เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์ของเกมมันคือสิ่งเกมที่ผู้เล่นเกมจดจำ เมื่อเปิดเกมเล่นแล้วพบสิ่งที่เราเห็นใน(เกือบ) ทุกภาค ซึ่งบางอย่างมันก็คือสิ่งที่ตัวละครชอบพูดหรือทำในเกม ไปจนถึงฉากบางฉากของบางสิ่งหรืออะไรหลาย ๆ อย่างที่นักพัฒนาเกมใส่ลงไปเพื่อให้คนเล่นเกมจดจำ และเมื่อเกมเหล่านั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ทางผู้กำกับหรือคนเขียนบทที่เข้าใจในเรื่องของเอกลักษณ์ในเกมที่กล่าวมาดี ก็จะไม่ลืมใส่สิ่งเหล่านั้นลงไปในภาพยนตร์ เพื่อให้คนที่เล่นเกมมาดูภาพยนตร์จะได้รู้สึกคุ้นเคยว่านี่คือเกมที่ตัวเองรู้จัก และนี่คือ 10 เอกลักษณ์ของเกมที่เมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วทางผู้กำกับก็ยังใส่เอกลักษณ์ของเกมนั้นลงไป จะมีเกมอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย

คำเตือน.ในบทความมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องในภาพยนตร์โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

Tomb Raider ฉากถือปืนคู่ในตำนาน

Tomb Raider

เริ่มต้นเรื่องแรกกับเอกลักษณ์ของเกม Tomb Raider ที่นักเล่นเกมรุ่นเก่าหรือใครที่เคยเล่นเกมซีรีส์ Tomb Raider ในไตรภาคแรก ๆ มาก่อน น่าจะคุ้นเคยกับฉากถือปืนคู่ของ Lara Croft เป็นอย่างดี เพราะปืนคู่นั้นจะเป็นอาวุธหลักที่เราจะต้องใช้ตลอดทั้งเกม เพราะมันสามารถยิงได้ต่อเนื่องไม่มีการโหลดกระสุนหรือแม้แต่กระสุนหมดตอนเล่น เพื่อให้การต่อสู้กับศัตรูในเกมนั้นไม่ยากจนเกินไป เพราะทีมพัฒนาต้องการให้ผู้เล่นสนุกกับการปีนป่ายแก้ปริศนามากกว่าการยิงต่อสู้(แต่ในภาคแรกแค่ฉากที่ 2 ก็จัดไดโนเสาร์ขนาดใหญ่มาให้ผู้เล่นวิ่งหนี) พอมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในช่วงปี 2001 ที่ได้คุณ Angelina Jolie มาแสดงในภาพยนตร์ก็ยังคงใส่เอกลักษณ์ปืนคู่ และหน้าอกที่ใหญ่เกินปกติลงไปเพื่อเอาใจแฟน ๆ

Tomb Raider

จนมาถึงใน Tomb Raider ฉบับภาพยนตร์ในปี 2018 ที่ทางทีมสร้างภาพยนตร์คนเขียนบทได้ทำการเอาเรื่องราวของ  Tomb Raider ในเกมที่วางจำหน่ายในปี 2013 ที่เป็นฉบับ Reboot มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ที่เป็นการเล่าเรื่องราวใหม่ของ Lara ในช่วงเวลาวัยรุ่นที่เพิ่งออกล่าสมบัติ โดยในฉบับภาพยนตร์นั้นได้คุณ  Alicia Vikander มาแสดงนำ ซึ่งในภาคนี้จะต่างกับฉบับเก่าตรงที่ความสมจริง เราจงได้เห็น Lara ใช้ธนูมากกว่าใช้ปืน รวมถึงตะขอเกี่ยวที่ใช้ปีนเขาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฉบับ Reboot ก็ยังคงใส่ลงไปในภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุดที่ทีมผู้สร้างก็ไม่ลืมจะใส่ลงไป นั่นคือปืนคู่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเกมฉบับเก่าก็มีอยู่ในตอนท้ายของเรื่องด้วย เรียกว่าเอาใจทั้งแฟนเก่าแฟนใหม่กันเลยทีเดียวกับฉากนี้

