สนับสนุนเนื้อหาโดย

หลัง ๆ ต้องบอกว่ากลายเป็นกิมมิคประจำตัวของตลกแก๊งสามช่าไปแล้วกับเรื่องซุกเด็ก มีบ้านเล็กบ้านน้อยอยู่ต่างจังหวัด นอกจาก เท่ง โหน่ง แล้ว หม่ำเองก็มีประเด็นเรื่อง ‘คนที่เชียงราย’ ที่แก๊งสามช่าชอบเอามาอำกันใน ชิงร้อยชิงล้าน จนกลายมาเป็นไอเดียหนังคอเมดี้ครอบครัวในรูปแบบของพีเรียดย้อนยุค โดย ‘ขุนบันลือ’ นี้ หม่ำแกเหมาคนในครอบครัวมาเล่นหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นภรรยาในชีวิตจริง มด (เอ็นดู วงษ์คำเหลา) หรือว่า น้องมิกซ์ (เพทาย วงษ์คำเหลา) ลูกชายคนเล็กที่หลายคนคงเริ่มผ่านตาผลงานแร็พเปอร์อีสานมาพักหนึ่งแล้ว นอกจากคนในบ้านแล้ว ยังมีดาราตลกเข้ามาเสริมทัพความฮาได้น่าสนใจเลย ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต สายควัน, สุนารี ราชสีมา, นก เชิญยิ้ม และ ปลาคราฟ เชิญยิ้ม เรียกว่าได้ดูขุนบันลือ เหมือนได้ดูรายการชิงร้อยฯ ผสมกับก่อนบ่ายคลายเครียด มายำรวมกันบนโรง

สำหรับเรื่องราวของ ขุนบันลือ นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดใน พ.ศ. 2447 ยุคสมัยที่บ้านเมืองกำลังถกเถียงเรื่องการปลดแอกสัญญาทาส ขุนบันลือ (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ได้รับมอบหมายให้ไปราชการที่ เมืองเชียงราย แต่ขุนบันลือเองกลับกังวลใจ เพราะถูก มด ทาสหญิงที่ขุนบันลือแอบมีความสัมพันธ์ด้วยจับได้ว่าท่านขุนแอบซุกใครบางคนอย่างลับ ๆ ไว้ที่เมืองเชียงรายมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวของเพื่อนรักของท่านขุน ที่พาลูกสาวและลูกชายมาฝากให้ช่วยดูแลเนื่องจากต้องไปราชการที่ต่างประเทศ ซึ่งทั้งสองก็กลับแอบปิ๊งบรรดาทาสในเรือนของท่านขุน ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นของคู่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะหาข้อสรุปอย่างไร ท่ามกลางความรักที่ยุ่งเหยิงแบบนี้

ด้วยการตัวทีเซอร์หนัง มีจุดน่าสนใจตรงที่มาเซตฉากเป็นแบบย้อนยุค แอบให้ความรู้สึกควันหลงจาก บุปเพสันนิวาส หน่อย ๆ แต่เส้นเรื่องของแต่ละตัวละครไม่ได้มีอะไรที่หนังหยิบมาขยายอะไรแบบจริงจัง หนังไม่ได้โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ของ ขุนบันลือ กับหญิงสาวคนไกลที่เป็นปริศนามากอย่างที่คิด แต่จะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวในชีวิตประจำวันมากกว่า แล้วก็ขยันปล่อยมุก 5 บาท 10 บาท บวกกับความตลกหน้าตายในแบบหม่ำสไตล์มาสร้างจุดขายเหมือนหนังของแกเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าด้วยความที่มีนักแสดงรับเชิญหลากหลายมาสร้างสีสัน นี่คือจุดที่ช่วยพยุงหนังให้ดูเพลินได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วง 20 นาทีแรก ทุกอย่างดูสมูทกว่าที่คิด ที่หนังดูจะมีบรรยากาศที่ดี ไม่พยายามตลกเกินไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ตัวหนังมันไม่ได้มีเส้นเรื่องที่จะพัฒนาได้เป็นชิ้นเป็นอัน มันมีแต่ว่าชายหญิงแต่ละคู่เห็นหน้ามองตากันแว้บแรกแล้วปิ๊ง แล้วไปลงเอยกัน หรือไม่ก็มีปมที่เกี่ยวพันกันมาก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้เห็นกันเดินไปเดินมาในบ้านไม่คิดอะไร แต่พออยู่ ๆ ไปก็เกิดอารมณ์เปลี่ยว อารมณ์เหงา อารมณ์คัน (ฮา) ความผูกพันของตัวละครที่เป็นทาสในเรือนกับตัวขุนนางนั้นเลยไม่ค่อยจะมีมากอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งหนังก็ไม่ได้จริงจังกับประเด็นเรื่องการเลิกทาสอีกเช่นกัน จริง ๆ ต้องบอกว่าหนังมีพลอตที่สามารถสร้างทางเลือกต่าง ๆ เข้ามาใส่ในเรื่องให้แข็งแรงขึ้นได้ และอาจครบรสมากกว่าหนังตลกที่มาในอารมณ์ตลกคาเฟ่สมัยก่อน หลายมุก หลายสถานการณ์มองดูก็รู้ว่ามาแบบด้นสด ไหลไปเรื่อย เหมือนดูตลกคาเฟ่คณะ ป๋าเทพ เล่น เพียงแต่ตัวมุกไม่ค่อยฉีก รวม ๆ เลยค่อนข้างจาง จะมีหักคะแนนหน่อยตรงที่จังหวะจะโคนไม่ค่อยดี จะไปงัด dirty joke มาใช้ซะส่วนใหญ่ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่คู่หนังหม่ำมาตลอด พอ ๆ กับหนังพชร์ แต่เข้าใจได้ว่ามันยังเวิร์กและเข้าถึงกลุ่มคนดูอีกกลุ่มนั่นแหละ

แม้ว่ามุกตลกรวม ๆ จะดูแกน ๆ จาง ๆ แต่ในช่วงท้าย หนังก็หมวดปมเข้าด้วยกันได้ดีในเรื่องครอบครัว อันที่จริงดู ๆ ไป นี่เหมือนกับจะเป็นหนังที่หม่ำเคลียร์ตัวเองประเด็น ‘คนเชียงราย’ ให้ชัด ๆ กับเมียแกเองมากกว่า (ฮา) ซึ่งก็เป็นความโรแมนติกแบบกระด้าง ๆ ตามสไตล์คนขี้เขินแบบแกเอง ขณะที่น้องมิกซ์ ก็ได้ออกมาโชว์สกิลแร็พอยู่หลายซีน เพียงแต่ยังไม่ถึงกับฉายแววเมื่อมาอยู่บนจอเงิน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ขุนบันลือ สร้างความบันเทิงได้ในระดับที่ดูได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกติดขัดหรือรำคาญอะไรมากนัก รวมทั้งต้องชมว่าจุดหนึ่งที่ชอบคือเรื่องของการเก็บรายละเอียดในฉาก-เสื้อผ้าหน้าผม ทำได้ดีกว่าที่คิดเลยทีเดียว

Play video

Play video

Play video