีประสบการณ์ แต่กับ Interceptor ไม่มีทั้งสองอย่าง หนังน่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการภาพยนตร์เลยล่ะครับ ที่ผู้กำกับมาจากนักเขียนนิยาย แมทธิว ไรลีย์ (Matthew Reilly) เป็นนักเขียนนิยายแนวแอ็กชันชาวออสเตรเลีย ที่มีผลงานตีพิมพ์มาแล้วหลายสิบเล่ม เนื้อหาของเขามักจะมาแนวอย่างที่ว่านี่แหละ พระเอกของเรื่องมักจะไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา ต้องกลายเป็นฮีโรจำเป็น

เอลซ่า พาทากี ในบทเจ้าหน้าที่ เอเลนา เนเวส ใน Fast 5, Fast 6, fast 7

โดยปกติแล้ว หนังเรื่องไหนที่ได้เจ้าของเรื่องมามาเขียนบทภาพยนตร์เอง มักจะออกมาดี คือถ่ายทอดเนื้อหาสาระจากงานเขียนมาได้ครบถ้วน แต่คงต้องยกเว้น แมทธิว ไรลีย์ ผู้นี้ไว้แล้วล่ะ เพราะตัวละครนำทั้งสองฝั่งอย่าง เจ.เจ. คอลลินส์ และ อเล็กซานเดอร์ เคสเซิล นั้นช่างแบนราบ มีการพูดถึงอดีตของคอลลินส์พอสมควร ว่าเธอเคยมีเรื่องราวอื้อฉาวในกองทัพ เป็นปมในใจ แต่นี่คือหนังแอ็กชันแบบจริงจัง ซึ่งหนังเลือกที่จะโชว์ฉากพะบู๊ของเธอมากกว่า แต่หนังก็ไม่ได้กล่าวเลยว่าเหตุใดคอลลินส์ถึงเก่งกาจขนาดนี้ เชี่ยวชาญทั้งการต่อสู้มือเปล่า และอาวุธทุกรูปแบบ ขนาดที่ว่าสามารถสังหารคู่ต่อสู้ที่เป็นผู้ชายบึกบึนได้หมดทุกราย ส่วนเคสเซิลหัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายที่ข้อมูลเบื้องหลังบอกว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮานส์ กรูเบอร์ จาก Die Hard วายร้ายอันดับต้น ๆ ของภาพยนตร์ฮอลลีวูด บทแจ้งเกิดของ อลัน ริคแมน ผู้ล่วงลับ แต่เคสเซิลถ่ายทอดไม่ได้แม้เพียงเสี้ยวของกรูเบอร์เลย เคสเซิลไม่มีทั้งไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม และที่สำคัญ ลุค เบรซีย์ (Luke Bracey) ก็ไม่สามารถถ่ายทอดรังสีอำมหิตอย่างที่ตัวร้ายควรจะมีให้รู้สึกได้ ขนาดลูกน้องยังกล้าต่อปากต่อคำไร้ซึ่งความยำเกรงเลย รวมไปถึงเหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาปฏิบัติการระทึกโลกเช่นนี้ก็ไม่ชัดเจน และทำไปเพื่อเป้าหมายอันใด

คริส เฮมส์เวิร์ธ ผู้อำนวยการสร้าง ที่โผล่มาในบทสมทบ

เชื่อแน่ว่าถ้า แมทธิว ไรลีย์ คงสถานะตัวเองไว้แค่บทภาพยนตร์ แล้วปล่อยให้ผู้กำกับมืออาชีพมีประสบการณ์มาทำหน้าที่ หนังจะออกมาสนุกกว่านี้แน่นอน เพราะพล็อตเรื่องปูมาน่าสนใจแล้ว เลือกหยิบแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมาเล่า แล้วถ้าหนังสามารถสร้างภาพลักษณ์ของตัวร้ายให้ดุ น่ากลัว กว่านี้หนังจะระทึกเข้มข้นขึ้นอีกมาก

จุดที่น่าชื่นชมอย่างมากก็คือ เอลซา พาทากี นางเอกของเรื่องในวัย 45 ปี (แก่กว่า คริส เฮมส์เวิร์ธ 8 ปี) ดูอ่อนกว่าวัยมาก แล้วเห็นได้ชัดว่าเธอตั้งอกตั้งใจกับบทนี้อย่างมาก ดูได้จากมัดกล้าม เชื่อว่าเธอต้องผ่านการเข้ายิมมานับร้อยชั่วโมงเป็นแน่ สุดท้ายเธอก็ได้หุ่นที่ดูเหมาะกับการเป็นนางเอกนักบู๊ และฉากที่ชวนอึ้ง ทึ่ง อย่างมาก และเป็นฉากขายบนโปสเตอร์ด้วย ก็คือการโหนบาร์ด้วยแขนข้างเดียว แล้วยังโยนตัวข้ามบาร์ต่อเนื่องเป็นสิบครั้งได้อีกด้วย ไม่ทำให้คริสผู้เป็นสามีผิดหวัง เพราะเรื่องนี้คริสเป็นผู้อำนวยการสร้าง แถมยังมารับบทสมทบในเรื่องด้วย เรียกได้ว่าทำหน้าที่ป๋าดันเมียตัวเองแบบสุด ๆ

แมทธิว ไรลีย์ ขณะกำกับ เอลซา พาทากี

Interceptor เรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสัญชาติออสเตรเลียก็ไม่ผิด เพราะนักแสดงก็เป็นออสเตรเลียล้วน ๆ ผู้กำกับ เขียนบท ก็ออสเตรเลีย แถมหนังก็ยังถ่ายทำกันในออสเตรเลีย ใช้นักแสดงหลักไม่ถึง 10 คน ฉากส่วนใหญ่ก็เป็นฉากภายในห้องบังคับการ ใช้ทุนสร้างไม่เกิน 15 ล้าน ถ้าไม่มีหน้า คริส เฮมส์เวิร์ธ โผล่มา Interceptor ก็คือหนังเกรดบีเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นยุคก่อนก็คือหนังที่สร้างลงดีวีดีนั่นแหละ

หนังยังคงสูตรสำเร็จของหนังแอ็กชัน ด้วยการเล่นกับวินาทีฉิวเฉียดแบบเสี้ยววินาที ก็พอได้ลุ้นหน่อยนึง เพราะเราก็รู้กันอยู่แล้วล่ะว่ายังไงก็ทัน หนังพอให้ความบันเทิงได้ ไม่ถึงกับเสียเวลาดู แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เส้นเรื่องคาดเดาได้หมด ดูไปทำนู่นทำนี่ไปได้ เดินไปหยิบขนม เข้าห้องน้ำ กลับมาดูต่อก็รู้เรื่อง