ใครชอบดูคลิปที่ใช้หน้าดาราหรือบุคคลไปใส่แทนหน้าตัวละครในหนังที่เขาไม่ได้เล่น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ใบหน้าและแทนที่ใบหน้าให้สามารถเล่นหน้าเล่นตาได้เหมือนจริง หรือที่เรียกกันว่า ดีปเฟก (Deepfake) อาจเคยผ่านตาแชนนอลยูทูบที่ชื่อ ‘Shamook’ ซึ่งลงวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีดีปเฟกมากมายทีเดียว

จุดเด่นของ Shamook คือเขามีความเชี่ยวชาญการใช้ดีปเฟกสร้างเทคนิคพิเศษ ทั้ง การแทรกหน้าดาราลงในหนังอย่างเอาใบหน้า ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) ไปใส่ในหนัง Spider-Man ไตรภาคคลาสสิก, การทำให้หน้าดาราอายุมากกลับเป็นหน้าตอนหนุ่มตอนสาว (De-aging), การลบรายละเอียดบนใบหน้าตัวละคร เช่น การแทนที่ใบหน้าครึ่งล่างที่มีหนวดอยู่ของ เฮนรี คาร์วิลล์ (Henry Cavill) ในการถ่ายซ่อมของหนัง ‘Justice League’ ที่แนบเนียนกว่าการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกลบหนวดออก รวมถึงการใช้ดีปเฟกปรับปรุงภาพแทนการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างตัวละครจากดาราที่เสียชีวิตไปก่อนแล้ว เป็นต้น

deepfake

โดยเทคโนโลยีดีปเฟกที่ Shamook ใช้นั้นก็มีชื่อว่า Paperspace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับงานกราฟิกสามมิติบนระบบคลาวด์ทางเว็บไซต์ https://www.paperspace.com แต่เขาเองก็ใช้ความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงภาพให้มีความสมจริงเนียนตาขึ้น ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะตัวของ Shamook ด้วย

และเป็นที่ทราบดีว่าในซีรีส์เรือธงของจักรวาล ‘Star Wars’ ทางดิสนีย์พลัสอย่าง ‘The Mandalorian’ นั้น เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังหนังไตรภาคคลาสสิกไม่นานนัก ทำให้เมื่อมีการอ้างอิงตัวละครจากไตรภาคคลาสสิกมาร่วมในเนื้อเรื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอานักแสดงซึ่งปัจจุบันมีอายุมากเกินตัวละคร (หรือบางท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว) มาร่วมเล่นในซีรีส์ได้ และการจะนำดาราคนอื่นมาเล่นแทนเลยก็อาจดูขัดตาขัดใจแฟนบอยที่ศรัทธาสูงในยุคคลาสสิกไม่น้อย

deepfake
ฮาน โซโล คลาสสิก (1977) ในหนัง Solo: A Star Wars Story (2018)

และนั่นจึงเป็นหน้าที่ของคอมพิวเตอร์กราฟิกที่เข้ามาทำใบหน้านักแสดงในช่วงวัยหนุ่มเพื่อให้ตัวละครหนึ่งมาปรากฏกายได้ในตอนจบของซีซัน 2 ของ ‘The Mandalorian’ และแม้จะดูเหมือนจริงขนาดไหน ทว่าสำหรับ Shamook เขายังเชื่อว่ามันจะเนียนตาสมจริงได้มากกว่านี้หากใช้ดีปเฟกเข้าไปปรับปรุง และเขาก็ทำวิดีโอปรับปรุงภาพในฉากดังกล่าวมาเปรียบเทียบให้ดู และมันก็ดูดีจริง ๆ

ใครอยากลองดู กดที่นี่เลย (ขออนุญาตไม่ลงคลิปป้องกันสปอยล์นะครับ)

ตรงนี้ต้องบอกว่าตอนที่ดูในซีรีส์ก็รู้สึกว่าคุณภาพนั้นดีพอให้เชื่ออยู่แล้ว แต่พอเอามาเทียบกับภาพที่ทำจากดีปเฟกนั้น ภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นยังดูลอยหลอกตาอยู่นิด ๆ รายละเอียดการเคลื่อนไหวของสีหน้าดวงตา ปากขยับก็ดูคล้ายคนจริง ๆ มากขึ้น แต่ดีปเฟกจะดูมีความหน้าเนียนและคอนทราสต์น้อยกว่า

ขณะที่ชัดเจนที่สุดคือเทคโนโลยีกราฟิกลดวัยยังคงมีอาการเหลื่อมกระตุกมากกว่า ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) ตัดสินใจเลือก อันยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) มารับบทฟูริโอซา ใน ‘Furiosa’ หนังภาคก่อนหน้าของ ‘Mad Max: Fury Road’ แทนที่จะให้ ชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron) กลับมารับบทนี้อีกครั้งแล้วใช้แต่งภาพลดวัยเอา

ใส่ เมล กิบสัน ในหนัง Mad Max: Fury Road (2015)

อาจจะเพราะคลิปนี้หรือเปล่าไม่ทราบได้ ทางบริษัท Industrial Light and Magic ที่ดูเรื่องเทคนิคพิเศษทางภาพของ Lucasfilm จึงได้ชวน Shamook มาทำงานด้านเทคนิคพิเศษด้วยดีปเฟกเสียเลย โดยเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากตัวยูทูบเบอร์คนดังผ่านทางคอมเมนต์หนึ่งก่อนจนเป็นที่ฮือฮา และสำนักข่าว Indiewire ก็ไปสอบถามตัวแทนของ Lucasfilm เพื่อยืนยันความถูกต้องอีกที

‘(บริษัทเรา) มองหาศิลปินที่มีความสามารถอยู่เสมอ และในความเป็นจริง เราก็ได้ว่าจ้างศิลปินที่ใช้ชื่อออนไลน์ว่า Shamook ด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ILM ได้ลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างผลงานภาพที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากที่ได้เห็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ไปข้างหน้าพร้อมกัน’ เป็นแถลงการณ์จาก Lucasfilm ที่ยืนยันเรื่องนี้อีกที

น่าสนใจทีเดียวว่า ดีปเฟก จะเข้ามาทำให้ดาราที่มีอายุมากหรือเสียชีวิตไปก่อนแล้ว กลับมาสวมบทตัวละครที่พวกเขาเคยโด่งดังมีชีวิตโลดแล่นบนหน้าจอได้สมจริงแค่ไหนในอนาคต หรือเทคโนโลยีลดวัยจะได้พัฒนาขึ้นอีกด้วยเทคนิคของดีปเฟก หรือเราจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่าในอนาคต และเรื่องนี้สอนเราอีกเรื่องว่าลองถ้าสนใจเรื่องไหนอย่างเต็มที่ให้เก่งไปสุดด้าน โอกาสใหม่ ๆ ก็เปิดรอรับอยู่เสมอ

อ้างอิง อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส