[รีวิว]CODA : ดีต่อใจจนมีสิทธิ์ลุ้นไปออสการ์
Our score
9.2

Release Date

30/12/2021

PG-13 , 1h 51m

Director : Sian Heder

Writers : Sian Heder

Stars : Emilia JonesMarlee MatlinTroy Kotsur

[รีวิว]CODA : ดีต่อใจจนมีสิทธิ์ลุ้นไปออสการ์
Our score
9.2

[รีวิว]CODA : ดีต่อใจจนมีสิทธิ์ลุ้นไปออสการ์

จุดเด่น

  1. เนื้อหาที่ให้พลังบวก ดูแล้วอิ่มเอมใจ
  2. เพลงเพราะ ดูจบแล้วต้องกลับมาหาฟังเวอร์ชันออริจินัล
  3. ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม ไร้ที่ติ เป็นธรรมชาติสุด ๆ
  4. หลาย ๆ ฉาก อิมแพ็กได้รุนแรงมาก
  5. บทเยี่ยม มีแต่ตัวละครที่น่ารัก เจตนาดีเต็มไปหมด

จุดสังเกต

  1. โปสเตอร์หนัง ที่เต็มไปด้วยนักแสดงที่ไม่มีใครรู้จัก และช่อมะกอก sundance เต็มไปหมด ชวนให้เข้าใจว่าเป็นหนังสายรางวัล ดูยาก
  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • เนื้อหา ตรรกะ ความสมเหตุสมผลของบท

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    9.0

  • คุ้มเวลา ค่าตั๋ว

    10.0

ต้องบอกเลยว่าทีมงานออกแบบหน้าหนังได้ไม่น่าสนใจเอามาก ๆ ด้วยการเอานักแสดงนำทั้ง 4 ที่โนเนมสุด ๆ มานั่งเรียงกันท้ายกระบะรถซึ่งไม่ได้สื่ออะไรเลย น่าจะมีส่วนทำให้บางคนเมินหนังเรื่องนี้ไป และทำให้พลาดประสบการณ์อิ่มเอมที่สุดเรื่องหนึ่ง เท่าที่ศิลปะภาพยนตร์จะถ่ายทอดความรู้สึกให้เรารับได้

เซียน ฮีเดอร์ ผู้กำกับ-เขียนบท (คนกลาง)
สนับสนุนเนื้อหาโดย

CODA เป็นผลงานของ เซียน ฮีเดอร์ (Sian Heder) เธอเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ และมือเขียนบท ซึ่งเรื่องนี้เธอก็ควบหน้าที่กำกับและเขียนบทด้วยตัวเอง จะเรียก CODA ว่าเป็นหนังอินดี้หรือหนังสายรางวัลก็ไม่ผิดนัก เพราะหนังถูกส่งเข้าประกวดตามเทศกาลหนังมาเป็นสิบแล้ว แล้วด้วยคุณค่าของหนังก็กวาดมาได้แล้วกว่า 30 รางวัล แต่เวทีที่ส่งให้ CODA ประสบความสำเร็จสุดก็คือ ซันแดนซ์ เพราะคว้ามาได้ถึง 4 รางวัล ทำให้ Apple TV ควักกระเป๋าซื้อหนังไปด้วยมูลค่า 25 ล้านเหรียญทันที มองแล้วน่าจะเป็นตัวเลขที่คุ้มค่ามาก ๆ เพราะถึงนาทีนี้ ตัวหนังมีสิทธิ์อย่างมากที่จะได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในหลายสาขา

ชื่อเรื่อง CODA นั้นย่อมาจาก “Child of Deaf Adults” แปลได้ว่า “บุตรที่มีบุพการีหูหนวก” ซึ่งก็หมายถึงตัว รูบี้ รอสซี รับบทโดย เอมิเลีย โจนส์ (Emilia Jones) นักแสดงนำหญิงจากทีวีซีรีส์ Locke & Key รูบี้เป็นลูกสาวคนเดียวที่หูได้ยินเสียงปกติในครอบครัวที่หูหนวกทั้งบ้านที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และพี่ชาย ครอบครัวเธอประกอบอาชีพออกเรือหาปลา รูบี้จึงเป็นสาววัยรุ่นที่ต้องรับภาระหนักมาก ทั้งเรียนหนังสือและต้องแบ่งเวลาทำงานกับครอบครัว ตั้งแต่ออกเรือหาปลา นำปลามาเจรจาขายกับนายหน้า เธอกลายเป็นเหมือนเสาหลักของครอบครัวเพราะต้องทำหน้าที่ล่ามระหว่างครอบครัวของเธอกับคนหูดีทั่วไป ตรงนี้ละที่ปูทางให้เรารู้จักและเห็นใจกับภาระหน้าที่ของรูบี้ ก่อนจะพาเราไปเผชิญกับวิกฤตของเรื่อง เมื่อรูบี้ค้นพบพรสวรรค์และสิ่งที่เธอรัก นั่นก็คือ “การร้องเพลง” ซึ่งเธอทำได้ดีมาก จนคุณครูแบร์นาโดพยายามผลักดันให้เธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเบิร์คลีย์ แต่นั่นกลายเป็นว่าถ้ารูบี้เลือกเดินตามความฝันของตัวเอง ก็เท่ากับเป็นการทอดทิ้งครอบครัวที่ต้องการเธอเป็นที่พึ่ง เห็นวี่แววดราม่าหนัก ๆ แล้วใช่ไหมละ

เอมิเลีย โจนส์ ในบท รูบี้ รอสซี

CODA เป็นหนังดราม่า และ เพลง ซึ่งก็แบ่งน้ำหนักของทั้งสองส่วนได้ดี ตลอดเรื่องเราได้ฟังเพลงเพราะ ๆ ซึ่งเป็นเพลงจากยุค 60s หลัก ๆ ก็มี 2 เพลงคือ You’re All I Need to Get By ของ มาร์วิน เกย์ ปี 1968 และ Both Sides, Now ของ โจนี มิตเชลล์ ปี 1969 ซึ่งเป็นเพลงที่คุณครูแบร์นาโดเลือกมาเคี่ยวกรำฝึกฝนให้รูบี้ ซึ่งเราก็ได้เห็นพัฒนาการของรูบี้ในเรื่องการร้องเพลง ควบคู่ไปกับเรื่องราวกุ๊กกิ๊กของเธอกับ ไมลส์ หนุ่มเสียงดีที่คุณครูแบร์นาโดคัดมาร้องเพลงคู่กับเธอ จุดที่ทำให้หนังเดินหน้าไปอย่างน่าติดตามก็เมื่อหนังโยนอุปสรรคต่าง ๆ เข้ามาใส่รูบี้ หลัก ๆ ก็คือปัญหาระหว่างเธอกับครอบครัว ซึ่งพาลไปกระทบกับความสัมพันธ์ของเธอกับไมลส์ และทำให้คุณครูแบร์นาโดผิดหวังทั้งที่กำลังรุดหน้าไปอย่างสวยงาม จนทำให้รูบี้เริ่มทำใจและถอดใจกับเส้นทางที่เธอเลือกไว้ ดูไปก็ลุ้นไป เอาใจช่วยให้รูบี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่เธอตั้งใจ

La famille Bélier หนังฝรั่งเศสต้นฉบับ

พูดได้ว่า CODA เป็นหนังที่เพียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งเนื้อหาของหนัง บทพูด เพลงที่เลือกสรรมาใช้ และโดดเด่นที่สุดคือบรรดานักแสดง ตั้งแต่ตัว เอมิเลีย โจนส์ ที่ตั้งใจและทุ่มเทกับบทรูบี้อย่างมาก ถึงกับฝึกการร้องเพลง เรียนภาษามือ และออกเรือหาปลาจริง ๆ อยู่ 9 เดือน และที่น่าประทับใจสุด ๆ ต้องยกให้ครอบครัวรอสซี ทั้งพ่อแม่และพี่ชาย ที่ได้นักแสดงหูหนวกจริง ๆ มารับบท เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดกับ La famille Bélier หนังฝรั่งเศสที่เป็นต้นฉบับของเรื่องนี้ เพราะในเวอร์ชันออริจินัลนั้น ทีมงานเลือกใช้นักแสดงหูดีมาเล่นเป็นคนหูหนวกถึง 2 คน ก็เลยโดนสมาคมคนหูหนวกประท้วง ว่าการกระทำเช่นนี้เท่ากับไม่สนับสนุนนักแสดงหูหนวก

พอมาถึง CODA เราก็เลยได้เห็นศักยภาพอันน่าทึ่งของ ทรอย คอตเซอร์ (Troy Kotsur) มาร์ลี แมตลิน (Marlee Matlin)และ แดเนียล ดูแรนต์ (Daniel Durant) ที่ต้องชื่นชมว่าแต่ละคนแสดงได้ดีงามไร้ที่ติ โดยเฉพาะตัวคอตเซอร์ ผู้รับบทพ่อ แฟรง รอสซี นั้น กวาดมาแล้วหลายรางวัล รอลุ้นว่าคอตเซอร์จะได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมด้วยหรือไม่ คอตเซอร์ให้การแสดงที่เป็นธรรมชาติเหลือเกิน เป็นบทบาทที่สร้างความกดดันให้กับเส้นเรื่องพอควรในฐานะพ่อที่ต้องการยึดเหนี่ยวลูกสาวไว้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเขาก็ทำหน้าที่เป็นตัวชงมุก และหลายมุกก็เรียกเสียงหัวเราะได้จริง

ทรอย ตอตเซอร์ (คนกลาง) ตัวเก็งที่น่าลุ้นว่าจะไปถึงออสการ์หรือไม่

หนังเรื่องหนึ่ง เราอาจจะเจอฉากที่ซาบซึ้ง น่าประทับใจสัก 1 หรือ 2 ฉาก แต่กับ CODA นั้น หนังมีฉากที่เติมเต็มอิ่มเอมหัวใจหลายฉากเหลือเกิน

2 ย่อหน้าจากนี้มีการเอ่ยถึงฉากสำคัญในหนัง

ค่อนเรื่องเราได้เห็นรูบี้ฝึกร้องเพลง You’re All I Need to Get By เพื่อโชว์บนเวทีในงานโรงเรียน ซึ่งถ้าหนังเดินตามสูตรสำเร็จ ฉากที่เธอโชว์นั้นจะเป็นฉากไคลแมกซ์ปิดท้ายเรื่อง ซึ่งคนดูก็รอคอยจะได้ฟังเธอโชว์ศักยภาพในการร้องบนเวที โดยที่มีพ่อแม่และพี่ชายมาให้กำลังใจในหมู่คนดู แต่พอถึงฉากนี้ หนังกลับเลือกใช้วิธีที่หักอารมณ์คนดูแบบคาดไม่ถึง ด้วยการ ‘ปิดเสียง’ เห็นแต่เธอทำปากพะงาบ ๆ จนจบเพลง นั่นก็เพราะผู้กำกับต้องการพาผู้ชมให้ร่วมสัมผัสอารมณ์ทางฝั่งพ่อแม่และพี่ชาย ที่แม้มาดูลูกสาวร้องเพลง แต่ไม่มีทางที่จะได้ยินเสียงอันไพเราะของเธอ ทั้งสามหันมองไปรอบตัว สังเกตอากัปกิริยาของคนรอบข้างที่กำลังตื้นตันกับเสียงร้องของรูบี้ ทั้งสามหันมาสบตากันด้วยความปีติ นี่คือแนวทางที่กล้าที่จะฉีก แต่ได้ผลตอบแทนที่อัดมาได้แรงเกินคาด

ยังไม่พอแค่นั้น หนังยังกระแทกซ้ำอีกดอก ด้วยฉากต่อเนื่องกัน เมื่อรูบี้กลับมาที่บ้าน เธอได้นั่งคุยกับพ่อ พ่อถามว่าเพลงที่ลูกร้องเกี่ยวกับอะไร ร้องให้พ่อฟังหน่อยได้ไหม รูบี้ก็ร้องให้พ่อฟัง พร้อมกับใช้ภาษามืออธิบายให้พ่อฟัง ไม่แค่นั้น พ่อที่มองหน้าลูกสาวด้วยสายตาปลาบปลื้ม ผิดจากสายตาก่อนหน้านี้ ที่จะพยายามดึงรั้นลูกสาวให้อยู่กับตน พ่อเอื้อมมือมาสัมผัสที่คอของรูบี้ เพื่อสัมผัสแรงสั่นของลำคอขณะที่รูบี้ยังคงร้องเพลงให้พ่อฟังอย่างตั้งใจ โอ้ย ถึงฉากนี้ นี่ ตาย ตาย

รูบี้ รอสซี กับ ไมลส์ ความรักกุ๊กกิ๊กในวัยหนุ่มน้อย สาวน้อย

หนังวางบทบาทของตัวละครแทบทุกตัวให้มีปัญหากับรูบี้ ทั้งพ่อ แม่ พี่ชาย คนรัก หรือแม้กระทั่งคุณครู แต่สุดท้ายแล้วบทหนังก็หาทางออกให้กับเรื่องราวได้อย่างลงตัวสวยงาม จากความรู้สึกที่พาเราอินไปในช่วงแรก ให้เรารังเกียจตัวละครตัวนั้นตัวนี้ เพราะคอยเอาใจช่วยให้รูบี้ไล่ตามความฝันของเธอให้ได้สำเร็จ ทุกคนได้มีฉากสำคัญน่าจดจำกับรูบี้ โดยเฉพาะ ลีโอ พี่ชายนั้นงอนน้องได้น่ารักมาก ไม่ได้ซาบซึ้งขนาดกอดกัน แต่ก็เป็นการแสดงออกแบบแมน ๆ แต่พาเราเข้าถึงความรู้สึกและยิ้มตามไปได้ ว่าพี่มันรักน้องจริง ๆ

ยูจีโน เดอร์เบซ ในบท คุณครูแบร์นาโด

ย้อนไปในปี 1995 ถ้าใครเคยได้ดูและซาบซึ้งกับ Mr. Holland’s Opus (มิสเตอร์ฮอลแลนด์ ครูเทวดา) ผมเชื่อว่าจะต้องรัก CODA เรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะหนังมีอารมณ์และเนื้อหาที่คล้ายกันมาก เป็นหนังดราม่าครอบครัวที่มีเพลงประกอบเพราะ ๆ เหมือนกัน จะมีสลับกันหน่อยก็ตรงที่ว่า คุณครูฮอลแลนด์นั้นคือผู้ที่มีพรสวรรค์ทางด้านการประพันธ์ แต่ครูฮอลแลนด์มีลูกชายที่หูหนวก ผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงและซึมซับความไพเราะจากผลงานของพ่อได้ ฉากครูฮอลแลนด์ร้องเพลงแล้วใช้ภาษามืออธิบายเนื้อหาของเพลงให้ลูกชายฟังจากบนเวทีนั้น น้ำตาแตกไปเลยเถอะ

พูดได้เต็มปากว่านี่คือหนังที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะคนที่ชอบหนังดราม่า หนังเพลง นักแสดงยอดเยี่ยม เนื้อหาดี ตัวละครแต่ละตัวล้วนมีแต่คนน่ารัก ๆ ทั้งพ่อ แม่ พี่ชาย ดูจบมีความสุข อิ่มเอมหัวใจครับ หนังเข้าฉายมาตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2564 ตอนนี้ก็ยังมีรอบฉายอยู่บ้างทั้ง เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ และ เฮ้าส์ สามย่าน