ช่วงปีที่ผ่านมานี้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของฟากหนังเอเชียที่พยายาม ‘ดัน’ หนังของตัวเองออกมาสู่เวทีแมสมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเกาหลี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังจากแดนกิมจิยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียอยู่แล้ว จากนโยบายผลักดันของรัฐบาล เนื้อหาของหนังเกาหลีค่อนข้างหลากหลายและมีจุดร่วมที่ขายได้อยู่แล้วคือ หนังแนวชู้รักสนองกามารมณ์, งานดราม่ารีดน้ำตาและแอ็คชันที่ขายหน้าตาของนักแสดงเอาใจสาวก K-POP เป็นหลัก แต่นั่นคือซีรีย์ ซึ่งเมื่อขยับมาเป็นหนังใหญ่ ฟอร์มยักษ์ พวกเขาจะแทรกตัวในฐานลูกค้าฮอลลีวูดได้มากน้อยแค่ไหน 

เทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีหลัง นอกจากเรื่องบันเทิงความงามที่นำโด่งแล้ว กลายเป็นเรื่องของ E-Sport ที่ทุกวันนี้เกาหลีคือใจกลางของทวีป เกมเมอร์มากมายผุดเป็นดอกเห็ดและดำรงชีพหาเงินเป็นเรื่องเป็นราวมาพักหนึ่งแล้ว และ FABRICATED CITY คือหนังที่หยิบจับเทรนด์นี้มาป่าวประกาศให้โลกได้เห็นผ่านงานหนังแนวแมสๆ ว่าเกาหลีคือจ้าวตลาดเกมออนไลน์ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

เรื่องราวของ FABRICATED CITY มันพูดถึงเด็กหนุ่มเกมเมอร์ระดับเทพคนหนึ่งที่ชื่อ ควอนยู (จีชางอุค) ซึ่งเก่งขนาดมีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของวงการเกมออนไลน์ และเพื่อนมากมายที่นับถือฝีมือและพร้อมจะลุยทำภารกิจในเกมไปด้วยกัน แต่ภาพตัดกลับมาที่ในโลกของความเป็นจริงที่คนอื่นมองมา ควอนยู เป็นเพียงอดีตนักกีฬาทีมชาติที่ตกงานและติดเกมเท่านั้น ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่เขาเก็บมือถือได้ที่ร้านเกม และเจ้าของเครื่องได้โทรเข้ามาเพื่อนัดรับคืนมือถือพร้อมยื่นข้อเสนอมอบเงินให้ ควอนยู ที่ถังแตกอยู่ก็รีบคว้าโอกาสนั้น โดยไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะกลายเป็นเหยื่อที่ถูกป้ายสีให้กลายเป็นฆาตกร

เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ชื่อว่า ควอนยู ในโลกของเกมเขาคือเกมเมอร์ระดับแนวหน้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหมู่คนเล่นเกม แต่ในชีวิตจริงเขาเป็นเพียงชายตกงาน แต่แล้ววันหนึ่งกลับถูกใส่ร้ายว่าเป็นฆาตกรอย่างไม่มีเหตุผล เขาจึงจำเป็นต้องสืบหาความจริงว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยได้แฮกเกอร์สาวกับเพื่อนนักเล่นเกมมาคอยช่วยเหลือ

