sattelite

ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะเมื่อเครือข่ายไร้สายอย่าง Wifi หรือ 3G เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก ราคาอุปกรณ์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ก็ถูกลงมาก แต่ก็ยังมีปัญหาสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลจนเครือข่ายภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง หรือพื้นที่ที่รัฐบาลเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสารอย่างหนัก จนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากโลกภายนอกนอกได้ สถิติระบุว่ามีคนราว 60% ของโลกเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

จึงมีคนกลุ่มหนึ่งสร้างโปรเจกใหม่ขึ้นมาเรียกว่า Outernet หรืออินเทอร์เน็ตจากนอกโลก โดยมีคำโปรยว่า

2014-02-04_190011

หรืออินเทอร์เน็ตสำหรับมนุษย์ชาติทุกคน โดยไม่ปิดกั้น ส่งต่อข้อมูลคุณภาพแบบไม่คิดมูลค่า

แนวคิดการทำงานของ Outernet นั้นจะใช้ดาวเทียมขนาดเล็กนับร้อยดวง โคจรอยู่รอบโลก ส่งต่อข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Wifi Multicast ที่เมื่อดาวเทียมดวงหนึ่งได้รับข้อมูลจากภาคพื้น ก็จะกระจายต่อเป็นใยแมงมุมหาดาวเทียมดวงอื่นๆ เพื่อให้กระจายไปทั่วโลกได้ แนวคิดก็คล้ายๆ การทำงานของ BitTorrent นั้นแหละ ฟังดูอาจจะเป็นไปได้ยาก เมื่อคิดถึงค่าส่งดาวเทียมแต่ละดวงต้องใช้เงินมหาศาล แล้วนี่ส่งเป็นร้อยๆ ดวง แต่โครงการนี้ก็ยังพอเป็นไปได้เพราะใช้ดาวเทียมขนาดเล็กหรือที่มักเรียกว่า CubeSat น้ำหนักราว 1 กิโลต่อตัวเท่านั้น จึงสามารถฝากไปกับยานบรรทุกเสบียงสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เพื่อส่งดาวเทียมจากสถานีอวกาศโดยตรงได้

Play video

โดยข้อมูลที่ Outernet กระจายนั้นจะไม่เหมือนการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือ Broadcast เพื่อตัดปัญหากำลังส่งของอุปกรณ์รับภาคพื้นดินที่ไม่มีกำลังส่งข้อมูลกลับไปนอกโลก

เนื้อหาที่ Outernet นั้นเผยแพร่มีตั้งแต่ข่าวทั่วโลกและข่าวในท้องถิ่น ราคาพืชผลการเกษตร เนื้อหาจาก Wiki หรือแผนที่จาก OpenStreetMap เนื้อหาการศึกษาจากเว็บอย่าง British Council เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ หรือ Khan Academy ที่มีเนื้อหามากมายหลายวิชา รวมไปถึงการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะยามที่เครือข่ายหลักอย่างโทรศัพท์ล่มอีกด้วย โดยสามารถเข้าไปเสนอแนะเนื้อหาที่ควรเผยแพร่ได้ในเว็บของ Outernet

connect

ตอนนี้ Outernet กำลังศึกษาความเป็นไปได้ และเปิดให้ผู้คนทั่วโลกเข้าไประดมความคิดเห็นและช่วยบริจาคเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้ใช้กันจริงๆ ใครที่อยากช่วยมูลนิธิ Media Development Investment Fund จากนิวยอร์คทำโครงการนี้จนสำเร็จได้ ก็เข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บของ Outernet เลย

ที่มา: Outernet