หากพูดถึงภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์หลายคนคงนึกถึงแต่หนังดรามาชวนซึ้ง หรือหนังอีพิคที่มีความอลังการดาวล้านดวงเป็นหลัก แต่จากประวัติศาสตร์ของเวทีออสการ์แล้วกลับมีอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์โดยเฉพาะแนวแอ็กชันและผจญภัยหลายเรื่องก็เคยทยอยกันมาเยือนเวทีรางวัลนี้แล้วทั้งนั้น Beartai Buzz เลยขอรวบรวมหนังแอ็กชัน ผจญภัย ที่เคยประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์มาให้ทุกท่านได้หามาชมกัน

1.The Adventures of Robin Hood (1938)

ผู้กำกับ : ไมเคิล เคอร์ติซ (Michael Curtiz) และ วิลเลียม ไคลีย์ (William Keighley)

นักแสดง : เออรอล ฟลินน์ (Errol Flynn), โอลิเวีย เดอ ฮาวิแลนด์ (Olivia de Havilland)

นับว่าเป็นหนังจากนิยายโรบินฮูดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเวอร์ชันหนึ่ง เรื่องเล่าของจอมโจรที่ปล้นเงินคนรวยเอามาจุนเจือแจกจ่ายคนจนและต่อสู้กับความอยุติธรรมในการปกครอง

หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 4 สาขาในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 11 รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ในเวลานั้นยังใช้ชื่อว่าสาขาภาพยนตร์โดดเด่น (Outstanding Production) แต่หนังคว้าไป 3 สาขาที่เหลือได้แก่ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

2. The French Connection (1971)

ผู้กำกับ : วิลเลียม ฟรีดกิน (William Friedkin)

นักแสดง : จีน แฮคแมน (Gene Hackman)

เรื่องราวของยอดนักสืบสุดระห่ำ จิมมี ดอยล์ ฉายา ป๊อบอาย ที่ตามไล่ลาเจ้าพ่อค้ายาเสพติดชาวฝรั่งเศสที่ลักลอบขนยาเข้ามาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในฉากจำของหนังคือฉากการขับรถไล่ล่าที่กล้องถูกวางไว้ให้ผู้ชมเหมือนนั่งรถไล่ล่าไปกับป๊อบอายด้วย และมันได้กลายเป็นต้นแบบให้กับฉากขับรถไล่ล่าในหนังแอ็กชันเรื่องอื่น ๆ และยังถูกใช้เป็นตัวอย่างในคลาสเรียนติดต่อของโรงเรียนสอนภาพยนตร์มากมาย

สำหรับบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 44 ที่จัดในปี 1972 หนัง ‘The French Connection’ ได้ครองรางวัลใหญ่ถึง 5 สาขาทั้ง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและตัดต่อยอดเยี่ยม

3. Raider of the Lost Ark (1981)

ผู้กำกับ : สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)

นักแสดง : แฮริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford)

ปฐมบทการผจญภัยของอินเดียนา โจนส์ที่เต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจจากงานกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก เมื่อนักโบราณคดีอย่างโจนส์ต้องออกตามล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าอย่างหีบเก็บพระคัมภีร์ งานนี้เขาต้องผจญภัยกับเหล่าทหารนาซีที่ต้องการครอบครองพลังเหนือธรรมชาติและคู่ปรับตลอดกาลอย่าง งู

หนังได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 54 ถึง 8 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ได้รางวัลมาครอง 4 สาขาได้แก่ สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม.บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, วิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษสำหรับทีมตัดต่อเสียงซาวด์เอฟเฟกต์ อีกด้วย

4. The Fugitive (1993)

ผู้กำกับ : แอนดริว เดวิส (Andrew Davis)

นักแสดง : แฮริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford), ทอมมี ลี โจนส์ (Tommy Lee Jones)

เจอหน้าปู่ฟอร์ดอีกแล้ว แน่นอนว่า ‘The Fugitive’ หรือชื่อไทย ‘ขึ้นทำเนียบจับตาย ที่เล่าถึงนายแพทย์ที่ถูกป้ายสีคดีฆาตกรรมภรรยาตัวเองแล้วต้องถูกตามล่าจากเจ้าหน้าที่ศาลตงฉินที่ทำทุกทางเพื่อจับกุมเขาให้ได้

ตัวหนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 66 ถึง 7 สาขารวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่รางวัลที่ได้มาคือสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก ทอมมี ลี โจนส์ ได้บทเจ้าหน้าที่ศาลตงฉินที่ไล่ล่าสุดระห่ำพระเอกของเรานั่นเอง

5.Speed (1994)

ผู้กำกับ : ญาน เดอ บองต์ (Jan de Bont)

นักแสดง : คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves), แซนดรา บูลล็อค (Sandra Bullock), เดนนิส ฮอปเปอร์ (Danis Hopper)

หากให้ไล่รายชื่อหนังแอ็กชันยุค 90’s แน่นอนว่า ‘Speed’ ต้องไม่ตกขบวนแน่นอน โดยเฉพาะกระแส คีอานู รีฟส์ ที่สร้างปรากฎการณ์แห่ตัดผมทรงสกินเฮดตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยพลอตหนังแอ็กชันที่โดนใจว่าด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดต้องต่อกรกับผู้ก่อการร้ายโรคจิตที่วางระเบิดรถบัสที่กำลังวิ่งอยู่ โดยกลไกของมันห้ามมิให้คนขับหยุดรถหรือถ่ายโอนผู้โดยสารโดยเด็ดขาด

สำหรับบทเวทีออสการ์ครั้งที่ 67 ‘Speed’ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้านเทคนิค 3 สาขา โดยสามารถคว้ามาได้ 2 สาขาได้แก่บันทึกเสียงยอดเยี่ยมและตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

6.Saving Private Ryan (1998)

ผู้กำกับ : สตีเวน สปีลเบิร์ก

นักแสดง : ทอม แฮงก์ส (Tom Hank), แมตต์ เดมอน (Matt Demon)

สปีลเบิร์กได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของคุณลุง จนเกิดเป็นหนังสงครามที่แสดงภาพความโหดร้ายของสงครามในภารกิจตามหาพลทหารไรอัน น้องคนสุดท้องของตระกูลที่สูญเสียลูกชายในสนามรบไปเกือบหมดแล้ว

หนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 71 ไปถึง 11 สาขารวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และได้มา 5 สาขาได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม , บันทึกเสียงยอดเยี่ยมและตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

7. The Matrix (1999)

ผู้กำกับ : แอนดี และ แลร์รี วาชอว์สกี (Andy and Larry Wachowsky)

นักแสดง : คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves), ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne), แครี-แอน มอส (Carrie-Anne Moss)

หนังแอ็กชันไซไฟสุดล้ำที่พลิกโฉมวงการภาพยนตร์ไปตลอดกาล คีอานู รีฟส์ กลับมาตอกย้ำความเท่ในฐานะพระเอกหนังแอ็กชันยุค 90’s อีกครั้งในบทนีโอ แฮกเกอร์หนุ่มที่ถูกเลือกให้มาเป็นนักรบเพื่อต่อกรกับเหล่าจักรกลที่ยึดโลกและสร้างความจริงเสมือนมากักขังจิตวิญญาณมนุษย์เอาไว้ มีเพียงเขาที่จะปลดแอกมนุษยชาติได้

บทเวทีออสการ์ครั้งที่ 72 ‘The Matrix’ ได้รับรางวัลไป 4 สาขา ที่ได้เข้าชิงทั้งสาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม, ตัดต่อภาพยนตร์, บันทึกเสียงยอดเยี่ยมและตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

8. U-571 (2000)

ผู้กำกับ : โจนาธาน มอสโทว (Jonathan Mostow)

นักแสดง : แมตธิว แมคคอนาเฮย์ (Mathiew MacConaughey), บิล แพ็กซ์ตัน (Bill Paxton)

เมื่อเหล่าทหารอเมริกันสวมรอยขับเรือดำน้ำของเยอรมัน ไปยังแดนข้าศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อถอดรหัสสัญญาณจากเครื่องอีนิกมา หวังยุติสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยทุกนาทีที่ผ่านไปคือความเป็นความตายที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

หลังจากไม่มีหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำฉายมานานมาก ในที่สุด ‘U-571’ หนังเรือดำน้ำสุดระห่ำก็ออกฉายในปี 2000 และในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 73 ก็ได้ครอง 1 รางวัลได้แก่ ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

9. The Dark Knight (2008)

ผู้กำกับ : คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)

นักแสดง : คริสเตียน เบล (Christain Bale), ฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger)

ในทึ่สุดหนังฮีโรก็ไม่ถูกออสการ์มองข้ามอีกต่อไปเมื่อมันสามารถผ่านด่านได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 ถึง 8 สาขาและได้มาครอง 2 สาขาได้แก่ สาขานักแสดงสมทบชายของ ฮีธ เลดเจอร์ ที่เจ้าตัวเสียชีวิตก่อนจะได้ขึ้นเวทีรับรางวัลและสาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

10. Mad Max: Fury Road (2015)

ผู้กำกับ : จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller)

นักแสดง : ชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron), ทอม ฮาร์ดี (Tom Hardy)

ใครจะคิดว่าภาคต่อของหนังเกรดบีออสเตรเลียจะกลายมาเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์ขนาดนี้ โดยเรื่องราวของหนังก็เป็นการเดินทางในบริบทต่อมาของแม็กซ์ชายหนุ่มที่ไร้อดีตไร้อนาคตที่ต้องมาต่อกรกับเจ้าแห่งเมืองเถื่อนที่เอาทรัพยากรเป็นเครื่องต่อรองความจงรักภักดี

โดยหนังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 ถึง 10 สาขารวมถึง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้มาครองถึง 6 สาขาได้แก่ ตัดต่อยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม , มิกซ์เสียงยอดเยี่ยม, ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส