อันประเวณีมีทั่วทุกตัวสัตว์

Play video

[จากซ้าย] ซิลเวอร์ (มาร์ทา มาซูเรก) เงือกสาวไร้เดียงสา กับ โวคาลิสต์กา(คิงกา พรีอิส) นักร้องผู้อุปการะเธอกับ โกลเด้น (มิชาลีนา โอลส์ซานสกา) น้องสาวผู้ไม่อาจต้านทานความกระหายได้

    โกลเด้น (มิชาลีนา โอลส์ซานสกา) และ ซิลเวอร์ (มาร์ทา มาซูเรก) เงือกสาวสวย 2 พี่น้องขึ้นฝั่งที่วอร์ซอ ประเทศโปแลนด์และได้รับการอุปการะจาก โวคาลิสต์กา(คิงกา พรีอิส) และ เพอร์กูสิสทา(อังเดร โคนอปคา) นักร้องและหัวหน้าวงโดยขอให้ เคียรอวนิก (ซิกมุนต์ มาลาโนวิชซ์) เจ้าของคลับรับพวกเธอเข้าทำงานร้องเพลงและเปลือยกายโชว์ครีบเป็นของแปลกเรียกแขกเข้าร้าน และชีวิตในโลกมนุษย์ ซิลเวอร์ตกหลุมรัก มีเตค (จาคุบ เกียร์สซาล) แม้มันต้องแลกด้วยชีวิต ในขณะที่โกลเด้นก็เรียนรู้ในการใช้สเน่ห์สนองสัญชาตญานดิบของตัวเอง

 

 

หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณมองนางเงือกเปลี่ยนไป

ตำนานนางเงือกคือตำนานสากลที่มีเรื่องเล่าและความเชื่อต่างกันในแต่ละมุมโลก แม้คนไทยจะคุ้นชินกับนางเงือกแสนสวยและน่ารักจากพระอภัยมณีของ สุนทรภู่ และ The Little Mermaid นิยายอันโด่งดังของฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ที่ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนดิสนีย์  แต่ยังมีเรื่องเล่าในศตวรรษที่14-16 กล่าวถึงนางเงือกในฐานะลูกสาวของมังกรอสูรร้ายรูปกายงดงามแต่จิตใจอำมหิต ซึ่ง โรเบิร์ต โบเลสโต นำตำนานดังกล่าวมาใช้ดัดแปลงเพื่อเล่าเรื่องราวสยองของนางเงือกเป็นต้นทุนในการสร้างพลอตสยองขวัญและตัวละครนางเงือก โกลเด้น กับ ซิลเวอร์ ให้กลายเป็นพี่น้องเงือกสาวน้อยแสนสวยที่ยังมีสัญชาตญาณสัตว์ป่าอันเอื้อให้หนังปกคลุมด้วยบรรยากาศเย็นยะเยียบไม่น่าไว้วางใจและพร้อมช็อคคนดูเมื่อพวกเธอหิวกระหายขึ้นมาซึ่งพลอตดังกล่าวก็ไม่ต่างจากหนังสยองขวัญแนวมอนสเตอร์ทั่วไป แล้วอะไรล่ะที่ทำให้หนัง The Lure ถูกกล่าวขานจนได้รับรางวัล Jury Price สาขา Unique Vision and Design หรือ รางวัลขวัญใจกรรมการในฐานะหนังที่มีวิสัยทัศน์ในการนำเสนออันโดดเด่น จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2016 คำตอบคือ ก็เพราะมันถูกนำเสนอในรูปแบบหนังเพลง มิวสิคัลที่เดินเรื่องในยุค 80  ของกรุงวอร์ซอ โดยใช้เพลงที่มีท่วงทำนองเร้าใจตั้งแต่เพลง I feel love เพลงดังของ ดอนน่า ซัมเมอร์  (Donna Summer) เพื่อเปิดตัว โวคาลิสต์กา ในฐานะนักร้องดาวเด่นของผับ ตลอดจนเพลงแต่งใหม่ในภาษาโพลิชที่นอกจากความไพเราะแบบไม่หลงยุคของหนังแล้ว เนื้อหาเพลงยังมีส่วนช่วยในการเล่าเรื่องราวและพัฒนาการของชีวิตพวกเธอบนโลกมนุษย์มีทั้งเพลงที่บ่งบอกความตื่นตาตื่นใจ แสดงสัญชาตญาณดิบ รวมถึงบทเพลงหวานๆที่แสดงความรักของซิลเวอร์ที่มีต่อมีเตค อย่างเพลง Miej mnie w swojej opiece ที่ช่วยสร้างชั่วโมงต้องมนต์ให้คนดูเคลิบเคลิ้มได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านเรื่องตำนานนางเงือกเพิ่มเติม

Play video

ตำนานเงือกสาวบอกเล่าการเติบโตของวัยรุ่นผ่านสงครามเย็น

ความใกล้ชิดได้บ่มเพาะความรักระหว่าง ซิลเวอร์และ มีเตค (จาคุบ เกียร์สซาล)

อ่านถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงเรื่องราวของการ์ตูน The Little Mermaid ที่เป็นเรื่องโรแมนซ์ระหว่างคนกับเงือก ซึ่ง  แอกนิสก้า สม็อคซินสก้า ผู้กำกับเองก็ยอมรับว่าเธอต้องการเล่าเรื่องของ The Lure โดยตีความเรื่องราวจาก The Little Mermaid ให้กลายเป็นหนังก้าวข้ามวัยหรือ Coming of Age เพื่อบอกเล่าเสี้ยวชีวิตหนึ่งของเธอสมัยยังเป็นวัยรุ่นในยุค 80 ทั้งว็อดก้าแก้วแรก จูบแรกกับผู้ชาย รวมถึงความคาดหวังกับเซ็กส์ครั้งแรกของวัยรุ่นที่แสวงหาความหมายของอิสรภาพ ซึ่งการเลือกเล่าเรื่องราวให้อยู่ในยุค 80 ของโปแลนด์ยังสามารถตีความได้ถึงประวัติศาสตร์การเมืองที่ส่งผลต่อชีวิตวัยรุ่นผ่านตัวละครเงือกน้อยทั้งสองอีกด้วย กล่าวคือช่วงยุคทศวรรษปี 1980 หรือยุคสงครามเย็นที่โปแลนด์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ผู้ปกครองประเทศเลือกใช้กับประชาธิปไตยที่หนุ่มสาวใฝ่หา โดย ณ.จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจของประเทศและเผยแพร่วัฒนธรรมเพลงป๊อบอีเล็คทรอนิกส์แนวเพลงยอดนิยมยุค80ที่หนังเลือกใช้ เราจึงได้ยินเพลง I Feel Love ของดอนนา ซัมเมอร์ และเพลง Colour ของ วงเดอะโพสต์ ไรจิเม้นท์ (The Post Regiment) โผล่มาในตอนต้นและท้ายเพื่ออุปมาถึงบรรยากาศการเมืองของยุคสมัยได้อย่างคมคาย ซึ่งความปรารถนาในประชาธิปไตยของหนุ่มสาวที่ว่าถูกบอกเล่าผ่านพลอตได้อย่างแนบเนียนทั้งแผนการที่ทั้งคู่ตั้งใจสวาปามมนุษย์ให้อิ่มก่อนว่ายไปขึ้นฝั่งที่อเมริกาตัวแทนของเสรีภาพ แต่ก่อนจะบรรลุเป้าหมาย ชะตาชีวิตของทั้งคู่ต้องผจญกับตัณหาของมนุษย์ในกรุงวอร์ซอที่มุ่งหาความสุขจากเรือนร่างและ“ครีบ”ของเธอเพื่อเปรียบเปรยกับการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ที่ผู้เป็นใหญ่มักเก็บผลประโยชน์ที่ผู้น้อยทำได้โดยเฉพาะการที่ซิลเวอร์และโกลเด้นทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและถูกขังอยู่ในห้องยิ่งเป็นภาพเปรียบ หรือ Allegory กับการปกครองที่ไร้มนุษยธรรมดังกล่าวจนทั้งคู่ต้องหาทางสนองความต้องการของตนโดย โกลเด้นท์เลือกตอบสนองความกระหายหัวใจมนุษย์แม้ต้องก่อเหตุนองเลือดเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผิดกับซิลเวอร์ที่ยับยั้งความกระหายอำมหิตแต่เธอกลับเกิดตัณหาจากความรักที่มีต่อ มีเตค แม้นางเงือกอย่างเธออาจต้องสังเวยชีวิตหากผิดหวังกับความรักครั้งนี้ก็ตาม

อ่านประวัติศาสตร์วอร์ซอร์ในยุค80เพิ่มเติม

งานภาพของหนังมิวสิคัลเนี๊ยบๆสุดตื่นตา

พูดถึงงานโปรดักชันของหนังต้องบอกว่าหนังมิวสิคัลคือหนึ่งในแนวทางที่สร้างยากที่สุดเพราะมันไม่เพียงเป็นการกำกับเฉพาะการแสดงเท่านั้นแต่ยังต้องพ่วงการร้องและเต้นของนักแสดงในระดับเซียน       ซึ่งผู้กำกับ แอกนิสก้า สม็อคซินสก้า เลือกให้นักแสดงของเธอทั้งหมดร้องเพลงด้วยเสียงของตนเอง     เราจึงได้ยินเพลงที่สอดประสานกันระหว่างเสียงร้องนำแข็งแรงของ คิงกา พรีอิส ที่เหมือนคาแรคเตอร์ของเธอเปรียบได้กับแม่บุญธรรมของเหล่าเงือกสาว  เสียงหวานๆจาก มาร์ทา มาซูเรก ผู้รับบทซิลเวอร์ สาวน้อยไร้เดียงสา เสียงแหบเสน่ห์ของ มิชาลีนา โอลส์ซานสกา ผู้รับบทโกลเด้นท์ผู้แสนเย้ายวน ภายใต้การประพันธ์ของ  ซูซานน่า และ บาร์บาร่า วรอนสกี้ บุคคลสำคัญของวงการเพลงอินดี้โปแลนด์ ที่ส่งผลให้คนดูทั้งเคลิบเคลิ้มและน่าประหวั่นพรั่นพรึงภายใต้บรรยากาศอันเย็นยะเยียบของหาดใน วอร์ซอ ผ่านโทนสีฟ้าและเขียวอันโดดเด่นในงานภาพของ จาคุบ คีจอวสกี้ ที่ถ่ายทอดทั้งความงดงามของสองเงือกสาวภายใต้แสงสีของคลับ และความลึกลับแบบหนังฟิล์มนัวร์ได้อย่างมีชั้นเชิง

อย่าพลาดดูหนัง The Lure ในโรงภาพยนตร์โดยเด็ดขาด

จะว่าไป The Lure ก็เหมือนนิทานแฟนตาซีสักเรื่องที่นอกจากความสนุกสนานแล้วมันยังแฝงทั้งข้อคิดและนัยน์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลุ่มลึกบวกกับการนำเสนอออกมาในรูปแบบหนังมิวสิคัลที่มีเพลงเร้าใจและหวานซึ้งบวกงานภาพสวยสะพรึงทุกช็อตทำให้มันโดดเด่นและแปลกใหม่ รับรองได้ว่ามันจะเข้าไปอยู่ในใจนักดูหนังหลายๆคนได้อย่างง่ายดาย

ปล. ชื่อภาษาโปแลนด์ของหนัง The Lure คือ Córki dancingu  ในภาษาอังกฤษแปลว่า Daughters of the dance club หรือลูกสาวคลับเต้นรำ ที่ในหนังถูกตั้งเป็นชื่อวงพวกเธอเพื่อสื่อถึงการเป็นเจ้าชีวิตพี่น้องเงือกสาวโดยนัยยะอีกด้วย

Play video

The Lure ครีบกระหาย จะเปิดรอบพิเศษตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.60 และฉายรอบปกติวันที่ 6 ก.ค.60