Play video

เทรนด์ Wearable Computer นี่มาแรงจริง ๆ นะครับ วันก่อนเราก็เพิ่งพูดถึง Android Wear ซึ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Google ลงมาเล่นในตลาด Wearable Computer นี้ด้วยตัวเองเลย วันนี้เราจะมาย้อนดูประวัติศาสตร์กันที่ “จุดกำเนิด” ของ Wearable Computer กันดีกว่า

เชื่อไหมครับว่า “แนวคิดเรื่อง wearable computer” เนี่ย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่จากหลักฐานที่เรารู้ในตอนนี้ มันย้อนไปถึงช่วงปี 16xx หรือราว 400 ปีที่แล้วเลยทีเดียว !!

002564bc712b0d89526032

wearable computer ตัวแรกของโลก (ที่ค้นพบ) มันเกิดมาจาก เจ้าลูกคิด ของจีนนี่ล่ะครับ ลูกคิดที่ถือเป็น คอมพิวเตอร์ (เครื่องคำนวณ) ชั้นยอดในสมัยนั้น แต่ “คงจีงบางคง” ก็คิดว่ามันดูพกไปไหนมาไหนยาก ถึงจะทำให้อันเล็กลง พกใส่กระเป๋าได้ง่าย ๆ เหมือนเครื่องคิดเลขอันเล็ก ๆ แต่ก็ดูงั้น ๆ อยู่ดี นักประดิษฐ์จีนในยุคนั้นจึงคิดค้น Wearable Abacus หรือ ลูกคิดสวมใส่ได้ ขึ้นมาครับ เป็นสร้อยคอและแหวนลูกคิด จะปัดลูกคิดทีก็ต้องใช้เข็มอันเล็ก ๆ แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนจีนสมัยนั้นที่มักพก “ที่กลัดผม” กันอยู่แล้ว

002564bc712b0d89529946

ที่มา: chinaculture

ชื่อผู้ประดิษฐ์ไม่มีบันทึกไว้ พบเพียงเป็นการถวายให้แด่กษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ชิง พิสดารเอาเรื่อง แต่ถ้ามันไม่ดีจริง กษัตริย์คงไม่ให้เก็บ “ทั้งคนทั้งของ” เอาไว้ให้เราเห็นจนถึงสมัยนี้แน่ เพราะสร้อยคอทำจากลูกไม้ของเกาลัดพันธุ์หายากที่เรียกว่า Chinkang Nut ส่วนแหวนทำมาจากเงินแท้ทั้งวง — ถึงจะอันเล็กนิดเดียว ดูไม่น่าใช้ได้ แต่กลับปราณีตมากซะจนสามารถขยับได้ลื่นไม่ต่างกับลูกคิดขนาดปกติเลย

สิ่งนี้ต่อมาอาจจะเป็นแนวคิดให้ Casio ทำนาฬิกาคิดเลขออกมาในช่วงยุค ’80 ก็ได้นะ

ต่อมาก็มีคนคิด wearable computer พัฒนาเรื่อย ๆ มา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังจาก 196x ในยุคที่ชิปคอมพิวเตอร์ถูกคิดขึ้นมาได้ มีการเขียนโปรแกรมแล้ว

แต่ก็มักเป็นรูปแบบนาฬิกาข้อมือต่าง ๆ ไม่มีอะไรเด่นนัก (น่าจะเพราะคนให้ความสนใจไปที่คอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่กันอยู่มากกว่า)
ยกเว้นเครื่องคำนวณเวลาแบบละเอียด ทำออกมา”ซ่อนไว้ใต้พื้นรองเท้า” เพื่อใช้เล่น(โกง)เกมตระกูลรูเล็ตในคาสิโน

จนกระทั่งคุณ สตีฟ มันน์ (Steve Mann) ชาวแคเนเดี้ยน ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า บิดาแห่ง wearable computer เริ่มคลั่งความไฮเทคตั้งแต่วัยรุ่น ในช่วงปี 1980 และสร้าง wearable computer ในแบบที่เราในยุคนี้จะเรียกได้เต็มปากคอมพิวเตอร์แท้ ๆ เป็นเครื่องแรกของโลกออกมาหลายอย่าง

ซึ่งอย่างที่เด่นมากคือตระกูลที่เขาตั้งชื่อว่า WearComp ที่จะเรียกว่าเป็น พ่อของ Google Glass ก็ว่าได้

ที่มา: wikipedia

และแน่นอนว่าเครื่องรุ่นแรกย่อมดูใหญ่โตมโหฬทึกอย่างนี้ล่ะ เป็นเป้สะพายหลัง เพื่อเก็บฮาร์ดแวร์ส่วนต่าง ๆ และด้วยนวัตกรรมจอภาพยังโบราณ มันก็เลยครอบซะมิดครึ่งค่อนหน้าอย่างงี้ล่ะ


แต่คนชื่อ สตีฟ ท่าทางจะเป็นตระกูลที่ไม่หยุดยั้งเรื่องเทคโนโลยีจริง ๆ นะ เพราะคุณสตีฟ มันน์ พัฒนาจนมันเล็กลง เล็กลงเรื่อย ๆ

ในช่วงปี 1994 ยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตตามบ้านเรือน (World Wide Web ก็เพิ่งกำเนิดมาได้ 3 ปี (1991) เท่านั้นเอง) คุณสตีฟ มันน์ ก็คิดทดลองทำ Live Streaming ผ่าน wearable computer ของเขา ด้วย WearComp รุ่นใหม่ที่เขาพัฒนาจนเล็กแค่แว่นตา (แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในสมัยนั้น จึงมีตัว hardware เหน็บอยู่ที่เอวแทน)



แน่นอนว่ายุคนั้นยังไม่ต้องไปพูดถึงอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายมือถือเลย เอาแค่ GSM แบบ 2G ธรรมดา รับส่ง data ยังไม่ได้ ก็เพิ่งใช้กันมาแค่ 2 ปี
คุณสตีฟ มันน์ ก็เลยต้องสร้างเสาส่งสัญญาณขึ้นมาเอง โดยเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตแบบสายในบ้าน และขออนุญาตใช้คลื่นวิทยุซะเลย

และก็ Live Streaming ขึ้นเว็บสำเร็จครับ ถือว่าเป็น wearable computer ตัวแรกของโลกที่ทำ Live Streaming ได้เลยก็ว่าได้ แต่ได้คลื่นมาแล้วเล่นคนเดียวก็ยังไงอยู่ ก็เลยเปิดให้เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น (HAM) ใช้งานกันด้วยซะเลย ซึ่งคุณสตีฟ มันน์ เรียกผู้ใช้ระบบนี้รวมทั้งตัวเขาเองว่า Cyborg ครับ

ทดลองกับแว่นตาเสร็จ ไม่สะใจพอครับ! ปี 1998 ก็จัด Wearable Computer อีกตัวในตระกูล WearComp มาในรูปแบบนาฬิกา (ทำไมหน้าตามันแอบคล้าย G-Shock รุ่นสมัยนั้นซะขนาดนี้ล่ะเนี่ย!?) แต่ Casio G-Shock คงจะไปว่าอะไรเขาก็อาจจะไม่ดีนะครับ เพราะมันสามารถ stream รับ-ส่งวิดีโอด้วยความละเอียดสูงถึง VGA (640×480 pixels) ภาพสี 24-bit (ถึงแม้ว่าจะแค่ 7 fps ดูกระตุกไปหน่อยก็ตาม)

จนสุดท้าย WearComp แบบแว่นตา ก็พัฒนาให้มีความประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยขนาดที่เล็กลง ๆ เรื่อย ๆ มา และใช้ชื่อว่า EyeTap ที่แทบไม่ต่างกับ Google Glass (แต่เกิดก่อนตั้ง 10 ปี)
แถมยังเจ๋งกว่าตรงที่เขาพัฒนาไวไปตามใจคิด ทดลองใส่ระบบต่าง ๆ ลงไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Head-up Display (HUD), Augmented Reality (AR) รวมทั้งระบบประมวลผลภาพที่เราเห็นด้วยกล้อง ไปพร้อม ๆ กับสิ่งที่เราเห็นจริง ๆ และแสดงออกมาซ้อนทับบนแว่นตาได้แบบเรียลไทม์ด้วย

คลิปประกอบ

Play video

 

สมญานาม บิดาแห่ง Wearable Computer ของคุณ สตีฟ มันน์ ไม่ได้มาเพราะโชค แต่เพราะความคลั่งและเอาจริงเอาจังของเขาครับ
เพราะนอกจากนั้นเขายังสร้าง สร้อยคอกล้องวงจรปิดเลนส์ Fisheye (เลนส์ที่มีมุมกว้างมาก) ไปจนถึง wearable computer แบบที่เรียกว่า หลุดออกมาจากหนัง Sci-Fi ชัด ๆ ในชื่อ The Mindmesh (ซึ่งเขากำลังวิจัยอยู่ในตอนนี้)

เพราะเขากล่าวว่า “wearable computer ระบบไหนก็คงไม่ดีเท่ากับ wearable computer ที่รู้ใจเราจริง ๆ จากสมองของเรา โดยไม่ต้องมามัวสั่งการด้วยเสียงหรือร่างกายให้วุ่นวาย ไม่แม่นยำ แถมยังไม่ฉลาดเลยสักนิดหรอกนะ”

หลายคนคิดว่า สุดยอดขนาดนี้ ทำไมบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ อย่าง Google, Apple, Microsoft และอื่น ๆ ถึงไม่ดึงตัวเขาไปล่ะ ?? เป็นเพราะว่า คุณสตีฟ มันน์ เขาไม่สนใจครับ

โดยเขาได้กล่าวว่า“ผมไม่อยากปิดกั้นจินตนาการและความคิดเอาไว้ในกรอบแคบ ๆ และเดินตามแนวทางขององค์กรแบบนั้น อย่าพูดว่าให้อิสระซะเมื่อยปากเลยดีกว่า ขึ้นชื่อว่า “บริษัท” ไง ๆ ก็ต้องคิดถึงผลกำไรเป็นสำคัญอยู่แล้ว ผมทำอะไรสำเร็จได้มาเองตั้งแต่วัยรุ่น ไม่เห็นต้องยืมมือคุณหรือใคร ๆ เลยสักนิด!”

ความแน่วแน่ของเขานี้เอง ยิ่งทำให้เขาได้รับการยกย่องจากวงการ IT มากขึ้นไปอีก

เรื่องนี้ก็ไม่เพียงให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์อันเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตเท่านั้น แต่ยังสอนเราด้วยอีกว่า หากจะลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว จงมั่นใจ และไปกับมันให้สุด ๆ อย่างคุณสตีฟ มันน์ คนนี้ครับ