วันที่ 26 มิถุนายน กลุ่มผู้นำ G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก พิจารณาเรื่องการกลับมาลงทุนในพลังงานถ่านหิน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และความต้องการของพลังงานที่หลากหลายในยุโรป

ซึ่งคณะผู้แทนในการประชุมประจำปี กำลังหารือกันว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับบางประเทศที่ได้ให้คำมั่นในการหยุดสนับสนุนโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานถ่านหินภายในสิ้นปี 2565 ได้หรือไม่

ประเทศในทวีปยุโรปกำลังเจอสถานการณ์ตึงเครียดจากการขาดแคลนพลังงานที่นำเข้าจากรัสเซียเนื่องจากความขัดแย้งในยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมนั้นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากมอสโก ทำให้ความกังวลยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

นักการทูตสหภาพยุโรปกล่าวในการประชุม G7 ประจำปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในประเทศเยอรมนีว่า การกลับมาลงทุนในพลังงานถ่านหินชั่วคราวนั้นควรมีความเป็นไปได้ ซึ่ง มาริโอ ดาร์กินี (Mario Draghi) นายกรัฐมนตรีของอิตาลี ประเทศซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็กล่าวคล้ายกันว่าควรมีการลงทุนระยะสั้นในพลังงานแก๊ส สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน

ทางสหภาพยุโรปนั้นพึ่งพาพลังงานแก๊สจากรัสเซียถึง 44% ของพลังงานแก๊สที่ใช้ทั้งหมด โดยเฉพาะเยอรมนีที่พึ่งพาพลังงานแก๊สจากรัสเซียถึง 55% ทำให้การลดลงของแก๊สที่ส่งจากรัสเซียอาจส่งผลกระทบอย่างหนักด้านพลังงานต่อประเทศในยุโรป

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่าจะต้องทำให้แน่ใจให้ได้ว่าการตัดสินใจนี้จะไม่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไม่บรรลุเป้าหมายทางสภาพแวดล้อมที่ทุกประเทศเคยตั้งไว้ร่วมกัน

หมายเหตุ: กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป เคยได้มีการตกลงที่จะยกเลิกการสนับสนุนการสร้างไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน โดยประเทศญี่ปุ่นประกาศว่าจะทำให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้

ที่มา: Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส