[รีวิว] The Farewell กอดสุดท้ายคุณยายที่รัก – เรื่องเล่าบนโต๊ะอาหารจานหมุน
Our score
9.0

The Farewell กอดสุดท้ายคุณยายที่รัก

จุดเด่น

  1. การแสดงของ อควาฟีนา และ เจ้าฉูเจิน สัมผัสใจคนดูได้อย่างยอดเยี่ยม
  2. ตัวบทถูกเขียนได้อย่างลึกซึ้ง และคมคาย
  3. ตัวละครอื่นก็เป็นสีสันให้เรื่องราวได้ดี
  4. การกำกับของลูลูหวัง ดูเรียบง่าย ทว่ารุนแรงต่อความรู้สึกผู้ชมได้อย่างสมจริง

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • ความสนุก

    8.0

  • คุ้มเวลาดู

    9.5

ชี้แจงถึงผู้อ่าน…

บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจปรับสไตล์การเขียนให้เหมือนจดหมายที่ส่งถึงคุณพ่อที่จากไปแล้ว เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจของหนัง หากอ่านแล้วติดขัดประการใด ผู้เขียนน้อมรับคำวิจารณ์มา ณ โอกาสนี้

Play video

WHAT THE FACT รีวิวภาพยนตร์

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ถึง ป๋า,

เราไม่ได้เจอกันนานเลยนะตั้งแต่บอกลากันครั้งสุดท้าย มีหลายอย่างเหลือเกินที่ไม่ได้ทำด้วยกันแล้ว ทั้งไปเที่ยวเดินห้าง กินข้าวด้วยกัน หรือดูหนังด้วยกันอีก วันนี้นึกถึงป๋ากับวันเก่า ๆ เลยหลังดู The Farewell จบ หนังมันตั้งชื่อไทยซะซึ้งเลยนะป๋า ชื่อว่า กอดสุดท้าย คุณยายที่รัก มันเล่าเรื่องของ บิลลี่ (อควาฟีน่า) สาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ได้กลับไปเมืองจีนอีกครั้งเพื่อร่วมงานแต่งของลูกพี่ลูกน้อง แต่งานแต่งที่ว่ามันถูกจัดบังหน้าเพื่อให้ญาติ ๆ มารวมตัวอีกครั้งก่อน อาม่า (เจาฉูเจิน) จะจากไปด้วยโรคมะเร็ง และไอ้เรื่องโรคเนี่ย..ครอบครัวก็ดั๊นปกปิดไม่ให้แกรู้อีก  ที่นี้ญาติ ๆ ก็ต้องปั้นหน้ายิ้ม เก็บอาการ แล้ว “ฮึบ” เข้าไว้เพื่อให้อาม่ามีความสุขที่สุด แต่อย่างว่าเนอะ…การโกหกเพื่อความสุขของคนใกล้ตาย มันเป็นเรื่องถูกต้องจริง ๆ น่ะเหรอ ?

คงเป็นธรรมเนียมหรือกรรมที่มีร่วมกันของคนจีนอย่างเรามั้งเนอะป๋า ที่เห็นครอบครัวสำคัญที่สุดในหนังถึงกับมีคำกล่าวว่า Chinese people live their life as a part of the whole คือหมายถึงการมีชีวิตอยู่เพื่อส่วนรวม แล้วถ้าเลือกระหว่าง ศีลข้อ 4 อย่าง มุสาวาทาเวรณีสิกขาปะทังสมาทิยามิ กับการทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขแล้ว เราเลยเลือกอย่างหลัง แต่กับแนวคิดตะวันตกที่สาวจีนพลัดถิ่นอย่างบิลลีได้รับ กลับมองว่าควรบอกความจริงให้อาม่ายอมรับแล้วบอกลากันอย่างเหมาะสม แปลกเนอะ..เรื่องแค่นี้ก็มาเป็นหนังได้ด้วย แต่ถ้าผมบอกป๋าว่ามันสร้างมาจากเรื่องจริงของ ลูลู่หวัง ผู้กำกับสาวจีนที่ตามฝันในการเป็นคนทำหนังที่อเมริกา จะยังว่ามันเหลือเชื่ออยู่ไหม เพราะลูลู่หวัง เอาเรื่องจริงของเธอที่คนทั้งครอบครัวเคยโกหกอาม่า หรือภาษาจีนแมนดารินในหนังเรียก ไหน่ ไหน๊ นั่นแหละ มาทำหนังแล้วเติมเรื่องการรวมญาติในวันแต่งงานเข้าไป เลยเป็นโอกาสที่บทหนังไม่ได้แค่เอาเรื่องจริงมาเล่าทื่อ ๆ นะครับป๋า แต่ยังเอาวัฒนธรรมจีน การเมือง การเปลี่ยนแปลงของสังคมมาวิพากษ์ได้ลึกมากเลยล่ะ แม้หลายอย่างเราจะเข้าใจมันดีอยู่แล้ว ทั้งจากประวัติศาสตร์และธรรมเนียนที่คนจีนแทบจะมีร่วมกัน แต่หนังก็ยังหามุมมองใหม่ ๆ มาเล่าได้สนุกและอบอุ่นหัวใจมาก ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การเป็นคนจีน นี่แหละที่โดนใจผมมากเป็นพิเศษ

WHAT THE FACT รีวิว The Farewell

The Farewell (2019)

WHAT THE FACT รีวิว The Farewell

The Farewell (2019)

ยิ่งตัวละครมันเป็น หัวอี้ (Huáyì , 华裔) หรือคนจีนพลัดถิ่นที่นอกจากบิลลีกับครอบครัวที่มาจากอเมริกาแล้ว ด้านครอบครัวลูกพี่ลูกน้องอย่าง เฮา เฮา (เฉินฮั่น) เจ้าบ่าวของงาน และ ไห่บิน (เจียงยงโป) อาเจ็กของเธอก็บินมาจากญี่ปุ่นพร้อม ไอโกะ (มิซูฮารา อาโออิ) เจ้าสาวสายฟ้าแล่บ ที่ถ้าหากเราเจอพวกเขาริมถนนคงนึกว่าเป็นคนญี่ปุ่นไปแล้วล่ะแต่พวกเขาก็กลับมาแล้วพยายามให้สะใภ้กลมกลืนกับวัฒนธรรมจีนให้ได้เร็วที่สุดก่อนงานแต่ง ซึ่งก็ตลกดีเพราะเราต่างรู้ความบาดหมางของสองชาติดีอยู่แล้วเราเลยเห็นความเก้ ๆ กัง ๆ ของไอโกะที่ต้องปรับจากวัฒนธรรมเหนียมอายแบบญี่ปุ่นมาใกล้ชิดจนเกือบจะร้อนวูบวาบบนโต๊ะอาหารครอบครัวแบบคนจีน ยังไม่พอ..หนังยังวิพากษ์ถึงการเป็นคนจีนอย่างสนุกปากและชวนคิด โดยฉากหนึ่งที่เจ๋งมาก ๆ คือตอน อาโกวหลิง (หลี่เซียง) กับ เจียนหลู่ (ไดอานา ลิน) หม่าม๊า และ ไห่หยัน​ (จือหม่า) ปะป๊า ของบิลลี วิพากษ์กันถึงพริกถึงขิง เรื่องการสำนึกบุญคุณบ้านเกิดที่ลามไปถึงข้อดี ข้อเสียการเป็นคนจีน กับการเป็นคนตะวันตกที่ทางครอบครัว บิลลี ยกย่องนักหนาและทิ้งคำถามสำคัญว่าถ้า อาโกวหลิงยอมให้ลูกไปอเมริกาแล้วไม่ยอมกลับมาเธอจะยังอยากให้เขาไปอยู่ไหมที่แม้ไม่มีคำตอบชัดเจนแต่เชื่อว่าบรรดาพ่อแม่คงมีสะอึกกันแน่ ๆ ล่ะ

