วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีรายงานว่าประเทศจะเกิดวิกฤตอย่างแน่นอนถ้าหากมีการหยุดชะงักโดยสมบูรณ์ของอุปทานแก๊สจากรัสเซีย และอิตาลีเสนอช่วยบริษัทต่าง ๆ ในการกักตุนพลังงานเพื่อป้องกันวิกฤตที่รุนแรงกว่าในช่วงหน้าหนาว

สหภาพยุโรปพึ่งพาแก๊สถึง 40% จากรัสเซีย ส่วนเยอรมนีนั้นพึ่งพาถึง 55% และภาวะส่งครามก่อให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในตลาดพลังงานที่ต้องเติมเต็ม ในขณะที่ตลาดพลังงานแก๊สทั่วโลกก็อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดอยู่แล้ว ทำให้บางประเทศต้องยกเลิกแผนการปิดเหมือนถ่านหินและเปิดกลับมาใช้งานเพื่อสร้างพลังงานไว้บริโภค

ราคาแก๊สในยุโรปพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และสร้างความท้าทายให้กับผู้กำหนดนโยบายที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของยุโรป โดยราคามาตรฐานอยู่ที่ 126 ยูโร (ราว 4,600 บาท) ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นกว่า 300% จากปีที่แล้ว

สมาคมอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเหลือ 1.5% ในปี 2022 จากเดิม 3.5% และบอกว่าการหยุดส่งแก๊สของรัสเซียจะทำให้เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรปครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะนี้แก๊สจากรัสเซียยังคงถูกส่งผ่านยูเครน แต่อยู่ในระดับที่ลดลงมาก อย่างท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 ใต้ทะเลบอลติก ซึ่งเป็นท่อส่งสำคัญไปยังเยอรมนี ทำงานด้วยกำลังเพียง 40% ของประสิทธิภาพทั้งหมดเท่านั้น โดยทางรัสเซียกล่าวว่าการคว่ำบาตรจากตะวันตกเป็นการขัดขวางการซ่อมแซมท่อไม่ให้ส่งได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ยุโรปมองว่ามันเป็นข้ออ้างในการลดการส่งออก

โรเบิร์ต ฮาเบ็ค (Robert Habeck) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีกล่าวว่า การลดลงของอุปทานแก๊สถือว่าเป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งในแผนของปูตินที่จะสร้างความหวาดกลัว ซึ่งจะยอมให้แผนการณ์นี้สำเร็จไม่ได้เด็ดขาด

การลดลงของอุปทานเป็นอุปสรรคในการเติมเต็มสถานที่กักเก็บพลังงาน ซึ่งขณะนี้เต็มอยู่ที่ประมาณ 55% เท่านั้น ยังห่างไกลกับเป้าหมายทั่วทั้งสหภาพยุโรปที่ 80% ในเดือนตุลาคมและ 90% ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อที่จะให้มีพลังงานพอใช้ในการผ่านฤดูหนาวไปได้

ยุโรปกำลังหาอุปทานเพิ่มเติมจากผู้ผลิตของตนเองอย่างนอร์เวย์และรัฐอื่น ๆ แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ได้เพิ่มกำลังการผลิตจนเต็มขีดจำกัดอยู่แล้ว ทำให้หลายประเทศอย่างออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และรวมถึงสวีเดน ได้ประกาศเปิดใช้ขั้นตอนแรกของแผนการเตือนภัย จากทั้งหมดสามขั้นตอน เพื่อรับมือกับวิกฤติอุปทานแก๊สครั้งนี้

ที่มา: Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส