สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ว่า  โต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กต็อกเวอร์ชันจีน แอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโอสั้นยอดนิยม ยังคงครองตำแหน่งแอปฯ ที่ไม่ใช่เกม ที่ทำรายได้สูงสุดของโลกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ เซนเซอร์ ทาวเวอร์ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้ใช้งานโต่วอินในเดือนมกราคมอยู่ที่เกือบ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.8 พันล้านบาท) ซึ่งมากกว่าตัวเลขในเดือนมกราคม 2020 ถึง 3.8 เท่า โดยมี สหรัฐฯ เป็นตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดตามมาด้วยตุรกี

ทั้งนี้ เซนเซอร์ ทาวเวอร์ ระบุว่าโต่วอินครองตำแหน่งแอปฯ ซึ่งไม่ใช่เกม ที่มีรายได้สูงสุดของโลกมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีก่อน

ส่วนเทนเซ็นต์ วิดีโอ (Tencent Video) และอ้ายฉีอี้ (iQiyi) แอปฯ สตรีมมิ่งวิดีโอและภาพยนตร์ออนไลน์ของจีน ครองตำแหน่งแอปฯ ที่มีรายได้โดยรวมสูงสุดอันดับ 5 และอันดับ 7 ตามลำดับ

โต่วอิน (抖音 /Douyin) และ ติ๊กต็อก (Tik Tok) คือแอปพลิเคชั่นที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสร้างสรรค์ และชมวิดีโอคลิปสั้นประมาณ 15-60 วินาทีเหมือนกัน และเพื่อที่จะเข้าทำตลาดทั่วโลก (และในไทย) โต่วอินจึงพัฒนา ‘ติ๊กต็อก (Tik Tok)’ ขึ้นมา ทั้งสองแอป ฯ จึงมีจุดที่ต่างกันคือ

  • โต่วอินใช้ได้เฉพาะชาวจีนเท่านั้น ส่วนติ๊กต็อกใช้ได้ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ชาวจีนใช้ไม่ได้ 
  • ผู้ใช้งานโต่วอินส่วนใหญ่คือกลุ่มคนอายุช่วง 25-30 ปี ส่วนผู้ใช้งานติ๊กต็อกในประเทศไทยส่วนใหญ่คือกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี 
  • ผู้ใช้งานสามารถกดซื้อสินค้าในโต่วอินได้เลย ทั้งยังสามารถ Live – Streaming เชื่อมลิงก์แพลตฟอร์มขายสินค้าได้ด้วย ในขณะที่ติ๊กต็อกยังทำไม่ได้ 
  • โต่วอิน เน้นคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ส่วนติ๊กต็อกเน้นการผลิตซ้ำจากคอนเทนต์ที่เป็นกระแส

โต่วอิน จึงเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ให้ทั้งความบันเทิง ทั้งยังเป็นช่องทางโฆษณาสินค้า และ Tie-in สินค้าแบบเนียน ๆ ด้วย และนั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันกลายเป้นแอปที่ได้รับความนิยมอย่างมากนั่นเอง

อ้างอิง

Xinhuathai

Millideas.net