#BKKY หนังไทยที่ได้รับรางวัลและคำชมจากเทศกาลหนังระดับโลก

Play video

ช่วงเวลาก่อนจบ ม.ปลายคือจุดหักเหสำคัญทั้งเรื่องการเรียนและความรัก สำหรับ โจโจ้ (พลอยยุคล โรจนกตัญญู) ก็ไม่ต่างกันเพราะนอกจากต้องลุ้นผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว  ความสัมพันธ์ของเธอกับ คิว (อนงค์นาถ ยูสานนท์) แฟนสาวหล่อก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อเธอได้รู้จักกับ   เจฟ (ณฐกร เกียรติ์มนตรี) และ แจสเปอร์ (เจตน์ เกสะวัฒนะ)สองหนุ่มเด็กสเก็ตบอร์ดหัวนอกที่มาสนใจเธอ โดยเรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าควบคู่ไปกับบทสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่น 100 คนที่มาแชร์เรื่องราวความรัก ความฝัน รสนิยมทางเพศ เซ็กส์ และความสำคัญของครอบครัวที่บอกได้เลยว่า “เป็นวัยรุ่นไทยมันไม่ง่ายเลย”

จริง หรือ หลอก หยอกคนดูให้คิดตาม

 #BKKY นับเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งของผู้กำกับหนังสารคดีอย่าง นนทวัฒน์ นำเบญจพล จากผลงาน ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) สารคดีที่พาดพิงกรณีเขาพระวิหารโดยมีบรรยากาศทางการเมืองแสนคุกรุ่นเป็นฉากหลัง และคราวนี้ นนทวัฒน์ เลือกหยิบจับเรื่องราวแสนสามัญอย่างชีวิตวัยรุ่นมาถ่ายทอดในลักษณะหนังสัจนิยมใหม่ (Neo-Realism) โดยการนำเรื่องราวบางส่วนของตัวนักแสดงเองมาเขียนบทร่วมกับบทสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คน ดังนั้นเรื่องราวในหนังจึงไม่ใช่เรื่องจริงของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการนำข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในเชิงวิจัยมาย่อยแล้วดัดแปลงจนเกิดเป็นบทภาพยนตร์ขึ้น หลายท่านอ่านตรงนี้แล้วอาจเกิดอาการคิ้วขมวดว่าตกลงมันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งกันแน่?  ซึ่งไอ้ภาวะผสมทั้งจริงทั้งแต่งนี้ได้กลายเป็นลูกเล่นที่นนทวัฒน์เล่นงานคนดูตั้งแต่เปิดเรื่อง

งานภาพชวนหัว ยั่วกับปากคำ(วัยรุ่น) ชวนให้คิด

ซึ่งหนังเปิดมาด้วยภาพถ่ายใต้โต๊ะในห้อง ซาวด์แล็บ หรือ แล็บเสียงสำหรับการเรียนกับสื่อต่างๆ โดยเราจะได้ยินบทสนทนาที่คิวขอโจโจ้ เป็นแฟน และเมื่อทั้งคู่เกิดอาการเขินเอาเท้าเขี่ยกัน พลันมีเสียงผู้กำกับสั่งให้ทั้งคู่ทำท่าเขี่ยเท้าตามที่เขาบอก ซึ่งการ “ขัดจังหวะ” ดังกล่าวไม่ได้ถูกใส่มาเล่นๆ แต่มันทำให้คนดูเกิดภาวะอึ้งตะลึงงันและเริ่มไม่ไว้วางใจว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง แต่ยังไม่ทันสิ้นข้อสงสัยเราก็ได้เห็นฉากการสัมภาษณ์วัยรุ่นที่มีคละเคล้าทั้งหญิง ชาย กะเทย ทอม ดี้ แล้วบทสัมภาษณ์สองประเด็นแรกอย่างการเข้ามหาวิทยาลัยและความรัก ก็เริ่มทำงานของมันคู่ไปกับการปูพื้นความสัมพันธ์ของตัวละคร โจโจ้ และคิว ตัดสลับกับบทสัมภาษณ์เหล่าวัยรุ่นมากหน้าหลายตาที่มาแชร์เรื่องราวของตนทั้งสมหวังและผิดหวัง ตลอดจนการยอมรับของครอบครัว ซึ่งต้องยอมรับว่านนทวัฒน์ เอาคนดูอยู่ทั้งที่การเล่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่นักดูหนังบ้านเราคุ้นเคยนัก ซึ่งถ้าผู้กำกับไม่แม่นยำหนังอาจออกมาน่าเบื่อเหมือนดูเด็กออกมา ดราม่าวงเวียนชีวิตกันจนน่ารำคาญ ซึ่งไม่เพียงเรื่องราวของโจโจ้หรือคิวจะสะกดคนดูด้วยภาพสวยๆและความสัมพันธ์ที่ดู “จริง” มากๆแล้ว เรื่องราวจากปากคำเด็กบางคนยังทำให้คนดูแก่ๆอย่างเราต้องหันกลับมาตั้งตำถามกับตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเรียนที่หลายคนเหมือนจะบอกนัยๆว่าการศึกษาบ้านเรานอกจากจะไม่ได้พัฒนาสติปัญญาให้เราคิดอะไรเป็นแล้วยังทำให้เราติดกับดักค่านิยมของสังคมไทยที่แม้แต่จะเป็นตัวเองเลือกรสนิยมทางเพศตัวเองยังทำไม่ได้ซึ่งหากจะให้ผู้ใหญ่ยอมรับก็ต้องแลกด้วยการสอบเข้า “มหาลัยดีๆ”  ที่หลายคนบอก “มันไกลเกินเอื้อมสำหรับหนู” หรือต้องให้เรียนมหาวิทยาลัยจบก่อนจึงจะได้สิทธิเป็น “ผู้ใหญ่” ที่เลือกทางเดินตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบทสรุปดังกล่าวนอกจาก นนทวัฒน์ จะไม่ทิ้งไปเฉยๆแล้ว ยังสานต่อในเรื่องราวส่วนของ เจฟ และ แจสเปอร์

เมื่อค่านิยมถูกตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากเรื่องราวระหว่าง โจโจ้ และ คิว แล้วหนังยังนำเสนอมุมมองจากเด็กไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศอย่าง เจฟ และ แจสเปอร์ สองหนุ่มเพื่อนรักที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับโจโจ้ และเป็นจุดหักเหสำคัญของหนัง นอกจากงานถ่ายภาพจะเปลี่ยนจากการถ่ายแบบไร้เทคนิคเคลื่อนกล้องในครึ่งเรื่องแรก เป็นการใช้ โดรนและแอ็คชั่นคาเมร่าตัวเล็กที่ติดกับสเก็ตบอร์ดถ่ายกิจกรรมแสนเร้าใจแล้ว เสียงจากบทสัมภาษณ์ของทั้งคู่ยังเหมือนเปิดโลกอีกใบให้คนดูเพราะทั้งคู่กล่าวว่าการศึกษาที่เขาพบเจอนั้นคือการศึกษาที่สอนให้คนคิดเป็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์ครู เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ในขณะเสียงสัมภาษณ์เด็กไทยคือประสบการณ์เลวร้ายเมื่อคิดจะวิพากษ์วิจารณ์ครูผู้สอน และโดยไม่คาดคิดตัวหนังได้นำพาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดดังกล่าวมาสู่โจโจ้ และเป็นจุดเปลี่ยนทั้งความสัมพันธ์กับคิวและปฏิกิริยาที่เธอมีต่อพ่อผู้เข้มงวดของตัวเอง

 ความจริงที่ดนตรีประกอบสร้างกับอารมณ์ที่ถักทอด้วยเพลงประกอบ

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของ #BKKY คือการเลือกใช้ดนตรี ทั้งสกอร์ที่มีทั้งดนตรีสดใสร่าเริงในฉากโรแมนติก และ แอมเบียนท์ ชวนอึดอัดในเรื่องราวที่มีเนื้อหาจริงจังทั้งเรื่องเซ็กส์และความผิดบาปที่ตัวละครกำลังเผชิญ ซึ่งหนังเลือกใช้ได้อย่างลงตัวและมีรสนิยม ทำให้หนังไม่ได้น่าเบื่อหรือน่าอึดอัดเลยสักนิดแม้เราจะต้องดูบทสัมภาษณ์ซึ่งมักเป็นของแสลงสำหรับหนังบันเทิง นอกจากนี้ #BKKY ยังเลือกเพลงพ็อพหม่นเศร้าอย่าง ลืม (forgotten) ของวง เจลลี ร็อคเก็ต มาประกอบได้อย่างโดนใจทีเดียว

Play video

#BKKY หนึ่งในหนังไทยทางเลือกใหม่แห่งปี 2017

คงไม่กล่าวเกินไป ถ้าจะบอกว่า #BKKY คือหนังที่อยากเชียร์ให้ทุกคนไปชมที่สุด ทั้งเกียรติคุณรางวัล จูรี่ไพร์ซจากเทศกาลหนังเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันและความสำเร็จที่เทศกาลหนังปูซานที่เกาหลีใต้  และนอกจากเรื่องราวหวานปนเศร้าที่น่าจะถูกใจใครหลายคนแล้วในส่วนบทสัมภาษณ์ยังชวนให้เราทำความเข้าใจวัยรุ่นได้อย่างถึงแก่นจริงๆครับ  และจะน่าเสียใจมาก หากสัปดาห์แรกโรงหนังยังให้โรงและรอบฉายน้อยขนาดนี้ทั้งที่ตัวหนังมีคุณค่าต่อสังคมโดยเฉพาะสถาบันครอบครัวแบบนี้