[รีวิวซีรีส์] Living With Yourself  ชีวิตติดเซลฟ์ – มุกห่ามฮา ที่ให้ข้อคิดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Our score
8.0

Living With Yourself

จุดเด่น

  1. การแสดงของ พอล รัดด์ โดดเด่นมาก
  2. ซีรีส์ให้ข้อคิดเรื่องการใช้ชีวิตได้อย่างคมคาย

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของบท

    8.0

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.0

  • ความแปลกใหม่ น่าติดตามในแต่ละตอน

    8.0

  • ความคุ้มค่าเวลาในการติดตามชม

    8.0

หลังใช้บริการสปาพัฒนาชีวิตตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน ไมลส์ เอลเลียต (พอล รัดด์) ก็ต้องเผชิญหน้ากับร่างโคลนนิ่งของเขาที่เป็นเวอร์ชันที่ดีกว่า นั่นนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงต่าง ๆ นานา ทั้งความสัมพันธ์กับ เคต (ไอส์ลิง บี) ภรรยาที่ต้องการตั้งครรภ์และคะยั้นคะยอให้เขาไปฝากสเปิร์ม ไปจนถึงการต้องแข่งกับร่างโคลนนิ่งของตัวเองในเรื่องงานที่ดูจะรุ่งกว่าไอเดียของเขาเองเสียอีก สุดท้าย ไมลส์ จะจัดการอย่างไรกับชีวิต 1 ชีวิตทว่ามีตัวเขาเองถึง 2 ร่างแบบนี้

Play video

ซีรีส์คอมเมดี้พลอตเพี้ยน ๆ จากมันสมองของ ธีโมที กรีนเบิร์ก ที่แม้มีเพียงเครดิตเขียนบทซีรีส์ The Detour เท่านั้น ที่เหมือนเอาพลอตของ Adaptation (2002)  หนังออสการ์สาขาบทยอดเยี่ยมโดย ชาร์ลี คอฟแมน มายำรวมกับพลอตคอมเมดี้ดรามาว่าด้วยคนขี้แพ้ที่อยากพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า อิทธิพลของ คอฟแมน ชัดมากทีเดียวในงานบทของซีรีส์เรื่องนี้ทั้งความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงตัวเองที่กำลังตีบตันทั้งไอเดียและการใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน สำหรับ Living With Yourself การให้ตัวเอกอย่าง ไมลส์ มีอาชีพ ครีเอทีฟ ก็ดูจะเย้ยหยันกับปัญหาทางตันในชีวิตได้อย่างเจ็บแสบไม่น้อย เพราะการให้คนที่เอาความคิดใช้หากินมาเผขิญกับปัญหามืดแปดด้านจนต้องพึ่งสปาลึกลับก็ดูเมกเซนส์ไม่น้อยเลยทีเดียวและสิ่งที่ดึงคนดูได้อยู่หมัดก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะมาพิสูจน์และให้ข้อคิดกับตัวละครที่ต้องบอกว่าบทซีรีส์ทำได้ไม่เลวเลย

Living With Yourself

Living With Yourself

แม้ซีรีส์จะเริ่มมาด้วยพลอตไซไฟโรแมนติกที่ดูจะไม่พ้นหนังที่สร้างจากบทของ ชาร์ลี คอฟแมนทั้ง Being John Malkovich (1999) Adaptation (2002) หรือแม้กระทั่งเรื่องที่พระเอกไปเข้าสปาก็พาลนึกถึง Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่หมัดเด็ดของมันคงหนีไม่พ้นสององค์ประกอบสำคัญนั่นคือ การพูดถึงความภาคภูมิใจในตนเอง (Self Esteem) และ การแสดงของ พอล รัดด์ นั่นเอง

โดยประเด็นความภาคภูมิใจในตนเองอาจฟังดูไกลตัว ทว่าเอาเข้าจริงนี่คือปัญหาร่วมของมนุษยชาติในปัจจุบันเลยทีเดียว คงปฏิเสธไม่ได้นะว่าเทคโนโลยีที่ทำอะไรแทนมนุษย์ได้แทบทุกอย่าง กำลังทำให้ความภูมิใจในการเป็นมนุษย์ของเราถดถอยลง อย่างในซีรีส์ก็ใช้วิทยาการโคลนนิ่งมาเป็นตัวกลาง และกลไกในการจำลองความคิดของเราว่า หากวันนึงเราสามารถสร้างตัวเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าแบบไม่ต้องเหนื่อยไปอบรมกับไลฟ์โค้ช หรือ มีวินัยในตัวเองมากขึ้น ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละตอนของ Living With Yourself  ก็ค่อย ๆ ทำให้เราได้ตระหนักเรื่องของความสำคัญในการใช้ชีวิตคนเราได้อย่างคมคาย ทั้งคุณค่าของคนต่อครอบครัวที่ซีรีส์ก็ทำให้เราลุ้นว่า ท้ายสุดหากเคตได้เจอ ไมลส์ ในเวอร์ชันที่ดีกว่า เธอจะรักเขามากกกว่าตัวจริงไหม หรือกระทั่งการที่ร่างโคลนนิงสามารถคิดงานที่ดูเห่ยแต่ลูกค้าชอบ จะทำให้ตัวจริงที่เต็มไปด้วย อัตตา โต้กลับหรือรู้สึกอย่างไร ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็แทบจะแทนเรื่องเส็งเคร็งที่เราเจอในชีวิตประจำวันได้อย่างเห็นภาพ เพียงแต่ซีรีส์เองก็นำเสนอได้อย่างมีอารมณ์ขัน ทว่าแฝงความคมคายชวนคิดมากพอให้เราหันกลับมามองชีวิตเราได้ดีทีเดียวเชียวแหละ

Living With Yourself

และปิดท้ายที่การแสดงของ พอล รัดด์ ที่ต้องบอกว่าไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการแสดงที่บาลานซ์ระหว่างดราม่ากับคอเมดีได้ลงตัวขนาดนี้ เพราะในขณะที่ซีรีส์เต็มไปด้วยสถานการณ์อันเหลือเชื่อ เหตุการณ์โอละพ่อ..ว้าวุ้นให้เราหัวเราะกัน การแสดงของพอล รัดด์ กลับทำให้เราเห็นมิติด้านลึกของตัวละครทั้งร่างจริงและร่างโคลนนิงได้อย่างมีเสน่ห์และน่าเห็นอกเห็นใจ เพราะในขณะที่ตัวจริงกำลังหมดศรัทธาในตัวเอง ขณะเดียวกันร่างโคลนนิงเองก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตที่กำลังใช้อยู่ดูสวยงามมีค่า ทว่าตัวเองกลับเป็นแค่ผลจากการทดลองที่อาศัยความทรงจำและดีเอ็นเอ ได้มีโอกาสกำเนิดมาร่วมใช้ชีวิตของไมลส์เท่านั้นเอง ส่วนตัวละครสมทบอย่าง เคต ที่ ไอส์ลิง บี ก็อาศัยเสน่ห์ส่วนตัวมาทำให้คนดูลุ้นไปกับเธอว่าท้ายที่สุด ไมลส์ คนไหนที่เธออยากใช้ชีวิตด้วยได้ดีเลยทีเดียว

ใครสนใจชมซีรีส์ Living With Yourself ชมได้ทาง Netflix

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส