[รีวิว] Wet Season ห้ามไม่ไหว หัวใจมันรักครู – ห่าฝน คนชายขอบ
Our score
7.7

Wet Season ห้ามไม่ไหว หัวใจมันรักครู

ผู้กำกับ: Anthony Chen
นักเขียน: Anthony Chen
นักแสดง: Jia Ler Koh, Christopher Ming-Shun Lee, Shi Bin Yang
เข้าฉาย : 6 สิงหาคม 2563

จุดเด่น

  1. บทหนังวิพากษ์สังคมสิงคโปร์ในหลายแง่มุม
  2. ยาน ยาน โหยว สวมบทพลเมืองชั้นสองได้อย่างถึงแก่น
  3. นี่คือหนังที่อัดเสียงแอมเบียนต์ฝนได้หนักหน่วงช่วยซ้ำเติมชีวิตตัวละครได้ดีที่สุด

จุดสังเกต

  1. หนังมีจังหวะเล่าเรื่องที่ช้า แต่หากเปิดใจจะพบความน่าสนใจของเรื่องได้ในทุกซีน
  • ตรรกะ ความลงตัวของบทภาพยนตร์

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.5

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • ความสนุกหรือสุนทรียภาพตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    7.5

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

แม้ประเทศจะใกล้กันแค่ไหน แต่เรากลับได้ดูหนังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์น้อยมาก น้อยทั้งในเชิงปริมาณและน้อยกระทั่งข่าวที่ทำให้เรารับรู้ว่าวงการหนังของสิงคโปร์มีอะไรเคลื่อนไหวน่าสนใจบ้าง และไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจที่หนังอย่าง Wet Season ก็ดันมาเข้าฉายในไทยช่วงหน้าฝนอันแสนชุ่มช่ำพอดี พร้อมจุดขายเล่าเรื่องราวร้อนแรงระหว่างครูสาวกับลูกศิษย์หนุ่มตามชื่อไทยบนหัวเรื่องของเรา

Wet Season เริ่มเรื่องให้เราได้รู้จักตัวละครอย่าง หลิง (ยาน ยาน โหย่ว) ครูสาวชาวมาเลเซียที่มีหน้าที่สอนภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมของสิงคโปร์ นอกจากชีวิตครอบครัวที่เธอถูกทิ้งให้ดูแลพ่อสามีที่เป็นอัมพาตแล้ว ที่โรงเรียนเองวิชาภาษาจีนที่เธอสอนก็กลับถูกเมินทั้งจากโรงเรียนและนักเรียนของเธอเองมีเพียง เว่ยหลุน (เจียเลอร์โคห์) นักเรียนหนุ่มนักกีฬาวูซูของโรงเรียนที่ตั้งใจอยากจะเรียนภาษาจีนจริง ๆ นั่นทำให้หลิงและ เว่ยหลุนสนิทกันจนถูกสังคมในโรงเรียนเพ่งเล็ง ในขณะที่หลิงต้องต่อสู้เพื่อให้เธอมีลูกกับสามีให้ได้ เธอก็ต้องพบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตที่อาจทำให้เธอและเว่ยหลุนไปสู่จุดที่จรรยาบรรณความเป็นครูต้องถูกทดสอบ

WHAT THE FACT รีวิว WET SEASON

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทำลายความคาดหวังของผู้ชมที่หวังจะได้ดูฉากเซ็กส์ร้อนแรงหรือเรื่องรักข้ามรุ่นอย่างที่ชื่อไทยชี้ชวน เพราะความจริงแล้วหนังเรื่องนี้ของแอนโธนี เฉินผู้เขียนบทและกำกับ (เคยมีหนังระดับรางวัลอย่าง ILO ILO (2013)) ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวการดิ้นรนของคนพลัดถิ่นผ่านตัวละครอย่าง หลิง ครูสอนภาษาจีนที่ข้ามฟากแดนจากมาเลเซียมาสิงคโปร์เพื่อมุ่งหวังชีวิตที่ดีกว่าแถมหนังยังให้ฉากหลังเป็นช่วงการประท้วงนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่เป็นแรงผลักอย่างหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเหมือนความหวังในชีวิตอันสุขสบาย

สิงคโปร์ใน Wet Season เป็นสังคมร่วมสมัยและพูดถึงปัญหาสังคมในแง่โครงสร้างครอบครัวคนจีน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำเลื่อนลอยของพหุวัฒนธรรมในสิงคโปร์ ที่ในหนังเราจะได้เห็นครอบครัวของหลิงที่มีสามีอย่างแอนดรูว์ (คริสโตเฟอร์ หมิง-ฉุน ลี) นักธุรกิจหนุ่มที่ใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าจะทำหน้าที่ “ผัว”แบบว่า ถ้าไม่มีทะเบียนสมรสคงบอกไม่ได้ว่าสองคนนี้แต่งงานกันหรือเปล่า

และกล่าวอย่างไม่เกินจริงเลยตามหลักฐานที่ประจักษ์คือเขาก็ยกหน้าที่ “ลูก” เต็มเวลาให้กับเมียอย่างหลิงในการดูแลพ่อที่เป็นอัมพาต ดังนั้นความหวังเดียวไม่ว่าจะมีพื้นฐานมาจากความรักหรือไม่แต่การมีลูกสำหรับหลิงเหมือนจะเป็นหลักประกันอันหนึ่งในการได้สัญชาติสิงคโปร์และเป็นใบเบิกทางให้ครอบครัวสามียอมรับเธอในฐานะสะใภ้ ไม่ใช่แค่คู่แต่งงานที่หวังสัญชาติแม้เธอจะสละเวลาเลี้ยงดูบิดาของพวกเขาดีแค่ไหนก็ตาม

WHAT THE FACT รีวิว WET SEASON

จนเราเห็นถึงทัศนคติด้านครอบครัวของชาวสิงคโปร์ที่บูชาการมีเด็กเกิดใหม่มากกว่าความดีในแง่การดูแลผู้สูงอายุที่กำลังจะเป็นปัญหาสังคมของสิงคโปร์ต่อไป และไม่เพียงแค่นั้นเราจะได้ร่วมสังเกตการณ์การเสื่อมถอยของวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ถูกถ่ายทอดผ่านฉากที่พ่อสามีของหลิงมีชีวิตแต่ละวันอยู่แค่การนอน กิน ขับถ่ายใส่ผ้าอ้อมและความสุขเดียวของเขาคือการดูหนังกำลังภายในเก่า ๆ ในทีวีเท่านั้นเอง ยิ่งตอนท้ายเราจะยิ่งได้เห็นทัศนคติของลูก ๆ ที่มีต่อพ่อในยามที่พวกเขาไม่ต้องมีภาระผูกพันอะไรแล้วที่ทำให้เห็นความแห้งแล้งและเย็นชาของครอบครัวที่ตัวเลขดูจะสำคัญกว่าหัวจิตหัวใจที่จะดูแลคนแก่คนหนึ่งอย่างน่าสังเวชใจ.  

พ้นจากประเด็นครอบครัวแล้ว อีกปัญหาที่หนังหยิบยกมาพูดแบบอ้อม ๆ แต่เจ็บแสบอย่างยิ่งคือการยกปัญหาของการเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมที่คนหลายเชื้อชาติอยู่ด้วยกัน แต่การศึกษาของสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้ากลับเลือกจะส่งเสริมปัญญาให้เด็กในแง่ศาสตร์ที่จำเป็นต่อผลลัพธ์ในแง่การประเมินการศึกษา นั่นทำให้ภาษาจีนที่หลิงสอนถูกมองว่าเอาใครมาสอนแทนก็ได้และเป็นทักษะที่ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาให้เยาวชน

WHAT THE FACT รีวิว WET SEASON

นอกจากนี้ในฉากที่ชวนช็อกของเรื่อง แอนโธนี เฉิน ยังแอบใส่แนวคิดชายเป็นใหญ่ในสิงคโปร์ได้อย่างเจ็บแสบผ่านโปสเตอร์หนังของเฉินหลง 3 เรื่องได้แก่ Drunken Master (ไอ้หนุ่มหมัดเมา) First Strike (ใหญ่ฟัดโลก 2) Rush Hour (คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด) ที่ไม่ได้มีเพื่อบอกว่าเว่ยหลุนชอบเฉินหลงเท่านั้นแต่มันกำลังจะบอกถึงประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกของเขาได้อย่างแยบยลและโหดร้ายต่อชะตาชีวิตของหลิงอย่างยิ่ง

และเมื่อพิจารณาจากปมปัญหาทั้งหมดแล้วการที่หนังอย่าง Wet Season เลือกฤดูฝนเป็นฉากหลังก็ไม่ต่างจากสภาวะของปลาที่พยายามโผล่หน้ามาหายใจในสภาพสังคมที่บีบบังคับแบบนี้ทั้งหลิงที่เป็นคนต่างถิ่นและหาทางเอาตัวรอดในการใช้ชีวิต ส่วนครอบครัวสามีของเธอก็มุ่งจะเอาตัวรอดในด้านการเงินและหากไม่ตัดสินถูกผิด เว่ยหลุน เองก็ทำให้เราเห็นการโหยหาความรักและความอบอุ่นมาแทนพ่อแม่ที่ไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับเขาเพียงแต่ในบ่อปลาบ่อใหญ่นี้ห่าฝนก็ทำให้ทุกคน “จมจ่อม” และยากที่จะพ้นน้ำมาเห็นแสงตะวัน

WHAT THE FACT รีวิว Wet Season
กดที่รูปเพื่อเช็กรอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ทันที

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส