ครบ 20 ปี อีกเรื่องกับหนังในดวงใจของหลาย ๆ คน Crouching Tiger, Hidden Dragon นับว่าเป็นหนังที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ มากมายในโลกภาพยนตร์ สำหรับคนไทยอย่างพวกเราที่คุ้นเคยกับหนังวิทยายุทธ์ กำลังภายในมาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ถึงกับว่าได้เห็นอะไรแปลกใหม่ แต่ Crouching Tiger, Hidden Dragon ก็เป็นการยกระดับขั้นของหนังกำลังภายในจากจอเล็ก ไปสู่จอใหญ่ พร้อมกับงานสร้างที่พิถีพิถันระดับฮอลลีวู้ด ความละเอียดปราณีตในทุกขั้นตอน ทั้งงานภาพ งานออกแบบการต่อสู้ การเสาะหาโลเกชันที่สวยงามตราตึงความรู้สึก แล้วยังได้เห็นดาราคนโปรดหลาย ๆ รายมาร่วมจอกันทั้ง โจเหวินฟะ, จางซิยี่, มิเชลล์ โหยว

หลังออกฉาย หนังก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่มากมาย เข้าอันดับที่ 2 ในตารางหนังที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษและทำรายได้ทั่วโลกสูงที่สุด 213 ล้านเหรียญ รองจาก Life Is Beautiful (1997) ที่ทำตัวเลขไว้ 230 ล้านเหรียญ ก่อนที่ Spirited Away (2001) หนังแอนิเมชัน จากสตูดิโอจิบลิ จะขึ้นสู่อันดับที่ 1 ในปีถัดมา ด้วยตัวเลข 365 ล้านเหรียญ แต่แค่ตัวเลขรายได้เท่านี้ผู้สร้างก็ยิ้มแก้มปริแล้ว เพราะใช้ทุนสร้างไปน้อยนิดมาก เพียงแค่ 17 ล้านเหรียญ เท่านั้น ทำให้หนังแจ้งเกิดผู้กำกับ อัง ลี อย่างเต็มตัว หลังพอมีชื่อเสียงมาแล้วบ้างจาก Sense and Sensibility ปี 1995 และตอกย้ำความเป็นปรมาจารย์ทางด้านออกแบบท่าการต่อสู้แบบตะวันออกของ หยวนวูปิง หลังสร้างชื่อมาแล้วจากไตรภาค The Matrix

ทางด้านรางวัล หนังกวาดออสการ์ไปถึง 4 ตัว ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ที่น่าอกหักที่สุดคือรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมที่ อัง ลี ได้เข้าชิงเป็นปีแรก แต่สุดท้ายเขาก็เป็นผู้กำกับที่คว้าออสการ์ได้ถึง 2 ครั้งจาก Brokeback Mountain (2005) และ Life of Pi (2012)

Crouching Tiger, Hidden Dragon จัดว่าเป็นหนังที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งในโลกภาพยนตร์ หนังยังมีเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังน่าสนใจอีกมาก ในโอกาสครบรอบ 20 ปีนี้ ที่เราอยากหยิบมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

1.เจ็ท ลี คือตัวเลือกแรกในบท หลี่ มู๋ไป๋

เหตุที่ อัง ลี และทีมผู้สร้างเล็งเห็นว่า เจ็ท ลี หรือ หลี่เหลียนเจี๋ย คือตัวเลือกที่เหมาะสมกับบทจอมยุทธ์ หลี่ มู๋ไป๋ เพราะในวันนั้น เจ็ท ลี คือภาพลักษณ์ของนักแสดงฮ่องกง ที่เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัวแบบเอเซีย และเขาได้ไปสร้างชื่อในฮอลลีวู้ดมาแล้วใน Leathal Weapon 4 (1998) แต่เจ็ท ลี มีงานหนังมาเสนอด้วยกัน 2 เรื่องในวันนั้น เขาเลือก Romeo Must Die แทน น่าจะเป็นการตัดสินใจผิดครั้งใหญ่ในชีวิตละครับ หนังทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 91 ล้านเหรียญ