แน่นอนว่ายุคไหนๆ หากใครจะเจาะตลาดทำอะไร กลุ่มเป้าหมายหนุ่มสาวยังไงก็เป็นอันดับต้นๆ ที่ขับเคลื่อนให้ซื้อขายง่ายคล่องที่สุด การจับหนังแนววิทยาศาสตร์/จินตนาการ เพื่อคว้าก้อนเค้กคำใหญ่หน่อยจากตลาดแมส คือทางเลือกที่สังเกตเห็นจากหนังทุนสร้างจัดหนัก ไม่ว่าจะ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี มักทำกันอยู่แล้ว ทว่าในช่วงแรกของ  FABRICATED CITY หนังเดินเรื่องแบบรวบรัดฉับไว ตัดกันไม่กี่ซีน แป๊บเดียว ควอนยู ก็แปรสภาพจากเกมเมอร์นั่งชิลล์บนเก้าอี้ร้านเกม มาเป็นควอนนอนคุกจากคดีฆ่าข่มขืนไปแล้ว และในจังหวะนั้นตัวหนังเดินลงไปยังจุดที่มืดหม่นสุดๆ ของตัวละคร ซึ่งแม่ของเขาที่พยายามช่วยลูกชาย และทนายมิน (โอจองเซ) ก็ดูเหมือนจะไม่ให้ความร่วมมือในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเท่าไหร่นัก ดูแล้วหนังแทบไม่มีจุดเปลี่ยนใดๆ ที่จะพลิกแบบรถไฟเหาะตีลังกากลายเป็นหนังแอ็คชันไซไฟไปได้เลย

ตัวหนังเหมือนจะขมวดปมไว้หลวมๆ และวางสถานการณ์ของพระเอกควอนยูให้ดูเลวร้าย แกะออกยาก แต่เอาไปเอามา มันก็หาจุดพลิกผันกันดื้อๆ ชนิดที่ต้องคิดในใจว่า ‘แบบนี้ก็ได้เหรอ?’ ซึ่งแม้ว่าการปะติดปะต่อเรื่อง การเก็บรายละเอียด และโครงสร้างเรื่องจะดูเวอร์วัง แทบไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน เหมือนผีจับยัด ดูเหมือนการผูกเรื่องยิ่งดูยิ่งออกทะเลไปไกล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พาร์ทของหนังต่อจากนั้น คือ เอนเตอร์เทน ล้วนๆ จากภาพของหนังฆาตกรรมซ่อนเงื่อน FABRICATED CITY ก็แปลงร่างเป็นหนังเรซซิ่งโปรดักชันน้องๆ Fast & Furious แม้ว่าหลายฉากซีจีจะดูล้นๆ ปลอมๆ ไปบ้าง แต่ที่ทำให้คนดูลุ้นไปแบบนั่งไม่ติดเก้าอี้เลยก็คือ ฉากแอ็คชันไซไฟที่ทำได้หลุดโลก เรียกว่า ‘โอเค ถ้ามึงกล้าทำมาแบบนี้ กูก็กล้าดูละวะ’ (ฮา)

เมสเซจของหนังนอกจากจะเน้นความบ้าระห่ำแบบไร้ขอบเขตแล้ว มันยังเน้นไปที่เรื่องของมิตรภาพบนโลกออนไลน์เสมือนจริงที่บางครั้งมันอาจเป็นมิตรภาพที่ ‘จริงแท้’ กว่าโลกของความเป็นจริง ส่วนตัวชอบเคมีคู่ระหว่าง ควอนยู กับ ยอวอล (ชิมอึมคยอง) โปรแกรมเมอร์สาวในเรื่อง แม้ว่าในภาพรวมแล้วตัวละครสมทบในทีมออนไลน์ Resurrection ของ ควอนยู จะดูไม่ค่อยลงตัวในเรื่องแคสติ้งเท่าไหร่ แต่ฉากไล่ล่า นวัตกรรมล้ำๆ ที่เอามาขายในเรื่อง มันก็ทำให้หนังดูสนุกหวาดเสียวไปด้วยได้จนจบ แถมปนดราม่าเรียกน้ำตาได้ด้วย ตรงนี้ต้องชมว่า จีชางอุค ไม่ได้ขายแค่หน้าตา แต่มีอินเนอร์ทั้งในบทดราม่าและแอ็คชันที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

FABRICATED CITY อาจไม่ใช่หนังที่ถูกจริตสำหรับคนทุกกลุ่ม ที่ชอบพล๊อตแน่นๆ เดินเรื่องสวยๆ มีชั้นเชิง แต่สำหรับตลาดแมสแล้ว ความจับฉ่ายและโฉ่งฉ่างแบบมีแบบแผนนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้หนังคืนทุนไว และทำเงินในตลาดเมืองนอกได้สบาย

Play video