Play video

ตอนนี้จะไปที่ไหนใครๆ ก็บอกว่า “เราอยู่ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ยุค 3G” แต่ประเทศไทยอยู่ในยุคนั้นจริงไหม?

ทางเรามีข้อมูลที่ We Are Social บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์สื่อสังคมออนไลน์จากสิงค์โปร์

ได้นำออกมาเผยแพร่ โดยข้อมูลนี้รวบรวมเมื่อเดือนมกราคม 2014 โดยนับจากประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคน

นับเป็นประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 37% หรือ 2,600 ล้านคน

แต่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 93% จากประชากรโลกหรือ 6,600 ล้านคน

จากข้อมูลในภาพรวมของประเทศไทยระบุว่า

มีประชากร 67.5 ล้านคน แบ่งเป็นอยู่ในเมือง 34% และนอกเมือง 66%

มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 23.8 ล้านคน คิดเป็น 35% ของประชากรทั้งประเทศ

มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก (ที่ยังใช้อยู่) ทั้งหมด 24 ล้านบัญชี (เยอะกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีก)

คิดเป็น 36% ของประชากรทั้งหมด มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 84 ล้านเบอร์

คิดเป็น 125% ของจำนวนประชากร แต่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเพียง 24%

และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ 25% ของจำนวนประชากรเท่านั้น

จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 24 ล้านคน

เฉลี่ยใช้อินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์/แล็บท็อป 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน

และใช้บนมือถือ 3 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน

เมื่อนำจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดมาดูจำนวนการใช้ Social Network แล้ว พบว่าผู้ใช้ถึง 97%

ต้องมีบัญชีเครือข่ายสังคมสักเครือข่ายหนึ่ง โดย Facebook นำโด่งเป็นอันดับหนึ่งด้วยผู้ใช้ 96%

(แต่มีผู้ใช้จริงอยู่ที่ 68%) โดยอันดับ 2 เป็น Google+ ที่ตามมาอย่างพลิกโผ

และ Twitter, Instagram, Linkedin ตามลำดับ

ก็แปลกใจไม่น้อยกว่าทำไม Google+ ถึงนำโด่ง หรือเพราะนโยบายกูเกิ้ลทำให้ผู้ใช้

Gmail อยู่แล้วกลายเป็นสมาชิก แล้วทำไม instagram ถึงน้อยกว่า Twitter

และคนไทยเกือบทั้งหมดที่ใช้อินเทอร์เน็ต เชื่อว่าต้อง “เคย” ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์สักเครือข่ายหนึ่ง

แต่ก็มีจำนวนเกือบครึ่งที่ไม่ใช่ Active User

มาดูลักษณะการใช้โทรศัพท์มือถือในไทยบ้าง ผู้ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศก็ยังเป็น Pre-paid ถึง 89%

มีผู้ใช้รายเดือนเพียง 11% เท่านั้น โดยจากจำนวนประชากรทั้งหมด มีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 31%

และจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด มีผู้ใช้โทรศัพท์ค้นหาข้อมูลถึง 95% และซื้อของผ่านสมาร์ทโฟน 51%

จากข้อมูลนี้ถือว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยที่ 35% นั้นอยู่ในค่าเฉลี่ยของโลกพอดี

โดยอยู่ในระดับเหนืออินโดนีเซีย อินเดีย ลาว แต่อยู่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ เวียดนามและมาเลเซีย

แต่ประเทศไทยนั้นมีอัตราการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์

แล้วที่น่าตกใจคือจำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงเน็ตมือถือความเร็วสูงของไทยมีแค่ 0.1%

ของจำนวนประชากรเท่านั้น เป็นอันดับแทบจะรั้งท้ายอยู่เหนือเพียงแค่พม่า, เกาหลีเหนือ

แต่แพ้ลาว กัมพูชา ซึ่งก็อาจตีความได้จาก 3G ของไทยที่ลุ่มๆ ดอนๆ มานาน

จนได้ข้อสรุปให้บริการได้อย่างแท้จริงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น

ก็ต้องรอดูข้อมูลชุดต่อไปหลังจากการประมูล 3G สิ้นสุดลงแล้ว

จากข้อมูลทั้งหมดนี้อาจตีความได้ว่า

“ชาวเน็ต” ที่สื่อเรียกกัน มีไม่ถึงครึ่งของประชากรไทย หรือราว 1 ใน 3 เท่านั้น

แต่ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ

ผู้ใช้สมาร์ทโฟนไทย ใช้ประโยชน์จากความสามารถเครื่องได้เยอะ อย่างน้อยก็เป็นที่พึ่งแรกๆ

ในการหาข้อมูลนอกสถานที่ สมาร์ทโฟนเริ่มเจาะกลุ่มผู้ใช้ไทยได้มากขึ้น

เพราะ Android และการแข่งขันกันรุนแรง ทำให้มือถือที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตและลงแอปได้ มีราคาถูกลงมาก

แล้วการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ 3.1 ชั่วโมงต่อวัน ก็ถือว่าสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

คนไทยชอบใช้สื่อสังคมออนไลน์ลำดับต้นๆ ของเอเชียแปซิฟิก โดย Facebook ยังครองใจแบบทิ้งห่าง

ถ้าอยากดูสไลด์เต็มๆ ที่มีข้อมูลทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกก็เข้าไปดูได้ที่

http://bit.ly/internetAPAC