สำหรับใครที่เคยผ่านยุค 80’s มาแล้วจะเคยได้ยินข่าวเรื่อง crop circles มีศัพท์ไทยเรียกว่า ‘วงธัญพืช’ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วง 1978 – 1991 เกิดในหลายประเทศทั้ง เยอรมัน, สหรัฐอเมริกา, บราซิล, โรมาเนีย, ฮังการี และญี่ปุ่น แต่เกิดในอังกฤษมากสุดหลายร้อยครั้ง เหตุการณ์ครอปเซอร์เคิล คือ การที่พืชต่าง ๆ ในท้องทุ่งล้มแบบเป็นลวดลายวงกลมทั้งเล็กและใหญ่ แต่ละครั้งรูปแบบลวดลายจะต่างกันไป แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่ทางทฤษฎีเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของยานต่างดาว หรือ UFO

เหตุการณ์ครอปเซอร์เคิลหายไปจากโลกเราตั้งแต่ต้นยุค 90’s แต่ในช่วงหลังปี 2000 ปรากฏการณ์ครอปเซอร์เคิลก็กลับมาเกิดอีกในทาสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ชาวไร่ต่างพากันตกอกตกใจเมื่อตื่นมาพบว่าต้นฝิ่นในทุ่งของพวกเขา ล้มระเนระนาดเป็นพื้นที่วงกลม ชาวไร่ต่างเชื่อกันว่านี่ต้องเป็นฝีมือของ UFO อีกแล้วเป็นแน่

ทาสมาเนียน เดวิล

ทาสมาเนีย เป็นรัฐของออสเตรเลีย มีพื้นที่กว้างขวางถึง 68,000 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เป็นเกาะอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่ มีประชากรประมาณ 500,000 คน และมีสัตว์ป่าแปลก ๆ มากมายหลายพันธุ์ อย่างเช่น ทาสมาเนียน เดวิล ที่ไม่ได้มีอะไรเหมือนตัวการ์ตูนใน Looney Tunes เลยสักนิดเดียว และอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งบนเกาะทาสมาเนียก็คือ ‘การปลูกฝิ่น’

เหตุที่ชาวบ้านทาสมาเนียนิยมปลูกฝิ่นกันมากก็เพราะพื้นที่ภูมิประเทศ สภาพอากาศของที่นี่นั้นทำให้ฝิ่นเติบโตได้ดี และยังเป็นพืชเกษตรที่ผิดกฏหมายในหลาย ๆ ประเทศ ทุกวันนี้ออสเตรเลียนับเป็นผู้ส่งออกฝิ่นถึง 50% ต่อความต้องการของตลาดโลก และส่วนใหญ่เป็นผิ่นที่มาจากทาสมาเนีย ฝิ่นจากทาสมาเนียนั้นใช้เพื่อการทำยาเป็นหลัก เป็นตัวยาที่มีชื่อว่า “opioids” โอปิออยด์ เป็นยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวด แต่ก็มีคนเอาไปใช้ผิดกฏหมายอยู่บ่อย ๆ เช่นกัน เพราะสามารถนำไปสังเคราะห์เป็นยาเสพติดได้มากมายเช่น Morphine, Oxycontin, Fentanyl, codeine และ heroin และยาเหล่านี้ก็มีประสิทธิภาพในการเสพติดได้ง่าย

เป็นเวลาหลายปี ที่ชาวไร่ฝิ่นต้องประสบพบเจอกับปรากฏการณ์ครอปเซอร์เคิล ชาวไร่ไม่คิดว่าจะเป็นฝีมือของมนุษย์ที่จงใจแกล้งกัน และเชื่อว่าต้องเป็นฝีมือของมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยัน สร้างความฉงนต่อชาวไร่มายาวนานจนกระทั่งในปี 2009 ปริศนานี้ก็ได้รับการคลี่คลาย ว่าตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์ครอปเซอร์เคิลนั้นคือตัว “วัลลาบี” (Wallabies)

เมา หมดฤทธิ์ แล้วก็หลับ

วัลลาบี เป็นสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลีย รูปร่างหน้าตาเหมือน จิงโจ้ แต่มีขนาดเล็กกว่า พบเห็นได้ทั่วไปในทาสมาเนีย โดยปรกติแล้ววัลลาบีจะกิน หญ้า ผัก และ ใบไม้ เป็นหลัก แต่แหล่งอาหารของวัลลาบีนั้นก็มากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ถ้าช่วงไหนแหล่งอาหารขาดแคลน วัลลาบีก็เลยหันมากินฝิ่นเป็นอาหาร

ชาวไร่ผู้หนึ่งเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า
“ในช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นกุมภาพันธ์เนี่ย แหล่งอาหารอื่น ๆ ของวัลลาบีจะขาดแคลน แล้วเป็นช่วงพอดีที่ดอกฝิ่นจะโตมาได้สักครึ่งทางแล้ว แล้วตรงดอกมันเนี่ยแหละจะเต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร”
คือถ้าคนบริโภคได้ วัลลาบีก็บริโภคได้เช่นกัน แรก ๆ ฝูงวัลลาบีก็จะกระโดดเข้ามาในไร่ฝิ่น แทะกินดอกฝิ่นแล้วก็กระโดดกลับไป แต่อย่างที่เราทราบกันดี ฝิ่นนั้นเต็มไปด้วยสารเสพติด ซึ่งวัลลาบีก็เสพติดเช่นกันแล้วพวกมันก็กลับมากินอีก

“เรามีปัญหาเรื่องตัววัลลาบีรุกไร่ฝิ่น แล้วพวกมันก็เมากันหนัก พอเมากันมากมันก็เริ่มวิ่งกันเป็นวงกลม พอต้นฝิ่นล้มระเนระนาดก็เลยเกิดเป็นสัญลักษณ์ครอปเซอร์เคิลที่ไมได้เกิดจากมนุษย์ต่างดาว แต่เป็นฝีมือของวัลลาบีที่เมาฝิ่น”
แม้ครอปเซอร์เคิลจากฝีมือวัลลาบีจะสร้างความเสียหายให้กับชาวไร่ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมปลูกฝิ่นก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ หรือพยายามแก้ไขอะไรกันมากนักเพราะเป็นความเสียหายที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมทั้งหมด

แถมเรื่องราวน่ารักของวัลลาบี

ป้ายระวังจิงโจ้ในปารีส


แม้วัลลาบีจะเป็นสัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย แต่เราก็ยังสามารถพบเห็นวัลลาบีในประเทศอื่น ๆ ได้อีก เช่น ฝรั่งเศส ในยุค 70’s มีฝูงวัลลาบีหนีออกมาจากสวนสัตว์ในกรุงปารีส แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตามกลับคืนมาได้ กลายเป็นว่าพวกมันไปตั้งรกรากอยู่กันในป่าแถวนั้น ด้วยพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ผ่านไป 40 ปี ฝูงวัลลาบีนี้ก็ขยายพันธุ์มากขึ้นเป็น 150 ตัว แล้วพวกมันก็ชอบข้ามถนนไปมาในละแวกนั้น ทางการเลยเอาป้ายเตือนไปติดไว้ว่า “ระวัง จิงโจ้ข้ามถนน” ผู้คนที่ขับผ่านไปมาเห็นป้าย ก็นึกว่าคงจะเป็นป้ายติดแกล้งขำ ๆ จะมีจิงโจ้มาอยู่ในปารีสได้ไงกัน แต่ไม่ได้แกล้งครับ มีจริง ๆ

ที่มา ที่มา