Tomb Raider
TR_CT_Day10_06Feb2017-561.dng

Victory Pose ท่าตอนชนะในเกม Street Fighter

Street Fighter

เมื่อพูดถึงเกมในซีรีส์ Street Fighter ถ้าไม่พูดถึงระบบการเล่นตัวละครหรือความสนุกของเกมนี้ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นคือการโพสท่าตอนชนะ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Victory Pose มันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่คนเล่นเกม Street Fighter จดจำได้ กับท่าตอนชนะที่เราคุ้นเคยอย่าง Ken ก็จะชูสองนิ้วไม่ก็ชูกำปั้นขึ้นฟ้า ส่วน Ryu ก็ตะยืนกอดอกรับลมที่ปลิว หรือที่คนเล่นเกมชื่นชอบและจดจำมากที่สุดก็คือท่าของ Chun-Li ที่เธอจะกระโดดชูแขนขาขึ้นฟ้าอย่างร่าเริงพร้อมกับชูสองนิ้วให้ผู้เล่น จนกลายเป็นท่าที่เธอต้องมีในทุกภาคและเป็นสิ่งที่แฟน ๆ ต่างชื่นชอบกับความน่ารักนี้

Street Fighter

เมื่อมาดูในส่วนของภาพยนตร์ Street Fighter นั้นก็เคยถูกสร้างออกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งแรกสุดที่เคยถูกทำมาก็คือช่วงปี 1994 ที่ได้เปลี่ยนเนื้อเรื่องใหม่ให้ Guile เป็นพระเอก ที่นำแสดงโดยนักแสดงกล้ามโตสุดโด่งดังในยุคนนั้นอย่างคุณ Jean-Claude Van Damme ที่ภายในเรื่องนั้นแทบไม่มีอะไรที่เป็น Street Fighter นอกจากตัวละครที่แต่งชุดเหมือนในเกม แต่สิ่งที่พอจะทำให้คนเล่นเกมพอใจขึ้นมา พร้อมกับคำถามที่ว่าทำไปทำไม(ว่ะ) กับท่า Victory Pose ในตอนท้ายเรื่อง ที่ทุกตัวละครในเรื่องพร้อมใจทำท่าตอนชนะแบบในเกมพร้อมกันทุกคน กับอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ไม่มีเกี่ยวกับ Street Fighter เลย นั่นคือเรื่อง City Hunter ที่ได้คุณ Jackie Chan หรือเฉินหลงที่เรารู้จักมาแสดงนำที่ภายในเกมก็มีการแต่งตัวเป็น Chun-Li และมีท่า Victory Pose ของเธอให้เราได้อมยิ้มอีกด้วย

Street Fighter

รองเท้าแดงของ Sonic ที่แฟน ๆ จดจำใน  Sonic the Hedgehog

Sonic the Hedgehog
Sonic (Ben Schwartz) in SONIC THE HEDGEHOG from Paramount Pictures and Sega. Photo Credit: Courtesy Paramount Pictures and Sega of America.

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเกมและประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการ ต้องมีเรื่องของเจ้าเม่น Sonic the Hedgehog ติดอยู่ด้วย เพราะหลังจากที่ตัวภาพยนตร์เปิดตัวอย่างแรกออกมาหลายคนถึงกับร้องยี้กับความไม่น่ารักและเหมือน Sonic ในเกมที่ทุกคนรู้จัก รวมถึงเนื้อเรื่องที่ดูในตัวอย่างแรกหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่น่าสนใจ  แถมสิ่งที่ควรมีหลายอย่างในตัว Sonic ก็ไม่มี อย่างรองเท้าคู่ใจของ Sonic ที่ในตัวอย่างแรกเราจะเห็นว่ารองเท้าของ Sonic นั้นเป็นรองเท้าธรรมดาแถมยังไม่ใส่ถุงมือที่เป็นเอกลักษณ์ของ Sonic อีก เรียกว่านอกจากการออกแบบที่ไม่น่ารักแล้วหลายอย่างที่ Sonic ควรมีก็ไม่มีจนถูกแฟน ๆ ด่า

Sonic the Hedgehog

จนเมื่อเสียงเรียกร้องที่ออกไปทางบ่นด่าเป็นจำนวนมาก ทางทีมพัฒนาภาพยนตร์จึงตัดสินใจออกแบบเจ้า Sonic ใหม่หมด ยกเว้นเนื้อเรื่องที่หลายคนบ่นเพียงเพราะเห็นแค่ตัวอย่าง ที่เมื่อภาพยนตร์ออกฉายเนื้อเรื่องก็เป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชม และสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Sonic ครั้งนี้ก็มาจนครบ แถมยังเพิ่มเรื่องราวการได้รองเท้ามาเพิ่มด้วย เพราะตอนแรก Sonic จะใส่รองเท้าธรรมดาที่ขาดเพราะทนการวิ่งไม่ได้ แต่ในช่วงกลางเรื่อง Sonic จะได้รองเท้าใหม่จากเด็กน้อยที่ให้รองเท้าวิ่งแก่เขา แล้วรองเท้ามันสำคัญตรงไหน ? ต้องอธิบายตรงนี้ว่าเอกลักษณ์ของ Sonic ไม่ใช่การวิ่งแต่คือรองเท้า นั้นก็เพราะผู้ออกแบบคุณ Naoto Ohshima บอกว่าเขาได้ไอเดียรองเท้าของ Sonic มาจากรองเท้าของ Michael Jackson’s ในอัลบั้ม Bad แต่เอามาเพิ่มเป็นสีแดงให้สดใส รองเท้าจึงมีความสำคัญกับเจ้า Sonic และมันก็เด่นมาก ๆ พออยู่ในเกมรองเท้าจึงค่อนข้างสำคัญมาก ๆ นั่นเอง

Sonic the Hedgehog

Detective Pikachu กับหลายสิ่งที่ทำมาเพื่อใจแฟนเกมและการ์ตูน Pokémon

Detective Pikachu

อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือเรื่อง Detective Pikachu ที่ทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์นั้นดูเหมือนจะรู้จักเกม Pokémon ทั้งฉบับการ์ตูนและเกมเป็นอย่างดี เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่มีในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีอยู่ในเกมและการ์ตูนที่เราเคยดูมากมาย เริ่มจากฉากที่ Pikachu ชอบนั่งบนไหล่ของ Tim Goodman ก็เหมือนกับที่ Pikachu นั่งบนไหล่ Satoshi ที่แฟน ๆ จดจำในการ์ตูนนั่นเอง

Detective Pikachu

และก็ยังมีฉากของสาวน้อย Purin หรือ Jigglypuff Pokémon ที่ชอบร้องเพลงเธอจะมีไมโครโฟนร้องเพลงส่วนตัวที่จะออกมาร้องเพลงให้ทุกคนฟัง แต่ด้วยความสามารถพิเศษของ Pokémon ตัวนี้จึงทำให้ทุกคนหลับ พอหลับเธอก็จำไม่พอใจ เปลี่ยนไมโครโฟนร้องเพลงมาเป็นปากกาเมจิกเขียนหน้าทุกคนด้วยความไม่พอใจ ซึ่งในภาพยนตร์ก็มีฉากเหล่านี้ออกมาบ่อย ๆ ที่ใครซึ่งดูการ์ตูนจะจำได้เป็นอย่างดี

Detective Pikachu

หรือจะเป็นจุดเล็กจุดน้อยอีกหลาย ๆ อย่างเช่นชุดของ lucy นางเอกของเรื่อง ที่ได้คุณ Kathryn Newton ก็แต่ตัวคล้ายกับตัวละครในเกม Pokémon Go ไปจนถึงตัวละคร Red จากเกม Pokémon ภาคแรกที่ออกมาให้เราเห็นในตอนแรกของเรื่อง รวมถึงอารมณ์การปาลูกบอลไปจับ Pokémon ที่ให้อารมณ์เหมือนในเกมมาก ๆ และที่เราเอามานำเสนอนั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นยังมีอีกหลายอย่างมาก ๆ ใครเรียกว่าผู้กำกับใส่ใจทุกรายละเอียดจริง ๆ