จะว่าไปตัวละคร บิลลี ไม่ได้แค่แทนตัว ลูลู่หวัง คนเดียวหรอก ความจริงเราก็แทบไม่ต่างจากเธอเท่าไหร่ ทั้งการเป็นคนจีนพลัดถิ่นที่แทบพูดจีนไม่ได้แล้ว (แต่ตัวละคร บิลลี นี่ก็พูดจีนคล่องอยู่นะ ฮ่าาา) การรับอุดมการณ์และวัฒนธรรมในประเทศที่อาศัยอยู่ปัจจุบันจนมองว่า “การเป็นคนจีน” หลายอย่างก็ไร้เหตุผล แต่ด้วยความเป็นจีนที่ติดตัวมั้งเราเลยเห็นการพยายามคงรากวัฒนธรรมไว้ ตั้งแต่ซีนช่วงเปิดที่เล่าถึงชีวิต บิลลี ในอเมริกาที่แทบจะใช้ชีวิตแบบตะวันตกแต่ก็ยังต้องกลับไปกินข้าวบ้าน ป๋า ม๊า ก่อนจะกลับคอนโดตัวเอง หรือจดหมายปฏิเสธทุนที่ทำให้เธอไม่กล้าเล่าความล้มเหลวให้ใครฟัง เพราะคนจีนมักคาดหวังในตัวลูกไว้สูง และมีนิสัยชอบอวดลูกเวลากลับไปเจอญาติ ๆ ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยในความเก่งกาจจากปลายปากกาของ ลูลู่หวัง คือการผูกติดวัฒนธรรมการเล่าเรื่อง – และเส้นแบ่งของการโกหก ของคนจีนไว้ได้อย่างแยบยล ตั้งแต่เรื่องโจ๊กบนโตีะอาหารที่เป็นมุกผัวไปบอกเมียว่าแมวตายจนถูกต่อว่า เพราะตัวผัวควรค่อย ๆ เล่าเรื่องเกริ่นนำช้า ๆ ว่าแมวมันขึ้นไปบนหลังคาแล้วเกิดอุบัติเหตุอะไรก็ว่าไปเพื่อให้เวลาเธอทำใจบ้าง และจากเรื่องบนโต๊ะอาหารนี่เองที่หนังใช้สะท้อนวัฒนธรรม ความคิด และรากเหง้าของคนจีนผ่าน “โต๊ะจานหมุน” ที่ดีไซน์มาไว้สำหรับครอบครัวใหญ่อย่างชาวจีน และสะท้อนถึงการแบ่งปันกัน ที่ต่อมาหนังก็ทำให้รู้ว่าการโกหกก็ไม่ต่างจากแบ่งหินหนัก ๆ คนละก้อนให้คนในครอบครัวแบ่งกันแบกแทนอาม่า แม้จะผิด..แต่เราก็ยินดีที่จะหมุนจานตรงกลางแล้วแบ่งกันเอาตะเกียบคีบรับไว้ ถึงจะแข็งและหนักแต่ทุกอย่างก็เพื่อสะท้อนว่าชีวิตคนจีนเป็นของครอบครัวไม่ใช่ปัจเจกแบบชนชาติอื่นแบบเห็นภาพชัดเจนทีเดียว

WHAT THE FACT รีวิว The Farewell

The Farewell (2019)

WHAT THE FACT รีวิว The Farewell

The Farewell (2019)

ส่วนนักแสดงในเรื่องนี่ความจริงอยากชมทุกคนเลยนะทั้งคนที่เล่นเป็นอาเจ็ก อาโกว ทุกคนรวมถึง ลู่หง หรือ อาม่าเล็กในชีวิตจริงของผู้กำกับที่มาเล่นเป็นตัวเอง เรียกได้ว่าแม้แต่การแสดงก็ยังสะท้อนถึงทีมเวิร์กที่ทุกคนลงแรงลงฝีมือเต็มที่และต้องชื่นชม ลูลู่หวัง ที่เธอกำกับให้การแสดงโดยภาพรวมดูเรียบง่ายสมจริงแต่กลับสัมผัสใจและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ความรู้สึกผู้ชมได้อย่างรุนแรง แต่สำหรับการแสดงที่โดดเด่นแบบทุกคนยอมให้จริง ๆ คงหนีไม่พ้นคู่ของ อาม่า และ หลานสาว อย่าง เจาฉูเจิน และ อควาฟินา นี่แหละ โดยเจาฉูเจิน ถือเป็นนักแสดงอาวุโสของจีนที่ได้รับการยอมรับในฝีมือมาช้านานแล้ว แต่กับเรื่องนี้เธอจะต้องมารับบทบุคคลอันเป็นที่รักของผู้กำกับ เจาฉูเจิน ก็เก็บรายละเอียดหลายอย่างในการแสดงได้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง และแม้ว่า อาม่า หรือ อาไหน่ไหน๊ ตัวจริงจะไปเยี่ยมกองถ่ายจนถือเป็นตัวช่วยสำคัญแล้ว แต่ เจาฉูเจิน กลับผลักตัวละครให้โดดเด่นและเป็นตัวแทนญาติผู้ใหญ่ในแบบที่เราคนจีนมักนึกถึงจริง ๆ จนเราอดหลงรักและแน่นอนว่า..อดคิดถึงอาม่าตัวเองไม่ได้จริง ๆ ส่วนดาวเด่นที่ถือว่า The Farewell น่าจะเป็นสปอตไลต์สำคัญได้แก่ อควาฟินา นักแสดงสาวมากความสามารถลูกครึ่งจีน-เกาหลี ที่คราวนี้เธอได้โชว์ทักษะพูดจีนแมนดาริน และสามารถถ่ายทอดบทบาทของบิลลี ได้ชวนใจสลายมาก ๆ ยิ่งตอนเธอมาประกบกับ เจาฉูเจิน ในบทอาม่านี่คือความเข้มแข็งที่พกมาจากนอกโรงพังทลายทันที ยิ่งกล้องให้โอกาสเธออยู่ในเฟรมเดี่ยว ๆ หลายช็อต ทั้งสายตาและการแสดงของเธอกลายเป็นสิ่งแทนคำพูดได้หลายล้านคำจนไม่แปลกใจเลยที่สื่อเมืองนอกยกย่องเธอขนาดนี้ และปีหน้า..ไม่แน่ว่าเราอาจต้องมานั่งนับเวทีที่มอบรางวัลให้เธอก็เป็นได้.

เอาล่ะ..คงเหมือนชื่อเรื่องล่ะนะว่าทุกสิ่งย่อมมาคู่กัน มีกลางวันต้องมีกลางคืน และแน่นอนว่าหลังกล่าวทักทาย..เราก็คงต้องกล่าว “อำลา” แม้เวลาหลายปีจะดูแสนสั้นและไม่เคยเพียงพอแต่เราก็สุขใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงมันไม่ใช่เหรอ ในหนังสิ่งดูจะทำให้นึกถึงตัวเองตลอดคงเป็นคำสอนดี ๆ ที่บรรดาญาติผู้ใหญ่คอยสั่งสอนอยู่เรื่อย ๆ ประหนึ่งว่าพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว โดยในหนังมันมีคำพูดนึงของอาม่าในเรื่องบอกว่า ชีวิตที่ดีไม่ได้วัดจากแค่สิ่งที่ทำหรอกแต่เป็นการใช้ชีวิตมากกว่าที่ทำให้มันมีความหมาย ท้ายสุดคนที่ยังหายใจก็คงต้องเลือกแล้วล่ะว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไหน จริงไหม ?

รักและคิดถึงเสมอ

ลูกชาย

WHAT THE FACT รีวิว The Farewell

คลิกที่รูปเพื่อเช็กรอบฉาย และ ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ ได้ทันที

หนังเปิดฉายรอบพิเศษ 14 – 18 ธันวาคมนี้ รอบตั้งแต่ 20:00 น เป็นต้นไป ก่อนเข้าฉายจริงวันที่ 19  ธันวาคมนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส