15 เกร็ดเบื้องหลังชวน…ว้าว! จาก Fast ทั้ง 8 ภาค

ถึงวันนี้แฟรนไชส์ Fast ก็มีอายุ 20 ปีเข้าไปแล้ว นับจากภาคแรก The Fast and the Furious ที่ออกฉายเมื่อปี 2001 ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมา 20 ปี Fast จะสานภาคต่อมาได้ถึงภาค 9 และทุกภาคยิ่งทำรายได้มากขึ้น ๆ แม้กระทั่งว่าจะสูญเสียดารานำอย่าง พอล วอล์กเกอร์ ไปแล้วก็ตาม

รอคอยวันที่โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แล้วเราจะได้มันส์ไปกับ Fast 9 ภาคล่าสุดของแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ด้วยตัวเลขรายได้มากกว่า 5,000 ล้านเหรียญ และเป็นแฟรนไชส์ทรงคุณค่าของยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอมา 100 กว่าปี และเป็นแฟรนไชส์ที่ทำเงินมากที่สุดอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

The Fast Saga

ในวันที่ Fast ภาคแรกออกฉายก็ไม่มีใครคาดคิดว่าหนังจะกลายมาเป็นหนังทุนสร้างมหาศาลที่มีแฟน ๆ ทั่วโลกต่างรอชมมากมายขนาดนี้ ภาคแรกนั้นเป็นหนังแข่งรถฟอร์มกลาง ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่หนังก็สามารถสร้างกระแสในวงการนักซิ่งได้สำเร็จ ผู้คนหันมาตกแต่งรถด้วยไฟนีออน ใส่ฮูดไฟเบอร์ ตกแต่งชุดคิทรอบคัน เหล่านักขับล้วนอยากเป็นนักซิ่งระดับพระกาฬอย่าง พอล วอล์กเกอร์ และ วิน ดีเซล กันเป็นทิวแถว แต่เมื่อสานต่อมาถึงภาค 9 หนังแทบไม่เหลือคราบของหนังแข่งรถบนถนนอีกต่อไป กลายเป็นหนังจารกรรมในระดับเวอร์วังที่มีรถหรู ๆ แรง ๆ เป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น Fast ทุกภาคก็เป็นหนังที่มีแฟน ๆ รอดูอย่างใจจดใจจ่อเสมอมา และก่อนที่เราจะไปชม Fast 9 กัน ลองมาย้อนอดีตอ่านเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจใน 8 ภาคที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ เรื่อง ผู้อ่านต้องยังไม่เคยรู้มาก่อนอย่างแน่นอน แต่ถ้าอ่าน 20 เรื่องนี้แล้วไปคุยต่อให้เพื่อนฟัง จะทำให้คุณกลายเป็นแฟนหนัง Fast ตัวจริงเลยล่ะ

1.The Fast & The Furious เป็นชื่อของหนังเกรด B ที่ออกฉายเมื่อปี 1955

The Fast & The Furious (1955)

ตอนที่หนัง The Fast & The Furious ภาคแรกกำลังอยู่ในช่วงถ่ายทำนั้น หนังใช้ชื่อชั่วคราวว่า Redline อ้างอิงมากจากหน้าปัดบอกความเร็วรถ ที่เมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดเส้นรอบวงจะเป็นสีแดง ก็ถือว่าเป็นชื่อหนังที่เท่และมีความหมาย แต่ยังไงก็ไม่น่าจดจำเท่าชื่อ The Fast & The Furious ที่ใช้ทุกวันนี้หรอกนะ ทางทีมผู้สร้างตกลงใจกันว่าเปลี่ยนมาใช้ชื่อ The Fast & The Furious น่าจะดีกว่า แต่ก็เจอปัญหาที่ว่า เจ้าพ่อหนังเกรดบีอย่าง โรเจอร์ คอร์แมน เคยสร้างหนังในชื่อเดียวกันนี้เมื่อปี 1955 มาแล้ว ทางยูนิเวอร์แซลเจ้าของหนัง The Fast & The Furious เวอร์ชันใหม่นี้ก็ไม่อยากจะจ่ายตังค์เพื่อซื้อชื่อหนังจาก โรเจอร์ คอร์แมน แต่ทางสตูดิโอก็เจอทางออกสวย ๆ เมื่อพบว่า โรเจอร์ คอร์แมน เคยทำหนังกับยูนิเวอร์แซลมาหลายเรื่อง และทางสตูดิโอก็เก็บฟุตเทจจากหนังของคอร์แมนไว้จำนวนมาก ก็เลยเอาฟุตเทจดังกล่าวมอบให้คอร์แมน แลกกับการขอใช้ชื่อหนัง The Fast & The Furious แต่หลังจากคอร์แมนได้ฟุตเทจไปจำนวนมาก เราก็ไม่ได้เห็นผลงานใหม่ ๆ ของเขาออกมาเลยนะ

2.จุดกำเนิดของหนังมาจากบทความในนิตยสาร

ราฟาเอล เอสเตเวซ คนซ้าย และ เคน ลี คนทางขวา

ถือว่าเป็นหนังที่มีจุดเริ่มต้นต่างจากหนังฮอลลีวูดส่วนใหญ่ เพราะหนังดังหลาย ๆ เรื่องที่ประสบความสำเร็จแล้วค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันนั้น มักจะดัดแปลงมาจากนิยายขายดีเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับ The Fast & The Furious ภาคแรกนั้นดัดแปลงมาจากบทความชื่อ “Racer X” ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vibe เดือนพฤษภาคม 1998 เขียนโดย เค็น ลี เนื้อหาในบทความนี้เล่าถึงตำนานการแข่งรถบนถนนในย่านควีนส์ ของกรุงนิวยอร์ก เนื้อหาในบทความเล่าผ่านตัวตนของ ราฟาเอล เอสเตเวซ (Rafael Estevez) หนุ่มผู้มีพื้นเพมาจากย่านวอชิงตันไฮต์ ในนิวยอร์ก เล่าที่มาที่ไปของเอสเตเวซมาเขากลายมาเป็นนักแข่งแดร็กเรสซิ่งได้อย่างไร ในบทความนี้ยังเจาะลึกเรื่องความนิยมในการลักลอบนำเข้ารถญี่ปุ่น มาดัดแปลงให้เป็นรถซิ่ง แล้วสุดท้ายก็มาจบที่การแข่งรถซิ่งผิดกฏหมายบนถนนในกรุงนิวยอร์ก ถ้าใครจำเนื้อหาภาคแรกได้ จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของหนังนั้นสอดคล้องกับเนื้อหาในบทความนี้จริง ๆ โดยเฉพาะการใช้รถญี่ปุ่นมาโมดิฟายแล้วมาลักลอบแข่งขันกัน

คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้จริง ๆ แล้วก็คือ ร็อบ โคเฮน (Rob Cohen) ที่ได้อ่านบทความนี้แล้วได้ไปดูการแข่งรถผิดกฏหมายบนถนนในลอส แองเจลิส ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกอยากสร้างหนังเกี่ยวกับการแข่งรถ โคเฮนจึงเข้าไปเจรจาหว่านล้อมผู้บริหารยูนิเวอร์แซลจนเป็นผลสำเร็จ ทางสตูดิโอยินยอมควักกระเป๋าซื้อสิทธิ์ในบทความนี้จาก เค็น ลี เพื่อมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

3.แสดงหนังรถซิ่ง ทั้งที่ยังขับรถไม่เป็น

แม้ว่าเนื้อหาของ Fast จะเน้นหนักไปที่แก๊งขับรถซิ่ง นั่นหมายความว่าตัวละครในหนังทุกรายล้วนเป็นนักขับระดับพระกาฬ แต่การจะหานักแสดงที่มีความเชี่ยวชาญในการขับรถมาทุกคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าภาพบนจอนั้นแต่ละคนล้วนเป็นนักซิ่งตัวยงแต่ความเป็นจริงแล้ว นักแสดงบางคน โดยเฉพาะนักแสดงหญิงนั้น ยังขับรถไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ และ 2 รายที่ว่านี้ก็คือ มิเชลล์ โรดิเกซ (Michelle Rodriguez)และ จอร์ดาน่า บริวสเตอร์ (Jordana Brewster)แต่เพื่อความสมจริงของบท และความสะดวกในการทำงานที่บางฉากทั้ง 2 คนนี้จะต้องขับรถเอง ทั้งโรดิเกซและบริวสเตอร์ก็ตั้งใจจริงกับบทบาทการแสดง ทั้งคู่ก็เลยปลีกเวลาในระหว่างถ่ายทำไปเรียนขับรถจนสำเร็จ ได้ใบขับขี่กันมาทั้งคู่เลย

มิเชลล์ โรดิเกซ (Michelle Rodriguez)และ จอร์ดาน่า บริวสเตอร์ (Jordana Brewste

เมื่อผ่านมาถึงภาค 2 ก็ยังเจอนักแสดงหน้าใหม่ในครอบครัว Fast ที่ขับรถไม่เป็นมาอีกคน นั่นก็คือ เดวอน อาโอกิ (Devon Aoki) รายนี้หนักกว่าตรงที่ว่า ตลอดชีวิตเธอไม่เคยขับรถมาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีรายงานว่าสุดท้ายแล้วเธอไปเรียนขับรถเพิ่มเติมไหม เพราะบท ซูกิ ของเธอนั้น ปรากฏตัวแค่ใน 2 Fast 2 Furious ภาคเดียวเท่านั้น ผิดกับ มิเชลล์ โรดิเกซ ในบท เล็ตตี้ คนรักของ โดมินิก ทอเร็ตโต้ ที่ร่วมแสดงมา 5 ภาค ส่วน จอร์ดานา บริวเสตอร์ ในบท มิอา น้องสาวของดอม และคนรักของไบรอันก็ร่วมแสดงถึง 5 ภาคเช่นกัน

4.ออกแบบรถพิเศษขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำหนัง Fast โดยเฉพาะ

ในตอนที่สร้างหนัง Fast ภาคแรก ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้คิดยาวไปไกลว่าหนังจะลากยาวมาได้ถึง 10 ภาคนั้น แต่ทีมงานก็ได้คิดค้นวิธีการที่จะถ่ายทำหนังแข่งรถเรื่องนี้อย่างไรให้ถ่ายทอดภาพนักซิ่งหลังพวงมาลัยออกมาได้สมจริงขณะที่ขับรถด้วยความเร็ว 140 – 160 กม./ชม. แล้วคนที่คิดค้นอุปกรณ์เพื่อการถ่ายทำพิเศษนี้ขึ้นมาก็คือ มิค รอดเจอร์ (Mic Rodgers) ผู้ประสานงานสตันท์และผู้กำกับหน่วยที่ 2 แล้วก็กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ถ่ายทำหนัง Fast ต่อเนื่องมาทุกภาค ซึ่งทีมงานก็เลยตั้งชื่อเจ้าอุปกรณ์นี้ตามชื่อของผู้คิดค้นว่า “Mic Rig”

Mic Rig

อธิบายการทำงานของ Mic Rig เพื่อให้เห็นภาพ ถ้าว่ากันตามจริงแล้วมันก็คือ รถบรรทุกความเร็วสูงที่ขยายช่วงเพลาหลังให้ยาวขึ้นเป็นพิเศษ จุดประสงค์เพื่อเอาโครงรถเปล่า ๆ มาวางบนเพลาหลังนี้ได้ และออกแบบให้สามารถถอดเปลี่ยนรถปลอมนี้ได้ตลอด สตันท์แมนนักขับตัวจริงก็จะขับรถ Mic Rig นี้ไปด้วยความเร็วสูง ส่วนนักแสดงก็มานั่งในโครงรถเปล่า ๆ แสดงท่าทางกับขับขี่ให้ดูสมจริง Mic Rig ยังออกแบบมาให้มีเนื้อที่มากพอที่จะติดตั้งกล้องถ่ายทำนักแสดงขณะแสดงท่าทางขับขี่หลังพวงมาลัยได้รอบทิศทาง เพื่อให้ได้ภาพออกมาสมจริงอีกด้วย

5.วิน ดีเซล ไม่ชอบบทภาพยนตร์ภาค 2

xXx ภาพยนตร์ที่ วิน ดีเซล เลือกไปแสดงแล้วไม่กลับมาใน 2 Fast 2 Furious

ถ้า พอล วอล์คเกอร์ ไม่เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร เราก็กล่าวได้ว่าเขาคือพระเอกตัวจริงที่อยู่กับ Fast มาทุกภาค ขาดไปแค่ภาค Tokyo Drift เท่านั้น ส่วนบท โดมินิค ทอเรตโต ในภาคแรกนั้นเขาเปิดตัวในฐานะตัวร้ายด้วยซ้ำแล้วก็พลิกบทบาทมาเป็นฝ่ายดีในภายหลัง หลังประสบความสำเร็จกับ Fast ภาคแรก ชื่อเสียงของ วิน ดีเซล ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ทางผู้สร้างก็รีบสานต่อภาค 2 ทันที พร้อมกับฝันหวานว่าภาค 2 จะต้องประสบความสำเร็จมากกว่าเดิมเพราะชื่อเสียงของ วิน ดีเซล จะเรียกคนดูกลับมาได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่แล้วก็ฝันสลาย เมื่อวิน ดีเซล ประกาศว่าเจาจะไม่กลับมาร่วมงานในภาคต่อ ทั้งที่ยูนิเวอร์แซลเสนอตัวเลขค่าเหนื่อยสูงถึง 25 ล้านเหรียญ ซึ่งตัวเลขระดับนี้ถือว่าสูงที่สุดแล้วในวันนั้น แต่ดีเซลก็ยืนกรานที่จะไม่กลับมา ด้วยเหตุผลว่าไม่พอใจกับบทภาพยนตร์

“เรามักได้ยินชื่อเสียงไม่ดีเกี่ยวกับการสร้างหนังภาคต่อกันอยู่แล้ว ซึ่งผมก็ย้อนนึกนะว่าเราได้ทำภาคแรกให้กลายเป็นหนังคลาสสิกไปแล้ว แล้วถ้าเราสร้างภาคต่อในแนวทางที่สตูดิโออยากทำในตอนนั้น แบบว่าเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาใส่ ๆ เข้าด้วยกันแบบลวก ๆ นั่นเท่ากับว่าผมทำลายชื่อเสียงของภาคแรกที่จะกลายเป็นหนังคลาสสิกไปด้วย”

ไม่ใช่แค่เพียง วิน ดีเซล ที่ไม่กลับมาในภาค 2 แต่ผู้กำกับ ร็อบ โคเฮ็น ก็ไม่กลับมาด้วยอีกคน แต่กลายเป็นว่าทั้ง ร็อบ โคเฮ็น และ วิน ดีเซล ควงคู่กันไปสร้างหนังเรื่องใหม่ xXx อีกหนึ่งผลงานฮิตของวิน ดีเซล ในปี 2002 ทางผู้สร้างก็เลยต้องแก้บทภาพยนตร์กันใหม่หมด ด้วยการสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ขึ้นมาแทน โดมินิก ทอเร็ตโต้ นั่นก็คือ โรมัน เพียร์ซ บทบาทของ ไทรีส กิบสัน ที่ได้ประกบคู่กับ พอล วอล์คเกอร์ อย่างโดดเด่นบนโปสเตอร์ แต่แล้ว วิน ดีเซล ก็กลับมาสู่ครอบครัว Fast ในภาค 4 บทบาทของ โรมัน เพียร์ซ ก็เลยกลายเป็นบทตัวรองไปซะงั้น กลายเป็นว่า 2 Fast 2 Furious เป็นหนังภาคเดียวในแฟรนไชส์ที่ไม่มี วิน ดีเซล เพราะเขาไปโผล่ให้เซอร์ไพรส์ในช่วงท้ายของ Tokyo Drift

6.พอล วอล์คเกอร์ ขับรถซิ่งเองในหลาย ๆ ฉากใน 2 Fast 2 Furious

โดยส่วนตัวแล้ว พอล วอล์คเกอร์ ก็เป็นนักแสดงหนุ่มที่พิสมัยในความเร็วอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และอย่างที่เราทราบกันว่าเป็นสาเหตุที่เขาได้จากไปด้วย พอล วอล์คเกอร์ได้มารับบทนำในหนังแข่งรถ เขาก็เลยเสนอตัวขอซิ่งเองในหลาย ๆ ฉาก ยกตัวอย่างเช่นฉากแข่งตอนต้นเรื่อง ในฉากนี้ ไบรอัน โอ’คอนเนอร์ ซิ่งรถ Nissan Skyline GT-R นั่นวอล์คเกอร์ก็ขับเอง อีกฉากที่โชว์ความเชี่ยวชาญในการขับขี่ของวอล์คเกอร์ ก็คือฉากที่เขาขับ Mitsubishi Lancer Evolution VII แล้วโชว์การหมุนรถ 180 องศา ด้วยความเร็วสูงบนไฮเวย์ในช่วงท้ายของหนัง การที่นักแสดงนำขอแสดงฉากเสี่ยงตายแบบนี้ ก็นับว่าพาเอาทีมงานเสี่ยงไปด้วย ถ้าเกิดการผิดพลาดขึ้นมา นั่นคือความสูญเสียในระดับตัวเลขมหาศาลหรืออาจจะถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตก็เป็นได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมทีมงานถึงอนุญาตให้พอล วอล์คเกอร์ แสดงฉากเสี่ยงตายเหล่านี้เอง อาจจะคิดว่าอย่างน้อยก็ช่วยประหยัดงบจ้างสตันท์แมนกระมัง

ในฉากนี้หลังจากรถ Ford Mustang ชนกับรถแทรกเตอร์แล้ว เราจะเห็นรถ Chevrolet Corvette อีกคันที่โดนชนจนเละไปด้วย คันหลังที่โดนชนนี่ไม่ได้อยู่ในบท แต่เป็นความผิดพลาดของทีมงาน แต่ผู้อำนวยการสร้างได้เห็นแล้วก็คิดว่ามันเป็นภาพที่ดี ก็เลยขอให้ใส่ไว้ในหนังด้วย

7.ข้อเรียกร้องของ วิน ดีเซล แลกกับการมาปรากฏตัวใน Tokyo Drift

เมื่อแน่ชัดแล้วว่าหนังภาคต่อ 2 Fast 2 Furious จะไม่มีทั้ง วิน ดีเซล และผู้กำกับ ร็อบ โคเฮ็น ทีมงานก็ต้องเดินหน้าต่อด้วยการเพิ่มทุนสร้างลงไป เพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมให้กลับมาซื้อตั๋วดูหนังภาคต่อ กลายเป็นว่าทุนสร้างบานเป็นสองเท่าของภาคแรก แต่รายได้กลับไม่ได้มากขึ้นเป็นสองเท่าตามทุนสร้างไปด้วย แถมเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ก็ไม่ดีนัก ได้คะแนนไปแค่ 36% บนเว็บ Rotten Tomatoes สานต่อมาถึงภาค Tokyo Drift ยิ่งหนักกว่าเดิมเมื่อ พอล วอล์คเกอร์ ก็บอกลาไปอีกคน กลายเป็นภาคต่อที่ไม่มีนักแสดงชุดเดิมอยู่เลย แล้วรายได้ก็ต่ำสุดในแฟรนไชส์ด้วยตัวเลขรายรับเพียง 62 ล้านเหรียญ ทำให้สตูดิโอคิดหนัก ต้องหาทางเจรจาให้ วิน ดีเซล กลับมารับบท โดมินิก ทอเร็ตโต้ ให้จงได้ เมื่อผลเจรจาเป็นผลสำเร็จ เขาก็เลยโผล่มาเซอร์ไพรส์ในตอนท้ายของ Tokyo Drift เหมือนกับเป็นการประกาศเป็นนัยว่าเขาจะกลับมาแล้วในภาค 4

แต่ในการมาปรากฏตัวในบทรับเชิญนี้ ดีเซลไม่ได้ขอค่าตัวเป็นเงิน แต่เขายื่นข้อเสนอเป็นสิทธิ์ในการสร้างหนังอีกแฟรนไชส์หนึ่งของเขา นั่นก็คือ Riddick ตัวละครที่เขาโปรดปรานจากหนัง Pitch Black ที่เขารับบทนี้เมื่อปี 2000 ข้อเรียกร้องของวิน ดีเซล ก็คือขอสิทธิ์ในการเป็นผู้อำนวยการสร้างสานต่อตำนาน Riddick อีก 2 ภาคต่อ ซึ่งเราก็ได้ดูกันไปแล้วนั่นก็คือ The Chronicles of Riddick (2004) และ Riddick (2013) ซึ่ง วิน ดีเซล ก็ทำได้ตามที่หวังไว้ หนังขยายวงออกไปเป็นจักรวาล มีหนังภาคแยกฉายทางทีวี และแอนิเมชัน และมีข่าวว่าจะมีภาค 4 ตามออกมาเร็ว ๆ นี้ในชื่อ The Chronicles of Riddick: Furia

ยังมีอีก 8 เกร็ดชวนว้าวในหน้า 2 นะ