เดือนพฤศจิกายนจัดได้ว่าเป็นเดือนที่พีกอีกหนึ่งเดือนของ BNK48 มีเหตุการณ์สำคัญมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้เป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 11 Dream Journey คอนเสิร์ตระดับตำนานของประเทศไทยของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ซุเปอร์สตาร์ตลอดกาลของเมืองไทย อีกทั้งยังได้แสดงต่อเบื้องพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

Play video

เฌอปราง BNK48 ฝันอยากจะขึ้นเวทีกับเบิร์ด ธงไชยมาตั้งแต่เด็ก

หรือจะเป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึครั้งแรกของ BNK48 ที่ได้ปล่อยออกมาแล้วทั้งวิดีโอ appeal comment (คลิปหาเสียงเลือกตั้ง) และโปสเตอร์แสดงตัวตน (ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง) ก็เชิญเข้าไปดูไปชมกันให้บันเทิงเต็มที่ได้เลย

เป็นอันว่าแฟน ๆ BNK48 จะได้เลือกตั้งก่อนแฟน ๆ ลุ… เอ่อ เราข้ามเรื่องนี้ไปดีกว่า!

และไฮไลต์ของเดือนนี้เห็นจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากการแสดงเพลง BNK Festival และ Mata Anata no Koto wo Kangaeteta เป็นครั้งแรกในงาน TOYOTA MASTER CS:GO BANGKOK 2018 เมื่อวันที่ 24 และ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองเพลงจะอยู่ในซิงเกิ้ลที่ 5 ของ BNK48 (ท่านสามารถชมภาพบรรยากาศได้ที่นี่ครับ)

Play video

Play video

ในส่วนของ MV เพลง BNK Festival ซึ่งเป็นเพลงหลักในซิงเกิ้ลที่ 5 ก็ได้เผยแพร่ครั้งแรกทาง BNK48 Digital Live Studio (ตู้ปลา) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน และทาง Youtube ในวันเดียวกัน

Play video

มาไล่เรียงกันดีกว่าว่า MV นี้มีอะไรแจ่มบ้าง

1. ภารกิจตามล่าเครื่องหมายกลุ่มดาวจักรราศี

หลังจากที่สาว ๆ BNK48 ได้ไปสวนสยาม สนามฟุตบอลและสนามแข่งรถใน MV ที่ผ่าน ๆ มามาแล้ว คราวนี้สาว ๆ เซ็มบัตสึ BNK48 ได้แบ่งออกเป็น 3 ทีม ออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศจากสถานีอวกาศ BNK48 เพื่อออกไปตามหาเครื่องหมายกลุ่มดาวจักรราศีให้ครบ เพื่อ “อัญเชิญ” เวทีการแสดงสุดแสนอลังการออกมา

ตอนแรกสาว ๆ BNK48 คิดว่ารวบรวมเครื่องหมายได้ครบ 12 ราศีแล้วแต่กลับไม่สามารถอัญเชิญได้ จนกระทั่งปัญนำเครื่องหมายของราศีที่ 13 มาจึงสามารถอัญเชิญได้สำเร็จ นั่นก็เป็นเพราะว่าในทางโหราศาสตร์ตะวันตก (ซึ่งไม่เป็นวิทยาศาสตร์) อาณาเขตที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ที่เรียกกันว่าจักรราศี) นั้นแบ่งออกเป็น 12 ส่วนเท่า ๆ กัน (ที่เรียกกันว่าราศี) แต่ในทางดาราศาสตร์ (ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์) เส้นการเดินทางของดวงอาทิตย์ (จากจุดสังเกตบนโลก) พาดผ่านกลุ่มดาว 13 กลุ่ม แต่เนื่องจากปฏิทินของชาวบาบิโลนแบ่ง 1 ปีเป็น 12 เดือน กลุ่มดาวคนแบกงู ที่อยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนโก่งธนู จึงถูกตัดออกไปนั่นเอง

ภาพถ่ายกลุ่มดาวคนแบกงู (ซ้าย) และภาพวาดคนแบกงูโดยโยฮันเนส เคปเลอร์ (ขวา) ภาพจาก Wikipedia

2. เม็มเบอร์ BNK48 ในชุดนักบินอวกาศ

นอกจากสาว ๆ BNK48 จะมาในคอสตูมแสนสวยและออกท่าเต้นอันแสนร่าเริงให้เราชมกันแล้ว สาว ๆ ยังมาในชุดแขนยาวขายาวสีน้ำเงินติดสารพัดเครื่องหมายตั้งแต่ธงชาติ 3 ชาติ เครื่องหมายนาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) จนถึงเครื่องหมายสถานีอวกาศนานาชาติเลยทีเดียว

ภารกิจตามหาเครื่องหมายจักรราศีนี่ยิ่งใหญ่มากจริง ๆ !

ซึ่งชุดแขนยาวขายาวสีน้ำเงินที่สาว ๆ ใส่นี้คือชุดบินของนักบินอวกาศ (astronaut flight suit) แต่สำหรับชุดบินสีน้ำเงินนี้ นักบินอวกาศจะใส่เฉพาะยามฝึกซ้อมหรือยามปรากฏตัวต่อสาธารณะเท่านั้น และที่สำคัญคือ ชุดนี้ใส่ออกไปเดินในอวกาศไม่ได้!

ภาพนักบินอวกาศให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (ภาพจาก nasa.gov)

ถึงจะใส่ไปเดินในอวกาศไม่ได้ แต่ใส่มาเข้าตู้ปลาได้นะเออ (ภาพจาก BNK48 Digital Live Studio วันที่ 22 พฤศจิกายน 2561)

สำหรับใครที่อยากมีชุดบินแบบสาว ๆ BNK48 ล่ะก็ เข้าไปสั่งซื้อกันที่ร้านออนไลน์ของนาซากันได้เลยที่นี่ครับ

3. เม็มเบอร์ BNK48 มากันครบ 51 คน

ถึงแม้เซ็มบัตสีของเพลง BNK Festival นี้จะมีเพียง 16 คน แต่เม็มเบอร์ทั้ง 51 คนของ BNK48 ปรากฏตัวใน MV นี้ (ถึงแม้บางคนจะหาตัวยากสักหน่อย) นับเป็น MV แรกของ BNK48 ที่มีสมาชิก BNK48 ครบทุกคน

นับโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ครบ 51 คนแน่นอนจ้า

ซึ่งในไอดอลกรุ๊ปตระกูล 48 นั้น เคยมี MV ที่มีเม็มเบอร์ทุกคนปรากฏตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น MV เพลง BINGO! เพลงหลักจากเมเจอร์ซิงเกิ้ลที่ 4 ของ AKB48

หรือ MV เพลง Sakura no Shiori เพลงหลักจากเมเจอร์ซิงเกิ้ลที่ 15 ของ AKB48 ที่มีเม็มเบอร์ AKB48 ทุกคนและมัตสึอิ จูรินะและมัตสึอิ เรนะ สมาชิกแถวหน้าของ SKE48 อยู่ใน MV

Play video

หรือล่าสุดกับ MV เพลง Boku Datte Naichau yo เพลงหลักจากซิงเกิ้ลที่ 19 ของ NMB48 ก็มีเม็มเบอร์ของ NMB48 ทุกคนอยู่ใน MV เช่นกัน

Play video

4. รัฐ Tattoo Colour ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ BNK48 จะใช้บริการศิลปินไทยยอดฝีมือในการประพันธ์เนื้อเพลงภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นว่าน-ธนกฤต บอย-ตรัย และอีกหลาย ๆ คน และสำหรับเนื้อเพลงภาษาไทยของเพลง BNK Festival นี้ก็เป็นผลงานของรัฐ พิฆาตไพรี หรือรัฐ Tattoo Colour นั่นเอง รัฐ Tattoo Colour มีผลงานในยุทธจักรเพลงไทยมากว่าสิบปี คุณภาพของเพลงและความสำเร็จของวง Tattoo Colour การันตีความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี เพลงดัง ๆ มากมายของ Tattoo Colour มาจากปลายปากกาของเขาทั้งสิ้น (ท่านสามารถอ่านบทสัมภาษณ์รัฐ Tattoo Colour โดยแบไต๋ได้ที่นี่ครับ)

Play video

Play video

Play video

5. มายิงมิกซ์กันเถอะ!

ในท่อนฮุกที่ 2 ของเพลง BNK Festival นี้ สาว ๆ ร้องว่า “มาสิ ยิงมิกซ์ไปด้วยกัน” ทำเอาหลาย ๆ คนสงสัยว่ามิกซ์และการยิงมิกซ์คืออะไร สำหรับหลาย ๆ ท่านที่เคยเห็นแฟน ๆ ไอดอลตะโกนอะไรบางอย่างโดยพร้อมเพรียงกันในระหว่างที่ไอดอลทำการแสดง นั่นแหละครับคือการยิงมิกซ์

Play video

มิกซ์ (MIX) เป็น “บทสวด” ที่แฟน ๆ ไอดอล (ไม่จำกัดเฉพาะ BNK48 หรือไอดอลกรุ๊ปตระกูล 48) ใช้ตะโกน (ยิง) โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อส่งกำลังใจให้ไอดอลระหว่างการแสดง เพื่อแสดงออกว่าตัวแฟน ๆ มีส่วนร่วมและสนุกกับการแสดงของไอดอล การยิงมิกซ์มักเกิดขึ้นในเพลงเร็วที่มีจังหวะสนุกสนานปลุกเร้าอารมณ์คนดู และมักเกิดขึ้นในท่อนเพลงที่ไม่มีเสียงร้อง

Play video

ที่ท่านได้ยินแฟน ๆ ตะโกนว่า “ไทก้า! ไฟย่า! ไซบ้า! ไฟบ้า! ไดบ้า! ไบบ้า! จ้าจ้า!” นั่นแหละครับคือการยิงมิกซ์

มิกซ์มีหลายบทหลายรูปแบบ การยิงมิกซ์ไม่มีกฎหรือข้อบังคับตายตัว แต่โดยมากแล้วมักยิงเหมือน ๆ กันตาม ๆ กันมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ (สำหรับเพลงใดเพลงหนึ่ง) เราจึงได้เห็นแฟน ๆ ไอดอลยิงมิกซ์โดยพร้อมเพรียงกันได้เป็นเรื่องปกติ สำหรับแฟน ๆ ที่ยังยิงมิกซ์ไม่เป็นหรือไม่คล่องก็ไม่ต้องกังวลใจไป ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ว่าคุณต้องยิงมิกซ์เป็นจึงจะเป็นแฟนไอดอลได้ แต่ถ้ายิงมิกซ์เป็นก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้การชมการแสดงของไอดอลสนุกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งไอดอลยังชอบการยิงมิกซ์ของแฟน ๆ อีกด้วยครับ

Play video

เฌอปราง BNK48 สนุกกับการที่คนดูเชียร์เธอยามอยู่บนเวที

ภาพจากบทสัมภาษณ์เจนนิษฐ์ BNK48 โดยผู้จัดการออนไลน์

สำหรับแฟน ๆ ที่ไม่เคยยิงมิกซ์มาก่อนแล้วสนใจอยากจะหัดยิงมิกซ์ ก็สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย โดยอาจเริ่มจากคลิปวิดีโอด้านล่างนี้ครับ

ว่าด้วยเพลง AKB Festival

เพลง BNK Festival ของ BNK48 นั้นมีต้นฉบับคือเพลง AKB Festival ของ AKB48

Play video

AKB Festival คือเพลงจาก Team Surprise 1st Stage ซึ่งเป็นสเตจของ Team Surprise โปรเจ็กต์ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง AKB48 กับบริษัทเคียวรากุ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการเครื่องเล่นปาจิงโกะ (ตู้เกมประเภทหนึ่ง) ในประเทศญี่ปุ่น เครื่องเล่นปาจิงโกะเหล่านี้จะมีจอภาพที่แสดงภาพวิดีโอของสาว ๆ AKB48 เป็นการเชิญชวนให้ผู้เล่นเข้ามาเล่นและนั่งเล่นนาน ๆ นั่นเอง

Play video

Play video

Play video

ถึงแม้เพลง AKB Festival นี้จะเป็นเพลงในเครื่องเล่นปาจิงโกะ ไม่ใช่เพลงหลักในซิงเกิ้ลของ AKB48 แต่ด้วยเนื้อหาที่สนุกสนานและมีความเชื่อมโยงกับแฟน ๆ เพลงนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อปลุกเร้าอารมณ์สนุกสนานของแฟน ๆ โดยเพลงนี้ถูกใช้เป็นเพลงเปิด (หลัง Overture) ในคอนเสิร์ต AKB48 Super Festival at Nissan Stadium เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556

คอนเสิร์ตครั้งนั้นเป็นคอนเสิร์ตที่จัดในวันเดียวกับงานประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึครั้งที่ 5 ของ AKB48 (ครั้งที่ซาชิฮาระ ริโนะชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นเซ็นเตอร์เพลง Koi Suru Fortune Cookie) และจัดใน Nissan Stadium สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ความจุ 72,327 ที่นั่ง (ราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีความจุ 49,722 ที่นั่ง)

นอกจากเพลง AKB Festival จะอยู่ใน Team Surprise 1st Stage แล้ว บริษัทเคียวรากุยังได้นำเพลงนี้มาใช้ในแคมเปญของปี 2560 อีกครั้ง โดยเวอร์ชันนี้มีเม็มเบอร์ AKB48 Group ถึง 100 คน

Play video

โอคุโบะ มิโอริ (ขวามือสุดในภาพ) เม็มเบอร์ BNK48 ใส่คอสตูมเพลง AKB Festival ในคอนเสิร์ตก่อนงานประกาศผลการเลือกตั้งครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 (ภาพจาก BSスカパー!)

มาถึงตรงนี้ สำหรับท่านใดที่สนใจเพลง BNK Festival ขึ้นมาแล้วและอยากสั่งซื้อซีดีซิงเกิ้ลนี้ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ เนื่องจากซีดีซิงเกิ้ลจำนวน 300,000 แผ่นถูกสั่งจองหมดไปแล้วภายในระยะเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น แต่ท่านยังสามารถสั่งซื้อ music card ที่จะมาพร้อมกับ code ลงคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึที่กำลังจะมาถึงครับผม