[รีวิว]Mamma Mia Here We Go Again! มัมมา มีอา 2 – ครึกครื้นจนอยากลุกเต้นตามเลย
Our score
9.4

Mamma Mia Here We Go Again!

จุดเด่น

  1. เป็นหนังเพลงที่ให้ความสำคัญกับบทมาก
  2. เนื้อหาพูดถึงสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ลึกซึ้ง
  3. ใช้เพลง ABBA มาทำฉากมิวสิคัลได้อลังการมาก
  4. ลิลลี เจมส์ เปล่งประกายทั้งร้อง เต้น และการแสดงคือยอดเยี่ยมมาก
  5. การออกแบบฉากมิวสิคัลดีกว่าภาคแรกมาก

จุดสังเกต

  1. ใครมีปมเรื่องแม่ เตรียมเสียน้ำตาไว้เลย
  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • เนื้อหา ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    9.0

  • ความแปลกใหม่

    8.0

  • ความสนุก

    10.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    10.0

Play video

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ด้วยปณิธานแรงกล้าทำให้ โซเฟีย (อแมนดา ไซย์ฟรีด) จัดการรีโนเวตโรงแรมเบลลาดอนนาขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นเกียรติให้คุณแม่ของเธอ แต่ยังไม่ทันเริ่มงานเปิดตัวเธอก็ต้องเจอสารพันปัญหา ทั้งสกาย (ดอมินิก คูเปอร์) สามีที่ถูกทาบทามให้ทำงานที่นิวยอร์คและหวังให้เธอไปใช้ชีวิตกับเขา ไปจนถึงปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายที่เที่ยวบินต่างๆถูกยกเลิกจนเธออาจไม่ได้เจอกับคนสำคัญในชีวิต  โดยมีเหตุการณ์สมัย ดอนน่า ในวัยสาว (ลิลลี เจมส์) ที่ออกท่องโลกและสร้างสัมพันธ์สุดโรแมนติกกับ แฮรี่ (ฮิวจ์ สกินเนอร์) บิล (จอช ดีแลน) และแซม (เจเรมี เออร์วิน) ก่อนจะลงเอย ณ.เกาะอันงดงามแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทั้ง สุข ทุกข์ และอบอุ่นหัวใจ แต่โซเฟียจะจัดงานเปิดตัวโรงแรมสำเร็จหรือไม่? ให้บทเพลงอันงดงามของวงแอบบา (ABBA)ทำนายกัน!

 

บอกตามตรงว่าครั้งแรกที่เห็นตัวอย่างหนัง Mamma Mia ภาคต่อเรื่องนี้ก็มีความคิดด้านลบเต็มไปหมดทั้งเรื่องราวการย้อนกลับไปเล่าวีรกรรมโลดโผนของดอนน่า หรือแม้กระทั่งเพลงแอบบาที่ไม่น่าต่างจากหนังภาคแรกนัก แต่ใครจะรู้ว่าการ “ลองของ” ของผู้สร้างทั้งเปลี่ยนผู้กำกับจากภาคแรก ฟิลิดา ลอยด์ ที่ควบกำกับตั้งแต่เวอร์ชั่นละครบรอดเวย์ยันหนัง มาเป็น โอล พาร์คเกอร์  (Ol Parker) ที่มีเพียงเครดิตกำกับหนังอินดี้อย่าง Now Is Good (2012) ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังมิวสิคัลเลย แต่เหนืออื่นใดเดิมพันแบบหมดหน้าตักจริงๆของผู้สร้างคือการยัดเยียดความกดดันทั้งหมดให้นักแสดงสาวอย่าง ลิลลี เจมส์ ที่เครดิตพอจะเชิดหน้าชูตาได้คือ Baby Driver (2017) ที่เธอได้โชว์เสียงอันไพเราะเพียงไม่กี่ท่อนของเพลง แต่กลับต้องมาสวมบทบาท ดอนน่า ของนักแสดงตัวแม่อย่าง เมอรีล สตรีพ แถมยังต้องร้องเพลงของ แอบบา ไม่ต่ำกว่าครึ่งอัลบั้ม แต่อย่างที่เพลงของ BNK48 ว่าไว้ ‘ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร’ แม้หน้าใหม่แต่กลับทำผลงานได้เหนือชั้นกว่าหนังภาคแรกแบบแทบไม่ทิ้งฝุ่น โดยยังคงจิตวิญญาณของ Mamma Mia ไว้ได้ครบถ้วนอีกต่างหาก

สำหรับ โอล พาร์คเกอร์ การที่ไม่เคยทำหนังเพลงไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะด้วยความเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด พาร์คเกอร์ ได้ให้ความสำคัญกับบทภาพยนตร์มากกว่าตะบี้ตะบันยัดเพลงของแอบบาเข้าไปเอาใจแฟนๆหนังภาคแรก ซึ่งหนึ่งในทีมเขียนบทที่เสริมทัพให้เรื่องราวแข็งแรงคือ ริชาร์ด เคอร์ติส ผู้กำกับ-เขียนบทหนังรักในดวงใจใครหลายคนอย่าง Love Actually (2003) และ About Time (2013) จนได้เรื่องราวสายใยอันลึกซึ้งระหว่าง แม่-ลูก ในวันที่ทั้งคู่ไม่อาจเห็นหน้าแต่ใจกลับใกล้กันเป็นอย่างยิ่ง

โดยความเสี่ยงสำคัญของหนังเรื่องนี้คือการปู เซ็ตติ้ง (setting) เป็นเรื่องราวหลัง ตัวละครดอนน่าของเมอรีล สตรีพในหนังภาคแรกเสียชีวิต แล้วเลือกภารกิจหลักให้ โซเฟีย พลิกฟื้นโรงแรมเก่าของเธอ ซึ่งตรงนี้หากบทไม่แข็งแรงพอ มันจะกลายเป็นหนังเพลงภาคต่อราคาถูกทันที แต่ด้วยความพิถีพิถันในการถักทอเรื่องราว เราเลยได้เห็นภาพสะท้อนของดอนน่าในวัยสาวที่มีทั้งความบ้าบิ่นและอ่อนไหว สดใสแต่เปราะบาง มาใช้อธิบายสภาวะเจอมรสุมชีวิตและมรสุมอากาศที่อาจพังความฝันของ โซเฟีย ในชั่วพริบตาได้อย่างชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่ง และที่ยิ่งเซอร์ไพรส์คือหนังยังใช้เพลงของ แอบบา ได้เข้ากับสถานการณ์มากกว่าหนังภาคแรก ควบคู่ไปกับการออกแบบฉากมิวสิคัลที่ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยความซับซ้อนในเชิงมิวสิคัลและยังทำงานร่วมกับ มิสอองแซงในทางภาพยนตร์ได้อย่างลงตัว

โดยส่วนตัวประทับใจการกำกับซีนมิวสิคัลของหนัง 3  ฉากเป็นพิเศษคือเพลง วอเตอร์ลู (Waterloo) ที่เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างดอนน่า และแฮรี่ในวัยหนุ่มสาวที่นอกจากเสียงร้องอันทรงพลังของลิลลี เจมส์ และฮิวจ์ สกินเนอร์ แล้ว การออกแบบท่าเต้นทั้งตัวหลักและอองซอม (Ensemble Performers- นักแสดงประกอบที่ต้องร้องและเต้นเพื่ออธิบายสถานการณ์ของตัวละครหลักในละครเวทีประเภทมิวสิคัล) ยังเต็มไปด้วยพลังงานมหาศาลผนวกการถ่ายภาพของโรเบิร์ต โยแมน (ตากล้องคู่บุญของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน) ที่ทำให้ทุกเฟรมเต็มไปด้วยความครึกครื้นทั้งสีสันที่ทีมกำกับศิลป์วางไว้และการจับความเคลื่อนไหวในกรอบภาพได้อย่างงดงาม

ส่วนเพลง I have a dream ก็ถูกนำมาถ่ายทอดด้วยการเล่าเรื่องด้วยเพลงและภาพได้อย่างหมดจด สามารถถ่ายทอดการส่งต่อความฝันด้วยการตัดสลับซีนระหว่าง ดอนน่า วัยสาวที่ค้นพบโรงแรมพังๆแห่งนี้กับการเกิดใหม่อย่างใจฝันของโซเฟียที่ปรับปรุงโรงแรมเบลลาดอนน่าขึ้นใหม่เพื่อแม่ที่จากไปของเธอได้อย่างงดงามจนใครที่บ่อน้ำตาตื้นต้องมีรื้นๆกันบ้างแหละ

และหากใครรู้สึกเซ็งหนังภาคแรกที่ถ่ายทอดฉากมิวสิคัลเพลง แดนซิงควีน (Dancing Queen) เพลงฮิตระดับตำนานของวงแอบบาได้อย่างไม่สมศักดิ์ศรี หนังภาคนี้คือการชดเชยที่สาแก่ใจมาก เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อเฉลิมฉลองความสุขของตัวละครทุกตัวในเรื่อง และถูกจัดวางให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ แถมยังออกแบบซีนนี้ได้อย่างอลังการด้วยการร้องและเต้นของตัวละครหลักและอองซอม บนเรือสำราญใหญ่ยักษ์หลายลำ ก็ทำให้ภาพออกมาอลังการและน่าประทับใจสมศักดิ์ศรีเพลงในดวงใจตลอดกาลของใครหลายคนเป็นอย่างยิ่ง (ไม่บอกหรอกว่าเราแอบน้ำตาซึมด้วย..ฮือออ)

 

อีกสิ่งที่ถือว่าหนังทำได้ดีแบบเหนือความคาดหมายมากคือการแคสตัวละครใหม่ในวัยสาว นอกจากดอนน่าแล้ว หนังยังได้ อเล็กซา เดวีส์ และ เจสสิกา คีแนน  วีนน์ มาสวมบท โรซี และ ทันย่า ดูโอ้เพื่อนสาวตัวป่วนแห่งวง ดอนน่า แอนด์เดอะ ไดนาโมส์ ที่นอกจากจะถอดความคล้ายคลึงจาก จูลี่ วอลเธอร์ส และ คริสติน บารันสกี แล้วยังสามารถถ่ายทอดคาแรคเตอร์ความวายป่วงและความฮาได้อย่างแนบเนียนเมื่อหนังตัดสลับเหตุการณ์ตัวละครสองวัยที่ออกมาสร้างเสียงฮาได้อย่างเด็ดดวง รวมถึงการปรากฏตัวของตัวละครใหม่อย่าง เฟอร์นันโด ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมเบลลาดอนน่าที่ได้หนุ่มใหญ่อย่าง แอนดี การ์เซีย ที่ยังคงสเน่ห์แบบแดดดี้ไว้อย่างเข้มข้น  รวมถึง ป้าแฌร์ (Cher) ที่งานนี้นางจัดเต็มมาดนางพญาและที่สำคัญเสียงนางยังดีเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือกลับมาทวงบัลลังก์ “ตัวแม่” แต่ในบรรดานักแสดงทั้งหมดคนที่เราต้องถือว่าเปล่งประกายได้อย่างงดงามที่สุดคงหนีไม่พ้น ลิลลี เจมส์ นั่นเอง

ไม่ว่าเราจะจดจำ ลิลลี เจมส์ ในฐานะอะไร จะเป็นนางซินชุดฟ้าใน  Cinderella (2015) ที่ถูกค่อนขอดจากแฟนฉบับอนิเมชั่นหรือล้มลุกคลุกคลานเล่นหนังเกรดบีบ้าง หนังอินดี้ไม่ดังบ้างจนกระทั่งมาลืมตาอ้าปากได้จากซีรีส์ดงผู้ดีอย่าง Downton Abbey (2012-2015) หรือล่าสุดที่เธอได้โอกาสโชว์เสน่ห์ทั้งการแสดงและเสียงร้องนิดๆใน Baby Driver (2017) แต่ในนาทีนี้ Mamma Mia Here We Go Again! คือสปอตไลต์สำคัญที่ส่องประกายให้เราเนื้อแท้ทั้งความสามารถทางการแสดงที่ล้ำลึกในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน การต้องถ่ายทอดทั้งความบ้าบิ่นและอ่อนไหวของดอนน่าฉบับวัยรุ่นที่พร้อมท่องโลกกว้างเพื่อหาตัวตน หรือการค้นพบความเป็นแม่ในบทสรุปของหนังที่ช่วยเติมเต็มภาพหญิงผู้ห้าวหาญที่เปลี่ยนโลกของผู้ชาย 3 คนไปตลอดกาลได้อย่างไร้ข้อกังขา ยังมิพักกับโจทย์ยากที่สุดนั่นคือ เธอต้องใช้เพลงฮิตของ แอบบา ในการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครโดยแม้เพลงที่เลือกมาบางส่วนจะเป็นการซ้ำรอยกับภาคแรก แต่ด้วยเสียงร้อง ด้วยการทุ่มเทฝึกซ้อมจนเธอสามารถออกสเต็ปได้อย่างแข็งแรง จนตัวละครดอนน่าวัยสาวของเธอโดดเด่นและน่าประทับใจจนทุกเพลงที่เธอร้องสามารถกลืนเป็นเนื้อเดียวกับแอ็คติ้งที่ยอดเยี่ยมและนำพาให้เรื่องราวสัมผัสใจคนดูเป็นอย่างยิ่ง

เอาล่ะเขียนยืดยาวก็มีแต่คำชม เอาเป็นว่า Mamma Mia Here We Go Again! คือหนังเพลงที่เหนือกว่าภาคแรกอย่างน่าประหลาดใจด้วยเรื่องราวที่ลึกซึ้ง การออกแบบซีนมิวสิคัลที่ยอดเยี่ยม และการแสดงที่น่าประทับใจทั้งของ ลิลลี เจมส์ และนักแสดงทั้งเก่าและใหม่ก็น่าจะทำให้คอหนังมิวสิคัลหรือใครที่อยากหาหนังที่ดูแล้วอดขยับตัวตามไม่ได้ควรตีตั๋วชมเป็นอย่างยิ่ง

รายชื่อเพลงในหนัง Mamma Mia Here We Go Again!
รายชื่อเพลงในหนังทั้งหมด “When I Kissed the Teacher” – Young Donna and the Dynamos, Vice-Chancellor “I Wonder (Departure)” – Young Donna and the Dynamos† “One of Us” – Sophie, Sky “Waterloo” – Young Harry, Young Donna “Why Did It Have to Be Me?” – Young Bill, Young Donna, Young Harry “I Have a Dream” – Young Donna “Kisses of Fire” – Lazaros “Andante, Andante” – Young Donna “The Name of the Game” – Young Donna “Knowing Me, Knowing You” – Young Donna, Young Sam, Sam, Sophie “Mamma Mia” – Young Donna and the Dynamos “Angel Eyes” – Rosie, Tanya, Sophie “Dancing Queen” – Sophie, Rosie, Tanya, Sam, Bill, Harry “I’ve Been Waiting for You” – Sophie, Rosie, Tanya “Fernando” – Ruby, Fernando “My Love, My Life” – Donna, Sophie “Super Trouper” – Ruby, Donna, Rosie, Tanya, Sophie, Sky, Sam, Bill, Harry, Fernando, Young Donna, Young Rosie, Young Tanya, Young Bill, Young Sam, Young Harry “The Day Before You Came” – Donna

 

เอ๊า! มัวรออะไร กดซื้อตั๋วแล้วเตรียมไปโยกตัวตามในโรงเลยจ้า