Detective Pikachu

ฉากจำที่แฟน ๆ Resident Evil จำได้

Resident Evil

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ Resident Evil เชื่อว่าหลายคนคงจะบ่นออกมาดัง ๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีกลิ่นอายความเป็น Resident Evil อยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องอารมณ์ความรู้สึก จะมีเพียงตัวละครบางตัวที่ถูกใส่เข้ามาเพื่อบอกคนดูว่านี่คือภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเกม แต่ถ้าเราดูกันดี ๆ แล้วผู้กำกับก็ได้ใส่เอกลักษณ์หลาย ๆ อย่างที่เป็น Resident Evil ลงไปในหลาย ๆ ภาค เริ่มภาคแรกของภาพยนตร์กับฉากหมาซอมบี้ทะลุกระจกที่เป็นภาพจำที่แฟน ๆ Resident Evil ภาคแรกจดจำ กับฉากที่หมาซอมบี้ที่จู่ ๆ ก็ทะลุกระจกมาหาเรา ที่ในภาพยนตร์ก็ทำออกมาได้อารมณ์คล้ายในเกมมาก ๆ

Resident Evil

และถ้าไม่นับตัวละครกับฉากและภาพจำจากในเกมที่ต้องมีแล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการใส่ฉากต่อสู้ที่เหมือนในเกม อย่างฉากการต่อสู้ของ Alice กับ Ada Wong ในภาค Resident Evil Retribution ตอนที่ทั้งสองคนเจอกันครั้งแรก ฉากการต่อสู้ในภาพยนตร์ก็จะอ้างอิงท่วงท่ามาจากในเกม Resident Evil 4 ตอนที่ Leon สู้กับ Ada แบบฉากต่อฉากเลยทีเดียวลองย้อนไปหาดูกันได้

Resident Evil

หรือจะเป็นฉากในภาคที่ 2 ของฉบับภาพยนตร์ในภาค Apocalypse ที่ในช่วงท้ายเรื่อง Alice ที่ถูกจับตัวเธอจะแกล้งทำเป็นยอมแพ้ ก่อนจะทิ้งปืนจากมือแต่ในระหว่างที่ปืนกำลังลอยอยู่ในอากาศ เธอก็คว้าปืนมาและยิงศัตรูแบบเดียวกับที่ Claire ทำในเกม Resident Evil Code Veronica แต่ของ Claire นั้นจะยิงถังจนระเบิด ที่ทั้งสองอย่างนั้นมีมุมกล้องและการเคลื่อนไหวที่เหมือนกันที่ผู้กำกับจงใจใส่ลงไป ซึ่งจะมีแค่แฟนจริง ๆ เท่านั้นจะรู้

Resident Evil

รวมถึงฉากที่จะไม่พูดถึงไม่ได้กับฉากกำแพงเลเซอร์ ที่เรียกว่า Laser Chase ที่มีอยู่ใน Resident Evil 4 ก็ถูกใส่ลงไปในภาพยนตร์ภาคแรก ที่เล่นเอาคนดูอ้าปากค้างกับความสยองในครั้งนั้น แต่สำหรับในเกม Resident Evil 4 แล้วกำแพงเลเซอร์สำหรับ Leon ก็เป็นเหมือนเครื่องออกกำลังกายยามว่างเท่านั้น(ถ้า Leon เจอแบบในภาพยนตร์ก็คงไม่รอด)

Resident Evil

ฉากกระโดดลงจากที่สูงในเกม Assassin’s Creed

Assassin's Creed

เมื่อพูดถึงเกม Assassin’s Creed สิ่งที่หลายคนคิดเมื่อเกมนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ คือความสนุกสมจริงกับการเชื่อมเรื่องราวต่าง ๆ ของภาพยนตร์กับเกมว่าจะลงรอยกันไหม ซึ่งสิ่งที่ภาพยนตร์ Assassin’s Creed ทำนั้นถือว่าลงตัวในแง่ของเรื่องราวการสานต่อเรื่องราวของภาพยนตร์กับเกม แต่ตัวภาพยนตร์กลับขาดความสนุกและน่าติดตามอย่างที่แฟน ๆ Assassin’s Creed ต่างคาดหวัง หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าแฟน ๆ ต้องการเห็นการนำตัวละครในเกมภาคแรกอย่าง Desmond Miles ที่ย้อนเวลาไปในช่วงเวลาสงครามครูเสดครั้งที่สามในปี 1191 แบบในเกมภาคแรก มากกว่าเรื่องราวใหม่แต่เชื่อมต่อกับเนื้อหาหลักแบบในภาพยนตร์

Assassin's Creed

แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นผู้กำกับภาพยนตร์  Assassin’s Creed ก็ยังไม่ลืมเอกลักษณ์ที่เป็นหัวใจหลักของเกมอย่างการกระโดดปีนป่ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ การใช้มีดพกที่เรียกว่า Hidden Blade ที่ผู้ใช้ต้องตัดนิ้วนางออกก่อนจึงจะเข้าร่วมสมาคมได้ และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือการกระโดดลงจากที่สูงพร้อมท่าเท่ ๆ ที่ทางทีมงานภาพยนตร์จงใจใส่โชว์แบบเต็ม ๆ ในตัวอย่างภาพยนตร์ จนหลายคนที่เล่นเกมนี้ไปดูเพราะฉากนี้เลยทีเดียว และถึงภาพยนตร์จะไม่ค่อยได้รับเสียงชื่นชมจากคนเล่นเกม แต่ Assassin’s Creed ก็ได้สร้างเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับซีรีส์ที่ลงรอยต่อในภาคหลักได้อย่างลงตัว

Assassin's Creed

ฉากมุมมองบุคคลที่ 1 Doom

Doom

รู้รึไม่ว่าในปี 2005 เกม Doom เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์โดยมีคุณ Dwayne Johnson ดารานักมวยปล้ำชื่อดังที่ในตอนนั้นเริ่มจะมีชื่อเสียงมาเป็นแม่เหล็กดูดคนไปดู กับกับคุณ Karl Urban ที่หลายคนคงจะคุ้นหน้าเขาในซีรีส์ The Boys ที่กำลังโด่งดังในตอนนี้มาแสดงนำ โดยเรื่องราวใน Doom ฉบับภาพยนตร์นั้นจะเล่าเรื่องราวของปี 2026 ได้มีการค้นพบเมืองโบราณในดาวอังคาร จึงมีการไปตั้งห้องทดลองบนนั้น 20 ปีต่อมาบุคลากร 85 คนในศูนย์วิจัยของ Union Aerospace Corporation ที่อยู่บนนั้นขาดการติดต่อไป แต่ก็มีการติดต่อขอความช่วยเหลือมาจาก Dr. Carmack ทางสหรัฐจึงส่งหน่วยนาวิกโยธิน 8 คนไปยังศูนย์วิจัยบนดาวอังคาร จนพบกับความหลอนที่เหมือนกับเกม Doom ภาค 3 ที่เปลี่ยนตัวเกมมาเป็นแนวสยองขวัญแทนการยิงแหลก

Doom

แน่นอนว่าตลอดเกือบ 104 นาทีที่เราได้ดูถ้าไม่นับฉากบนดาวอังคารแล้ว เราก็ไม่เห็นอะไรที่จะมีความเป็นเกม Doom เลย จนกระทั่งมาถึงช่วงท้ายเรื่องที่ตัวภาพยนตร์จะเปลี่ยนมาเป็นตัวเอกอีกคน ที่มาพร้อมกับฉากมุมมองบุคคลที่ 1 แบบในเกม Doom ต้นฉบับ กับการไล่ยิงศัตรูที่ดาหน้าเข้ามาซึ่งให้อารมณ์เหมือนในเกมมาก ๆ  ที่ถ้าไม่นับเหล่าศัตรูในภาพยนตร์ที่ออกแบบเหมือนในเกมมาก ๆ แล้ว ตัวภาพยนตร์ก็มาเป็น Doom จริง ๆ ก็ช่วงท้ายเรื่องนั่นเอง แต่นั่นก็ไม่มากพอที่จะทำให้แฟน ๆ ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ แม้จะมี The Rock มาช่วยดึงก็ตาม แต่ถ้าเราไม่คิดว่ามันคือ Doom ที่มาจากเกมแล้วดูเอาสนุก เรื่องนี้ก็เป็นภาพยนตร์ที่สนุกใช้ได้เลยทีเดียว

Doom

ความโรคจิตที่คุ้นเคยใน Silent Hill

Silent Hill

ถ้าจะถามว่า Silent Hill ในฉบับภาพยนตร์นั้นดีรึเปล่าก็คงต้องมองในสองด้าน อย่างแรกคือในแง่ของภาพยนตร์ที่มาจากเกมนั้นมีการดัดแปลงเนื้อเรื่องไปเยอะมาก ๆ แม้จะพยายามคุมเนื้อเรื่องให้อยู่ในเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันกับการตามหาลูก และยังมีตัวละครตำรวจที่เหมือนในเกมเข้ามา แต่การเปลี่ยนตัวเอกจากพ่อเป็นแม่มันก็ทำให้อารมณ์คนเล่นเกมถูกเปลี่ยนไป และในภาค 2 ของภาพยนตร์ก็ยังคงทำเหมือนเดิมแบบในภาคแรก ที่เปลี่ยนเรื่องราวและเนื้อหาหลักไปอีกแบบที่แฟน ๆ ต่างไม่พอใจที่เรื่องราวถูกบิดไปจากเดิม จนแทบจะกลายเป็นเรื่องราวใหม่ ซึ่งมันก็มาถึงในแง่ที่ 2 นั่นคือมุมมองภาพยนตร์สยองขวัญ Silent Hill ทั้งสองภาคสอบผ่านความสนุกหลอนลุ้นบรรยากาศที่น่ากลัวโรคจิตที่ทำออกมาได้ดี แต่เมื่อแปะชื่อ Silent Hill ลงไปเรื่องนี้ก็จะกลาเป็นภาพยนตร์ที่แย่ไปในทันที

Silent Hill

แต่สิ่งดีงามที่ภาพยนตร์ Silent Hill มีก็คือฉากบรรยากาศที่จำลองความโหดโรคจิตวิปริตของโลกสนิทมาจากเกม Silent Hill ได้เหมือนมาก ๆ แถมการค่อย ๆ เปลี่ยนบรรยากาศรอบ ๆ ตัวให้เป็นโลกสนิมอย่างช้า ๆ เหมือนเปลือกที่ค่อย ๆ ลอกออก ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจจนขนาดทีมพัฒนาเกมยังอยากเอาขอเอาไปใช้ในเกม นี่ยังไม่นับการออกแบบจำลองตัวละครสัตว์ประหลาดที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ เรียกว่าถอดแบบมาจากในเกมได้แบบเหมือนสุด ๆ ซึ่งนั่นเป็นเพียงข้อดีข้อเดียวที่ภาพยนตร์ Silent Hill มี กลับกันถ้าเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้เหมือนในเกมอีกนิดรับรองว่าแฟน ๆ ต้องชอบแน่นอน

Silent Hill

เอกลักษณ์ตัวละครจากเกม Dead Rising มาครบแบบไม่ขาดตก

Dead Rising

Dead Rising Watchtower เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้เป็นแฟนเกมซีรีส์ Dead Rising คงจะต้องงงกับภาพยนตร์เรื่องนี้มันคืออะไร จนคิดไปว่ามันคือหนังซอมบี้ธรรมดา แต่สำหรับแฟน ๆ เกมแล้วเรื่องราวในภาพยนตร์ Dead Rising Watchtower คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวในจักรวาลเดียวกับเกม Dead Rising เพราะเราจะได้เห็น Frank West ออกรายการทีวีในฐานะฮีโรที่เปิดโปงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกมภาคแรก ขณะที่เนื้อหาของภาพยนตร์นั้นจะเป็นเรื่องราวหลังจากเกม Dead Rising 2 และก่อน Dead Rising 3 ของเกม ที่เล่าถึง Chase Carter นักข่าวออนไลน์และช่างภาพ Jordan ที่กำลังเปิดโปงรัฐบาลเกี่ยวกับการทดลองในเมือง East Mission ในรัฐ Oregon จนเกิดเหตุซอมบี้หลุดออกมาทุกคนจึงหาทางเอาตัวรอด

Dead Rising

ตัวภาพยนตร์ Dead Rising Watchtower จับประเด็นเนื้อหาของเกม Dead Rising ได้เป็นอย่างดี ทั้งบรรยากาศการเอาตัวรอดของตัวละคร ที่ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ที่เราทั้งหนีซอมบี้ และต้องหนีเหล่าทหารกับคนโรคจิตที่มีในเรื่อง เรียกว่าใส่มาครบครันเอาใจแฟน ๆ เกมอย่างเต็มที่ และสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคือการผสมอาวุธที่เป็นเอกลักษณ์ของเกมมาใส่ได้อย่างลงตัว แถมอาวุธแต่ละชนิดก็ถอดแบบมาจากในเกม จนคนดูที่เล่นเกมมาดูเรื่องนี้ต้องพอใจอย่างแน่นอน และเมื่อดูจบก็ไปหาเกม Dead Rising 3 มาเล่นต่อแล้วคุณจะอินมากขึ้นกว่าเดิม ใครที่ชอบหนังซอมบี้และเป็นแฟนเกมหรือเคยเล่นเกม Dead Rising ไม่ควรพลาด

Dead Rising

Mario ที่ถอดแบบมาจากฉบับเก่า

Super Mario Bros The Movie

ปิดท้ายกับภาพยนตร์ระดับตำนานที่นับเป็นเกมแรกที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ว่าได้ กับเรื่อง Super Mario Bros The Movie ที่ฉายเมื่อปี 1993 ที่นำแสดงโดยคุณ Bob Hoskins เป็น Mrio ส่วนคุณ John Leguizamo จะเป็น Luigi สองช่างประปาใน Brooklyn New York ที่โชคชะตากำหนดให้เขาต้องหลงไปโลกต่างมิติ ที่เล่าเรื่องราวเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อนว่าอุกกาบาตพุ่งชนโลกฆ่าไดโนเสาร์จนหมด แต่ความจริงแล้วมันได้แยกโลกเป็นสองมิติที่เป็นโลกคู่ขนาน ที่เหล่าไดโนเสาร์ในมิตินี้ยังมีชีวิตและวิวัฒนาการไปสู่เผ่าพันธุ์แบบมนุษย์ และมันจะมายึดครองโลกที่เป็นมิติคู่ขนานนั้น สองพี่น้องที่บังเอิญไปอยู่ที่ถูกที่เวลาจึงต้องหาทางช่วยโลกนี้เอาไว้ นั่นคือเรื่องราวในภาพยนตร์ ที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนมิติใดก็ไม่เห็นมีอะไรที่ตัวภาพยนตร์จะตรงกับในเกมเลยนอกจากชื่อตัวละคร

Super Mario Bros The Movie

แต่เมื่อภาพยนตร์ Super Mario Bros The Movie มาอยู่ในบทความนี้ ก็แปลว่าภายในภาพยนตร์นั้นมันจะต้องมีอะไรที่เหมือนกับในเกม ที่ไม่ว่าคุณจะหาทรงไหนก็ไม่มีทางเจอ แต่ในที่สุดด้วยความพยายามอย่างยาวนานหลายนาที เราก็ค้นพบจุดที่เหมือนระหว่างภาพยนตร์กับในเกม นั่นก็คือหัวของลุง Mario ในภาพยนตร์ที่ล้านเหมือนในเกม Mario ฉบับเก่า(ดูภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งเราต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1982 ในเกมชื่อดังอย่าง Donkey Kong ก็มีตัวละครพระเอกที่ชื่อว่า Jumpman ออกมา ก่อนที่ภายหลังทางคุณ Shigeru Miyamoto ได้ตั้งชื่อของ Jumpman ใหม่ว่า Mario ตามชื่อ Mario Segale ที่เป็นเจ้าของโกดังที่ทาง Nintendo ในยุคนั้นขอเช่าจนเป็นที่มาของชื่อนี้ และในรูปตัวละครเกม  Donkey Kong Mario นั้นตัว Mario ก็หัวล้านเหมือนในภาพยนตร์นั่นเอง และมันคงจะเป็นสิ่งเดียวที่ภาพยนตร์ Super Mario Bros The Movie เหมือนในเกมที่สุดถ้าไม่นับชื่อตัวละคร

Super Mario Bros The Movie

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 10 เกมที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังไม่ลืมใส่เอกลักษณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่มีในเกมลงไปเพื่อเอาใจแฟน ๆ  แต่ก็มีอีกหลายเกมที่ตัวผู้สร้างภาพยนตร์ไม่ได้หยิบเอกลักษณ์ที่น่าสนใจจากในเกมมาใส่ในภาพยนตร์ จะมีเพียงชื่อหรือการแต่งตัวที่เหมือนในเกมมาทดแทน แถมบางเรื่องก็มีเนื้อหาไม่ตรงกับเกมหนักเข้าไปอีก ซึ่งบางเรื่องเลวร้ายขนาดที่ว่า ถ้าไม่แปะชื่อเรื่องที่ตรงกับชื่อเกมเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากเกมก็มี และถ้าใครที่ชอบดูภาพยนตร์ที่มาจากเกม แล้วเห็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่องไหนอีกก็บอกกันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส