ในที่สุด คสช. ก็ได้มีมติยกเลิกโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต ปี 57 รวมทั้งที่ยังค้างในโซน 4 ระดับ ม.1 ปี 56 หลังพิจารณาแล้วถ้านำเงินซื้อแท็บเล็ตไปพัฒนาทำโครงการอื่น เช่น สมาร์ทคลาสรูม อี-เลิร์นนิง เกิดประโยชน์กับเด็กมากกว่า พร้อมให้ ปลัด ศธ. ตั้งคณะทำงานเสนอโครงการอื่นมาทดแทน และให้ประสานสำนักงบฯ กรมบัญชีกลางกันงบปี 56-57 กว่า 6 พันล้านบาท ขอเปลี่ยนแปลงการใช้เงินและกันเงินแบบไม่มีหนี้ 

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้เชิญ นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะทำงานแท็บเล็ต มาประชุมหารือเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียนต่อไปอย่างไร ทั้งที่ดำเนินการค้างในปีการศึกษา 2556 โซน 4 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และที่ ศธ. เตรียมการดำเนินการของปีงบประมาณ 2557 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น คสช.สั่งให้ ศธ.ชะลอการดำเนินการทุกอย่างไว้และให้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลและความเห็นมาเสนอถึงข้อดีข้อเสียการใช้แท็บเล็ต รวมทั้งให้โจทย์ว่าหากไม่ซื้อแท็บเล็ตแจกจะนำเงินไปทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์ในเรื่องของคุณภาพการศึกษา

นางสุทธศรี เปิดเผยภายหลังหารือ ว่า จากหารือร่วมกันที่ประชุมได้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของโครงการแจกแท็บเล็ต ประกอบกับนำผลการวิจัยที่ทำดำเนินการโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รวมไปถึงผลการติดตามการดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินโครงการ ซึ่งทุกฝ่ายมีมติร่วมกันว่าควรจะเปลี่ยนแปลงงบประมาณของแท็บเล็ตที่เหลือทั้งหมดเพื่อนำ ไปใช้ทำโครงการอื่น ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากกว่า

“เหตุผลที่ตัดสินใจยุติโครงการแท็บเล็ต ทั้งในส่วนของปีงบประมาณ 2556 ซึ่งเหลือการจัดซื้อในโซนที่ 4 ระดับ ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) วงเงิน 1,170 ล้านบาท และการจัดซื้อแท็บเล็ต ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5,800 ล้านบาทของทั้ง 10 หน่วยงานนั้นยึดเรื่องผลประโยชนต่อผู้เรียนเป็นหลัก โดยหลายฝ่ายเห็นว่าถ้านำไปทำโครงการอื่นๆ เช่น สมาร์ทคลาสรูม อี-เลิร์นนิง หรือพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ไว้ที่โรงเรียน และให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า ขณะเดียวกัน ยังไม่ต้องเสียงบประมาณจัดซื้อทุกปีเหมือนโครงการแจกแท็บเล็ต” นางสุทธศรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ ศธ. ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาโครงการที่เหมาะสมมาแทน

แหล่งข่าวระดับสูงจาก ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มอบให้ ปลัด ศธ. ทำเรื่องเสนอไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายการและขอกันเงินงบประมาณแบบไม่มีหนี้ด้วย ขณะเดียวกัน ระหว่างการประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อสรุปว่านักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นของตนเอง เพราะใช้แท็บเล็ตเรียนเพียงแค่ 1 – 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น จึงถือว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสมที่จะจัดซื้อให้แก่นักเรียนทุกคน ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่าแท็บเล็ตไม่เหมาะที่จะนำมาใช้สอนนักเรียนตลอดเวลา ควรใช้บางชั่วโมงเท่านั้น และเด็กๆ ควรได้เรียนรู้จากครูผู้สอน อีกทั้งแท็บเล็ตถือเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน จึงไม่เหมาะสมที่จะไปมอบให้นักเรียนเป็นของส่วนตัวได้ ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ กรมบัญชีกลาง ก็ได้ระบุว่าจะมอบแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนไม่ได้ ที่สำคัญแท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอที่เล็ก ทำให้นักเรียนมีปัญหาด้านสายตา นอกจากนี้ เครื่องแท็บเล็ตซื้อมาในราคถูกทำให้แท็บเล็ตที่ได้มีคุณภาพต่ำ มีอายุใช้งานที่สั้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และไม่คุ้มค่าเมื่อต้องมีการซ่อมแซม

สำหรับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดที่ต้องซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนมีทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ,กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา เมืองพัทยา, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ที่มา : Manager | Posttoday