ทางผู้สร้างก็เลยหันไปหาตัวเลือกที่ 2 ซึ่งยังคงไม่ใช่ โจว เหวินฟะ อยู่ดี แต่เป็น หลี่ หมิง แต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยไม่บอกเหตุผล บท หลี่ มู๋ไป๋ จึงตกมาถึง โจว เหวินฟะ ในฐานะตัวเลือกที่ 3 ส่วนเหตุผลที่หลายคนน่าสงสัยว่าทำไม โจว เหวินฟะ ถึงไม่เป็นตัวเลือกแรกของหนัง ทั้งที่ชื่อเสียงในฮอลลีวู้ดก็เป็นที่รู้จักมากพอ เหตุก็เพราะภาพลักษณ์ของโจวเหวินฟะ นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในหนัง จอห์น วู ที่ใส่โค้ทยาวและควงปืนมากกว่าควงดาบ กลัวคนดูจะติดภาพลักษณ์แก๊งสเตอร์ของเขาในแบบนั้นมา

2.หนึ่งในงานแสดงที่ยากที่สุดในชีวิตของ โจว เหวินฟะ

ด้วยเหตุที่ อัง ลี เลือกให้หนังพูดภาษาจีนกลางเป็นหลัก คนที่ไม่ประสบปัญหานี้เพียงคนเดียวคือ จาง ซิยี่ เพราะเธอเกิดในปักกิ่ง ส่วนนักแสดงนำคนอื่น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่คุ้นเคยกับภาษากวางตุ้ง ก็ต้องมาหัดพูดภาษาจีนกลางกันใหม่ แต่ยังคงเป็นปัญหาเพราะสำเนียงแต่ละคนออกมาไม่เหมือนกัน

คนที่ประสบปัญหานี้หนักสุดคือ โจว เหวินฟะ ที่ติดสำเนียงกวางตุ้งหนักมาก แล้วยิ่งมาเจอกับ อัง ลี ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่า “Perfectionist” ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น แค่เปิดมาฉากแรก โจว เหวินฟะ ก็โดนไปแล้วถึง 28 เทค เขาถึงกับเปรยว่า “เป็นประสบการณ์ที่แย่มาก” สำหรับเขาครั้งหนึ่งในชีวิตการแสดง แต่ถึงแม้หนังปิดกล้องไปแล้ว งานของ โจว เหวินฟะ ก็ไม่จบครับ ผู้กำกับ อัง ลี สั่งให้ โจว เหวินฟะ พาพากย์เสียงทับเสียงตัวเองใหม่หมด เพื่อให้มีสมาธิกับการพูดอย่างเดียว โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการแสดง เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

3.มิเชลล์ โหยว เตรียมพร้อมสำหรับบทนี้ล่วงหน้าเป็นปี

มิเชลล์ โหยว น่าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของ อัง ลี ที่เขาติดต่อทาบทามเธอด้วยตัวเอง อัง ลี จำกัดความหนัง Crouching Tiger, Hidden Dragon ให้เธอฟังว่า นี่คือ Sense and Sensibility ในสไตล์หนังกำลังภายใน พอดีที่ว่า มิเชลล์ โหยว ไม่มีงานแสดงในช่วง 1 ปีก่อนถ่ายทำเรื่องนี้ ทำให้เธอในการเตรียมพร้อมสำหรับบท หยู ซูเหลียน ซึ่งเธอมุ่งเน้นไปกับการฝึกพูดภาษาจีนกลาง เพราะภาษาพูดหลักของเธอคือ อังกฤษ ผู้กำกับ อัง ลี ก็อำนวยความสะดวกด้วยการให้ทีมงานชาวจีนแต่กำเนิดอ่านบทภาพยนตร์ แล้วบันทึกเป็นเทปบันทึกเสียงส่งให้เธอ แต่ระหว่างถ่ายทำเธอก็ยังค่อนข้างรู้สึกกดดันกับการพยายามพูดจีนกลางให้เป๊ะ ตามที่ อัง ลี ต้องการ ถึงกับต้องหลั่งน้ำตาด้วยความเครียด

4.ตัวเลือกแรกในบท อวี้ เจียวหลง หรือ ซูฉี

อัง ลี ต้องการตัว ซู ฉี มารับบทเป็น อวี้ เจียวหลง แต่เธอกลับไม่สนใจ ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังมีตารางการถ่ายทำที่ยาวนาน บวกกับเธอไม่ถนัดการแสดงหนังกำลังภายใน ซึ่งต้องไปฝึกวิชาการต่อสู้ ซึ่งเธอบอกชัด ๆ ตรง ๆ กันเลยว่า “ขี้เกียจ”

5.จาง ซิยี่ ใช้พื้นฐานการเต้นมาประยุกต์เข้ากับฉากโชว์วิทยายุทธ์

บท อวี้ เจียวหลง ของจางซิยี่นั้น เป็นบทของหญิงที่เชี่ยวชาญวรยุทธ์อย่างมาก ซึ่งผิดกับพื้นฐานของตัวเธอ ไม่เคยผ่านหนังแนวกำลังภายในมาเลย แต่เธอมีพื้นฐานในการเต้นรำ พอถึงฉากที่ต้องโชว์ศิลปะการต่อสู้ จาง ซิยี่ ก็ประยุกต์ทักษะการเต้นรำมาใช้กับฉากต่อสู้เพื่อให้ดูลื่นไหลคล่องแคล่ว ส่วนในเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับบทนั้น จาง ซิยี่ ทุ่มเทไปกับการฝึกศิลปะการเขียนตัวอักษรจีนด้วยพู่กัน ซึ่งเธอยังได้นำทักษะนี้ไปใช้ในหนัง Hero ปี 2004 ได้อีกด้วย

ซึ่งก็นำมาถึงข้อสงสัยว่า แล้วทำไมผู้กำกับสมบูรณ์แบบอย่าง อัง ลี ถึงเลือกจาง ซิยี่ มารับบท อวี้ เจียวหลง ที่ต้องโชว์ทักษะวรยุทธ์เป็นหลัก เหตุผลของอัง ลี ก็คือ เขาประทับใจบทบาทการแสดงของเธอจากหนัง The Road Home ปี 1999 ผลงานกำกับของปรมาจารย์ จาง อี้โหมว แต่สิ่งที่ อัง ลี ผิดคาดมากก็คือ เมื่อจาง ซิยี่ รู้ว่าผู้กำกับ อัง ลี คาดหวังในตัวเธอมาก ทำให้เธอยิ่งตื่นตระหนกอย่างมาก แล้วส่งผลออกมาทางการแสดง ซึ่งอัง ลี กล่าวภายหลังว่าถ้ารู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ คงไม่เลือกเธอหรอก

6.ฉากต่อสู้ที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลกภาพยนตร์

หนึ่งในผู้ร่วมเขียนบท เจมส์ ชามุส เขียนบรรยายถึงฉากต่อสู้ไว้ในบทภาพยนตร์ Crouching Tiger, Hidden Dragon “ฉากต่อสู้ที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลกภาพยนตร์” ทำให้ทีมผู้สร้างต้องพยายามถ่ายทอดจินตนาการของ เจมส์ ชามุส ให้ออกมาเป็นภาพของการต่อสู้ที่เยี่ยมยอดตามที่ผู้เขียนบทได้บรรยายไว้ งานนี้ทีมผู้สร้างจึงต้องเชิญตัว หยวน วูปิง ปรมาจารย์ทางด้านงานออกแบบฉากต่อสู้ จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ในวงการหนังกำลังภายใน และไปสร้างชื่อต่อในฮอลลีวู้ด ทำให้หยวน วูปิง กลายเป็นนักออกแบบฉากต่อสู้อันดับหนึ่งในวงการขณะนั้น อัง ลี เผยว่าเขารู้สึกปลาบปลื้มมากที่ได้ยิน หยวน วูปิง ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมซาบซึ้งและยินดีมากที่อัง ลี ได้ให้ผมมีส่วนร่วมในโลกภาพยนตร์ของเขา”

7.ฉากต่อสู้บนยอดไผ่ ใช้นักแสดงจริง

แม้หนัง Crouching Tiger, Hidden Dragon จะเต็มไปด้วยฉากต่อสู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ฉากที่ผู้ชมประทับใจที่สุด ทั้งในเรื่องความแปลกใหม่ และความสวยงาม คือฉากประมือกันเหนือป่าไผ่ ระหว่าง หลี่ มู๋ไป๋ และ อวี้ เจียวหลง ฉากนี้ถือกำเนิดมาด้วยจินตนาการของผู้กำกับ อัง ลี ล้วน ๆ ซึ่ง อัง ลี บอกว่าเขามีภาพนี้อยู่ในหัวมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แล้วก็อยากจะถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพจริง ๆ เพราะ “ยังไม่เคยมีฉากแบบนี้ในโลกภาพยนตร์” แต่จินตนาการที่หลุดโลกของอัง ลี นั้น ก็ถูกคัดค้านกันถ้วนหน้าจากทีมงาน ไม่มีใครในทีมงานคิดว่ามันจะเป็นไปได้ แม้กระทั่งปรมาจารย์ หยวน วูปิง ก็ยังคัดค้านหัวชนฝา หยวน บอกว่าเขาไม่ถนัดอะไรกับฉากอย่างนี้เลย งานที่เขาเชี่ยวชาญคือการต่อสู้บนพื้นล่าง อย่างมากก็ใช้สลิงเข้ามาช่วย

ขึ้นชื่อว่าผู้กำกับจอมสมบูรณ์แบบ อัง ลี ไม่สนเสียงคัดค้าน สั่งเดินหน้าอย่างเดียว ทีมงานก็ต้องเตรียมงานกันอย่างรอบคอบที่สุด ใช้เวลาตระเตรียมล่วงหน้าหลายวันเพราะเป็นฉากที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก แล้วการถ่ายทำก็ได้เริ่มต้นขึ้นตามที่อัง ลี ต้องการ งานถ่ายทำฉากนี้ใช้เวลาหลายวัน เทคแล้ว เทคอีก จนกว่า อัง ลี จะพอใจ ต้องให้ได้ภาพที่ถูกต้องตามจินตนาการของเขามากที่สุด และส่วนที่ยากที่สุดก็คือการที่ โจว เหวินฟะ และ จาง ซิยี่ ต้องถูกแขวนขึ้นไปในอากาศสูงจากพื้นถึง 12 เมตร เหตุที่นักแสดงต้องเสี่ยงตายเช่นนี้ ก็เพราะ อัง ลี อีกนั่นแหละ ทีเลือกจะถ่ายระยะใกล้ เห็นหน้าตานักแสดงชัด ๆ ซึ่งเป็นมุมกล้องที่ไม่สามารถใช้สตันท์แสดงแทนได้เลย มีการใช้ซีจีช่วยเพียงแค่ลบลวดสลิงออกเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สวยงาม ควรค่ากับความยากลำบากที่ทุกคนได้ทุ่มเทเลงไป อ่านถึงข้อนี้คงต้องกลับไปหาหนังมาดูอีกรอบ

8.เป็นกองถ่ายที่สุดหิน

กองถ่ายเจออุปสรรคต่าง ๆ นานาระหว่างการทำงาน ช่วงที่ยกกองไปถ่ายกันในทะเลสาบโกบี กองถ่ายบางส่วนก็หลงทางต้องตามหากันวุ่น แล้วถ่าย ๆ ไปก็ต้องเจอกับพายุทรายอีก แล้วเรื่องประหลาดก็เกิดขึ้น คือกองถ่ายเจอพายุฝนที่ตกกลางทะเลทรายแล้วตกต่อเนื่องยาวนาน ทำเอาตารางการถ่ายทำล่าช้ากว่าเดิมไปมาก กว่าจะปิดกล้องได้ ต้องใช้เวลาถ่ายทำยาวนานถึง 8 เดือนเต็ม อัง ลี ถึงกับเอ่ยปากเลยว่า เป็นการทำงานที่ “หนักหนาสาหัส”

9.มิเชลล์ โหยว กระโดดเตะพลาดจนเส้นเอ็นฉีก

จากเดิมที่กองถ่ายนี้เดินหน้าไปด้วยความหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว นักแสดงนำอย่างมิเชลล์ โหยว ก็ดันมาเจออุบัติเหตุในกองถ่ายเข้าไปอีก เธอเจ็บหนักถึงกับต้องบินจากจีนไปที่บัลติมอร์เพื่อทำ MRI และรับการรักษา มิเชลล์ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลถึง 3 สัปดาห์ครึ่ง กว่าอาการจะทุเลาแล้วบินกลับมาเข้ากองถ่ายได้ แต่ก็ต้องถ่ายทำเฉพาะฉากที่ไม่มีการต่อสู้เท่านั้น พอถ่ายทำฉากของเธอเสร็จก็บินกลับไปรักษาที่บัลติมอร์ ก่อนที่จะบินกลับมาอีกครั้งเพื่อเข้าฉากในช่วงท้ายของหนังในสภาพที่ฟื้นตัวประมาณ 80%

10.สดุดีหนัง THE LOVE ETERNE (1963)

หนึ่งในหนังสุดโปรดของ อัง ลี ก็คือหนังชอว์ บราเธอร์ เรื่อง THE LOVE ETERNE หรือในชื่อไทยคือ “ม่านประเพณี” ซึ่งผู้กำกับ อัง ลี ก็เอาแรงบันดาลใจจากหนังคลาสสิกในอดีตเรื่องนี้มาใส่ในฉากต่อสู้ในโรงเตี๊ยม ในจุดเล็ก ๆ ที่สื่อถึงกันก็คือ นางเอกในหนัง THE LOVE ETERNE จะชอบถือพัดกระดาษไว้ในมือ ส่วนใน Crouching Tiger นั้น อัง ลี ก็เอามาประยุกต์เป็น พัดเหล็ก แทน

11.ร้องไห้ 5 ชั่วโมง

ฉากสุดเศร้าท้ายเรื่อง ที่หยู ซูเหลียน ต้องหลั่งน้ำตาให้กับการจากไปของ หลี่ มู๋ไป๋ นั้น บนจอใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่เพื่อสื่ออารมณ์ออกมาให้ได้พอใจ อัง ลี นั้น มิเชลล์ โหยว ต้องร้องไห้เพื่อฉากนี้ถึง 5 ชั่วโมง ในที่สุดก็ได้เทคที่ถูกใจ อัง ลี ที่สามารถดึงอารมณ์ให้ อัง ลี หลั่งน้ำตาตามได้สำเร็จ

12.งานปัก 2 เดือน

ชุดที่ อวี้ เจียวหลง ใส่ในฉากเปิดตัวนั้น เป็นชุดที่โชว์งานปักทั้งตัว เพื่อความสวยงามปราณีตของชุดนี้ ต้องใช้ช่างปักมืออาชีพ ช่วยกันปักชุดนี้ยาวนานถึงง 2 เดือน

13.หนังใช้ภาษาต่างประเทศที่เข้าชิงออสการ์มากที่สุด

อีก 1 สถิติของ Crouching Tiger, Hidden Dragon คือหนังพูดภาษาต่างประเทศที่เข้าชิงออสการ์มากที่สุดถึง 10 รางวัล เท่ากับ Roma หนังปี 2018

และครองอีก 1 สถิติหนังพูดภาษาต่างประเทศที่คว้าออสการ์ได้มากถึง 4 รางวัล ยังมีอีก 2 เรื่องที่ร่วมสถิตินี้ Fanny and Alexander (1982) และ Parasite (2019) ทั้ง 3 เรื่องล้วนคว้าออสการ์มาได้ 4 รางวัลเท่ากัน

อ้างอิง

อ้างอิง

อ้างอิง