นักวิจัยจากมหามหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ได้พัฒนาการใช้กล้องสมาร์ตโฟนถ่ายภาพเพื่อแสดงภาพของจุลินทรีย์บนผิวหนังที่เป็นสาเหตุทำให้เกิด ‘สิว’ และแผลหายช้า รวมถึงแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของ ‘โรคเหงือก’ และคราบพลัค (แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เกิดจากแบคทีเรียและน้ำตาลบนผิวฟัน สาเหตุหลักของการเกิดฟันผุและโรคเหงือก หากไม่ทำความสะอาดจะกลายเป็นหินปูนได้) บนผิวฟันได้

Ruikang Wang ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวภาพและจักษุวิทยาของมหามหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัย ได้นำเคสสมาร์ตโฟนมาดัดแปลงเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ประมวลผลภาพ เพื่อให้สามารถแสดงถ่ายภาพของแบคทีเรียด้วยกล้องสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ทั่วไปในตลาดปัจจุบันได้ อุปกรณ์เสริมขนาดเล็กที่นักวิจัยได้พัฒนาขึ้นนี้เป็นวงแหวนที่ได้รับการพิมพ์ 3 มิติ และบรรจุไฟ blacklight จำนวน 10 ดวง 

ภาพแบคทีเรียที่ปล่อยสัญญาณแสงสีแดงออกมา

ไฟ LED ดังกล่าวจะกระตุ้นให้โมเลกุลที่เรียกว่า ‘พอร์ไฟริน (Porphyrin)’ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก ปล่อยสัญญาณเรืองแสงสีแดงออกมา ซึ่งจะช่วยให้เซนเซอร์ภาพของกล้องสมาร์ตโฟนที่ส่วนใหญ่จะเป็นเซนเซอร์สีแบบ RGB (Red-Green-Blue) สามารถเก็บภาพของแบคทีเรียนี้ได้

จุดเด่นของวิธีการนี้คือใช้ทุนค่อนข้างต่ำ และสามารถติดตั้งได้ง่าย สำหรับใช้ในบ้านเพื่อดูว่ามีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายบนผิวหนังหรือช่องปากของสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ Ruikang Wang กล่าวว่า “แบคทีเรียบนผิวหนังและในช่องปากสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้างได้ ตั้งแต่การเป็นสาเหตุของฟันผุ ไปจนถึงการที่แผลหายช้า และด้วยความที่มีการใช้สมาร์ตโฟนในวงกว้าง จึงได้มีการพัฒนาวิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ถึงสุขภาพผิวและช่องปากของตนได้อย่างสะดวกที่สุด”

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส