เป็นธรรมเนียมประจำของทุกปีครับ ที่เพจ Beartai Buzz จะจัดอันดับหนังและซีรีส์ที่โดนใจทีมงาน ปี 2022 เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเป็นปีที่วงการสตรีมมิงแข่งขันกันอย่างดุเดือด มีภาพยนตร์ที่ถูกซื้อไปลงช่องสตรีมมิงบ้าง หรือทางผู้ให้บริการสตรีมมิงสร้างกันเองบ้าง ส่วนทางซีรีส์ก็มีเรื่องใหม่ออกมาแทบทุกสัปดาห์ดูกันแทบไม่ทัน การจัดอันดับในปีนี้ก็เลยมีรายชื่อหนังและซีรีส์น่าสนใจมาเข้ารอบให้คัดเลือกกันมากกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็ได้รายชื่อภาพยนตร์และซีรีส์ที่โดนใจทีมงานมา 10 อันดับตามนี้ครับ หวังว่าจะตรงใจแฟนเพจกันบ้างนะครับ หรือเรื่องไหนที่ยังไมได้เคยดู ก็หวังว่ารายชื่อนี้จะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านไปเก็บตกย้อนหลังกันได้นะครับ ว่าปีนี้พลาดเรื่องไหนไปบ้าง

10 อันดับภาพยนตร์

1.Top Gun : Maverick

รู้อยู่แล้วละว่ามาแรง แต่ไม่คิดว่าจะมาแรงได้ขนาดนี้ จนถึงตอนนี้ก็มั่นใจได้แล้วว่า Top Gun Maverick ครองอันดับ 1 หนังทำเงินปี 2022 ไปอย่างแน่นอน เพราะ Avatar ” Way of water ตามไม่ทันแล้ว ชื่นชมทีมงานทั้งผู้กำกับและเขียนบทจริง ๆ ที่ทำให้ช่วงเวลา 36 ปี ที่ห่างจากภาคแรกไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ชมเลยแม้แต่น้อย หนังดึงเสน่ห์ของตัวละคร จุดขาย กลับมาได้ครบ และสร้างตัวละครใหม่ ๆ ได้อย่างมีสีสัน มากไปกว่านั้น คือหนังใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ มาทำให้ฉากแอ็กชันดูน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าเดิม สุดท้ายหนังก็กวาดเงินได้จากทั้งแฟนเก่าและแฟนใหม่ แถมยังฟื้นคืนชีพหนังที่คิดว่าจบไปนานแล้ว ให้กลับมามีคุณค่าและสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล

2.Everything Everywhere All at Once

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ได้กล่าวไว้ว่าต้นตอของความทุกข์ทนของผู้คนคือความแปลกแยก (Alienation) จากการเป็นแรงงานที่ใช้ชีวิตเป็นส่วนเสี้ยวไม่ได้รับรู้ถึงคุณค่าของงานและชีวิตอีกทั้งยังดำรงตนอยู่ในสังคมอุดม

ชนชั้น และนั่นทำให้หลาย ๆ ครั้งเราต้องฝันหวานถึงชีวิตแบบอื่น ๆ ที่เราอาจจะเป็นได้หากมีบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป และหากเราเป็นคนส่วนน้อยในสังคมอย่างชาวจีนอพยพในอเมริกา หรือว่าเข้าสู่วัยกลางคนท่ามกลางสังคมทุนนิยมที่แสนวุ่นวายและรายล้อมด้วยปัญหาร้อยพัน ย่อมไปแปลกที่ภาพฝันถึง ‘ชีวิตแบบอื่น ๆ’ ของเราจะยิ่งวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดทั้งวัน “Everything Everywhere All at Once” คือการพาเรื่อง ‘พหุจักรวาล’ หรือ ‘ชีวิตคู่ขนาน’ที่เป็นเรื่องล้ำจินตนาการมาทำให้เป็นรูปธรรมอย่างสุดล้ำ สุดเซอร์ เหวอ บ้า แต่ก็สะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างขันขื่น ที่ชวนตื่นขึ้นมามองชีวิตตัวเอง วีรกรรมของ ‘ซือเจ๊’ มิเชล โหย่ว

(Michelle Yeoh) ในโลก ‘พหุจักรวาล’ เป็นการสะท้อนภาพฝันอันวุ่นวายในห้วงคิดของเราให้ออกมาโลดแล่นโลดโผนโจนทะยานได้อย่างสนุกสนานและชวนตั้งคำถามถึง ‘จักรวาล’ เพียงหนึ่งเดียวที่เรากำลังมีอยู่ในตอนนี้ว่าเราจะทำอย่างไรกับมันดีให้มันเป็นจักรวาลที่เราพึงพอใจและไม่ต้องฝันหวานถึงโลกใบอื่นอีกต่อไป.

3.The Batman

แบทแมนในฉบับของ โรเบิร์ต แพตทินสัน (Robert Pattinson) ภายใต้การกำกับของ แมตต์ รีฟส์ (Matt Reeves) คือการกลับสู่ความดำมืดอีกครั้ง แม้มันจะไม่ได้หม่นในเชิงคำถามคุณธรรมสีเทาแบบที่แบทแมนที่ดีที่สุดตลอดกาลใน ‘The Dark Knight’ เคยทำไว้ แต่ด้วยองค์ประกอบของเนื้อเรื่องที่มีแต่ตัวละครสีเทา ความฉ้อฉลของกลไกอำนาจที่เป็นบ่อเกิดอาชญากรที่ต้องการทวงแค้นมหานครอย่างริดเลอร์ ก็เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เอามาสะท้อนเงาของเด็กหนุ่มที่ระบายความโกรธเกรี้ยวผ่านหน้ากากของฮีโร่ เป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจเมื่อฮีโร่และวายร้ายอาจไม่ต่างกันเลย หนังยังยกระดับเป็นงานคลาสสิกได้ด้วยองค์ประกอบศิลป์ชั้นดีทั้งการคุมโทนสีดำตัดแดงที่สวยงามตลอดเรื่อง และการแสดงอันแยบคายของแพตทินสันที่สลับบทบาทหยองกรอดอ่อนแอของบรูซ เวย์น และแบทแมนที่คลั่งแค้นเข้มแข็งได้ราวกดสวิตช์เปลี่ยนเอา หนังคงสมบูรณ์แบบกว่านี้ถ้าลดความยาวจาก 3 ชั่วโมงลงมาให้เหลือสัก 2 ชั่วโมงแบบเข้ม ๆ เน้น ๆ ได้ 

4.Nope

ลำพังดูหนังเอาอารมณ์ระทึกขวัญก็สนุกอยู่แล้ว แต่ยิ่งใครรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ความอินจะยิ่งทวีคูณ ตั้งแต่การนำภาพเคลื่อนไหวแรก ๆ ของโลกของช่างภาพ เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Eadweard Muybridge)

ที่เป็นภาพจ๊อกกี้ผิวดำขี่ม้ามาเป็นต้นธารในการเติมเต็มจินตนาการ ซึ่งหนังก็ไม่เพียงแค่เอามามั่วนิ่มเพื่อใช้เล่าเรื่องราวของพี่น้องโอเจ และ เอ็มเมอรัลด์ ที่ได้ แดเนียล คาลูยา (Daniel Kaluuya)

และ คีคี พาล์เมอร์ (Keke palmer) มาถ่ายทอดเรื่องราวพี่น้องผู้ตามล่าถ่ายคลิปเอเลียนได้อย่างชวนระทึกใจเปี่ยมอารมณ์ขัน โดยไม่ลืมวิพากษ์บทบาทคนดำในโลกภาพยนตร์ตามประเด็นที่หนังยกไว้ตั้งแต่แรก

และเมื่อนำภาพจำของหนังสยองขวัญมาเขย่าสูตรสำเร็จรวมกันก็เป็นอีกครั้งที่ จอร์แดน พีล (Jordan Peele)มอบประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ไม่มีใครเหมือน 

5.Avatar : Way of water

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเข้าสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อม ในเวลาที่เราควรตระหนักถึงความหลากหลายที่ดำรงอยู่เพื่อเดินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงปลอดภัยสำหรับทุก เชื้อชาติและสายพันธุ์ Avatar คือหนังที่เป็นมิตรกับโลกใบนี้และมิตรสหายต่างเชื้อชาติและสายพันธุ์ ถ้าไม่นับความสนุกสนานและความเพลิดเพลินจากงานสร้างสุดอลังตระการตาที่สร้างสรรค์กันมาร่วม 10 ปี “Avatar : The Way of Water” นับเป็นหนังที่มีแก่นสารที่ดีที่พาเราออกจากการสนใจในตัวเองแบบ ‘ego’ ไปสู่การมองความสัมพันธ์ต่อผู้คนและสรรพสิ่งที่รายล้อมรอบตัวเราแบบ ‘eco’ ในเนื้อเรื่องที่ดูง่าย สบายเพลิน ได้แฝงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเราอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ‘ภายใน’ กับคนในครอบครัว หรือความสัมพันธ์ ‘ภายนอก’ กับผู้คนและสรรพสิ่งที่มีความแตกต่างจากเรา หนังได้สอนวิธีในการทำความเข้าใจ ‘ผู้อื่น’ ที่แตกต่างจากเรา โดยไม่ตัดสินไปก่อนว่าดีเลว และใช้เวลาในการเรียนรู้ในความต่างนั้น ในขณะที่เราก็ได้ทำความเข้าใจใน‘ตัวเอง’ ไปด้วย นั่นคือการเติบโตอย่างมั่นคงระหว่าง ‘ฉัน’ และ ‘เธอ’ เพื่อที่จะหลอมรวมเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘เรา’ ที่มั่นคงต่อไป

6.RRR

ภาพยนตร์แอ็กชันอินเดียที่ทำให้ผู้ชมทั่วโลกต้องตะลึง ด้วยการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นของอินเดียผสานเข้ากับตะวันตกได้อย่างยอดเยี่ยม ผสานแนวทางต่าง ๆ ทั้งแอ็กชัน, ดราม่า, ผจญภัย,โรแมนติก, คอมเมดี้ และมิวสิคัล เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือออกแบบฉากแอ็กชันที่เต็มไปด้วยโอเวอร์ตามสไตล์อินเดีย ทิ้งหลักฟิสิกส์ทุกข้อไปอย่างสิ้นเชิง แต่งเติมด้วย CGI ที่สมจริงพอประมาณ เสริมด้วยการผสานความร่วมมือของ 2 ตัวละครที่สอดประสานกันอย่างลื่นไหลราวกับการทำคอมโบใส่คู่ต่อสู้ แต่มีความสมเหตุสมผลมากพอที่ผู้ชมจะเชื่อและสัมผัสได้อย่างน่าประหลาด ทำให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และดูเพลินตลอดความยาวกว่า 3 ชั่วโมง อย่างไม่มีสะดุด

7.Gangubai Kathiawadi

ส่าหรีสีขาวฟีเวอร์ หนังอินเดียที่ไม่ได้มีดีแค่ระบำหน้าท้อง เพราะสร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ ‘Mafia Queen of Mumbai’ ของ “ฮุสเซน ไซดี” ที่เล่าเรื่องราวของนายหญิงแห่งกามธิปุระ และเสียดสีสภาพสังคม การเมืองได้เจ็บแสบสมศีกดิ์ศรีมาเฟียควีน แถมยังนำเสนอแต่ละฉากออกมาด้วยด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่งดงาม ไม่ทิ้งกลิ่นหนังอินเดีย แถมยังเท่แบบสุด ๆ

