[รีวิว] ปริศนารูหลอน: รูหนอน? ที่ไม่เป็นปริศนา

Release Date

02/12/2021

ความยาว

125 นาที

[รีวิว] ปริศนารูหลอน: รูหนอน? ที่ไม่เป็นปริศนา
Our score
6.0

ปริศนารูหลอน

จุดเด่น

  1. การออกแบบศิลป์และการกำกับภาพช่วยให้หนังดูดี การแสดงทำได้น่าจดจำ ไอเดียและข้อความระหว่างบรรทัดของหนังชวนคิดและน่าตกตะลึง

จุดสังเกต

  1. ซีจีย่ำแย่และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลยหลายฉาก การแต่งหน้าผีทำได้แย่ การเล่าเรื่องถือว่าผิดพลาดถ้ามองจุดประสงค์การเป้นหนังซ่อนความลับและความสยองขวัญ
  • บท

    5.5

  • โปรดักชัน

    6.5

  • การแสดง

    8.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    5.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    6.0

เรื่องย่อ: เมื่อรูลึกลับบนกำแพงของบ้านตากับยายปรากฏขึ้น พิมและพัทก็ได้พบความจริงสุดสะพรึงของครอบครัวที่ถูกเก็บซ่อนไว้มาเป็นเวลานาน

เป็นหนังไทยทางเน็ตฟลิกซ์ที่เปิดตัวได้อย่างน่าสนใจอีกเรื่อง เพียงแค่ว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่เคยเป็นไอคอนหนังไทยในช่วงเวลาหนึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าการรอชม เพราะช่วงหลัง ๆ แกห่างหายไปและไปทำงานบริหารอยู่ข้างหลังเสียมากกว่า โดยนาน ๆ ทีจะมีหนังมาให้ชมกัน และเราในฐานะแฟนหนังของแกตั้งแต่ ‘ฟ้าทะลายโจร’ (2540) และชอบมากในช่วง ‘หมานคร’ (2547) กับ ‘เปนชู้กับผี’ (2549) ก็ยังคงเฝ้าติดตามและลุ้นให้แกกลับมาคืนฟอร์มอยู่เสมอ ยิ่งเป็นโปรเจกต์กับทางเน็ตฟลิกซ์ก็ยิ่งน่าสนใจว่าวิศิษฏ์จะช่วยกู้ศรัทธาคอหนังไทยในเน็ตฟลิกซ์ที่ตกต่ำลงได้ด้วยหรือไม่

จริงแล้ววิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงเป็นอีกผู้กำกับที่เขียนบทเองและเขียนบทได้ดี เรียกว่าแกเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งและเข้าใจตลาดอีกคนหนึ่ง เพราะงานที่แกเขียนบทให้คนอื่นกำกับก็ถือว่าสร้างมาตรฐานในวงการหนังยุคหนึ่งเช่นกัน และแม้แต่ในกรณีที่แกกำกับหนังจากบทของคนอื่นในเรื่อง ‘เปนชู้กับผี’ ก็ยังเห็นการกำหนดทิศทางหนังที่เก่งทีเดียว

ปริศนารูหลอน

มาในเรื่องนี้บทหนังเป็นฝีมือของ อภิเษก จิรธเนศวงศ์ ซึ่งเท่าที่ทราบคือไม่มีผลงานหนังยาวก่อนหน้าให้พอเห็นฝีไม้ลายมือเลย และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หนังมีผู้ร่วมเขียนบทหลายคนรวมถึงตัวผู้กำกับอย่างวิศิษฏ์ที่ต้องลงมาร่วมเขียนบทด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นลักษณะทีมเขียนบทแต่แรก หรือการเข้ามาแก้ไขบทในภายหลังเพื่อแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดของหนังคือปัญหาของบท ที่ตั้งใจเป็นหนังสยองขวัญขายไอเดียและพยายามหลอกผู้ชมด้วยการหักมุมไปมา แล้วทำให้คนดูตกตะลึงกับความจริงหลังสุด แต่กลับกลายเป็นว่าไปไม่ถึงฝั่งฝันสักด้าน

ปริศนารูหลอน

ธีมของเรื่องหนังของวิศิษฏ์ในยุคหลังมีความจิกกัดสังคม และในเรื่องนี้ก็ว่าด้วยความจริงอาจมีหลายชั้น เปลี่ยนไปตามวัยของผู้มอง และบางทีความจริงที่แท้ก็โป้ปดหลอกลวงและปรากฏแก่หน้าเรามาแต่แรกเพียงแต่เราไม่ได้สนใจจะมองเห็นมัน ซึ่งสาระนี้มีนัยของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยในบางแง่มุมอยู่ และใครที่ชอบค้นชอบคุ้ยคิดวิเคราะห์สัญญะในหนังน่าจะชื่นชอบเป็นพิเศษ ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงงานก่อนหน้าของวิศิษฏ์อย่าง ‘สิงสู่’ (2561) ที่ซ่อนข้อความแรง ๆ อยู่ไม่น้อย

ฟังดูหนัง ‘ปริศนารูหลอน’ มีทรงหนังที่ดูดีไม่น้อย ทว่าสิ่งที่เหมือนกับหนังเรื่องก่อนอย่าง ‘สิงสู่’ ดันไม่ใช่เพียงแต่ความคมคายที่ซ่อนไว้ แต่ยังเป็นปัญหาการเล่าเรื่องที่พูดง่าย ๆ คือทั้งสองเรื่องดูไม่สนุก ซึ่งเป็นจุดที่น่าแปลกใจในงานยุคหลังของวิศิษฏ์ที่มักเล่าเรื่องไม่ราบรื่นหรือสร้างอารมณ์ร่วมเท่าไรนัก การที่หนังมีทรงของหนังสยองขวัญที่มาพร้อมการหักมุม ท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นความล้มเหลวทั้งเรื่องสยองขวัญและการหักมุมเอง การจะให้ไปถึงจุดคนคิดวิเคราะห์สัญญะที่ผู้สร้างต้องการโดยต้องทนทรมานกับความไม่บันเทิงของหนัง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับคนดูนัก

ปริศนารูหลอน

ความล้มเหลวในแง่หนังสยองขวัญนั้น จริงแล้วในช่วงการสร้างปมของเรื่องต้องยอมรับว่าน่าสนใจทีเดียว และเป็นทั้งหมดที่ตัวอย่างหนังนำมาใช้ทำให้ดูน่าสนใจด้วย ประกอบกับการแสดงของนักแสดงทั้งรุ่นเด็กรุ่นใหญ่ที่ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะรุ่นใหญ่อย่าง สมภพ เบญจาทิกุล และทาริกา ธิดาทิตย์ ที่รับบทตากับยาย ที่สามารถส่งพลังการแสดงออกมาจนต้องหยุดตามองทุกครั้งได้อย่างดี ส่วน ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์ เองในฐานะตัวเดินเรื่องหลัก ร่วมกับ แม็ค ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์ ในบทพิมและพัท หลานที่เพิ่งพบว่าแม่ตนเองประสบอุบัติเหตุโคม่าจนต้องมาอยู่อาศัยบ้านของตากับยายที่ไม่เคยได้พบมาก่อนในชีวิตและเพิ่งรู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ ประกอบกับงานออกแบบศิลป์และการกำกับภาพที่ดูน่าสนใจก็เพียงพอกับวัตถุดิบตั้งต้นให้หนังยอดเยี่ยมมากแล้ว

ทว่าเมื่อหนังดำเนินไปจนรูบนผนังในเรื่องปรากฏตัวเป็นต้นไป หนังก็ลดระดับความขลังลงจากภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังรูที่ดูเป็นฉากประดิษฐ์เกินไป รวมถึงผีที่อยู่ในนั้นก็เป็นการแต่งหน้าที่ดูหลอกตาจนขาดความน่ากลัว พอประกอบกับซีจีที่หนังพยายามยัดเยียดใช้โดยไม่จำเป็นซึ่งก็ไม่ได้ทำได้ดีนัก เพราะเอาเข้าจริงการใช้เทคนิคพิเศษแบบไม่พึ่งซีจีอาจดูน่ากลัวกว่าเสียด้วย ทำให้หนังลดระดับจากหนังสยองมีรสนิยมในช่วงแรกกลายเป็นละครเย็นหลังข่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกขณะอย่างน่าเสียดาย

ปริศนารูหลอน

ความล้มเหลวในด้านการเป็นหนังหักมุม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หนังดูไม่สนุกเพราะถึงฉากสยองจะไม่น่ากลัว แต่หากปริศนาตามชื่อเรื่องมันน่าสนใจก็ยังดึงคนดูให้ดูจนจบได้และบางทีอาจชอบหนังอยู่ไม่น้อย ทว่าหนังกลับเล่นกับปริศนาได้น่าผิดหวังเช่นกัน คำว่ารูหลอนที่พยายามเล่นคำกับทฤษฎีรูหนอนก็ถูกเอามาอ้างแบบขอไปทีจนรู้สึกน่าเสียดาย การให้ดูเหตุการณ์เพื่อหลอกความเข้าใจของคนดูต่อความจริงบางอย่างในครอบครัวของตัวละครก็เป็นอะไรที่เดาได้ไม่ยาก ถึงขนาดว่าครึ่งเรื่องเราก็แทบรู้แล้ว และมันน่าหงุดหงิดที่หนังตั้งใจทำให้ตัวละครดูคิดไม่ออก เหมือนว่าความลับนั้นยังดำมืดอยู่ทั้งที่ความน่าสนใจความอยากรู้ต่าง ๆ สำหรับคนดูมันเหือดหายไม่เหลือแล้ว

และเมื่อมาถึงการเฉลยทุกอย่างจนหมดสิ้น มันก็ไม่ได้อัดหมัดหนักใส่คนดูได้อย่างที่คิด การแสดงของคนร้ายตัวจริงในช่วงหลังก็ออกแบบเสียจนกลายเป็นละครโทรทัศน์ขาดความเป็นหนังไปหมดแล้ว และว่ากันตามตรงเอาที่ตัวหนังอย่างเดียวไม่นับพวกระหว่างบรรทัดของหนังมันก็แทบไม่ได้เหลืออะไรทิ้งค้างคาไว้ในหัวเราเท่าไรเลย ทั้งที่จริงสาระต่าง ๆ ที่เป็นไอเดียสร้างหนังมานั้นมันดีมากทีเดียว เป็นอีกงานที่น่าเห็นใจนักแสดงและทีมงานสร้างที่พยายามแล้วก็คงแก้อะไรกับการเล่าเรื่องที่ไม่สนุกและไม่น่าเชื่อถือนี้ได้

ปริศนารูหลอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส