ถอดความจากบทความของ ชอว์น โรแบร์ แฟนหนังผู้คลั่งไคล้ไตรภาค Back To The Future เขียนไว้ในเว็บไซต์ brandedinthe80s.com (17 พฤศจิกายน 2014)

ชอว์น โรแบร์ ชาวอเมริกัน เขาอ้างตัวว่าเป็นคนที่รักหนังไตรภาค Back To The Future อย่างมาก ชอว์น เริ่มเรื่องด้วยการย้อนอดีตไปในปี 1990 ตอนที่ Back To The Future III ออกฉาย ตอนนั้นเขาอายุแค่ 13 ปี ชอว์นได้อ่านนิตยสารภาพยนตร์ชื่อ Starlog ที่เขาโปรดปราน ชอว์นเล่าว่าในคอลัมน์จดหมายจากทางบ้านนั้น มีผู้อ่านรายหนึ่งเขียนจดหมายเข้ามาบ่นถึงช่องโหว่ที่ชัดเจนของหนัง Back To The Future III เนื้อหาในจดหมายนั้นพูดถึงเหตุการณ์ในปี 1885 ที่เป็นฉากหลักในภาค 3 ผู้เขียนบอกว่าให้ลองนึกกันดี ๆ สิ ในปีนั้นจะต้องมี รถเดอลอเรียน ที่เป็นไทม์แมชชีน อยู่พร้อมกันถึง 2 คัน คันแรกก็คือคันที่ด็อกขับไปโผล่ในปีนั้นเพราะโดนฟ้าผ่าแล้วนำไปซ่อนไว้ในถ้ำ และอีกคันก็คือคันที่มาร์ตี้ขับย้อนอดีตกลับไปหาด็อก ปัญหาใหญ่ในภาคนี้ก็คือรถเดอลอเรียนที่มาร์ตี้ขับกลับไปนั้น ถังน้ำมันรั่วแล้วไม่มีเชื้อเพลิง จึงต้องคิดหาวิธีสร้างไทม์แมชชีนกันใหม่ แล้วทำไมถึงไม่มีใครพูดถึงรถเดอลอเรียนอีกคันที่ด็อกเอาไปซ่อนไว้ในถ้ำล่ะ ก็แค่เอาอะไหล่จากอีกคันหนึ่งมาซ่อมอีกคันก็จบปัญหาล่ะ ไม่ต้องมาคิดหาวิธีสร้างไทม์แมชชีนกันให้วุ่นวาย ชอว์นบอกว่าพอเขาได้อ่านจดหมายนี้แล้วเหมือนการได้เห็นนิมิตเปล่งประกายในหัวของเขา สำหรับความคิดของเด็กอายุ 13 ปี เขารู้สึกลิงโลดมากที่ได้พบช่องโหว่ครั้งใหญ่ของหนัง (เดาว่าในใจคงนึกประนาม หนังฟอร์มใหญ่ระดับโลกทำไมพลาดจุดใหญ่ ๆ แบบนี้ ทำนองนั้นล่ะ)

นิตยสาร Starlog

นิตยสาร Starlog

 