8.Decision to Leave

จะว่าไปแล้ว ‘พัค ชานอุค’ (Park Chan-wook) นี่เป็นผู้กำกับที่ทำหนังรักได้น่าประทับใจคนหนึ่งเลย ถึงแม้ว่าหนังรักของเขาจะดูหน้าตาไม่เหมือนหนังรักและอาจมีความโหด แปลก แหวก เหวออยู่ไม่น้อย (ไม่แปลกที่ ‘ความรุนแรง’ จะเป็นป้ายที่แปะไว้กับชื่อของชานอุค) แต่นั่นแหละมันก็คือเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา เรื่องรักในหนังของเขามักเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์และบริบทที่ไม่ชวนให้เกิดความรักเลย แต่แน่นอนว่าความรักนั้น ‘ไม่เลือกเวลาเกิด’ อย่างใน “Decision To Leave” มันคือห้วงอารมณ์รักของตำรวจหนุ่ม (ที่แต่งงานมีคู่ครองแล้ว) กับม่ายสาวชาวจีน (ที่ต้องสงสัยว่าจะฆ่าสามีชาวเกาหลีของเธอ) อันมาพร้อมงานภาพและงานดีไซน์ที่หวือหวาตื่นตาตามประสาชานอุค ดูเอาเรื่องก็โดน ดูเอาความอาร์ตก็ดี แถมยังมีเรื่องราวกรุ่นไอรัก ลึก ลับ เร้น ของตัวละครให้ชวนรักชวนลุ้นในบรรยากาศอันขมุกขมัวชวนนัวร์ไม่น้อย ประมาณว่าถ้าเปิดเพลง “หมอกหรือควัน” ของพี่เบิร์ด และ “รักไม่ได้” ของ Groove Riders ไปด้วยนี่ก็เพลินเลย แถมเสน่ห์ของ ‘ถังเหว่ย’ (Tang Wei) ก็เหลือร้าย ดูแล้วเข้าใจในอาการปั่นป่วนมวนท้องและสับสนของพ่อหนุ่มนักสืบที่รับบทโดย ‘พัค แฮอิล’ (Park Hae-il) เลย เพราะเราเองก็ใจเต้นตุบ ๆ ทุกครั้งที่ถังเหว่ยปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้.

9.Bones and All

หนังเรื่องล่าสุดของ ลูกา กัวดานีโญ่ (Luca Guadagnino) ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ หนังเล่าเรื่องราวสุดโรแมนติกระหว่างมนุษย์กินคน 2 คนได้อย่างชวนฝันท่ามกลางภาพสยดสยอง ที่ได้ ทีโมธี ชาลาเมต (Timothee Chalamet) พระเอกขาประจำของกัวดานีโญ่จาก ‘Call me by your name’  กับ เทย์เลอร์ รัสเซลล์ (Taylor Russell)ที่สร้างชื่อจากซีรีส์ ‘Lost in Space’ ใน Netflix และหนัง ‘Escape Room’ ทั้ง 2 ภาค มาถ่ายทอดเรื่องราวการเติบโตท่ามกลางกองเลือดและเนื้อมนุษย์ได้อย่างมีเสน่ห์และชวนคิดเปรียบเปรยถึงสถานะคนนอกซึ่งหนังก็ไม่ได้เน้นโรแมนติกเสียจนลืมที่จะใส่ผู้ร้ายเข้ามาเพิ่มความระทึกให้หนังโดยได้การแสดงของยอดฝีมืออย่าง มาร์ค ไรแลนซ์ (Mark Rylance) จาก ‘Bridge of Spy’ ที่ทำเอาคนดูเสียวสันหลังด้วยท่าทีแบบลุงใจดี เสียดายเพียงแค่ตัวหนังได้โรงและรอบฉายน้อยเกินไปหน่อย หากมีโอกาสตอนหนังได้เข้าชิงออสการ์ก็หวังว่าทุกคนจะได้มีโอกาสชมหนังที่มีบรรยากาศเฉพาะตัวแบบนี้สักครั้ง 

10.Triangle of Sadness

เป็นหนังปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ที่ไม่ได้ดูยากอะไรเลย เป็นตลกเต็มสูบเสียด้วยซ้ำ รูเบน ออสลันด์ (Ruben Östlund) ผู้กำกับและเขียนบทฉลาดมากกับการเล่นคำตั้งแต่ชื่อเรื่องอย่าง Triangle of Sadness

หรือสามเหลี่ยมแห่งความเศร้า ที่หมายถึงพื่นที่ว่างบริเวณหน้าผากและช่องว่างหัวคิ้วที่คนมักแสดงสีหน้าจนเห็นมันเป็นสามเหลี่ยม มาบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์และชนชั้นได้อย่างเจ็บแสบและทั้งที่หนังใช้โลเคชันน้อยมาก แต่มันตักตวงความสนุก ฮา ป่วงจากบรรดาตัวละครหลากสีสัน ตั้งแต่ใบหน้าหล่อสวยสไตล์นางแบบนายแบบอย่าง ชาร์ลบี ดีน (Charlbi Dean) และ แฮร์ริส ดิกคินสัน (Harris Dickinson) ในบทยาย่ากับคาร์ลที่มาบอกเล่าชีวิตรักสุดรันทดในยามที่เรียกเก็บเงินในร้านอาหาร ไปจนถึง วูดดี ฮาเรลสัน (Woody Harrelson) นักแสดงที่คนดูคุ้นหน้าสุดแล้วในบทกัปตันเรือที่เมาหยำเปหลังเมียทิ้งจนเป็นเหตุแห่งความหายนะที่คนดูได้เป็นพยาน  แต่แล้วในช่วงท้ายหนังทั้งเรื่องก็โดนปล้นโดย ดอลลี เดอ ลีออน (Dolly De Leon) นักแสดงสาวใหญ่ชาวฟิลิปปินสในบทอบิเกล แม่บ้านสุดแสบที่ใช้ทักษะบ้าน ๆ มาต่อรองกับบรรดาผู้โดยสารที่เคยอยู่บนห่วงโซ่เหนือเธอได้อย่างแสบสันต์ และทำให้หนังตลกเรื่องนี้ ตั้งคำถามกับชนชั้นที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นในทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และการหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ ได้อย่างคมคายและลึกซึ้งไปโดยปริยาย

10 อันดับทีวีซีรีส์

1.Wednesday

มีซีรีส์ไม่กี่เรื่องที่สามารถครองหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย แต่ ‘Wednesday’ คือซีรีส์ที่ครองฟีดของทุกแพลตฟอร์มในช่วงเกือบท้ายสุดของปีได้เหนียวแน่น เหตุผลหลักคงไม่ใช่แค่ความเป็นซีรีส์สปินออฟจากเรื่องราวของตระกูลสุดเฮี้ยน ‘The Addams Family’ และการร่วมกำกับ 4 ตอนแรกของผู้กำกับสายดาร์ก ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) แค่เพียงเท่านั้น

แต่ ‘Wednesday’ คือสูตรที่ดีในการทำให้แฟรนไชส์เก่าเก็บในโลงศพ ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเจาะไปที่เรี่องราวของ เวนส์เดย์ ลูกสาวคนโตของบ้านที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น และเรื่องราวของวัยรุ่นเอาต์แคสต์สุดว้าวุ่นแห่งโรงเรียนเนเวอร์มอร์ในสไตล์ Young-Adult ที่มีความร่วมสมัย ผสมเส้นเรื่องสืบสวนสอบสวนไขปริศนาที่เชื่อมโยงกับครอบครัวของเธอเอง และเชื่อมโยงจักรวาล The Addams Family ได้สนุกสนานน่าติดตาม

รวมทั้งการวางคาแรกเตอร์ตัวละครหลากหลายได้ลงตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ ‘Wednesday’ ครองใจครองหน้าฟีดของคนทั้งโลกได้ไม่ยากเย็น และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนก็ตกหลุมรักความน่ารักของนักแสดงนำทั้ง เจนนา ออร์เทกา (Jenna Ortega) เจ้าของบทยัยน้องเวนส์เดย์ เอมมา ไมเออร์ส (Emma Myers) เจ้าของบท อีนิด ซินแคลร์ หรือแม้แต่ธิง (Thing) มือขวาสุดกวนที่น่ากลัว แต่ก็มีความน่ารักและขโมยซีนได้ในเวลาเดียวกัน

2.House of The Dragons

ซีรีส์นำผู้ชมกลับมาสัมผัสบรรยากาศเกมการเมืองของมหาศึกชิงบัลลังก์ (Game of Thrones) อันหนักอึ้งและเต็มไปด้วยการหักหลังของโลก เวสเทอรอส ตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนจบซีซันได้อย่างทรงพลังมีบทสนทนาที่เชือดเฉือนตามแบบฉบับ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน(George R. R. Martin) แม้ว่าการเดินเรื่องจะเนิบช้าในบางช่วงเวลาแต่ทุกเหตุการณ์ถูกจัดเรียงไว้เป็นอย่างดีจงใจใส่รายละเอียดเพื่อสรุปประเด็นได้อย่างชาญฉลาดพร้อมกับหักมุมสุดกระชากใจ และตัวละครก็ยังมีเอกลักษณ์น่าจดจำโดยเฉพาะ มิลลี่ อัลค็อก (Milly Alcock) ในบทเจ้าหญิง เรนีร่า(Rhaenyra) วัยเด็ก ที่ดูเผิน ๆ คล้ายกับ แดเนริส จากซีรีส์มหาศึกชิงบัลลังก์ แต่มีบุคลิกที่แตกต่างกันชัดเจนซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงอารมณ์ระหว่างซีรีส์ทั้ง 2 ชุดทำให้ผู้ชมเข้าใจโทนและทิศทางของซีรีส์ได้อย่างรวดเร็ว

3.Extraordinary Attorney Woo

ทนายออทิสติกสายแบ๊ว ที่ทำให้ลืมภาพจำเก่า ๆ ของ ‘พักอึนบิน’ ไปหมดสิ้น และบอกกับทุกคนว่ามนุษย์ทุกคนมีจุดเด่น จงใช้มันให้เป็นประโยชน์ แม้จะไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบ ซีรีส์ที่ทำให้ทุกคนมีอารมณ์ร่วมไปกับทุก ๆ ฉาก ทุก ๆ ตอน และเพลิดเพลินไปกับจินตราการและความอัจฉริยะที่น่าหยิกของ อูยองอู

4.Stranger Things 4

โลกของ ‘Stranger Things’ ก็ไม่ต่างจากโลกกลับด้าน หรือโลกของหนังหรือซีรีส์อื่น ๆ เพราะถ้าหากไม่เข้ามา ก็จะไม่เข้าใจถึงปรากฏการณ์ฟีเวอร์ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลก จนเมื่อถึงวาระการสร้างซีซันที่ 4 Netflix จึงต้องยอมทุ่ม 270 ล้านเหรียญ หรือเฉลี่ยตอนละ 30 ล้านเหรียญเพื่อลงทุนกับซีซันนี้โดยเฉพาะ

 จาก 3 ซีซันแรก ตัวซีรีส์ที่เน้นเรื่องราวของมิตรภาพของแก๊งเพื่อนชาวเมืองฮอว์กกินส์ และความน่ากลัวของอสูรร้ายจากโลกกลับด้านที่ส่งผลกระทบต่อเฉพาะพวกเขาและชาวเมือง แต่ในซีซัน 4 ที่ถูกแบ่งออกเป็น Volume และแต่ละตอนก็มีความยาวไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงทั้งสิ้น (ส่วน Volume 2 หรือ 2 ตอนสุดท้ายของซีซันยาวรวมเกือบ 4 ชั่วโมง) เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีถึงเรื่องราวอันใหญ่โตของวิกฤติการณ์โลกกลับด้านที่ไม่ได้มีแค่อสูรร้ายน่ากลัวที่คุกคามชาวเมืองเท่านั้น แต่ยังพาเราย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตใน Volume 1 และพาเราเดินเครื่องสู่การผจญภัยในโลกกลับด้านที่แท้จริงใน Volume 2

สิ่งที่เหนือกว่าซีซันอื่น ๆ คือการเติมมิติสีสันเรื่องราวต่าง ๆ ลงไปควบคู่กันอย่างพอดี ทั้งเรื่องราวว้าวุ่นของวัยเริ่มรุ่นผู้ใหญ่ การผจญภัยในคุกรัสเซียสุดอันตราย การปะทุของประเด็นความรักความสัมพันธ์ที่คุกรุ่น ที่ผสมผสานทั้งงานซีจีชั้นดี ตัวละครเก่าและใหม่เปี่ยมสีสัน บทที่เคล้าทุกอารมณ์ได้ลงตัว ทั้งแอ็กชันสุดมัน ดราม่าสุดซึ้ง ความลับอันน่าตื่นตะลึง มุกตลกกรุบกริบ และฉากเศร้าสะเทือนใจ กลายเป็นแรงส่งอันทรงพลังไปสู่ซีซันที่ 5 หรือซีซันสุดท้ายได้อย่างน่ารอคอยอย่างที่สุด

5.The Boys 3

พอจับจุดได้แล้วว่าคนยิ่งโหดเลือดสาดคนดูยิ่งชอบ ซีรีส์ก็เลยยิ่งเน้นจุดขายตรงนี้เอาให้สะใจคนดูไปเลย ซีซัน 3 ก็เลยเหมือนได้ปลดปล่อยความโรคจิตออกมาแบบไม่ต้องยั้ง ได้เห็นธาตุแท้ของแต่ละตัวละครกันมากขึ้น และเมื่อเปิดโอกาสให้ บิลลี่ บุตเชอร์ ได้มีพลังซูเปอร์ฮีโรด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ‘Herogasm’ คือเอพิโซดที่เป็น The Best ของซีรีส์แล้ว สมแล้วที่เป็นซีรีส์ทรงคุณค่าและเป็นหน้าเป็นตาให้กับ Prime Video ถึงกับต้องสร้างภาคแยกมาขยาย The Boys ให้กลายเป็นจักรวาลไปซะเลย

6.Peacemaker

ถูกโฉลกกับ เจมส์ กันน์ (James Gunn) จริง แม้ซีรีส์นี้ในตอนแรกจะดูเหมือนแค่สปินออฟตัวละคร พีซเมเกอร์ ของ จอห์น ซีนา (John Cena) จากหนัง ‘The Suicide Squad’ (2021) ที่คนจำไปแล้วว่าคล้ายพวกตัวโกงมา แต่เอาจริงมันไปไกลกว่านั้นมากมันเป็นซีรีส์ที่ทั้งฮาทั้งตื่นเต้นลุ้นระทึกและดันอินสงสารตัวละครที่ควรจะเกลียดไปพร้อมกันได้ด้วย ไม่แปลกใจว่าผู้บริหารวอร์เนอร์จะมั่นใจฝากอนาคตหนังค่ายดีซีไว้ในวิสัยทัศน์ของกันน์ ยิ่งเป็นคนชอบดูตัวละครพ่นบทสนทนาแบบเกินคาดเดาใส่กันด้วยแล้วจะยิ่งชอบเรื่องนี้ มันคือซีรีส์ที่เอามาชนเดดพูลของมาร์เวลได้สบาย ๆ เลย

“เรามีงานให้นาย ชื่อโปรเจกต์ผีเสื้อ”

“พวกนายมีปัญหาในการตั้งชื่อนะ รอบก่อนโปรเจกต์สตาร์ฟิช ฉันเจอปลาดาวยักษ์เดินได้ รอบนี้ผีเสื้อฉันต้องสู้กับมอธร่าหรือเปล่า”

“…”

“จริงเหรอ ฉันต้องสู้กับมอธร่าเหรอเนี่ย”

นั่งขำอยู่นาทีกว่ากับลูกขยี้มุกหน้าตาย

7.Moon Knight

ไม่น่าจะเป็นการเกินเลยหากจะพูดว่า ‘Moon Knight’ คือซีรีส์ที่มีความ Individual หรือเป็นเอกเทศ มีความเชื่อมโยงกับจักรวาล MCU น้อยที่สุดเท่าที่ Marvel Studios เป็นมา และเลือกที่จะไม่เชื่อมโยงกับธีมมัลติเวิร์สที่เป็นจุดขายหลักของเฟส 4 ด้วย สิ่งนี้เลยทำให้ ‘Moon Knight’ เป็นซีรีส์ที่ใส่ธีมที่มีความเป็นผู้ใหญ่และมีมิติซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม มากกว่าจะยึดโยงความเป็นซีรีส์ครอบครัวที่ต้องดูได้ทั้งบ้านเหมือนตามปกติ

ทั้งธีมซูเปอร์ฮีโรที่เชื่อมโยงกับตำนานเทพเจ้าอียิปต์โบราณที่มีเสน่ห์และความน่ากลัวอยู่ในที ความสับสนภายในสภาวะจิตใจของหนุ่มติ๋ม สตีเวน แกรนต์ (Steven Grant) ที่กดทับคาแรกเตอร์มือสังหาร มาร์ก สเปกเตอร์ (Marc Spector) เอาไว้ด้วยอาการโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder-DID) โลกหลังความตาย และสภาวะทางจิต ที่สะท้อนผ่านวิธีการเล่าเรื่อง การดำเนินเรื่อง การตัดต่อที่เต็มไปด้วยรูปแบบอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยอารมณ์บ้าคลั่ง แต่ก็ยังคงจังหวะบันเทิงด้วยมุกตลกเล็ก ๆ แอ็กชันดุดันรุนแรง และดราม่าสุดสะเทือนใจ ที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้คือตัวแทนความบ้าคลั่งของ Marvel อย่างแท้จริง

และอีกเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้โดดเด่น คือ 2 นักแสดงแกนหลักของเรื่อง ทั้ง ออสการ์ ไอแซก (Oscar Isaac) ที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์คนสองบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้ออกมาไหลลื่นและดูน่าเชื่อที่ลึกลงไปถึงสีหน้า แววตา และน้ำเสียง และ อีธาน ฮอว์ก (Ethan Hawke) เจ้าของบทแฮร์โรว์ เจ้าลัทธิเทพเจ้าอัมมิต ที่สามารถรับบทตัวร้ายของเรื่องที่แสนสลับซับซ้อน มีเสน่ห์และทรงพลังได้อย่างชนิดที่เรียกว่ากระตุกจิตกระชากใจ

8.Love, Death + Robots

นี่คือซีรีส์ที่ทรงคุณค่า ได้ทั้งความบันเทิงในเวลาอันสั้น และเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางด้านภาพ ตอนที่ได้ดูซีซันแรกก็อึ้งและทึ่งกับความมหัศจรรย์พันลึกของเทคนิคทางด้านภาพแล้ว ว่าวงการวิชวลเอฟเฟกต์ไปไกลมาก พอได้ดูซีซัน 2 ก็ยังคงอึ้งทึ่งมากขึ้นไปอีก และไม่คิดว่าจะไปได้ไกลกว่านี้แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อผมได้ดู Jibaro ในซีซัน 3 ก็ยอมรับว่าผมคาดการณ์ผิดจริง ๆ นาทีนี้ ความวิจิตรตระการตาของเทคนิควิชวลเอฟเฟกต์ไม่มีขอบเขตแล้วจริง ๆ ยิ่งถ้าได้ดูคลิปเบื้องหลังการทำงานด้วยล่ะก็ สมควรคารวะแก่ความพยายามมานะตั้งใจอย่างที่สุดจริง ๆ

9.The Sandman

แม้แต่ในตัวคอมมิกที่เป็นต้นธารของซีรีส์ก็ยังจัดว่าเป็นงานที่มีทั้งคนถูกและไม่ถูกจริต แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคืออย่างน้อยแม้จะไม่ชอบแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งเลย ซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของเทพความฝันที่ถูกมนุษย์กุมขังจนนำมาสู่เรื่องราวการตั้งคำถามเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้งทั้งเรื่องชีวิต ความตาย ความปรารถนา และจิตใจมนุษย์ ผ่านทั้งตอนยาวที่เชื่อมโยงกันหลายตอนหรือแบบเรื่องสั้นที่ขมวดจบในตอน ก็ล้วนเป็นจุดแข็งที่ทำให้คนที่ถูกจริตยิ่งติดหนึบนอกไปจากหน้าหล่อ ๆ ปนน่าสงสารของพระเอก ทอม สเตอร์ริดจ์ (Tom Sturridge)ด้วย

ตอนที่เน็ตฟลิกซ์ประกาศสร้างเรื่องนี้จากคอมมิกก็เรียกว่าเริ่มมาก็ลำบากกว่าชาวบ้านแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ดัดแปลงได้โคตรยาก มีปัญหาที่ต้องตีโจทย์ให้แตกเยอะมาก ตั้งแต่ดีไซน์ตัวละครที่ออกหลอนมากกว่าเท่แบบพวกซูเปอร์ฮีโร่สมัยนิยม ความยากและลึกของบทสนทนาต่าง ๆ ที่ต้องถ่ายทอดนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อมันปรากฏเป็นงานฉายได้ขนาดนี้ก็ต้องขอให้คะแนนจิตพิศวาสมากกว่าเรื่องอื่นสักหน่อยล่ะนะ

10.Under The Queen’s Umbrella

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทั้งราชินีของประชาชน มเหสีของพระราชาและแม่ของลูก ๆ ซีรีส์เรื่องเยี่ยมที่ขอยกให้เป็น ซากึกที่ดีที่สุดในปี 2022 มากกว่าความสนุกครบรสที่อัดแน่นอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ แต่ยังแฝงความอบอุ่น ร่วมสมัย และบอกกันทุกคนว่า เมียและแม่ที่ดีต้องเป็นแบบนี้สิ ใช่เลย