เมื่อสมาร์ตโฟนหลายค่ายต่างล้มเหลวที่จะสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาด ประกอบกับคุณภาพที่ดีของสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน (และราคาที่สูงมาก) ทำให้ใครหลายคนไม่ค่อยเปลี่ยนมือถือกันแล้ว ผู้ผลิตทั้งหลายก็ต้องพยายามกันหนักหน่อยที่จะหาแรงจูงใจให้คนยอมเปลี่ยนมือถืออีกครั้ง ‘สมาร์ตโฟนจอพับได้’ จึงอาจจะเป็นคำตอบ

สมาร์ตโฟนที่มีจอพับได้ เมื่อกางออกแล้วดูคล้ายแท็บเล็ต อาจเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน ซึ่งทีมวิศวกรบอกเลยว่า เราอาจจะต้องฝันกันนานหน่อย เพราะมันท้าทายมาก ๆ

Galaxy Fold ของ Samsung เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพัน์ ปี 2019 ที่ราคาเกือบ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60,000 บาท) สร้างความฮือฮาให้กับตลาดด้วยการพับจอได้ ทำเอาใครหลายคนใจสั่นอยากได้มาครอบครอง ส่งผลให้รีวิวแรก ๆ ของ Samsung Galaxy Fold สร้างปรากฏการณ์ล้านวิวได้ง่าย ๆ

แต่สิ่งที่ส่งให้ Samsung Galaxy Fold โด่งดังถึงขีดสุดกลับไม่ใช่เทคโนโลยีสุดล้ำหน้า แต่เป็นการพังอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้ใช้หลายคนลอกฟิล์มบนจอออก ส่งผลให้หน้าจอไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติและดับไปในที่สุด ทาง Samsung จึงต้องเลื่อนวันวางจำหน่ายออกไปอย่างไม่มีกำหนด

Twitter ของ Mark Gurman ที่กล่าวถึง Samsung Galaxy Fold หลังจากใช้งานมาได้ 2 วัน

ไม่ใช่แค่ Samsung เจ้าเดียวที่เจ็บตัวกับสมาร์ตโฟนจอพับได้ ทาง Huawei เองก็วางแผนที่จะออกสมาร์ตโฟนจอพับได้เช่นกัน ในชื่อ Mate X แต่เปิดตัวมาในราคาที่แพงกว่าคือ 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 78,000 บาท) ซึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Huawei ก็ได้ประกาศเลื่อนการเปิดตัว Mate X ออกไปเป็นเดือนกันยายน ปี 2019

Huawei Mate X

ขณะเดียวกันนี้ก็มีข่าวลือว่า Apple ได้จดสิทธิบัตรอุปกรณ์พับได้ไว้แล้ว แค่ยังไม่มีแผนที่จะทำอะไรกับมัน เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า อุปกรณ์พับได้ของ Apple นั้นจะเป็นอะไร

ด้าน Ben Bajarin นักวิเคราะห์ของ Creative Strategies กล่าวว่า

“การสร้างหน้าจอที่พับได้นั้น

ถือเป็นความท้าทายทางด้านวัสดุศาสตร์เลยทีเดียว”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ก็เพราะว่าการสร้างหน้าจอพับได้นั้นคือ การทำให้พิกเซลสามารถบิดงอได้โดยไม่สูญเสียความสามารถในการแสดงผลและบานพับของเครื่องจะต้องไม่ทำให้หน้าจอเสียรูปทรง แล้วถ้านี่ยังไม่ยากพอ คุณต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรกับแบตเตอรี่ที่บรรจุอยู่ภายในเครื่องอีก

ทั้ง Samsung และ Huawei ต่างก็ใช้หน้าจอที่ผลิตจาก Plastic Polymers ซึ่งยืดหยุ่นมากพอที่จะบิดงอได้ แต่ด้วยความที่มันเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง จึงไม่คงทนเหมือนกระจกและเป็นรอยได้ง่าย และด้วยคุณสมบัติที่บิดงอได้นี้ มันจึงเกิดเป็นรอยช่วงข้อพับอีกต่างหาก

ศาสตราจารย์ William LaCourse ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกจาก Alfred University กล่าวว่าพลาสติกอาจทำให้การผลิตสมาร์ตโฟนจอพับได้ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว การใช้กระจกเป็นวัสดุทำหน้าจอคือคำตอบ ด้วยคุณสมบัติที่คงทนมากกว่า

“การหลอมกระจกให้บางมาก ๆ ซึ่งต้องบางกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ แถมยังต้องยืดหยุ่น บิดงอได้โดยไม่แตกหัก ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แม้จะไม่สามารถพับได้เรียบเหมือนการพับกระดาษ แต่อย่างน้อยกระจกแผ่นบางนี้สามารถพันรอบข้อพับได้ และทนต่อการเปิด-ปิดซ้ำ ๆ ได้ โดยไม่แตกหัก”

ศาสตราจารย์ LaCourse ยังคาดการณ์ไว้อีกว่า สมาร์ตโฟนจอพับได้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาการผลิตกระจกด้วย

แนวคิดของกระจกที่จะมาใช้ทำหน้าจอพับได้นั้นคือ ต้องมีความหนามากพอเพื่อความทนทาน มีความบางมากพอที่จะพับได้ และต้องทนต่อการพับไปมาซ้ำ ๆ อีก

Corning หนึ่งในผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Gorilla Glass ที่ถูกนำไปผลิตเป็นหน้าจอสมาร์ตโฟนของหลากหลายแบรนด์ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Apple ในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตกระจกของพวกเขา

โฆษกของ Corning ยืนยันว่า พวกเขากำลังพัฒนากระจกที่ทนทานและทำให้บางมาก ๆ สำหรับหน้าจอพับได้ ซึ่งในตอนนี้พวกเขาประสบความสำเร็จในการทดสอบเรื่องความหนาไปแล้ว

“เราทดสอบกระจกนี้ด้วยการพับมันไป-มา มากกว่าพัน ๆ ครั้ง โดยที่มันไม่เป็นอะไรเลย แถมยังคงสภาพเดิมเอาไว้ได้ โดยไม่เกิดการผิดรูป ซึ่งแตกต่างจากวัสดุอื่น ๆ ที่บิดเบี้ยวไปหลังจากถูกพับงอกว่า 100,000 ครั้ง”

ศาสตราจารย์ LaCourse ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้แต่ Gorilla Glass เองก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน มันอาจจะเกิดรอยแตกเล็ก ๆ ขึ้นได้บนพื้นผิว หรือมีปัญหาอื่น ๆ อีก แต่อย่างไรก็ตาม นี่จะเป็นอีกขั้นของการพัฒนาการผลิตกระจก

การสร้างหน้าจอสมาร์ตโฟนพับได้กำลังจะเกิดขึ้นจริงในเร็ว ๆ นี้ แต่การทำให้มันสมบูรณ์แบบนั้น ยังคงอีกยาวไกล

ที่มา