วิเคราะห์ทฤษฎีรถเดอลอเรียน 2 คัน ในปี 1885

รถเดลอรีน คันที่ด็อกซ่อนไว้ในถ้ำ ก็ต้องยังอยู่ในปี 1885

รถเดอลอเรียน คันที่ด็อกซ่อนไว้ในถ้ำ ก็ต้องยังอยู่ในปี 1885

ชอว์นเล่าต่อว่า วันเวลาผ่านไป ในตอนที่เขาได้เขียนบทความนี้เขาอายุ 37 ปีล่ะ มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แล้วเขาก็ได้มาทบทวนเรื่องราวใน Back To The Future III จากเดิมที่เขามั่นอกมั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดของทีมงานที่ปล่อยให้บทมีช่องโหว่ไปแบบนั้น ในวันนี้เขาเข้าใจเรื่องราวความซับซ้อนของพลอตที่เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลามากขึ้น มันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะเขียนเนื้อหาที่เกี่ยวกับทฤษฎีการเดินทางข้ามเวลาให้ถูกต้องเป๊ะเสียทั้งหมด มาทบทวนกันใหม่เรื่องของรถเดอลอเรียนที่อยู่ด้วยกัน 2 คัน ในปี 1885 ถ้าอิงตามทฤษฎีเดิมที่เขาเคยคิดไว้เมื่อตอนอายุ 13 ปี เอาอะไหล่จากอีกคันมาใส่อีกคันก็จบปัญหาแล้ว แต่ถ้าคิดตามให้ละเอียดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ทันทีที่ด็อกถอดอะไหล่จากคันที่ซ่อนไว้ในถ้ำออกมา คันที่มาร์ตี้ขับย้อนอดีตกลับมาหาด็อกก็จะหายไป เพราะคันที่ซ่อนอยู่ในถ้ำจะไม่มีสภาพสมบูรณ์แล้วไม่สามารถคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถึงปี 1955 แล้วย้อนกลับมาหาด็อกได้อีก ทั้งรถเดอลอเรียนและตัวมาร์ตี้ที่ย้อนมาปี 1885 ก็จะหายไป แต่ถ้าถอดอะไหล่จากคันที่มาร์ตี้ขับกลับมา เอาไปซ่อมคันที่ด็อกซ่อนไว้ในถ้ำล่ะ ก็จะเกิดการแปรปรวนที่เรียกว่า “Displacement Effect Theory” เป็นทฤษฎีที่ชวนสับสน ยุ่งเหยิงมาก โรเบิร์ต เซเมกคิส และ บ็อบ เกล ก็เลยขออยู่ห่าง ๆ ไว้ดีกว่า มันยากเกินไปที่จะอธิบาย ลงลึกไปก็จะกลายเป็นหนังวิทยาศาสตร์ซีเรียส ดูไม่สนุกอีก การไม่พูดถึงรถเดอลอเรียนคันที่ซ่อนอยู่ในถ้ำเลย คือทางออกที่ดีที่สุด

 

มาร์ตี้ แม็กฟลาย 2 คน ในฉากที่ไม่มีใครสังเกต

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องน่าชื่นชมที่ทีมงานใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของหนัง ไม่แคร์ว่าคนดูจะเห็นหรือไม่ ในเรื่องนี้ ชอว์น โรแบร์ หยิบมาจากจดหมายของ บรู๊ซ กอร์ดอน ที่ได้ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์จดหมายจากทางบ้านในนิตยสาร Starlog เดือนกรกฎาคม 1986 ทฤษฎีของบรู๊ซ กอร์ดอน นั้นชี้ให้เห็นความละเอียดของทีมงานที่เราไม่ได้สังเกต ให้เราย้อนทวนเหตุการณ์ในตอนท้ายภาคแรกก่อน หลังจากมาร์ตี้ แม็กฟลาย ย้อนไปปี 1955 แล้ว ได้แก้ไขเรื่องราวในอดีตให้พ่อแม่ได้รักกันเรียบร้อยแล้ว เขาตัดสินใจกลับมาปี 1985 ให้เร็วขึ้นกว่าตอนที่เดินทางไป 10 นาที เพื่อหวังจะมาช่วยด็อกไม่ให้ถูกผู้ก่อการร้ายยิงตาย

ฉากสำคัญต้นเรื่อง จะสังเกตเห็นมาร์ตี้ แม็กฟลาย คนที่กลับมาจากปี 1985

ฉากสำคัญต้นเรื่อง จะสังเกตเห็นมาร์ตี้ แม็กฟลาย คนที่กลับมาจากปี 1985

บรู๊ซ กอร์ดอน ชี้เป้าในฉากสำคัญนี้ในตอนต้นของภาคแรก ฉากวุ่นวายที่ผู้ก่อการร้ายลิเบียขับรถตู้โฟล์กสวาเกนมายิงด็อก แล้วมาร์ตี้ต้องขับเดอลอเรียนหนี มีอยู่ช่วงเวลาแค่แวบเดียว เป็นภาพมุมกว้าง ตอนที่รถตู้ของชาวลิเบีย ขับมาประชิดตัวด็อก แล้วด็อกชูมือยอมจำนนนั้น ถ้ามองผ่านไปที่ฉากหลัง จะสังเกตเห็นเงาคนวิ่งผ่านแสงสว่างของร้านค้าในตึกด้านหลัง ซึ่งบรู๊ซเชื่อว่าคนที่วิ่งผ่านนั่นล่ะคือมาร์ตี้ แม็กฟลาย คนที่กลับมาจากปี 1955 คนเดียวกันกับที่เราจะได้เห็นเรื่องราวของเขาในช่วงท้ายเรื่อง

 

ทฤษฎีหีบพลูโตเนียมที่หายไป

อีกจุดหนึ่งฉากเดียวกัน ในจุดนี้ถ้าคิดตามจริงจังจะชวนสับสนปวดหมองมาก ในฉากนี้ด็อกอธิบายให้มาร์ตี้ฟังว่าไทม์แมชชีนของเขานั้นใช้พลังงานจากพลูโตเนียม แล้วทั้งสองคนก็สวมชุดป้องกันกัมมันตภาพรังสี ขณะที่ด็อกหยิบพลูโตเนียมจากหีบบรรจุสีเหลืองมาใส่ในช่องเติมพลังงานท้ายรถเดอลอเรียนให้ดู หีบบรรจุพลูโตเนียมสีเหลืองก็ยังวางอยู่ที่เดิมหน้ารถห้องแล็บเคลื่อนที่ของด็อก ตัดมาในช่วงท้ายของหนัง หลังจากมาร์ตี้กลับมาจากปี 1955 แล้ว เห็นด็อกนอนตายอยู่ เขาทรุดลงนั่งเสียอกเสียใจที่ช่วยด็อกไว้ไม่ทัน ในฉากนี้เราสามารถมองผ่านไปด้านหลังมองเห็นรถห้องแล็บของด็อกได้ แต่ว่าหีบบรรจุพลูโตเนียมหายไปแล้ว

ฉากเดินทางข้ามเวลาครั้งแรก หีบพลูโตเนียมยังอยู่

ฉากเดินทางข้ามเวลาครั้งแรก หีบพลูโตเนียมยังอยู่

เมื่อมาร์ตี้ แม็กฟลาย กลับมาปี 1985 อีกครั้งเพื่อช่วยด็อก หีบหายไปแล้ว

เมื่อมาร์ตี้ แม็กฟลาย กลับมาปี 1985 อีกครั้งเพื่อช่วยด็อก หีบหายไปแล้ว

ทฤษฎีของบรู๊ซ กอร์ดอน อธิบายไว้ว่า เรื่องราววนลูปในไทม์ไลน์ของด็อกบราวน์ ไม่ใช่ที่เห็นในหนังนะครับ ด็อกบราวน์คือคนที่รู้ทุกอย่างมาตลอดจากการที่เขาได้พบกับมาร์ตี้มาแล้วในปี 1955 ได้อ่านจดหมายของมาร์ตี้เตือนว่าเขาจะถูกยิงตาย ด้วยวิจารณญาณของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้น้อยที่สุด เขารู้ว่าเหตุการณ์ยุ่งเหยิงทุกอย่างเกิดจากการที่มาร์ตี้เดินทางย้อนอดีตไปปี 1955 ครั้งแรกนั้น ไม่มีพลูโตเนียมสำรองไปด้วย ทำให้มาร์ตี้ต้องไปหาตัวเขาเองในปี 1955 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายในอดีตทั้งหมดที่ส่งผลถึงเหตุการณ์ในปี 1985 ด็อกจึงต้องการแก้ไขความวุ่นวายทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการเอาหีบบรรจุพลูโตเนียมใส่ไปกับรถเดอลอเรียนเพื่อมาร์ตี้จะได้พาตัวเองกลับมาปี 1985 โดยไม่ต้องไปสร้างเหตุการณ์วุ่นวายทุกอย่างให้เกิดขึ้น อย่างที่เราเห็นในหนัง แต่นั่นคือเรื่องราวอีกไทม์ไลน์ที่ด็อกได้แก้ไข ไม่ได้ปรากฏในหนัง (ทฤษฎีนี้คิดตามแล้วปวดหัวเลยทีเดียวละ)

ความละเอียดของทีมงานเกี่ยวกับหอนาฬิกา

เหตุการณ์ช่วงต้นของภาคแรก คิ้วขอบล่างหน้าปัดนาฬิกายังอยู่ในสภาพดี

เหตุการณ์ช่วงต้นของภาคแรก คิ้วขอบล่างหน้าปัดนาฬิกายังอยู่ในสภาพดี

 

เหตุการณ์ในปี 1955 ด็อกบราวน์ คือคนที่เหยียบขอบหน้าปัดนาฬิกาพังกลายเป็นรอยแหว่ง

เหตุการณ์ในปี 1955 ด็อกบราวน์ คือคนที่เหยียบขอบหน้าปัดนาฬิกาพังกลายเป็นรอยแหว่ง

 

เมื่อมาร์ตี้ กลับมาปี 1985 ในท้ายเรื่อง คิ้วใต้หน้าปัดนาฬิกา รอบนี้มีรอยแหว่งแล้ว

เมื่อมาร์ตี้ กลับมาปี 1985 ในท้ายเรื่อง คิ้วใต้หน้าปัดนาฬิกา รอบนี้มีรอยแหว่งแล้ว

ชอว์น บอกว่าหลายคนอาจจะแย้งว่าคิดลึกเกินไปมั้ง เชียร์หนังเกินไปหรือเปล่า มันอาจจะเป็นความผิดพลาดของทีมงานก็ได้ ที่เก็บหีบบรรจุพลูโตเนียมออกจากฉากไปแล้ว หรือจะแย้งว่าพวกลิเบียมาเอาไปแล้วก็ไม่ได้นะ เพราะเราเห็นกันแล้วว่ารถตู้แก๊งลิเบียพุ่งชนร้านขายของพังไปแล้ว ชอว์นก็เสริมทฤษฎีอื่นเขามาสมทบอีกว่า ทีมงาน Back To The Future จริงจังกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ยกตัวอย่างฉากหอนาฬิกา ที่เป็นเหมือนอีกตัวละครหลักของเรื่องเลยก็ว่าได้ ตอนต้นเรื่องในหลาย ๆ ฉากเราจะเห็นว่าแท่นใต้หน้าปัดนาฬิกาบนหอนั้น อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่ในช่วงท้ายของหนัง ขณะที่ด็อกปีนไปบนแท่นหน้าปัดนาฬิกาเพื่อมเชื่อมต่อสายไฟนั้น เขาก็คือต้นเหตุที่เหยียบแท่นนี้พังจนเป็นรอยแหว่งเห็นชัด เมื่อมาร์ตี้กลับมาในปี 1985 ตอนท้ายเรื่อง ภาพมุมกว้างของหอนาฬิกา ก็เห็นชัดว่าปี 1985 ในรอบหลังนี้ หอนาฬิกามีรอยแหว่งเสียแล้ว

ก็เป็นอีกมุมมองของกลุ่มแฟนเดนตายทีรักไตรภาค Back To The Future นับว่าเป็นทฤษฎีทีน่าสนใจ ในช่วงนี้ที่หลายคนต้องอยู่บ้าน ถ้ามีโอกาสก็ลองหยิบ Back To The Future มาดูอีกสักรอบ ลองสังเกตฉากต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ ดูแล้วเห็นพ้องหรือเห็นแย้งจาก ชอว์น โรแบร์ หรือ บรู๊ซ กอร์ดอน แฟนเดนตายจากสหรัฐฯ ก็ลองแลกเปลี่ยนแนวคิดกันดูก็ได้นะครับ