เมื่อพูดถึงนาฬิกาข้อมือที่คนทั่วโลกต่างให้การยอมรับ และนึกถึงเป็นอันดับแรกก็ต้องเป็นนาฬิกาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เพียบพร้อมทั้งภาพลักษณ์ที่คลาสสิกหรูหราและทรงคุณค่า แต่รู้ไหมครับในช่วง 70s จนถึง 80s นั้น นาฬิกา ‘ ไซโก้’ ที่เราคุ้นชื่อกันดีนี่แหละ เคยประกาศความเกรียงไกรทำยอดขายถล่มทลายไปทั่วโลก ถึงขั้นเกือบปิดตำนานนาฬิกาสวิสไปแล้ว ธุรกิจนาฬิกาสวิสยอดการผลิตลดฮวบ พนักงานโรงงานนาฬิกาถึง 2 ใน 3 ต้องตกงาน มาอ่านรายละเอียดกันสิว่า กลุ่มผู้ประกอบการนาฬิกาสวิส พากันผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่นี้กันมาได้อย่างไร

ประวัติของนาฬิกาพกพา

นาฬิกาพกพาในศตวรรษที่ 17

นาฬิกาในยุคแรก ๆ นั้น ต้องย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นอุปกรณ์ชนิดพกพาที่หรูหรา มีใช้กันในหมู่สมาชิกสังคมชั้นสูงที่จำเป็นต้องบริหารเวลาในการทำงาน หรือไม่ก็บุคคลในแวดวงการทหาร ช่างทำนาฬิกาถูกยกย่องให้เป็นเสมือนศิลปินผู้ทำงานศิลปะที่ถ่ายทอดวิทยาการจากรุ่นสู่รุ่น

นาฬิกาในยุคแรก ๆ นั้นล้วนเป็นนาฬิกาในระบบกลไก ซึ่งจำเป็นต้องไขลาน และปรับตั้งเวลาเพื่อความเที่ยงตรงอยู่เสมอ จนในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ช่างทำนาฬิกาก็ได้คิดค้นวิทยาการใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ นาฬิกาออโตเมติก ที่ใช้แรงเคลื่อนไหวจากข้อมือมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้นาฬิกา ผ่านมาจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เทคโนโลยีในการผลิตนาฬิกาก็รุดหน้าขึ้นไปอีก นาฬิกากลายเป็นอุปกรณ์ที่แพร่หลายมีใช้กันในวงกว้างมากขึ้น จนเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นาฬิกามีความจำเป็นในวงการทหารมากขึ้น ต้องการนาฬิกาที่สะดวกในการพกพามากกว่านาฬิกาที่ต้องเก็บในกระเป๋าแบบแต่ก่อน ที่ต้องคอยล้วงจากกระเป๋าออกมาดู และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนาฬิกาแบบมีสายรัดข้อมือ

จุดเริ่มต้นของนาฬิกาสวิส

นาฬิกา Rolex ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นาฬิกาสวิสมาบูมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายกำลังผลิตโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่ว่า สวิตเซอร์แลนด์ครองสถานะผู้เป็นกลางในภาวะสงคราม จึงสามารถผลิตนาฬิกาส่งเข้าสู่สนามรบได้จำนวนมาก พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นาฬิกาข้อมือจากสวิสก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นทั้งอุปกรณ์บอกเวลาพกพาและเครื่องประดับที่เข้าถึงผู้คนทุกวัย ทุกระดับชั้น

นาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์เป็นนาฬิกาแบบกลไก (mechanical watches) นาฬิกาที่อาศัยการเคลื่อนไหวของฟันเฟืองต่างๆ ภายในชุดกลไกที่ได้รับแรงขับมาจากลาน สปริงมาทำให้นาฬิกาเดินได้ นาฬิกาสวิสสามารถครองตลาดได้มากถึง 95% ของตลาดนาฬิกากลไกที่จำหน่ายอยู่ทั่วโลก เป็นการครองตลาดแบบไร้คู่แข่งจากประเทศอื่นโดยสิ้นเชิง นั่นก็เพราะจุดสำคัญมาจาก กลุ่มช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์และประกอบนาฬิกาด้วยความแม่นยำในระดับที่ไม่มีชาติไหนจะทัดเทียมได้ และกลุ่มผู้ผลิตก็ถูกจำกัดเป็นแค่โรงงานเล็ก ๆ ที่มีการควบคุมดูแลจากรัฐบาลโดยตรง โรงงานเหล่านี้ไม่มีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ นาฬิกาแต่ละเรือนถูกประกอบด้วยมือของช่างนาฬิกาเอง ผู้คนทั่วโลกให้การยอมรับว่านาฬิกาสวิสคือนาฬิกาที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งในเรื่องฝีมือช่างและคุณภาพ ส่งผลให้มีการว่าจ้างแรงงานช่างนาฬิกามากถึง 90,000 คนในช่วงเวลานั้น อุตสาหกรรมนาฬิกาดูราบรื่นสดใสมาโดยตลอด จนกระทั่งเข้าสู่ต้นทศวรรษที่ 70s ที่หายนะเริ่มส่อเค้าลาง

(อ่านต่อหน้า 2 เมื่อ Seiko ถือกำเนิด)

แบรนด์ Seiko ถือกำเนิด

Seiko Astron (1969)

ปี 1969 ญี่ปุ่นขอกระโดดเข้ามาร่วมวงอุตสาหกรรมผู้ผลิตนาฬิกาดูบ้าง และยี่ห้อ ‘ไซโก้’ ที่เราคุ้นเคยชื่อกันดีนี่ล่ะ ที่เป็นผู้ปฏิวัติวงการนาฬิกาข้อมือด้วยการคิดค้นนาฬิการะบบใหม่แทนระบบกลไกที่ใช้กันมากว่า 100 ปีแล้ว ด้วยระบบ ‘ควอตซ์’ (Quartz) คือนาฬิกาที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ หรือนาฬิกาที่ต้องใส่ถ่านนั่นเอง โดยอาศัยการสั่นของแร่ควอตซ์เพื่อรักษาความเที่ยงตรงของนาฬิกาไว้ นาฬิกาควอตซ์รุ่นแรกของไซโก้ก็คือ ‘Astron’ ที่พัฒนามานานกว่า 10 ปีก่อนออกสู่ท้องตลาด ไซโก้รู้ดีว่าไม่สามารถจะไปสู้เรื่องงานฝีมือช่างกับนาฬิกาสวิสได้ เลยมุ่งเน้นจุดขายที่เป็นการผลิตด้วยมาตรฐานแบบเทคโนโลยีการผลิตขนาดใหญ่และความเที่ยงตรงของระบบควอตซ์ และสำคัญที่สุดคือ ‘ราคาย่อมเยา’

Astron กลายเป็นชื่อที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสจดจำได้ดี เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์นาฬิกาสวิสที่กินเวลายาวนานถึง 13 ปี หลังจากไซโก้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ด้วยรูปแบบการดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยว สมัยใหม่ มาพร้อมกับคุณภาพที่มั่นใจได้ ซึ่งเป็นการตลาดที่ได้ผลเกินคาด ทำเอาคำว่า “Swiss made” ที่อยู่คู่โลกมาแสนนาน กลายเป็นภาพลักษณ์ที่เสื่อมคุณค่าลงทันที ได้ภาพลักษณ์ใหม่เป็นนาฬิกาที่ไม่เที่ยงตรง ราคาแพงเกินจับต้องได้ เป็นของที่ตกค้างอยู่ในตู้ไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้าจนฝุ่นเกาะ ถ้าจะขายได้ ร้านก็ต้องลดราคาลงอย่างมากเพื่อปล่อยของ ส่วนนาฬิกาไซโก้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ร้านนาฬิกาทุกหนแห่งต่างอ้าแขนรับ ปี 1977 แบรนด์ไซโก้ก็ขึ้นตำแหน่งผู้ครองตลาดนาฬิกาโลก ไซโก้ผลิตนาฬิกาข้อมือปีละ 18 ล้านเรือน ทำรายได้ประมาณ 700 ล้านเหรียญ

สวิตเซอร์แลนด์ก็มีนาฬิกาควอตซ์

นาฬิกาควอตซ์แบบ Beta 21 ของสวิตเซอร์แลนด์


มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริง อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสเกือบล่มจมก็เพราะนาฬิกาควอตซ์จากญี่ปุ่น ทั้งที่จริงแล้วสวิตเซอร์แลนด์เองก็คิดค้นนาฬิกาควอตซ์ได้พร้อม ๆ กับญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพผู้ผลิตนาฬิกาสวิส ซึ่งประกอบไปด้วยแบรนด์ชั้นนำอย่าง Omega, Rolex และ Patek Phillipe ร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยีนาฬิกาควอตซ์ออกมาในช่วงต้นยุค 70s ในชื่อระบบว่า ‘Beta 21’ ซึ่งก็เป็นระบบที่เที่ยงตรงแม่นยำ แต่ก็ทำยอดขายได้น้อยมากจนไม่อยากจะเอ่ยถึงในประวัติศาสตร์นาฬิกาสวิส ทางสวิสเองก็ไม่ยอมท้อถอยต่อศึกตลาดนาฬิกาที่ตัวเองเคยครองแชมป์มาอย่างยาวนาน กัดฟันสู้ทุกวิถีทาง ทั้งการลดราคาลงมาสู้ซึ่งยอมแลกกับภาพพจน์ของนาฬิการะดับสูงที่ต้องเสียไปก็ตาม แต่ลากยาวมาจนถึงช่วงปลายของทศวรรษที่ 70s สถานะของตลาดนาฬิกาสวิสก็เหมือนอยู่ ณ ขอบเหว

นิโคลาส จอร์จ ฮาเย็ก พระเอกขี่ม้าขาว

Nicolas George Hayek

เข้าสู่ทศวรรษที่ 80s ในขณะที่อนาคตนาฬิกาสวิสยังมืดมน นับตั้งแต่ปี 1974 มาจนถึงปี 1983 ยอดผลิตของนาฬิกาสวิสดิ่งลงจากปีละ 96 ล้านเรือน ลงมาเหลือ 45 ล้านเรือน ท่ามกลางวิกฤติการณ์นี้ ก็มีพระเอกผู้นี้เข้ามากู้สถานการณ์ เขามีนามว่า นิโคลาส จอร์จ ฮาเย็ก (Nicolas George Hayek) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการจัดการของธนาคารสวิส ฮาเย็กเข้ามาวิเคราะห์วิกฤติการณ์ของตลาดนาฬิกาสวิส แล้วก็เสนอลู่ทางว่า ให้กลุ่มผู้ผลิตนาฬิกาสวิสขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม หันมาร่วมมือกัน ขณะนั้น 2 กลุ่มใหญ่ก็คือ ASUAG มีแบรนด์หลัก ๆ คือ Mido, Rado, Oris, Longines, Hamilton, Eterna กลุ่ม SSIH มีแบรนด์หลัก ๆ คือ Lemania, Omega, Rayville, Tissot, Buler ฮาเย็กเสนอให้ 2 กลุ่มนี้มาร่วมมือกันจัดตั้งแบรนด์ใหม่ที่นำเสนอนาฬิกาคุณภาพสวิสในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น และนั่นคือจุดกำเนิดของ The Swatch Group ที่ฮาเย็กรับหน้าที่ประธานบริษัทเอง

หลังใช้เวลาคิดค้นและผลิตอยู่แค่ระยะสั้น ๆ ฮาเย็กได้ผลผลิตออกมาเป็นนาฬิการะบบออโตเมติกที่อยู่ในตัวเรือนพลาสติก ซึ่งค่อนข้างบาง เบา และสีสันฉูดฉาด โดยฮาเย็กจะรับหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่ารูปแบบไหน ดีไซน์ไหน ที่เขาเห็นชอบและอนุมัติให้ผลิตจริง และยังสั่งผลิตในจำนวนมหาศาลเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ฮาเย็กยังทำการตลาดแบบโหมกระหน่ำซึ่งผิดรูปแบบธรรมเนียมที่ผ่านมาของตลาดนาฬิกาสวิสอีกด้วย งานนี้คู่แข่งของเขาโดยตรงคือกลุ่มผู้ผลิตนาฬิกาควอตซ์จากญี่ปุ่นเท่านั้น แล้วกลยุทธ์การตลาดของฮาเย็กก็เป็นผลสำเร็จ Swatch สร้างกระแสฮิตได้สำเร็จ กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นยุคป๊อปคัลเจอร์ไปทั่วโลก ฮาเย็กพานาฬิกาสวิสกลับมาสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้งได้สำเร็จ ทำยอดขายของนาฬิกาสวิสขึ้นมาเป็น 60 ล้านเรือนต่อปี

พิระมิดของฮาเย็ก


ความสำเร็จของ Swatch ไม่ใช่เพียงแค่ทำยอดขายถล่มทลายทั่วโลก แต่ยังสามารถฟื้นคืนสถานะทางการเงินให้กับแบรนด์เก่าแก่ต่าง ๆ ของนาฬิกาสวิสได้อีกด้วย ในการนี้ฮาเย็กได้ร่างรูปแบบตำแหน่งทางการตลาดของนาฬิกาสวิสแบรนด์ต่าง ๆ ไว้ในรูปทรงพิระมิด เรียกว่า Hayek pyramid ซึ่งเขาก็ให้เกียรติวางตำแหน่งแบรนด์เก่าแก่อย่าง Omega และ Blancpain ไว้บนยอดสุดของพิระมิด และวาง Swatch ไว้ในตำแหน่งฐานรากของพิระมิด

จวบจนถึงวันนี้ the Swatch Group ได้ขยายใหญ่จนมีแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือเพิ่มขึ้นมาอีกเช่น Glashütte Original, Blancpain, Tissot, Certina และ Hamilton นิโคลาส จอร์จ ฮาเย็ก จากโลกไปในปี 2010 ลูกชายของเขา นิก ฮาเย็ก (Nick Hayek) เข้ามารับช่วงบริหาร Swatch Group มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ บีล, สวิตเซอร์แลนด์

Swatch Group ผู้กู้วิกฤติให้กับวงการนาฬิกาสวิส

วันนี้นาฬิกาหลัก ๆ ทั้ง 3 ระบบ ควอตซ์, กลไก และออโตเมติก ก็มีพื้นที่การตลาดที่แน่ชัดของตัวเองกันแล้ว ช่างทำนาฬิการุ่นใหม่ ๆ ก็พยายามผสมผสานความเป็นงานศิลปะทรงคุณค่าของนาฬิกาสวิสดั้งเดิมเข้ากับระบบควอตซ์แบบใหม่ ถึงแม่ช่วงเวลา Quartz Crisis จะเป็นฝันร้ายอันยาวนานของกลุ่มผู้ผลิตนาฬิกาสวิส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติการณ์นี้ก็เร่งกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตนาฬิกาสวิสต้องเร่งคิดค้นและพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของนาฬิกาตัวเองให้ทันกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่รุดหน้าไปในแต่ละวัน

และตอนนี้นาฬิกาสวิสก็ก้าวเข้าสู่วิกฤตครั้งใหม่กับโลกของ Smart Watch ที่บริษัทเทคโนโลยีกำลังรุกส่วนแบ่งการตลาดนาฬิกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าทิศทางของนาฬิกาสวิสจะเป็นอย่างไรต่อไป

อ้างอิง อ้างอิง